Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

กว่าจะเป็น DentiiScan: ความสำเร็จจากห้องวิจัยสู่เครื่องมือแพทย์สำหรับทุกคนโดยคนไทย

ยังพอจำกันได้ไหมครับว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลนั้นมีอะไรบ้าง? สิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีอาจจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์แปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมดิจิทัลและเมื่อมาถึงการแพทย์เราอาจตั้งคำถามว่า เอ๊ะ? ประเทศไทยเจ๋งพอเหรอที่จะผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องหาคำตอบที่ไหนไกล วันนี้ Modern Manufacturing จะพามารู้จักกับความสำเร็จที่มีรางวัลการันตีอย่าง DentiiScan กันครับ

รู้จัก DentiiScan เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย (Cone – Beam CT)

เครื่อง DentiiScan นั้นเป็นเครื่องที่แต่เดิมถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า ทำให้การวินิจฉัยโรคและการวางแผนผ่าตัดสามารถดำเนินการได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว DentiiScan ยังสามารถใช้ในการตรวจสอบได้หลากหลายกว่างานทันตกรรม

จุดเด่นสำหรับการใช้งานนั้นเรียกได้ว่าไม่ธรรมดา มีศักยภาพไม่น้อยหน้าไปกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาแพง แต่เดิมนั้นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในส่วนศรีษะมักจะพบปัญหาว่ากระโหลกดูดซับรังสีขณะทำการแสกน ซึ่งตัวรังสีนี้จะแสดงผลปิดบังทัศนวิสัยการมองเห็น ทำให้ไม่สามารถมองผ่านหรือมองทะลุเข้าไปได้ ทางแก้จากทีมวิจัยจึงได้หันมาใช้การกำหนดลำรังสีเป็นทรงกรวย (Cone-Beam CT) ที่จะทำให้สามารถสแกนผ่านกระโหลกได้ดีกว่าและปรับตัวสแกนให้เคลื่อนที่ได้เป็นวงกลมเพื่อสร้างภาพ 3 มิติที่แม่นยำในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมาพร้อมการรองรับการใช้งาน Cloud เพื่อทำการจัดเก็บและให้บริการข้อมูลด้านทันตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกภาพ การออกแบบและผลิตเครื่องมือช่วยฝังรากฟันเทียม 

เจ้าเครื่อง DentiiScan นั้นแม้จะถูกพัฒนาโดยหัวกะทิชาวไทยแต่ดีกรีนั้นไม่ธรรมดา มีมาตรฐานการทดสอบที่น่าสนใจเบื้องต้นดังนี้

  • ผ่านการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ 
  • ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
  • ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) 
  • ผ่านการทดสอบความถูกต้องของภาพและปริมาณรังสี
    ที่ผู้ป่วยได้รับเปรียบเทียบกับเครื่องจากต่างประเทศ 
  • ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 – ระบบการบริหารจัดการ คุณภาพเครื่องมือแพทย์ จาก TÜV SÜD 

ผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์และความใส่ใจในการพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ ส่งผลให้สามารถประหยัดงบประมาณกว่า 270 ล้านบาท สร้างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์จากงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ พร้อมก่อให้เกิดมูลค่าทางทันตแพทย์ในการทำรากฟันเทียมมูลค่ากว่า 900 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีการใช้งานในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 60 แห่ง สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างชัดเจน

งานวิจัยที่สดใหม่ในวงการ VS งานวิจัยที่ ‘ใหม่’ ในพื้นที่

ความสำเร็จในครั้งนี้เรียกได้ว่ามาจากการผลักดันของ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและความขาดแคลนของเทคโนโลยีนี้มาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 และหยิบมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2550 และใช้เวลาพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี จนได้รับรางวัลในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นในการพัฒนาเครื่องสแกนนั้นต้องยอมรับว่าเงินทุนเป็นสิ่งมี่สำคัญมากที่สุด ถ้าหากไม่มีเงินทุนโครงการจะเดินหน้าอย่างไร และนักวิจัยจะอยู่ได้อย่างไร DentiiScan นั้นโชคดีที่มีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาอย่างมาก ถึงแม้จะมีเงินทุนในการพัฒนาแต่การมองหาผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพเหมาะสมก็ยังกลายเป็นปัญหาสำคัญได้อยู่ดีเช่นกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การขาดแคลนนักวิจัย โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้นโครงการ ซึ่งศ.ดร.ไพรัชได้เล่าถึงการสรรหานักวิจัยมาร่วมทีม พบว่านักวิจัยที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศหรือเพิ่งสำเร็จการศึกษานั้นมักให้ความสนใจกับประเด็นใหม่ ๆ ในวงการงานวิจัยเป็นหลัก ซึ่งตามมุมมองของศ. ดร. ไพรัชคิดว่าการพัฒนาเครื่องสแกนนี้ก็ถือเป็นสิ่งใหม่ แต่ไม่ใช่แปลกใหม่สำหรับโลกนี้เพราะต่างชาตินั้นผลิตมาได้นานแล้ว แต่สำหรับประเทศที่ขาดแคลนอย่างประเทศไทยกลับกลายเป็นสิ่ง ‘ใหม่’ ในพื้นที่ นักวิจัยกลุ่มที่ 2 นี้จึงให้ความสำคัญอย่างมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

ด้วยการที่ประเทศไทยหรือบริษัทในไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองทำให้ต้นทุนสำหรับเทคโนโลยีหนึ่ง ๆ นั้นมีมาก และการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นในประเทศเองนั้นยังส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถรองรับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าซับซ้อนมากขึ้นได้ด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังขาดแคลนในพื้นที่ขึ้นเองนั้นมีจุดแข็งอยู่สองประการ

1. มีความต้องการของตลาดรองรับ

การมีตลาดรองรับหมายถึงการมีโอกาสในการขายที่มีศักยภาพ มีกลุ่มลูกค้าแน่นอน นอกจากนี้สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์สามารถทดสอบในสถานการณ์จริงที่มีกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากได้อีกด้วย ทำให้การพัฒนาต่อยอดเป็นเรื่องง่าย

2. สามารถถอดแบบเรียนรู้จากสินค้าเดิมในตลาดปัจจุบันได้

เมื่อไม่ใช่การวิจัยสิ่งที่ใหม่หมดจด สิ่งของหรืออุปกรณ์เหล่านั้นที่อยู่ในตลาดสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาอุปกรณ์ได้ แน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง แต่การถอดบทเรียนและการศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งเพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขันก็สามารถทำได้

สำหรับงานวิจัยที่สดใหม่ซึ่งมักจะใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีล่าสุดมาเกี่ยวข้อง มักจะมุ่งเน้นไปที่การค้นพบสิ่งที่ยังไม่เคยเจอหรือกำลังเป็นเทรนด์ล่าสุดที่ได้รับความสนใจในหมู่แวดวงวิชาการหรือธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งความเกี่ยวโยงหรือความสามารถในการประยุกต์ใช้งานให้เข้ากับบริบทประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในการใช้งาน ทักษะ องค์ความรู้ และความจำเป็นของการวิจัยนั้น ๆ อยู่ในจุดที่เร่งด่วนหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามงานวิจัยในระดับพื้นฐานซึ่งมักเป็นงานวิจัยสำหรับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นยังคงมีความจำเป็น แม้ว่างานวิจัยเชิงประยุกต์ที่สามารถจับต้องได้สำหรับภาคธุรกิจจะมีความชัดเจนมากกว่าก็ตาม 

งานวิจัยพื้นฐานต้องมี! แต่งานวิจัยประยุกต์ต่อยอดต้องสร้างความแตกต่างที่ชัดเจน!

ปัจจุบันงานวิจัยที่ถูกเรียกว่างานวิจัย ‘ขึ้นหิ้ง’ นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดคำถามว่า “แล้วทำไปทำไม?” “เสียเงินเสียเวลากันไปเพื่ออะไร?” แต่ก่อนที่จะเริ่มตัดสินจากภาพจำผมอยากให้เข้าใจธรรมชาติของกลุ่มงานวิจัยกันเสียก่อน

กลุ่มงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งกลุ่มได้เป็นสองประเภทหลัก ได้แก่

1. งานวิจัยพื้นฐาน

กลุ่มการวิจัยพื้นฐานนั้นถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเน้นการศึกษาธรรมชาติให้ความสำคัญกับกระบวนการ ปรากฏการณ์ หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ซึ่งงานวิจัยในกลุ่มนี้อาจไม่ได้นำไปสู่การใช้งานได้ในทันทีหรือได้ผลลัพธ์สำเร็จรูปออกมา แต่มักใช้ในการอธิบายว่าเหตุากรณ์เกิดขึ้นได้อย่างไรและพยายามค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

2. งานวิจัยประยุกต์

งานวิจัยประยุกต์นั้นมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่แน่นอนด้วยการใช้พื้นฐานหรือทฤษฎีที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วและได้รับการยอมรับ งานวิจัยเชิงทดลอง กรณีศึกษาและการศึกษากลุ่มสหวิทยาการส่วนมากมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ มักมีเป้าหมายในการทำให้ข้อเท็จจริงที่ดูมีปัญหานั้นมีความกระจ่างยิ่งขึ้น หรือศึกษาว่าสิ่งๆ หนึ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในทิศทางใด

งานวิจัยพื้นฐานมักเป็นงานวิจัยที่ถูกเรียกว่างานวิจัย ‘ขึ้นหิ้ง’ เพราะมันเห็นผลลัพธ์ไม่ได้ทันทีและหลายครั้งอาจจับต้องได้ยาก มักต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญที่กระจ่างชัด ถ้าผมลองถามคุณง่าย ๆ ว่า เครื่องวิจัยอนุภาคที่ CERN ด้วย Large Hardon Collider (LHC) นั้นมีไว้ทำไม? ใช้ภาษีประชาชนไปเพื่ออะไร? ถ้าคุณตอบได้ก็ถือว่าคุณเป็นคนที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์พอตัวเลยล่ะครับ เพราะแท้จริงแล้วมันเป็นการศึกษาอนุภาคที่จะทำให้เราย้อนกลับไปทำความเข้าใจได้ถึงจุดกำเนิดของจักรวาลจากจุดที่เล็กที่สุด พอฟังแบบนี้แล้วดูไกลตัวไปใช่ไหมครับ แต่ถ้าผมบอกว่าเราได้วิธีใหม่ในการพัฒนา Proton CT ล่ะ? หรือทำให้เกิดการออกแบบเครื่องมือแพทย์จากไอออนของแสงที่มีราคาถูกและขนาดเล็กลงได้ ไปจนถึงการใช้ Machine Learning ในการวิเคราะห์วัคซีนล่ะครับ?

จะเห็นได้ว่าการวิจัยทั้งสองภาคส่วนนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แน่นอนว่าความยากง่ายในการดำเนินการนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้า การทดสอบ รวมไปถึงการหาตลาดที่จะมารองรับ แต่ผมอยากจะให้เข้าใจธรรมชาติของงานวิจัยกันเสียก่อนว่าไม่ใช่ทุกงานวิจัยที่เกิดขึ้นจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความคาดหวังทุกโครงการ แน่นอนว่าเมื่อทำการวิจัยจนจบแล้วก็มีโครงการที่ล้มเหลว หรือพบว่าสมมติฐานนั้นไม่สามารถใช้งานได้จริงเช่นกัน แต่นั่นก็คือสิ่งที่บอกว่า “เฮ้! ฉันเจอแล้วนะว่าวิธีแบบนี้ ความคิดแบบนี้มันใช้ไม่ได้ ไปทำวิธีอื่นเถอะ” แต่เอาเข้าจริงแล้วข้อมูลที่เกิดขึ้นระหว่างการวิจัยนั่นแหละที่สามารถนำมาต่อยอดแตกแขนงในการพัฒนาอื่น ๆ ได้อีกมากมายแม้ว่ามันจะไม่ได้เกิดผลลัพธ์ตามที่หวังไว้ตั้งแต่ต้นก็ตาม

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าถ้าหากไร้งานวิจัยพื้นฐานที่แข็งแรงมั่นคงแล้วการต่อยอดจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยสายประยุกต์นั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดองค์ประกอบจากความรู้ที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ การใช้ระบบการผลิตที่เหมือนกัน การที่สินค้าหรือชิ้นส่วนนั้น ๆ ทำหน้าที่ได้เหมือนกันแต่จะแตกต่างอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการนำเอาศักยภาพที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยบริสุทธิ์มาประยุกต์ หรือการนำเอางานวิจัยประยุกต์ที่เกิดขึ้นแล้วมาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนอย่างมั่นคง

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงมุมมองมุมเดียวจากหลายแง่มุมของงานวิจัยและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างสวยหรู ภายใต้เงื่อนไขอย่างสถานการณ์จริง บริบทของพื้นที่สังคม เงินทุน และเส้นสายการเมืองในแวดวงธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้งานวิจัยไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแบบผิดเพี้ยน ลองนึกถึงเวลามีการเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นในสังคมแล้วมีคนมารายงานข่าวบอกว่า “จากการวิจัยของ XXX โพลล์ พบว่าประชาชนจำนวน xxx รู้สึก…” คุณเคยคิดไหมล่ะครับว่าโพลล์พวกนี้มีตัวตนจริงเหรอ ทำไมไม่มาถามกันบ้าง? ในเมื่อเราก็ไม่ได้คิดแบบเขาจะมาสรุปรวบรัดแบบนี้ไม่ได้ มันก็แบบเดียวกันนั่นแหละครับข้อมูลที่เกิดขึ้นนั้นอาจผิดเพี้ยน หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง… คุณก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย (ในเชิงผลกระทบ) ของเขา

Ecosystem ปัจจัยหลักสำหรับการเปลี่ยนผลงานวิจัยสู่ตลาดจริง

งานวิจัยและพัฒนาเป็นจุดแข็งและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธุรกิจอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของธุรกิจการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความแตกต่างและส่งเสริมศักยภาพที่ส่งผลต่อ Brand Royalty ได้ด้วยเช่นกัน ไม่เชื่อก็ลองดูคนใช้งานสินค้า Apple สิครับ แล้วลองกลับไปดูว่าสิทธิบัตรของ Apple เนี่ยมีมากขนาดไหน

สำหรับความสำเร็จของ DentiiScan ศ.ดร. ไพรัชถือว่ามองเกมส์ขาด! ความสำเร็จจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือปัจจัยบางส่วนนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจหรือโลกที่ใช้งานจริงได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ความพร้อมของ Ecosystem ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้งานวิจัยนั้นทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบทบาท ซึ่งมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลกระทบแต่ปัจจัยหลัก ๆ ที่ต้องคิดและตั้งเป้าหมายไว้ก่อน ได้แก่

1. Spec ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้

ถ้าคุณวิจัยหรือพัฒนาโดยตั้งเป้าแค่ให้มีสินค้าขึ้นมาตอบโจทย์ตลาด แต่ในขณะที่ตลาดมีคู่แข่งจำนวนมากจุดยืนของสินค้าหรืออุปกรณ์นั้น ๆ จะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ ถ้าราคาไม่แตกต่างกันมาก และมี Spec ที่ไม่แตกต่างกัน แต่สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ดังน่าเชื่อถือได้คุณจะเลือกอะไร?

2. ผ่านการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

การผ่านมาตรฐานที่รับรองในหมวดที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องสแกน CT จำเป็นต้องมีการรับรองมาตรฐานในกลุ่มของการใช้รังสี ทำให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในความปลอดภัยและความสามารถในการใช้งาน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถไว้วางใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ในกิจกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อชีวิต

3. มีซัพพลายเชนในประเทศ

ในการผลิตสิ่งที่ไม่เคยถูกผลิตมาก่อนในประเทศ หรือเป็นการผลิตโดยใช้ Spec ที่ไม่เคยมีมาก่อนนั้นการค้นหาพันธมิตรด้านซัพพลายเชนถือเป็นเรื่องที่ยาก ผู้ผลิตจำนวนมากในประเทศไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับการทำการผลิตชิ้นส่วนที่มีมาตรฐานสูงอย่างเครื่องมือแพทย์ หรือหากเลือกใช้ซัพพลายเชนจากต่างประเทศก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่การติดต่อคุยงาน ติดตามควบคุมมาตรฐานหรือปรับเปลี่ยนรายละเอียดใด ๆ ก็อาจเป็นเรื่องยาก รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งอีกด้วย

4. รัฐบาลต้องเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสำคัญในการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ตลาดของอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นต้องบอกเลยว่าตลาดจากทางภาครัฐเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากประชากรในประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้ที่สูงมากนัก โรงพยาบาลรัฐจึงเป็นทางเลือกแรกและอาจเป็นทางเลือกเดียวสำหรับหลายคน ทำให้ปริมาณการใช้งานสูงและยังมี Lead User ให้สามารถวัดผลการทำงานได้จำนวนมาก สำหรับการวิจัยสาขาอื่น ๆ นั้นการมีรัฐเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายก็ยังคงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐสามารถผลักดันให้เกิด Scaling และการเติบโตขึ้นได้

สำหรับการพัฒนา DenntiiScan นั้นจุดแข็งอยู่ที่การ Solve สมการและ Algorithm ทางคณิตศาสตร์ที่มีความแม่นยำเป็นพื้นฐาน การจับมือกับพันธมิตรเพื่อทำการทดสอบเครื่องและการใช้งานทางคลินิกจริง โดยก่อนเริ่มการพัฒนานั้นทีมวิจัยได้สำรวจคุณสมบัติและ Spec เครื่องที่มีอยู่ในตลาดและร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำการทดสอบเครื่องมือ โดยมีภาคเอกชนทำหน้าที่ผลิต และกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดการขยายตัวในการใช้งานอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงพยาบาลที่ได้นำเครื่องไปใช้งานจะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขพิเศษ อาทิ ต้องมีปริมาณการใช้งานไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ต่อวัน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

หนึ่งในกรณีที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงสำหรับ Ecosystem ที่เกิดขึ้นใกล้ตัว คือ น้ำยาเคลือบหลุมร่องฟันที่บริษัท A ผลิตขายอยู่ในราคา 3,500 บาท ต่อ 5 ลิตรนั้น ในเวลาต่อมาโรงพยาบาลจุฬาฯ สามารถผลิตเองได้ในคุณภาพที่ทัดเทียมกันและราคาจัดจำหน่ายอยู่ที่เพียง 700 บาท ต่อ 5 ลิตรเท่านั้น ทางภาครัฐเล็งเห็นถึงประโยชน์จึงได้ออกเอกสารแนะนำไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เนื่องจากบริษัท A ทำการตลาดออกโปรโมชันสนับสนุนการขายซื้อ 1 แถม 2 ทำให้น้ำยาเคลือบหลุมร่องฟันของโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่สามารถตีตลาดได้ แสดงให้เห็นว่าในส่วนของผู้ใช้งานหรือตลาดเองก็มีความต้องการ แต่ยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในการใช้สินค้าแบรนด์ใหม่ แม้ว่าคุณสมบัติจะเหมือนกันก็ตาม

เตรียมความพร้อมตลาดก่อนการส่งออก

จากความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องสแกน CT คุณภาพสูงที่มีราคาถูกกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศทำให้ DentiiScan นั้นมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV โดย ศ. ดร. ไพรัช ได้ยกตัวอย่างการลงทุนจากญี่ปุ่นในอดีตให้ฟังว่า

การขายอุปกรณ์ให้กับต่างประเทศนั้นต้องให้ความสำคัญกับการซ่อมบำรุงอย่างมาก ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นจะต้องทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดขึ้นอย่างชำนาญในประเทศเสียก่อน จากนั้นเมื่อนำเทคโนโลยีหรือเครื่องมือมาขายจะพูดคุยกันเรื่องการพัฒนาแรงงานก่อนเป็นอันดับแรก ต้องพัฒนากำลังคนให้พร้อมสำหรับการใช้งาน สร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แล้วจึงค่อยมาคุยกันเรื่องมาตรฐานต่างๆ  เช่น ถ้าส่งออกไปเมียนมาร์ มีแพทย์ที่มีทักษะเพียงพอในการฝังรากฟันหรือยัง ถ้าหากยังไม่มีต้องส่งคนกับเครื่องไปฝึกก่อน หนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจ คือ การนำเครื่องเข้าไปสู่สถานศึกษาเพื่อสร้างความคุ้นชินกับเครื่องและเทคโนโลยีนั้น ๆ และสร้างความต้องการในตลาดให้เกิดขึ้นในอนาคต

ตลาดการผลิตยา และอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทยเรียกได้ว่ามีโอกาสอีกมาก จากข้อมูลการเบิกงบจากสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการภายในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่า 1 ใน 3 ของการเบิกเงินชดเชยอยู่ที่การรักษากลุ่มกระดูก (Orthopedic) และอีก 1 ใน 3 อยู่ที่กลุ่มหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiology) ในขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากและยาบางชนิดยังไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ทำให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมและมุมมองที่มีต่องานวิจัยของสังคมไทยที่ยังขาดความเข้าใจอยู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Ecosystem ของประเทศไทยเองที่ไม่ค่อยจะเอื้อสำหรับงานวิจัยและการพัฒนาเท่าไหร่นั่นเอง

หากผู้ผลิตรายใดสนใจในการวิจัยและพัฒนาสำหรับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์อื่น ๆ หน่วยงานอย่าง NSTDA และ NECTEC ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้แนวความคิดที่มีเป็นจริงได้ และการมีองค์ความรู้ที่เป็นของตัวเองนั้นสามารถต่อยอดและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างมั่นคง

อ้างอิง:

Types of scientific research


https://www.weforum.org/agenda/2018/09/ten-years-of-large-hadron-collider-discoveries-are-just-the-start-of-decoding-the-universe/

บทความที่น่าสนใจ:
อยากได้นวัตกรรมใหม่ ๆ ? เริ่มต้นได้ด้วยวิธีคิด!

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924