Friday, November 22Modern Manufacturing
×

MM Thailand ชวนคุยกับ คุณ หนึ่ง กลับทวี ในประเด็นของความยั่งยืนและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมไทย

ในยุคที่ความยั่งยืนและการจัดการพลังงานกลายเป็นหัวข้อที่สำคัญและเป็นที่สนใจในวงการอุตสาหกรรม ทุกคนสงสัยกันไหมครับว่า ความยั่งยืน (Sustainability) กับเหล่าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเกี่ยวกันอย่างไรและโลกของเราวางบริบทให้กับคำคำนี้ไปในทิศทางไหน วันนี้ MM Thailand จะนำทุกท่านมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันผ่านบทสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพลังงานและวัดระดับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) อย่างคุณหนึ่ง กลับทวี

ความหมายของความยั่งยืนสำหรับคุณหนึ่งคืออะไร?

คุณหนึ่งได้ให้ความหมายของความยั่งยืน (Sustainability) คือการนำทรัพยากรมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด แต่ในบริบทของผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมจะแบ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  • ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์
  • ผลกระทบทางสังคม
  • ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

แต่ในบริบทของโลกได้ให้ความหมายของ ความยั่งยืน (Sustainability) ไว้ว่าการให้ความสำคัญกับการจัดการภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) โดยตั้งกฎเกณฑ์บังคับใช้กับผู้ประกอบการให้นำส่งข้อมูลด้านการซื้อและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) 

กระแสความยั่งยืนเป็นเพียงเทรนด์หรือเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน?

สำหรับประเด็นนี้ คุณหนึ่งได้ให้เหตุผลว่าธุรกิจใหม่ที่เกิดมานั้น มาจากความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่มีหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและไม่ใช่สิ่งที่เปรียบเสมือนตุ๊กตาประดับที่วางไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชากรทุกคนบนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ถ้านายทุนตั้งคำถามว่าจะได้อะไรจากการลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อม?

ประโยชน์ที่ได้รับสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ  ส่วนได้และส่วนเสีย

  • ส่วนได้ : คุณหนึ่งให้ความเห็นว่า “อาจจะไม่ได้อะไรในระยะสั้น” เพราะการลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเปรียบเสมือนการนำเงินใส่เข้าไปในระบบเพื่อสร้างอนาคตและสิ่งที่ดีกว่าสำหรับรุ่นลูกหลานในวันข้างหน้า
  • ส่วนเสีย : ส่งผลเสียเพราะเงื่อนไขทางการค้าของแต่ละประเทศที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งการสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการที่ปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศที่ต้องส่งรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) พร้อมใบรับรอง หากผู้ประกอบการรายไหนยังมีการปล่อยก๊าซเกินก็อาจเสียสิทธิ์ทางการค้าหรือเสียค่าปรับตามหลักเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ

ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาปารีสและสนธิสัญญาอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน?

ศักยภาพของประเทศไทยนั้นมีมากเพียงพอ แต่เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องได้รับความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐที่ต้องออกกฎระเบียบมาคอยควบคุม รวมถึงภาคเอกชนในการสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินไปในทิศทางเดียวกัน 

ยกตัวอย่างนโยบายของประเทศไทย 

  • เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ในปี 2030 ในกรณีที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ แต่จะเพิ่มเป็น 20-30% หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
  • เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เข้าใกล้ 0

*[Carbon Neutrality = 0 หมายความว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยเท่ากับปริมาณที่ต้นไม้หรือสิ่งอื่นนำคาร์บอนไปหมุนเวียนจนไม่เหลือก๊าซคาร์บอนตกค้างให้ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ]

  • เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดไม่ใช่แค่คาร์บอนไดออกไซด์ให้สุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้ยังมีแผนการย่อยทั้ง 5 ของกระทรวงพลังงานแห่งประเทศไทย

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP 2022
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan โดย สนพ. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือ AEDP
  • แผนอนุรักษ์พลังงานหรือ EEP กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ
  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือ Oil Plan ทางกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้รับผิดชอบ

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ก่อนหน้าและเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่ให้การยืนยันว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะบรรลุเป้าหมายตามสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ไว้กับนานาประเทศ

 ผู้ประกอบการจะเริ่มต้นได้อย่างไรและมาตรฐานที่ควรรู้มีอะไรบ้าง?

เมื่อเราวางเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทิศทางที่องค์กรต้องการจะมุ่งหน้าไปได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่การกระโดดจากจุด A ไปยังจุด B เลยในครั้งเดียว แต่คือการวางแผนและมุ่งหน้าตามแผนการนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไปก็จะทำให้เสียโอกาสทางการแข่งขันเพราะมันคือต้นทุนในการผลิต เปลี่ยนช้าไปก็เสียแต้มต่อในการพูดคุยกับลูกค้า เพราะฉะนั้นแต่ละองค์กรจึงต้องวางแผนให้เหมาะสมกับองค์กรของตัวเองว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อองค์กรมากน้อยแค่ไหน หลาย ๆ โรงงานที่ผมไปให้คำแนะนำบางครั้งต้องคุยเรื่องการวางแผนในการเปลี่ยนผ่านให้ดีและรัดกุม แบ่ง Phase ว่าเราจะไปถึง Step นี้ หากวางแผนการเปลี่ยนผ่านเร็วเกินไปต้นทุนจะเพิ่มขึ้น การแข่งขันอาจจะทำได้ลำบาก แต่ถ้าช้าไปอาจจะเสียลูกค้าได้ 

อาจจะเป็นการวางแผนในระยะสั้น – กลาง – ยาว เช่น การที่เราจะไปถึงจุดนี้ได้ เราควรจะมีแผนการปฏิบัติการอย่างไร  และไม่ควรวางแผนเส้นทางเดียว จะต้องวิเคราะห์ถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผนจะรับมือกับผลกระทบที่ตามมาอย่างไร ส่วนถ้าใครต้องการแหล่งเงินทุน ปัจจุบันก็มีการสร้างกองทุนสีเขียวเพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนหรือผู้กู้ หากมีโครงการที่ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายสามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนตัวนี้ได้ สถาบันการเงินหลายแห่งก็เริ่มให้ความสนใจที่จะสนับสนุนเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องของความยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการมีมาตรฐานที่ต้องรู้จัก 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1.  รู้สถานะว่าเราอยู่ตรงไหน อาจจะบอกในมาตรฐานของ CFO เรามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบทั้งองค์กรเท่าไร CFP ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบกับ 1 หน่วยผลผลิต ก็คือได้ทั้งหมดแล้วมาหารด้วย 1 หน่วยผลผลิต CFO อาจจะเหมาะกับสถานประกอบการที่อยู่ในตลาดหุ้นหรือคู่ค้าอยากได้ตัวเลขคร่าว ๆ ที่ผลิตทั้งปีปล่อยเท่าไร 2 ตัวนี้จะมี Regulator ที่คอยดูแลเรื่องนี้หรือเรียกว่าองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จะมี screen ที่มีมาตรฐานของ CFO CFP เหมือนกัน นี่คือบริบทที่ใช้ได้ในประเทศไทย แต่ในระดับสากลจะมีรหัส ISO ของ CFO CFP ด้วยเช่นกัน ISO14064-1 เป็นของ CFO และ ISO14067 เป็นของ CFP โดยขึ้นอยู่กับสถานประกอบการว่าขอแล้วใช้ผลการทดลองในประเทศหรือต่างประเทศถ้าต่างประเทศมองเป็น ISO น่าจะดีกว่า
  2. เส้นทางนี้ส่วนใหญ่จะแนะนำอยู่ 2 ระบบ
    1. Circular Economy เป็นแนวคิดการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่บริโภคทรัพยากรให้มีคุณค่ามากที่สุด โดยเมื่อ Input เข้ามาในระบบแล้วทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเหลือของเสียน้อยที่สุด สุดท้ายแม้กระทั่งการกำจัดซากก่อนจะนำไปทำลายมีวิธีอัปไซเคิร์ลเป็นอย่างอื่นไหมต้องมองภาพรวมให้หมด
    2. ISO50001 เป็นระบบคุณภาพตัวหนึ่งที่เป็นการจัดการเรื่องพลังงาน จะมีกระบวนการหรือวิธีที่ตรวจติดตามวางแผนอย่างเป็นระบบด้วยความที่ว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่ถ้าพูดถึง Greenhouse Gas ก้อนใหญ่ ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาในรูปแบบพลังงาน 70-80%
  3. ติดตามผลลัพธ์ว่าเราได้มาถึงเป้าหมายที่วางไว้จริง ๆ แล้วหรือไม่

ความแตกต่างของนโยบาย UN-SDG, ESG และ BCG มีความหมายต่างกันอย่างไร?

  • UN SDG (United Nations Sustainable Development Group)
    • เป้าหมายการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นหนึ่งในเป้าหมายทั้ง 17 อย่างของประชาคมโลกที่วางเป้าหมายไว้ร่วมกัน
  • ESG (Environmental, Social and Governance)
    • เป็นการมองเรื่องความยั่งยืนในบริบทของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy)
    • การกำหนดกระบวนการที่บริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนโดยมีเครื่องมือที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนให้โรงงานและผู้ประกอบการได้นำไปใช้

Carbon Credit คืออะไรและใครบ้างที่สามารถผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ขายได้ ?

คาร์บอนเครดิตเป็นหน่วยที่สามารถซื้อขายได้ซึ่งแสดงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวอย่างเช่น เราทำบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติมจากวิธีการปกติแล้วสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ ส่วนปริมาณที่สามารถลดได้นั้นมีหน่วยเป็น Carbon Credit ที่มีมูลค่าสามารถนำไปขายได้ และการจะเชื่อมั่นได้ว่าสิ่งที่เราทำเพิ่มขึ้นสามารถลดการปล่อยก๊าซได้จริงหรือไม่ มีปริมาณตามรายงานหรือไม่ จึงต้องมีการอ้างอิงระบบงานตัวหนึ่งที่ชื่อว่า T-VER : Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนภาคสมัครใจ ปัจจุบันมี 2 ระดับคือ Standard และ Premium ระบบนี้สามารถซื้อขายกันได้ในประเทศไทย แต่ในขณะที่ Carbon Credit ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในต่างประเทศจะมีมาตรฐานสากลอื่น ๆ อย่างเช่น Gold Standard ที่จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับนานาชาติ

ราคาของการขาย Carbon Credit ภายในประเทศกับการขายระดับนานาชาติ ราคาที่ได้มักจะไม่เท่ากันราคาภายในประเทศของเรานั้นอาจจะอยู่ที่ประมาณ 200+- / 1 ตันคาร์บอน แต่ในระดับนานาชาติอาจจะอยู่ที่ประมาณ 85 ยูโร / 1 ตันคาร์บอน จำนวนเงินอาจจะเยอะแต่ก็แลกมาด้วยข้อกำหนดและรายละเอียดในการติดตามผลอย่างเข้มข้นแตกต่างกัน

ทุกโรงงานอุตสาหกรรมสามารถที่จะเป็นโรงงานผลิตคาร์บอนได้ ตัวอย่างเช่น 

  • โรงงานอุตสาหกรรมมักจะมีเศษอาหารเหลือทิ้งจากภาคการผลิตหรือจากแหล่งอื่น ๆ จึงนำเศษอาหารเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) และนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยส่วนหนึ่งมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งที่มีการปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) หากปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะมีผลกระทบมากกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 28 เท่า ทำให้หลายโรงงานเลือกที่จะเปลี่ยนก๊าซมีเทนเป็นพลังงานความร้อนที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทน ส่วนต่าง 28 เท่านี้นับเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

ในมิติของเศรษฐกิจ ‘ความยั่งยืน’ ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ?

ด้านเศรษฐกิจขอยกตัวอย่าง  2 เหตุการณ์ที่จะมีผลกระทบระหว่างเจ้าของโรงงานและคู่ค้า ดังนี้

  • เราไม่สนใจ แต่คู่ค้าของเรานั้นสนใจ
    • ผลกระทบที่จะตามมา คือ เสียอำนาจในการต่อรอง เสียอำนาจทางการแข่งขัน
  • เราไม่สนใจและคู่ค้าของเราก็ไม่สนใจ
    • ผลกระทบที่จะตามมา คือ เราอาจจะอยู่ได้

ระบบของความยั่งยืนนี้ไม่ใช่ว่าทำแค่เป็นข้อมูลอย่างเดียวแต่ระบบยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตจึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้อยลง ของเสียที่เกิดขึ้นจึงลดน้อยลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นคนที่สนใจเรื่องระบบพวกนี้ภาพรวมระยะยาวจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง 

ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเจ้าของโรงงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ Stakeholder ต้องสนใจและเข้าใจว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือไม่ การเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ได้หมายความว่าเราขายสินค้าได้ดีอยู่แล้ว เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้มองแค่ราคาสินค้าอย่างเดียวแต่ยังมองคุณค่าที่สินค้าและผลกระทบของสินค้านั้น ๆ ด้วยเช่นกัน การลงทุนในเรื่องความยังยืนจะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าสนใจสินค้ามากขึ้น กฎหมายบ้านเราก็เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจส่งผลดีต่อ SME เนื่องจากการใช้ทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้นทุนเรื่องวัตถุดิบลดลง ค่าใช้จ่ายที่ต้องหมดไปกับการกำจัดขยะหรือของเสียก็จะน้อยลง จึงมีแต่ผลบวกทั้งนั้นสำหรับ SME

เมื่อมีผลประกอบการที่ดีจะสะท้อนกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน รวมถึงสวัสดิการที่ให้กับพนักงาน ยิ่งโรงงานมีการผลิตที่มีคุณภาพมากแค่ไหนก็มีผลประโยชน์เชิงบวกกลับมาสู่ทีมงาน จะเห็นได้ว่าหากธุรกิจไหนมีการเติบโตที่ยั่งยืน มีธรรมาภิบาลที่ดี เขาจะตอบแทนให้พนักงานเป็นโบนัสสวัสดิการ มีการจ้างงานคนในพื้นที่ มีการมอบทุนการศึกษา ส่งเสริมชุมชนรอบ ๆ โรงงาน และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควันพิษ ก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเป็นการตอบโจทย์ในหลาย ๆ ด้านทั้งคนในสถานที่ประกอบการเองและชุมชนโดยรอบ

ที่อยากให้ทุกคนนั้นนำไปใช้

ประเด็นสำคัญจากบทสัมภาษณ์คุณหนึ่งในครั้งนี้มีจุดประสงค์คืออยากให้ทุกท่านมีการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน(Global Warming) นอกจากนี้ยังควรเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับมาตรการหรือกฎเกณฑ์ระดับสากล เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการค้าและลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีแนวคิดในการปรับปรุงโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ได้อย่างยั่งยืน

มัดรวมโซลาร์เซลล์จากงาน ASEW 2024

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924