บทความหลัก… 2 ทิศทางสำคัญของอนาคตพลังงานไทย
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ความจำเป็นในอนาคตที่กลายเป็นปัจจุบัน เมื่อราคาของพลังงานทดแทนที่ว่าแพงนั้นได้หมดยุคไปแล้ว และระบบกักเก็บพลังงานซึ่งถือกำเนิดมาทีหลังราคาก็ดิ่งลงไม่ต่างจากพลังงานทดแทน
อีกทั้ง ยังมีช่องว่างสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีให้เล็กลงเบาขึ้น และใช้งานได้หลากหลายขึ้น (One for All) เหมือนเราใช้ Power Bank ในปัจจุบัน ระบบกักเก็บพลังงานไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะกับพลังงานลมและพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ อันเป็นพลังงานจากธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่มั่นคงนักเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้กับอาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล สถานีบริการประจุไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน Microgrid และยานยนต์ไฟฟ้าแทบทุกประเภท (EV) รวมทั้งรถตุ๊กตุ๊ก เอกลักษณ์ยานยนต์ไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพลังงานสีเขียว ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจคำว่า Power ที่หมายถึงอัตราของการใช้พลังงาน กับ Energy ที่หมายถึงปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับกำลังและเวลาที่ใช้ ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีของ Energy Storage คงสรุปได้ง่ายๆ ว่า หมดยุคตะกั่วกรด สู่ยุคของลิเธียมหลากหลายรูปแบบซึ่งต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจยากด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนเรื่องราคานั้น ทุกค่ายก็ยึดถือราคาตลาดโลก ซึ่งอยู่ที่กิโลวัตต์ละประมาณ 350 USD ส่วนชนิดของชุดกักเก็บพลังงานที่ลงสนามแข่งขันในประเทศไทยเท่าที่ได้ข้อมูล ได้แก่
LFP: Lithium Ferrite Phosphate
LTO: Lithium Titanate Oxide
NMC: Nickel Manganese Cobalt Oxide
NCA: Nickel Cobalt Auminum
คุณสมบัติทั่วๆ ไป ของแบตเตอรี่แต่ละชนิดไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น ทนความร้อนได้ถึง 60 ˚C แต่ละเซลล์หนักประมาณ 600 กรัม ในโลกของการแข่งขัน นอกจากต้องมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ประสิทธิภาพในการประจุพลังงานสูง SOC : State of Charge อัตราการคายประจุต่ำ (Seft Discharge) อายุการใช้งานยาวพร้อมรับประกัน ค่าบำรุงรักษาต่ำ และความปลอดภัยสูง
เพื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นจะขอแนะนำผู้ผลิตและจำหน่าย ESS ในเมืองไทย เท่าที่ทราบมี 5 กลุ่ม เป็นของคนไทย 3 ของต่างประเทศ 2 จะขอแนะนำ 3 กลุ่ม บริษัทคนไทยให้รู้จัก ดังนี้
- บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) โด่งดังจากพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ จับมือกับ Growatt พัฒนา Energy Storage ในประเทศไทยให้พร้อมรับมือการขยายตัวของพลังงานในอนาคตภายใต้เครื่องหมายการค้า Growatt และ Amita
- บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัทเก่าแก่ผู้ผลิตตู้ Switchboard ต่อยอดธุรกิจลงทุนเพิ่มกว่าพันล้านบาท ด้วยการซื้อเทคโนโลยีแบบนิคเคิลแมงกานีสโคบอลท์ (NMC) จาก New Resources Technology ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จ และเริ่มผลิตในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 โดยจะเริ่มผลิตรุ่น 16Ah, 3.7V เป็นแบบไฮเพาเวอร์ และรุ่น 25Ah, 3.7V ซึ่งเหมาะกับพลังงานทดแทน
- กลุ่มบริษัทมหาชนระดับ Top 5 ที่ใครๆ ก็รู้จักทั้งในประเทศ
ท่านอาจคิดไม่ถึงว่า ณ วันนี้ เรื่องของ ESS: ENERGY STORAGE SYSTEM จะก้าวกระโดดไปถึงเพียงนี้ สำหรับภาคเอกชนแล้ว คงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและเร่งทำตลาดในอาเซียนให้เป็นของไทย สำหรับภาครัฐงานหนักตามเคย ไม่เพียงต้องส่งเสริมให้ถูกที่ถูกเวลาแบบโปร่งใส ยังต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งกระทบต่อภาษีอันเป็นรายได้หลักเลี้ยงดูประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีน้ำมัน ภาษีนำเข้า รวมทั้งยังต้องพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับงาน และที่สำคัญรัฐต้องลดบทบาทภาครัฐ จากการลงมาแข่งขันกับภาคเอกชนเป็นการกำกับและส่งเสริมเต็มรูปแบบ จึงจะบรรลุเป้าหมาย THAILAND 4.0