Tuesday, December 3Modern Manufacturing
×

Net Zero : เป้าหมายสำคัญหรือความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง ?

ทุกท่านเคยสงสัยกันไหมครับ ถ้าหากวันหนึ่ง​โลกของเราสามารถหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้พร้อม ๆ กัน โลกของเราจะดีขึ้นแค่ไหน อากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราจะน่าอยู่มากขึ้นขนาดไหนกัน​ ?

แน่นอนว่าถ้าโลกของเราสามารถหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้พร้อม ๆ กันในทันที ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีเราก็อาจจะได้เห็นโลกที่น่าอยู่มากขึ้นกว่านี้แน่ ๆ ครับ แต่ทุกท่านก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะสังคมของเรานั้นก็ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันอยู่ในหลาย ๆ กิจกรรม

แต่ถึงแม้จะทำไม่ได้ในทันทีก็ใช่ว่าจะทำสำเร็จไม่ได้ในสักวัน เพราะอย่างนั้นประเทศไทยของเราและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกจึงเริ่มมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายระยะยาวที่หวังจะสร้างการเปลี่ยนผ่านให้โลกของเราหันไปใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มรูปแบบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ขึ้นมา หรือที่เรียกกันว่าเป้าหมาย ‘Net Zero’ นั่นเองครับ

Net Zero Emission เป้าหมายร่วมของทุกประเทศทั่วโลก

เป้าหมาย Net Zero นั้นหมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ผ่านการลดการปล่อยก๊าซในปัจจุบันและชดเชยการปล่อยก๊าซส่วนที่เหลือด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การปลูกป่าทดแทนหรือมีการดูดซับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลให้ก๊าซที่ปล่อยออกมาไม่สูงเกินปริมาณที่มนุษย์จะสามารถดูดซับกลับเข้าไปในธรรมชาติได้ ซึ่งจะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืนของโลกในระยะยาว

โดยภายใต้สนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) ที่ทุกประเทศต่างก็เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้เป้าหมาย Net Zero นั้นได้กลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลาย ๆ ประเทศต่างก็มุ่งหน้าร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เปลี่ยนนิสัยการบริโภคและช่วยกันปลูกฝังแนวคิดด้านความยั่งยืนขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยของเราเองก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่มีการประกาศเป้าหมายเดินหน้าสู่ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608-2613 โดยเป้าหมายนี้จะครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซจากหลากหลายภาคส่วน เช่น ภาคพลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม และการเกษตร

แต่คำถามสำคัญก็คือประเทศไทยจะสามารถเดินไปถึงเป้าหมาย Net Zero ได้จริง ๆ หรือ ?

นั่นเพราะการจะเดินไปให้ถึงเป้า Net Zero นั้นต้องใช้ทั้งความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนจากหลาย ๆ ประเทศ ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็น กำหนดนโยบายและกฎหมายที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนบนโลกยังต้องร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในความพยายามเดินหน้าสู่ Net Zero ไปด้วยกัน

แต่ปัจจุบันประเทศไทยนั้นยังขาดทั้งการสนับสนุนและความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ขาดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็น ทั้งยังไม่มีการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้ภาคเอกชนและประชาชนหลาย ๆ ฝ่ายต่างก็มองว่าเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยนั้นเป็นแค่เป้าหมายที่เลื่อนลอยไปมาเท่านั้น

แล้วต้องทำอย่างไร ? ประเทศไทยจึงจะเดินไปถึงฝัน Net Zero ได้

สำหรับคำตอบของคำถามนี้คงจะต้องแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ นั่นก็คือส่วนของ ‘ภาครัฐ’ และ ‘ภาคเอกชน’

การเข้ามามีบทบาทของภาครัฐในการผลักดันนโยบาย

โดยในส่วนแรกนั้น คือการที่ภาครัฐจะต้องก้าวเข้ามามีบทบาทในการผลักดันนโยบาย สร้างข้อกำหนดและกฎหมายเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้มข้นและจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยที่มีการปล่อยคาร์บอนออกมามากที่สุดจากทุกอุตสาหกรรมถึง 70%

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นได้ว่ารัฐบาลต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้โรงงานในประเทศไทยสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ผ่านการใช้ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรที่แม่นยำมากขึ้น

แม้จะมีการสนับสนุนเหล่านี้เข้ามาก็ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมาย Net Zero จะสำเร็จได้จริงหากไม่มีอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเข้ามาให้ความร่วมมือไปด้วย นั่นคือส่วนของภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการและเจ้าของโรงงานในประเทศไทยนั่นเอง

ภาคเอกชนไทยต้องร่วมผลักดันเป้าหมาย Net Zero

สำหรับในส่วนของภาคเอกชนนั้นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประเทศไทยได้ผ่านการเลือกลงทุนและวิจัยในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดให้มากขึ้น หรือมีการเสริมขั้นตอนของการรีไซเคิลเข้ามาใช้ในโรงงาน ทำการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ภาคเอกชนจะสามารถผลักดันเป้าหมาย Net Zero ให้เกิดขึ้นสำเร็จได้ ก็คือการร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่ม Stakeholder ของแต่ละโรงงานให้เห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมมือกันเสริมสร้างจิตสำนึกและองค์ความรู้ที่สำคัญ เพราะที่จริงแล้วเรื่องของความยั่งยืนนั้นต้องเริ่มที่ ‘คน’ ก่อน แล้วจึงค่อยตามมาด้วยเรื่องของเทคโนโลยีและการลงทุน

แต่ทั้งนี้ทางภาครัฐเองก็ควรจะมีการกำกับดูแลให้แต่ละโรงงานมีการรายงานอัตราการปล่อยคาร์บอนของตนเองอย่างโปร่งใสและชัดเจน โดยมาตรการนี้จะช่วยให้แต่ละโรงงานสามารถกำหนดแผนการลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ประชาชนและ Stakeholder ของแต่ละโรงงานเกิดความเชื่อมั่นในการเดินตามเป้าหมาย Net Zero มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

สุดท้ายนี้แม้ว่าประเทศไทยของเราอาจจะยังดูห่างไกลจากเป้าหมาย Net Zero ที่มีการตั้งเป้าเอาไว้ แต่ความฝันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากภาครัฐและภาคเอกชนของเราพร้อมที่จะร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทย ไม่ปล่อยให้เป้าหมายนี้เป็นแค่ความฝัน แต่ผลักดันให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ของผู้คนในรุ่นถัดไป

อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ถ้าหากคุณเองก็เป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งที่อยากจะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมไปกับการนำพาประเทศไทยให้เดินไปถึงเป้าหมาย Net Zero ก็สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืนโดยไม่มองไปที่เรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียวแต่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมรอบข้างแทน ซึ่งในที่สุดแล้วคำถามที่ว่าประเทศไทยของเราจะเดินไปถึงเป้าหมาย Net Zero ได้สำเร็จหรือไม่นั้น คำตอบก็คงจะขึ้นอยู่กับภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย ว่าจะสามารถจับมือร่วมกันเดินไปยังทิศทางของความยั่งยืนได้สำเร็จหรือไม่นั่นเอง

อ้างอิง : Greenpeace, Net Zero Climate

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924