Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ปลดล็อกศักยภาพ Carbon Market ทำไมองค์กรมากมายถึงสนใจ ?

ในโลกที่การแลกเปลี่ยนไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนเงินตรากับสินค้าหรือบริการอีกต่อไป การพัฒนาทางเทคโนโลยีและความตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้ให้กำเนิดตลาดการแลกเปลี่ยนแห่งใหม่ที่เรียกว่า Carbon Market ขึ้นมา ตลาดนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกท่านและองค์กรต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเป็นเงินตราหรือแหล่งรายได้เพิ่มเติม ทำให้การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

การแลกเปลี่ยนในตลาดคาร์บอนนี้เปรียบเสมือนการนำสินค้าที่มองไม่เห็นอย่างคาร์บอนเครดิต มาทำให้มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยองค์กรที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะได้รับคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนเครดิตเหล่านี้สามารถขายให้กับองค์กรที่ต้องการซื้อเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองยกตัวอย่างเหตุการณ์เช่น

สมมติว่าโรงงานผลิตเหล็กแห่งหนึ่งในประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้โดยการนำเทคโนโลยีหรือโครงการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆมาใช้ในการผลิตหรือดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โรงงานนี้จะได้รับคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนหนึ่งและสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม

ในทางกลับกัน โรงงานผลิตกระดาษในประเทศไทยซึ่งกำลังประสบปัญหากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนด โดยไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ในทันที โรงงานนี้ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงงานผลิตเหล็กมาเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเกินกว่ากำหนดของตนเอง

ผลที่ได้รับคือ โรงงานผลิตกระดาษ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับทางสิ่งแวดล้อม และยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันโรงงานผลิตเหล็ก ก็ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถนำไปลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

ความเป็นมาของตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ตลาดคาร์บอนเริ่มมีบทบาทสำคัญในประเทศไทยเมื่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงได้เข้าร่วมพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารเกียวโตในปี 1999 และให้คำมั่นสัญญาในปี 2002 ทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)เพื่อขายก๊าซคาร์บอนให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว จากนั้นประเทศไทยได้พัฒนาแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (AEDP) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยแผนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศก่อนที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกหรือ TGO ได้ดำเนินการโครงการ T-VER เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยใช้กลไกตลาดคาร์บอนในรูปแบบของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการลดการปล่อยก๊าซในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง และภาคเกษตร

การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตมีกี่ประเภท ?

การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังคงอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา แต่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. ตลาดคาร์บอนแบบบังคับ: เป็นตลาดที่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้องปฏิบัติตาม เช่น ระบบการค้าความสามารถในการปล่อยก๊าซ (Emission Trading System: ETS) 
  2. ตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ: เป็นตลาดที่องค์กรและบริษัทสามารถเลือกที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจและสามารถแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้

ขั้นตอนการดำเนินงานหากต้องการซื้อขาย Carbon Credit เป็นอย่างไร ?

  1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและตรวจสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร

ตรวจสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรด้วย (Carbon Footprint Calculation) ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลังงาน การเดินทาง และการผลิตสินค้า จากนั้นทำรายงานที่แสดงถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีเพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของก๊าซคาร์บอนโดย 1 คาร์บอนเครดิตเท่ากับการลดลง 1 ตันของก๊าซเรือนกระจก

  1. วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ (Reduction Target) คือ กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นและระยะยาว จากนั้นคิดโครงการหรือวิธีนำมาตรการต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการปลูกป่า ฯลฯ

  1. เข้าร่วมตลาดคาร์บอนเครดิต

การเลือกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย มีตลาดคาร์บอนเครดิตที่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) และหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ หลังจากเลือกตลาดการซื้อขายได้แล้วทำการลงทะเบียนในตลาดที่เลือก พร้อมกรอกแบบฟอร์มและส่งเอกสาร

  1. รับรองคาร์บอนเครดิต และเริ่มการซื้อขาย

ต้องมีการตรวจสอบและรับรองว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกใบรับรอง เมื่อผ่านการรับรองจะมีการออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตให้องค์กรที่ได้รับการตรวจสอบเข้าสู่ Market Carbon ราคาของคาร์บอนเครดิตนั้นขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งมีราคากลางที่ค่อนข้างผันผวนจึงต้องตรวจสอบความเหมาะสมของราคาอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนทำการซื้อหรือขาย

  1. การติดตามและรายงานผล

สุดท้ายนี้เป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานผลการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของตลาดคาร์บอนเครดิต

โครงการยอดนิยมที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต

  • โครงการพลังงานหมุนเวียน 
    • การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การสร้างฟาร์มกังหันลม หรือการใช้พลังงานชีวมวล
  • โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน
    • การปรับปรุงระบบแสงสว่างเป็น LED การปรับปรุงระบบเครื่องปรับอากาศ หรือการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานในกระบวนการผลิต
  • โครงการจัดการขยะ
    •  การผลิตพลังงานจากการเผาขยะ การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ หรือการจัดการปริมาณขยะ
  • โครงการปลูกป่าและการรักษาป่า
    • การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าที่มีแผนที่จะถูกทำลาย การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม หรือการดูแลรักษาป่าที่มีอยู่เดิม

ทิศทางการเติบโตของตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ในอนาคต ตลาดคาร์บอนในประเทศไทยมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลง 20 – 25% ภายในปี 2030 การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีประหยัดพลังงานจะยังคงเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

การพัฒนาของตลาดคาร์บอนในประเทศไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งออกสินค้าที่ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั่วโลก ยกตัวอย่างมาตรการนำเข้าสินค้าของต่างประเทศ เช่น

  •  Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU)
  •  California Air Resources Board (CARB) ของรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา
  • มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น
  • กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสู่จีน

ตลาดคาร์บอนของประเทศไทยยังถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับสังคมไทยอย่างยาวนาน

แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่ให้บริการในประเทศไทย 

สำหรับแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่ให้บริการในประเทศไทยจะขอยกตัวอย่างออกเป็น 2 ภาคส่วน ดังนี้

ให้บริการโดยภาครัฐ

ให้บริการโดยภาคเอกชน

ตัวอย่างของแพลตฟอร์มการซื้อขายที่ให้บริการในประเทศไทย หากท่านใดมีความสนใจสามารถหาข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ที่แนบอยู่ด้านล่างของแต่ละหัวข้อได้เลยครับ

สุดท้ายนี้การมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนของโลกไปพร้อมกับการมี Passive Income จากคาร์บอนเครดิตก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่โรงงานและผู้ประกอบการจะทำได้ และธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเองก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924