ต้องขอบคุณคณะกรรมการในส่วนของพลังงานทดแทน ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งต่างก็ใช้ความพยายามกันสุดความสามารถในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การผลักดัน ‘พ.ร.บ.พลังงานทดแทน’ ไปจนถึงระบบไฟฟ้าเสรี การจัดลำดับความสำคัญของพลังงานทดแทนแต่ละประเภท รวมทั้งต้นทุนที่แท้จริงของราคาพลังงานทดแทนทั้งระบบ แต่ยังคงมีประเด็นที่หน่วยงานของรัฐเองยังตกลงกันไม่ได้ก็คือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะใช้ตัวเลขกำลังการผลิตติดตั้งหรือใช้ตัวเลขที่ผลิตได้จริงๆ
ฟังดูไม่ยากแต่ก็มีคนคิดให้ยากไปเองจึงใช้กำลังการผลิตติดตั้งเป็นเป้าหมายซึ่งได้ไม่เต็มปริมาณที่ใช้จริง อีกทั้งแนวคิดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ต้องใช้เชื้อเพลิงและใช้พลังงานจากธรรมชาติที่ใช้วิธีเดียวกัน การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Firm กับ Non-Firm ควรมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน อีกทั้ง VSPP และ SPP ก็ควรมีกติกาที่แตกต่างกัน และประการสุดท้ายความพร้อมของนักปั่นไฟที่พร้อมจริงๆ ทั้งเทคโนโลยีสะอาด และการเงิน เชื้อเพลิง ควรเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกและให้ความสำคัญ พลังงานทดแทนช่วงเปลี่ยนผ่านใครจะอยู่ใครจะไปเป็นเหมือนลูกไก่ในกำมือของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย ‘จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด’
เมืองไทยวันนี้มีผู้เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนมากมาย นอกจากภาครัฐทำหน้าที่ทั้งส่งเสริมและควบคุมดูแลผู้เล่นที่สำคัญที่สุดที่จะกล่าวถึงในฉบับนี้ก็คือ ภาคเอกชน ซึ่งเป็นตั้งแต่นายหน้า นักพัฒนาโครงการ เจ้าของโครงการ ผู้จัดหาเทคโนโลยี เจ้าของเทคโนโลยี รับเหมาก่อสร้างโครงการ ที่ปรึกษา นักลงทุน นักฉวยโอกาส และสถาบันการเงิน ปัจจัยซึ่งเป็นตัวแปรในช่วงเปลี่ยนผ่านก็มีมากมาย อาทิ พ.ร.บ.พลังงานทดแทน การเมืองในประเทศ สภาวะเศรษฐกิจไทยในยุคเงินฝืด กระแสปั่นหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบ Bidding ปัญหาสายส่งไม่เพียงพอ…และตัวแปรที่ทำให้วงการพลังงานทดแทนเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านก็คือ นักธุรกิจหน้าใหม่จากนอกวงการ (New Comer) ซึ่งโฉบเข้ามาฉกฉวยโอกาส โดยมองผลระยะสั้น
เพื่อเตือนความจำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้วิ่งตาม คือ 30% จากกำลังการผลิตติดตั้ง จึงขอแสดงแผนผังเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ในปีพ.ศ.2579 ในรูปแบบของInfographics ดังนี้
Biofuel เป็นพลังงานทดแทนที่อมตะนิรันดร์กาลของประเทศไทยอันได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล นอกจากชาวสวนชาวไร่ได้ประโยชน์กันทั่วหน้าแล้ว ยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอทานอล ซึ่งประเทศไทยผลิตจากกากน้ำตาล และมันสำปะหลัง หลายๆ ท่านอาจคิดว่า เมืองหนาวผลิตเอทานอลได้ยากเนื่องจากขาดวัตถุดิบ แต่ท่านทราบไหมว่า ภาคพื้นยุโรปให้ความสำคัญกับเอทานอลหรือแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% เป็นอย่างมาก โดยยุโรปผลิตจากข้าวโพดและข้าวสาลี ปีละ 7,000 ล้านลิตร สหรัฐอเมริกาผลิตจากข้าวโพด ปีละ 56,000 ล้านลิตร บราซิล ปีละ 28,000 ล้านลิตร จีน ปีละ 2,700 ล้านลิตร แคนาดา ปีละ 2,100 ล้านลิตร ส่วนประเทศไทยใช้อยู่ปีละประมาณ 1,400 ล้านลิตร
สำหรับไบโอดีเซลของไทยที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลราคาปาล์มดิบ (CPO) คือ เมื่อปาล์มน้ำมันล้นตลาดก็ผสมไบโอดีเซล B100 มากหน่อย เป็นแบบนี้มาโดยตลอด และยิ่งถ้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ล้นมากๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็จะใช้CPO แทนน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยพยุงราคาเป็นการอุดหนุนจากรัฐวิธีหนึ่งที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร หลายท่านคงได้อ่านบทวิเคราะห์ว่าในปีค.ศ.2030 หรืออีกสิบกว่าปีข้างหน้านี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปจะมีการใช้รถดีเซลลดลงจากสัดส่วนการใช้จาก 55% เหลือเพียง 9%
แน่นอนที่สุดว่าจะต้องส่งผลมาถึงไทยไม่มากก็น้อย เหตุผลการลดลงของรถยนต์ดีเซลอันเนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในประเทศไทยแกว่งมาก สรุปได้ว่าหากมีการผสม B1007% จะใช้ไบโอดีเซล 4.0-4.2 ล้านลิตรต่อวัน แต่ถ้าผสม B100ในอัตรา 3% หรือ 5% อัตราการใช้ต่อวันก็จะลดลงตามส่วน ซึ่งคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีในปีนี้ประเทศไทยจะใช้น้ำมันไบโอดีเซล 3.3ล้านลิตรต่อวัน
โรงไฟฟ้าชีวมวลและเชื้อเพลิงชีวมวลจากเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความไม่เพียงพอ ต้องยอมรับว่าถ้าเราย้อนหลังไป 10 ปี ชีวมวลไทยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐให้นำเศษเหลือทิ้งเหลือใช้มาผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองส่วนที่เหลือก็ขายไฟฟ้าให้ภาครัฐซึ่งได้มีการอุดหนุนการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในระบบ Adder
ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวลรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้เกิดขึ้นและกระจายตัวไปทั่วประเทศ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สร้างเสริมรายได้ให้ชุมชน แต่วันนี้ชีวมวลไทยไม่สามารถต้านทานกระแสโลกยุคดิจิตอลได้อีกต่อไป ได้กลายเป็นอาหารจานโปรดของบริษัทใหญ่ๆ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทิ้ง SME และชุมชนไว้เบื้องหลัง น่าชื่นชมหน่วยงานภาครัฐที่พยายามช่วย SME และชุมชนเหล่านี้ โดยการส่งเสริมให้นำเศษเหลือทิ้ง (จริงๆ) มาผลิตเป็น Biomass Pellets หรือเรียกว่า ชีวมวลอัดแท่ง และส่งเสริมให้ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อไม่ต้องพึ่งพาสายส่ง ไม่พึ่งพิงการปั่นหุ้นหรือปั่นไฟ แต่รู้สึกเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา คงต้องวัดใจผู้มีอำนาจให้กำหนดนโยบายลงมาดูแล SME กันต่อไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพลังงานทดแทนจากพืชที่เหมาะสมในประเทศไทย โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งพยายามมองหาช่องทางช่วยชุมชนภาคเกษตรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแบบยั่งยืนโดยการปลูกพืชพลังงาน เช่น พืชตระกูลกระถิน ยูคาลิปตัสและหญ้าเนเปียร์
ขอพาผู้อ่านสู่เวทีเดือดของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มจะเปิด Bidding ในภาคใต้ก่อนซึ่งจะทำให้มีอาชีพใหม่ในการจัดหาเอกสารรับรองปริมาณของเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งส่วนใหญ่ในภาคใต้ก็คงไม่พ้นยางพาราจากข้อมูลอยู่ที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พื้นที่ปลูกจริงมีมากกว่าตัวเลขที่ปรากฎ อยู่ที่ใครจะเชื่อว่าจริงๆ แล้วมีมากน้อยแค่ไหน จากการศึกษาปริมาณชีวมวลในหลายๆ สำนักของปี 2556 ได้รวบรวมชีวมวลทั้งที่จัดเก็บได้และจัดเก็บได้ยากว่ามีปริมาณประมาณ 130 ล้านตัน และนำไปใช้ประโยชน์แล้วราว 70 ล้านตัน ปริมาณคงเหลือถึง 60 ล้านตัน และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3,700 เมกะวัตต์
ราคาชีวมวลที่เป็นไม้สับในประเทศไทยชนิดพร้อมใช้มีราคาตั้งแต่ 300 บาทไปจนถึงตันละ 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่และคุณภาพชีวมวล สำหรับภาคใต้ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจากเศษต้นยางพาราไปจนถึงรากยางพาราค่อนข้างมาก คงไม่มีใครพยากรณ์ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลได้ถูกต้องในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือเมื่อมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าอีกจำนวนมากจากชีวมวลผู้รู้ในวงการพยากรณ์ว่า จากนี้อีก3-5 ปีจะได้รู้ว่าใครจะอยู่ใครจะไป ด้วยปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงและการเลือกใช้เทคโนโลยีราคาถูกยิ่งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า
เมื่อ Bidding ได้ราคาต่ำปัญหาที่จะตามมายังมีอีกมาก อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดสภาพคล่องของโรงไฟฟ้า และท้ายที่สุดก็คงมาเรียกร้องให้รัฐช่วยอีกเช่นเคย เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่ได้รับอัตรา FiT ราคาเต็มๆ ไม่ต้อง Biddingกว่า 180 โรง กำลังการผลิตกว่า 1,100 เมกะวัตต์ โดย 1 เมกะวัตต์ต้องใช้ไม้สับ 30 ตันต่อวันถ้าจะถามหาความรับผิดชอบก็ควรถามกันตั้งแต่วันนี้
Biogas หรือก๊าซชีวภาพในประเทศไทยต้องขอชื่นชมกับทีมงานสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ทั้งผลักและดันให้ภาคอุตสาหกรรมนำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แป้งมันสำปะหลัง ปาล์ม เอทานอล อาหาร น้ำยางข้น เข้าร่วมโครงการกว่า 235 โครงการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 3,962 ล้านบาท ใช้เวลากว่า 5 ปี ก๊าซชีวภาพส่วนหนึ่งใช้ผลิตความร้อนสำหรับใช้ในโรงงานและอีกส่วนหนึ่งผลิตเป็นไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่เนื่องจากโครงการนี้ยาวมาก ทำให้โครงการท้ายๆ ขาดแคลนสายส่ง ขายไฟฟ้าไม่ได้ถึงปัจจุบัน ซึ่งบางโรงงานก็จำเป็นต้องเผาทิ้งเพื่อลดมลพิษในอากาศ ภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามส่งเสริมให้นำก๊าซชีวภาพดังกล่าวมาอัดใส่ถังหรือที่เราเรียกว่า ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) แต่เนื่องจากอัตราอุดหนุนจากภาครัฐไม่คุ้มค่าการลงทุน และนโยบายรัฐเปลี่ยนแปลง โครงการดังกล่าวจึงเงียบหายไป
อีกโครงการหนึ่งที่น่าจะไปได้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยนไปด้วย ก็คือ การผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ เริ่มต้นจากการนำหญ้าเนเปียร์ที่กรมปศุสัตว์ใช้เลี้ยงสัตว์มาลองหมักแก๊ส ซึ่งปรากฏได้ว่าได้ผลดี รัฐบาลสมัยนั้นจึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกันแทบจะทั่วประเทศ แต่เมื่อนโยบายรัฐเปลี่ยนไป ผู้รับเคราะห์ก็คือเกษตรกรเช่นเคย
น่าเสียดายที่โครงการไบโอแก๊สในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่คนไทยมีเทคโนโลยีเองจากภูมิปัญญาคนไทย และความพร้อมด้านวัตถุดิบ และสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการหมักก๊าซชีวภาพ อาจะเป็นเพราะไบโอแก๊สไม่ใช่พลังงานทดแทนที่ซื้อง่ายขายคล่อง และย้ายสถานที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อย ภาครัฐเองก็ยังไม่ชัดเจนด้านการส่งเสริม แล้ว Biogas ไทยจะอยู่หรือไปในภาวะเช่นนี้
สำหรับกลุ่มพลังงานธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ต้องยอมรับว่าพลังงานลมในประเทศไทยโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีแบบ Low Speed – Wind Turbine แต่ก็ทำท่าจะคืนทุนยาก ในอนาคตเทคโนโลยีคงจะมีการพัฒนาสูงขึ้นไปอีก
สำหรับพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell พระเอกของพลังงานทดแทนที่ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงและเป็นพลังงานทดแทนชนิดแรกที่เข้า WIN ก่อนใคร คือไม่ง้อการอุดหนุนจากภาครัฐอันเนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยใกล้เคียงกับไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิล ส่วนโครงการโซล่าเซลล์ค้างท่อต่างๆ อีกหลายร้อยเมกะวัตต์ รัฐคงต้องแสดงความจริงใจยกเลิกโครงการที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาเพื่อประหยัดงบอุดหนุนนับหมื่นล้านบาท หรือหากจะเดินหน้าต่อก็ใช้วิธี Bidding ซึ่งไม่ซับซ้อนอะไรบอกใบ้ได้เลยว่าราคาต่ำกว่าเลข 4 ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ก็จะยังคงอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยและอยู่คู่โลกของเรา แต่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่รูปแบบหลากหลายที่ไม่ใช่ Solar Farm ซึ่งใช้พื้นที่มากอย่างในปัจจุบัน
พลังงานขยะ จะขอก้าวข้ามขยะอุตสาหกรรมซึ่งมีการจัดสรรให้กับนักลงทุนไปแล้วถึงแม้ว่าบ่อฝังกลบกว่า 500,000 ตันต่อปี ยังจะอยู่กันเกือบครบขยะอันตรายไม่สามารถกำจัดได้จึงพลาดเป้าหมาย Zero Landfill ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม ขอกลับไปที่ขยะชุมชนซึ่งทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดหาสายส่ง นับว่าโครงการขยะชุมชนเป็นแม่แบบของการบริหารจัดการพลังงานทดแทนที่ต้องใช้เชื้อเพลิงและเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และก็ขายไฟฟ้าแบบ Non-Firmซึ่งมีจุดเด่นของการดำเนินการดังนี้
- อัตราราคาส่งเสริมเหมาะสมไม่สูงเกินไปจนนักปั่นหุ้นวิ่งกรูกันเข้ามา
- เน้นการกำจัดขยะที่มีจริงๆ ไม่ต้องจัดหาหรือคาดว่าในอนาคตจะมี
- มีการคัดเลือกนักลงทุนจาก อปท. ที่รับผิดชอบขยะนั้นๆ
- ให้ความสำคัญกับ ชุมชน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้
เพียงเท่านี้ก็คงต้องให้ 5 ดาวแล้ว น่าเสียดายที่พลังงานขยะเป็นพลังงานที่ไม่มีอนาคตยาวนัก ซึ่งคาดว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ก็คงไม่มีโครงการใหม่ ๆ อีกแล้ว และก็คงไม่มีรัฐบาลไหนจะออกมาส่งเสริมให้ผลิตขยะเพิ่มเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นแน่
นานาทัศนะ
คุณสมโภชน์ อาหุนัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้ากำลังจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากการที่เราพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก มาเข้าสู่ยุคที่พลังงานทดแทนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รัฐบาลเองก็มีการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าลงมาตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
ขณะเดียวกันต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ก็ลดลงอย่างมาก จนทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นแหล่งพลังงานที่พึ่งพิงได้ การจ่ายในช่วง Peak Demand เริ่มมีต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากฟอสซิลในหลายประเทศ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะมีผลถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น เราจึงควรที่จะเร่งปรับตัว เริ่มคิดต่าง และเปลี่ยนวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานทดแทนของภูมิภาคนี้ต่อไป แทนที่เราจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในลักษณะ Non-Firm การรับซื้อในรูปแบบ Firm น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้พลังงานทดแทนเลิกเป็นภาระต่อผู้บริโภค ค่าไฟฟ้าโดยรวมก็จะถูกลงจากการใช้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ได้ประโยชน์สูงสุด
คุณพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รองเลขาธิการ และประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด
หากเราไม่ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นในวันนี้ เราคงไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสได้ หายนะภัยร้ายแรงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ประชาคมโลกล้วนตระหนักในปัญหาสำคัญนี้ร่วมกัน จนนำไปสู่ข้อตกลงกันของกว่า 150 ประเทศที่กรุงปารีส (COP21)
ประเทศไทยก็มีส่วนร่วมในภารกิจนี้เช่นกัน ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นสัญญาที่ COP21 ว่า ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 – 25 ภายในปี พ.ศ. 2573 จนเป็นที่มาของการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับภาคขนส่ง ให้เต็มศักยภาพที่เรามีอยู่
เชื้อเพลิงชีวภาพไบโอเอทานอล (Bio-Ethanol) เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตขึ้นจากพืชผลการเกษตรและชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (Biomass) ที่ประเทศไทยมีอยู่อย่างเหลือเฟือ อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างอาหารของมนุษย์และเชื้อเพลิงได้ถูกนำมาพิจารณาด้วย ในแต่ละปีเรามีอ้อย 100 ล้านตัน กากน้ำตาล 4.5 ล้านตัน มันสำปะหลัง 30 ล้านตัน ชีวมวล 30 ล้านตัน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยู่อย่างเหลือเฟือ เราผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลปีละ 3.3 ล้านตัน จากอ้อยสามแสนตัน และจากมันสำปะหลังเพียง 2.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่เรามี
ปัจจุบันประเทศไทยมาถึงจุดที่พัฒนาการใช้เอทานอลในรูปแบบของเชื้อเพลิงผสม เอทานอลเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในปริมาณมากน้อยแล้วแต่ชนิด น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 หรือ E10 จะมีเอทานอลผสมอยู่ร้อยละ 10 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 มีร้อยละ 20 และ 85 ตามลำดับ เอทานอลที่มีค่า RON (Research Octane Number) สูงถึง 129 ช่วยให้การเผาไหม้สะอาดขึ้น และเมื่อใช้กับเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนกำลังอัดสูง จะได้ประสิทธิภาพรวมสูงขึ้นไปอีก
ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายตอบสนองนโยบายรัฐด้วยการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเอทานอลสูง สามารถใช้น้ำมัน E20 แทบทุกรุ่น และเกือบ 20 รุ่น สามารถใช้น้ำมัน E85 ได้ บริษัทน้ำมันทุกรายทุ่มเทด้วยการเปิดสถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมัน E10 เป็นพื้นฐาน มีน้ำมัน E20 มากกว่า 3,000 สถานี และน้ำมัน E85 มากกว่า 800 สถานี กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงกว่าในอดีตมาก ส่งผลให้น้ำมันเบนซินหรือแก๊สโซลีนมีราคาถูก ทำให้เอทานอลที่ใช้วัตถุดิบการเกษตรในประเทศกว่าร้อยละ 75 มีต้นทุนผลิตที่สูงกว่าชัดเจน แต่ถ้าพิจารณาให้รอบด้าน ครบถ้วนทุกแง่มุม ตั้งแต่ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งมีความสำคัญสูงสุด เอทานอลช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy security) เนื่องจากผลิตขึ้นได้เองในประเทศ และอุตสาหกรรมเอทานอลมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศในด้านการลงทุน การจ้างงาน ใช้ปรับสมดุลภาคพลังงานและภาคเกษตร ในโอกาสที่เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาถูก ควรใช้กลไกภาษีน้ำมันและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีต้นทุนสูงกว่าให้อยู่รอดได้ และไม่ทำให้ผู้บริโภคสุดท้ายเดือดร้อน
ผมคาดหวังให้ประเทศไทยแน่วแน่กับการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอล และพลังงานทดแทนอื่นๆ ตามแผน AEDP ที่มีอยู่แล้ว ปัญหาและอุปสรรคเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา สามารถร่วมกันแก้ไขและก้าวข้ามไปได้ ด้วยศักยภาพด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยมีอยู่พร้อม ผมเชื่อมั่นว่า เราจะบรรลุถึงเป้าหมายระยะยาวด้วยกันในที่สุด
ผศ.ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี
ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พลังงานทดแทนจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกเสมอ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พลังงานจากก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบที่สอดคล้องเชื่อมโยง และมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่การผลิตในภาคเกษตรกรรมอย่างชัดเจน ทั้งในด้านการเปลี่ยนน้ำเสีย ของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิง ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการผลิตผลิตผลหลักของประเทศเช่น แป้งมัน น้ำตาล น้ำมันปาล์มลงอย่างมีนัยสำคัญ
ก๊าซชีวภาพ ยังเป็นระบบที่สามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน ของประเทศไทยและอาเซียน ทั้งด้านการจัดการขยะอินทรีย์ชุมชน การส่งเสริมพืชพลังงาน และการผลิตไฟฟ้าและความร้อนป้อนสู่ชุมชนแบบชุมชนเป็นเจ้าของผลิตเองใช้เองแบบมั่นคง (Firm RE Pro-Sumer) สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในอนาคต
ความสามารถอีกประการหนึ่งของก๊าซชีวภาพ คือการเป็นระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) โดยธรรมชาติ โดยสะสมเชื้อเพลิงมีเทนเก็บไว้ผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเวลาที่ต้องการอย่างปัจจุบันทันที (Real Time Power Supply) ซึ่งจะเป็นระบบผลิตพลังงานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการปรับปรุงเปลี่ยนก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากพลังงานไฟฟ้า เช่นก๊าซมีเทนชีวภาพอัดสำหรับยานยนต์ (CBG) ก๊าซมีเทนชีวภาพเพื่อทดแทนความร้อนในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม เป็นต้น
คงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งถ้าประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดอย่างมากมาย จะต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนาด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่สามารถจัดการด้วยนโยบายรัฐ เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตลาดการจำหน่ายก๊าซ CBG ในภาคขนส่ง และความร้อน ฯลฯ ทั้งที่ประเทศไทยมีต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพให้ใช้วัสดุหลักในประเทศ (Local Content) ได้ทั้งหมด ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก