Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

เจาะลึกการลงทุนใน EEC (Eastern Economic Corridor) พื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

นโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้ พัฒนาพื้นที่ EEC ถือเป็น Springboard สำหรับการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ ‘ประเทศไทย 4.0’ ได้อย่างแท้จริง

เจาะลึกการลงทุนใน EEC (Eastern Economic Corridor) พื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

จากความสำคัญดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี ให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งภายหลังได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าว ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC)

ทำไมต้องเป็นภาคตะวันออก?

เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มจังหวัด EEC มีความเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะพื้นที่ชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมของอาเซียน การมีนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในพื้นที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอยู่ในระดับดีทั้งทางถนนรถไฟ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้ง ยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ท่าเรือสีหนุวิลล์ของราชอาณาจักรกัมพูชา และท่าเรือวังเตาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และการมีฐานอุตสาหกรรมสำคัญพร้อมต่อยอดหลายอุตสาหกรรมใน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ธุรกิจการบิน (อู่ตะเภา) หุ่นยนต์ ไบโอเทคโนโลยี และอุปกรณ์การแพทย์

นอกจากนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกยังเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และมีศักยภาพสูงในการส่งเสริมให้เป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นแหล่งรวมในการกระจุกตัวของจังหวัดที่ประชาชนมีรายได้สูงที่สุดของประเทศ

อนาคตจุดศูนย์กลางด้านการลงทุนระดับโลก

เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC) คือ การเป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5 โรง อุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี 3 แห่งโรงผลิตไฟฟ้า 20 โรง และนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่ง ทั้งยังเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่มีความสะดวกสบาย ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กม. ที่เชื่อมผ่านเส้นทางสายหลัก ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

ศักยภาพสำคัญของพื้นที่ EEC คือ การเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูสู่เอเชีย สามารถเข้าถึงประชากรโลกได้กว่าครึ่งหนึ่งโดย EEC จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนทั้งในเชิงงบประมาณ และขนาดพื้นที่ GDP ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาเซียน และอินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 1/3 ของ GDP โลก โดยในอนาคต EEC จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงตะวันออก-ตะวันตก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย

Springboard สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

การพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลกด้วยการพัฒนา 4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน โดยเป้าหมายตามแผนการลงทุนที่วางไว้มีทั้งภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าประมาณ1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก อาทิ เมืองใหม่ 400,000 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนโดยเอกชน สนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี จะลงทุนโดยรัฐ เป็นต้น

หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดว่า นอกจากประเทศจะมีการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแล้ว ยังจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 400,000 ล้านบาท/ปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน/ปี และได้ฐานภาษีใหม่ 100,000 ล้านบาท/ป

จับตา 5 โครงการหลัก ปี’60

สำหรับแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนา ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ ในปี พ.ศ. 2560 จะมีการขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญ 5 โครงการ ดังนี้

  1. การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหานครแห่งการบินภาคตะวันออก เป็นท่าเรือชั้นนำ 1 ใน 10 ของโลก เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 15 ล้านคน ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าโดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และระบบสาธารณูปโภค พร้อมทั้งประกวดแบบและประมูลผู้ลงทุนในพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
  2. รถไฟความเร็วสูง ในปี พ.ศ. 2560 จะดำเนินการเชื่อมต่อสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง รองรับผู้โดยสาร 110 ล้านคน/ปี และยกระดับทางคู่จากท่าเรือแหลมฉบังไปท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด โดยเชื่อมต่อท่าเรือหลักกับนิคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเส้นทางใหม่ ได้แก่
    • แหลมฉบัง – ปลวกแดง – ระยอง
    • มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด
  3. ประตูตะวันออกสู่เอเชีย จะมีการดำเนินการเพื่อให้ 3 ท่าเรือ เป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Sea Gateway พร้อมทั้งมีการประมูล PPP ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 Gateway to Asia และ PPP ท่าเรือมาบตาพุด ตลอดจนการก่อสร้าง Ferry และ Cruise ที่ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ
  4. ผู้นำอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี พ.ศ. 2560 บริษัทชั้นนำจะเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อก้าวสู่การเป็น Medical Hub รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) ได้แก่ อาหารแห่งอนาคต การผลิตพลาสติกชีวภาพ เครื่องสำอาง
  5. ตะวันออกเมืองแห่งอนาคต มุ่งยกระดับเมือง ชุมชน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม สู่ระดับมาตรฐานสากลพัฒนาเมืองการศึกษานานาชาติโดยมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ เป็นผู้นำในด้านสาธารณสุขโดยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้ง มุ่งพัฒนาเมืองใหม่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ พร้อมทั้งขับเคลื่อนศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์ที่ทันสมัยในภูมิภาค และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ EEC ทั้งในด้านสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อมและการศึกษา

ส่งเสริมการลงทุน
ผ่านสิทธิประโยชน์พิเศษจาก BOI

สำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเขตส่งเสริมการลงทุน จะได้รับสิทธิพิเศษจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดังนี้

  1. เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี จากสิทธิประโยชน์เดิมของบีโอไอ
  2. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะ 15 ปี สำหรับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ EEC (ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย) นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจาก กระทรวงการคลังซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือการเป็นสำนักงานใหญ่เขตภูมิภาค และการลงทุนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC อีกด้วย

มองความพร้อมของ EEC สำหรับนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงความพร้อมของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จะพบว่า มีความพร้อมในหลายประการสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุดในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนสำหรับนักลงทุน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ และมีความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมประกอบกับการมีส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานในเมืองแห่งอุตสาหกรรม และเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้มีความพร้อมในการให้การสนับสนุนและให้บริการด้านธุรกิจอย่างมืออาชีพรวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ด้านการลงทุน ตลอดจนศักยภาพของ EEC สามารถมุ่งสู่ความมั่งคั่งและเติบโตด้านการลงทุนไปพร้อมกับการขยายตัวของเมืองและความต้องการของตลาด ASEAN ได้เป็นอย่างดี

กุญแจแห่งความสำเร็จของยุทธศาสตร์ EEC

โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ: ความเป็นไปได้ด้านการลงทุน

  • ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำด้านการลงทุน
  • จัดให้มีการเช่าที่ดินระยะยาว 50+49 ปี
  • เร่งรัดกระบวนการต่างๆ ให้คล่องตัวและรัดกุม

โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม: คุณภาพชีวิตที่มีมาตรฐาน และทันสมัย

  • Promoting City Development
  • การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ
  • การจัดตั้งศูนย์กลางทางการแพทย์
  • รณรงค์ลดโลกร้อนด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน

สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุน

  • สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
  • สิทธิประโยชน์นอกเหนือจากภาษี
  • สิทธิประโยชน์ด้านการเงิน
  • ศูนย์บริการอำนวยความ สะดวกในพื้นที

การพัฒนาชุมชน: เพื่อการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ยั่งยืนจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับชุมชน EEC เพื่อการดูแล

  • สุขภาพอนามัย
  • สิ่งแวดล้อม
  • การศึกษา

EXECUTIVE SUMMARY

Office of the National Economics and Social Development Board had proposed the cabinet to found ‘Eastern Economic Corridor (EEC)’, which later the cabinet had agreed to move up closer to the world class hub particularly in term of investment. In addition, the Board of Investment of Thailand (BOI), and Ministry of Finance had already approved investment promoting scheme and other privileges to encourage entrepreneurs to make investment within ECC as well.


Source:

  • งานสัมมนา EEC Strategy : Thailand’s Competitive Transformation จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924