สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนา ‘F.T.I. Outlook 2017’ เรื่อง ‘อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมเชิญกูรูจากภาครัฐ – เอกชน มาร่วมพูดคุย MODERN MANUFACTURING ได้เก็บประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ
คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดเด่นของ อุตสาหกรรม 4.0 ว่า เป็นการผลิตที่เปลี่ยนจาก Mass Production เป็น Mass Customization นั่นก็คือ โรงงานในยุค 4.0 หรือ Smart Factory จะมีกระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบไซเบอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ครบวงจร ควบคุมการสื่อสาร ทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในแต่ละราย ในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการผลิตในอุตสาหกรรม 3.0 ที่ผลิตสินค้าได้จำนวนมาก แต่สินค้าจะเป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งกระบวนการผลิตของยุค 4.0 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย เพราะเป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คือ ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อยลง และกระบวนการผลิตมีความแม่นยำน่าเชื่อถือ
ดร.สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเทศไทยต้องปรับตัวสู่ยุค 4.0 โดยขณะนี้มีโมเดลประเทศไทย 4.0 เน้นเรื่องคน ต้องมีคนไทย 4.0 มีความรู้ ความสามารถความเป็นสากล ต่อมาคือเรื่องทักษะแรงงาน 4.0 ขณะนี้แรงงานมีทักษะฝีมือค่อนข้างต่ำ ซึ่งในอนาคต เช่น เอสเอ็มอี จะอยู่ได้ต้องเป็นเอสเอ็มอี 4.0 มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานจึงจำเป็นต้องมีทักษะ องค์ความรู้ รวมถึงการที่ต้องมีเทคโนโลยีที่แข็งแรงระดับหนึ่ง ใน 5-10ปี เพื่อทำให้เกิด สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ สมาร์ท เอสเอ็มอี สตาร์ท อัพ ภาคบริการที่สูงขึ้น
นอกจากนั้น จะต้องลดความเหลื่อมล้ำโดยมีแนวคิดจังหวัด 4.0 โดยจะให้แต่ละจังหวัด 77 จังหวัด เป็นผู้ขับเคลื่อน นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า สร้างความเข้มแข็งจากภายในแล้วเชื่อมโยงกับโลก ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 (Demand Side): ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงและสามารถใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0
ยุทธศาสตร์ที่ 2 (Supply Side): ส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรมทางด้านต่างๆ ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนทักษะสูงในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ Industry 4.0
ยุทธศาสตร์ที่ 3 (Infrastructure Side): พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะทางด้านการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนในระดับต่างๆ ให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมทางด้านมาตรฐานต่างๆ อาทิ มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานสำหรับ Technology และ Innovation เพื่อรองรับการเข้าสู่ Industry 4.0
ยุทธศาสตร์ที่ 4 (Funding Side): ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0
HIGHTLIGHTS เสวนา ‘อุตสาหกรรมไทยในยุค INDUSTRY 4.0’
คุณสมชาย หาญหิรัญ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
“ภาพรวมอุตสาหกรรมไทย เน้นเรื่องการส่งออกเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปค่อนข้างมากคือ ประวัติการส่งออกของประเทศไทยนั้น เบี่ยงมาทางอาเซียนมากขึ้น อุตสาหกรรมที่เคยเติบโตและยิ่งใหญ่ในอดีต มีแนวโน้มค่อนข้างลดลง มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้น ในระยะสั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้นก็คงมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น แต่ไม่มากนัก แต่ที่น่าดีใจคือสินค้ามีการปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่อาจจะต้องใช้เวลาในภาพโครงสร้างขนาดใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอด นั่นคือชิ้นส่วนยานยนต์”
คุณศุภชัย เจียรวนนท์
รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์
และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“แนวโน้มใน 2560 น่าจะยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ในส่วนของโทรคมนาคม เรามีการลงทุนค่อนข้างมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรือที่เราเรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ถ้าเราบอกว่าเราจะเติบโต ก็ต้องมาดูว่า แล้วเราลงทุนอะไรไปบ้าง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในระดับภูมิภาค สเกลของเราอยู่ตรงไหน การที่เราจะเติบโตไปได้ ในแต่ละภาคธุรกิจ จะต้องมองตลาดให้เป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น คือมองตลาดที่ใหญ่ขึ้น ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันลำบาก หากเรามองแค่ในประเทศ GDP อาจจะไม่โตมากสักเท่าไหร่ เพราะดูจากการลงทุนภายในประเทศ แต่ถ้าลองมองทั้งภูมิภาค มีความเติบโตอย่างแน่นอน ฉะนั้น โอกาสจะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ถ้าเราเพิ่มการลงทุนในตลาดที่กว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับอาเซียนหรือระดับโลก”
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
“ปัจจัยภายใน ปีหน้ามีหลายเรื่องที่สามารถส่งผลได้ ทั้งนโยบายภาครัฐ หรือเรื่องเหตุบ้านการเมืองต่างๆ แต่ถ้าจะมีผลกระทบที่เป็นความเสี่ยงมากกว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างเช่น นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีหลายเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรับได้ไหม กับความผันผวน และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกันต่อไป”
ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และประธานสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม
“การลงทุนที่ทางภาครัฐฯ ส่งเสริมและพัฒนาอยู่ ก็จะเป็นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนามากขึ้น ที่เราคาดหวังมากจริงๆ คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลัก คือ สาธารณูปโภค การขนส่งมวลชนทั้งหลาย จะเป็นการกระตุ้นได้มาก ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ที่เราพูดถึง INDUSTRY 4.0 กันมา ก็อยากให้มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของการลงทุน ก็จะเน้นไปในเรื่องที่ให้คนและเครื่องจักร ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่ม Productivity ได้อย่างเท่าตัว ในเรื่องการลงทุน อยากให้ผู้ประกอบการย้อนกลับมาดูตัวเองว่าประสิทธิภาพของคนและเครื่องจักรของตัวเองเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหนถึงจะเหมาะสม การใช้เครื่องจักรอัติโนมัติไม่ใช่เพิ่ม Productivity อย่างเดียว แต่สามารถเพิ่มคุณภาพ ลดความสูญเปล่า หลายๆ เรื่องที่จะสามารถ รักษาความสามารถในการแข่งขัน
ถามว่าทำไมต้องทำ INDUSTRY 4.0 ท้ายที่สุดแล้วเรื่องของต้นทุน คือทำไปแล้ว เป็นการลดต้นทุนลง ยิ่งถ้าสามารถนำระบบคอมพิวเตอร์มา Integrate ได้ ระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร และมนุษย์ก็จะเรียกว่าป็น Connectivity ซึ่งจะนำไปสู่ตลาดใหม่ๆ และเป็นการผลิตแบบ Mass Customization ได้เพิ่มมากขึ้น”