Friday, December 13Modern Manufacturing
×

ก้าวข้ามความท้าทายของอุตสาหกรรม PCB สู่การเป็นผู้นำด้านการผลิต

Printed Circuit Board หรือ PCB เป็นแผ่นที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากมายที่ต้องทำงานร่วมกันผ่านเส้นลายทองแดงที่เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายตัวเข้าด้วยกันเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้

แผ่น PCB สำคัญอย่างไรกับวงการอิเล็กทรอนิกส์

ไม่ใช่ว่าสำคัญอย่างไรแต่ขาดไม่ได้เลยต่างหากครับ เพราะแผ่น PCB นั้นเป็นรากฐานของการทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกอย่างบนโลก และอยู่รอบตัวของเราทุกคนมาตลอด แต่หน้าตาของแผ่นจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกรผู้ชำนาญการเพื่อให้ติดตั้งบนผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ รูปร่างหน้าตาจึงแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการออกแบบ เนื่องจากความนิยมในการใช้งานของแผ่น PCB ทำให้เกิดการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ ใช้ในระบบควบคุมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของรถยนต์ เช่น ระบบเบรคอัตโนมัติ และระบบนำทาง
  • อุตสาหกรรมการแพทย์ ใช้ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และเครื่องช่วยฟัง
  • อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ใช้ในระบบควบคุมและการสื่อสารของเครื่องบินและยานอวกาศ

ทำความรู้จัก Supply Chain ของอุตสาหกรรมการผลิต PCB

ในหัวข้อต่อไปนี้เราจะมาดูเกี่ยวกับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้กันครับว่าแต่ละช่วงของสายน้ำแห่งธุรกิจนี้ประกอบด้วยธุรกิจอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนอะไรบ้าง

ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) : ธุรกิจต้นน้ำนั้นรวมถึงคู่ค้าที่เป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้กับการผลิตแผ่น PCB ทั้งหมด
  • การจัดหาวัสดุ (Materials Procurement)
    1. แร่ทองแดงที่ใช้เป็นตัวนำไฟฟ้าในแผ่น PCB
    2. FR4 หรือ ไฟเบอร์กลาสเสริมแรงและวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้เป็นฐาน PCB ทั้งหมด
    3. สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ในขั้นตอนการผลิต
ธุรกิจกลางน้ำ (Midstream) : ธุรกิจรับผลิตแผ่น PCB ตามความต้องการของแต่ละโรงงาน
  • การผลิตแผ่น PCB (PCB Fabrication)
    1. บริษัทที่รับออกแบบและดีไซน์แผ่น PCB
    2. บริษัทที่รับผลิตแผ่น PCB
  • การทดสอบและควบคุมคุณภาพ (Testing and Quality Control)
    1. บริษัทที่รับการตรวจสอบคุณภาพและความเสถียรในการใช้งานของแผ่น PCB พร้อมใบรับรอง
ธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) : ธุรกิจที่นำแผ่น PCB ไปใช้งานต่อ เพื่อผลิต Product ของตัวเอง
  • การประกอบส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (Component Assembly)
    1. บริษัทรับประกอบวงจรควบคุม
    2. บริษัทที่นำ PCB ไปประกอบเข้ากับส่วนอื่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ (Finish Product)

สถานการณ์ปัจจุบันของการผลิต PCB ในประเทศไทย

การผลิต PCB ในประเทศไทยนั้นได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำทางประเทศไทยมุ่งสู่อันดับหนึ่งในการเป็นฐานการผลิต PCB ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีบริษัทหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิต PCB โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศและการส่งออก ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างบริษัทในประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตแผ่น PCB เช่น

  • KCE Electronics
    • เป็นหนึ่งในผู้ผลิต PCB ชั้นนำในประเทศไทยและมีชื่อเสียงในระดับโลก ผู้ผลิต PCB สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ การแพทย์ และโทรคมนาคม และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1719.58 ล้านบาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา
    • ข้อมูลสำคัญทางการเงิน | KCE Electronics (KCE)
  • PCB Technologies (Thailand) Co., Ltd. 
    • เป็นผู้ผลิต PCB ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิต PCB คุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์และโทรคมนาคม บริษัทมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตและมีมาตรฐานการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 537,311.63 บาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา
    • DBD DataWarehouse+
  • SVI Public Company Limited
    •  เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ PCB ที่มีชื่อเสียงในระดับสากล บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิต PCB สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ การแพทย์ โทรคมนาคม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 811,250,052 บาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา
    • DBD DataWarehouse+

3 บริษัทนี้เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจการผลิตอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นเพราะนอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกมากมายในประเทศไทยที่มีความพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสายการผลิตภายในประเทศ

แนวโน้มการส่งออกและนำเข้าของประเทศไทย

การนำเข้าแผ่น PCB จากต่างประเทศนั้นยังคงมีอยู่จากเหตุผลว่าเพื่อรองรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการเทคโนโลยีเฉพาะเพื่อเติมเต็มความต้องการในตลาดภายในประเทศไทย

ส่วนภาคการส่งออกมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกแผ่น PCB อันดับหนึ่ง ทำให้ฐานการผลิตของบริษัทมากมายมีแนวโน้มที่จะมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และนอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เรื่องการผลิตบุคลากรเพื่อมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้และมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของธุรกิจการผลิตแผ่น PCB ภายในงานแถลงข่าวล่วงหน้าของงาน Thailand Electronics Circuit Asia 2024

โอกาสที่จะได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตแผ่น PCB ในประเทศไทย

  • ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น
    • การเติบโตของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ทำให้มีความต้องการ PCB เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิต PCB ในประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
  • นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
    • รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา นโยบายเหล่านี้ช่วยลดภาระด้านต้นทุนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิต PCB
  • การลงทุนจากต่างประเทศ
    • การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน แต่ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรม PCB ด้วย การร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศสามารถนำเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ๆ มาสู่ประเทศไทย
  • การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
    •  การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิต PCB เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ 3D และการผลิตแบบอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิต PCB ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
  • ตลาดส่งออกที่ขยายตัว
    • การขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดในประเทศ การเปิดตลาดใหม่ ๆ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม PCB ของประเทศไทยในระยะยาว

โครงการและการลงทุนที่สำคัญจากทั้งภาครัฐและเอกชน

  1. โครงการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: รัฐบาลได้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และ PCB
    1. เอกสารจากรายงานประจำปีของ กนอ. และแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (ieat.go.th)
  2. การลงทุนจากบริษัทต่างประเทศ: บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกหลายแห่งได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัทจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป การลงทุนเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเชี่ยวชาญและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานและเพิ่มความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรม PCB
    1. รายงานการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย
    2. รายงานการลงทุนและกิจกรรมของบริษัทอเมริกันในไทย
  3. โครงการพัฒนาทักษะแรงงาน: รัฐบาลร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนจัดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส และ PCB เพื่อให้แรงงานมีความรู้และทักษะที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติงานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    1. รายงานและโครงการพัฒนาทักษะแรงงาน
    2. หน้าหลัก – สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (tpqi.go.th)
  4. โครงการสนับสนุนการส่งออก: รัฐบาลมีโครงการและนโยบายเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และ PCB เช่น การจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การให้ข้อมูลตลาดและคู่มือการทำธุรกิจในต่างประเทศ และการสนับสนุนการขอรับสิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA)
    1. รายงานประจำปีและโครงการส่งเสริมการส่งออกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
    2. รายงานการส่งออกและโครงการสนับสนุนการส่งออกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)

การสนับสนุนและนโยบายจากรัฐบาลไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศ รวมถึงการลงทุนในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะแรงงาน จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

บทสรุป  

การเติบโตของอุตสาหกรรม PCB ยังคงเผชิญกับความท้าทายในด้านต้นทุนการผลิตที่สูง การแข่งขันในตลาดโลก และการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลและความร่วมมือจากภาคเอกชน อุตสาหกรรม PCB ของประเทศไทย มีโอกาสในการขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924