Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

Update ความก้าวหน้า 4 โครงการสำคัญใน EEC เพื่อดึงดูดนักลงทุน

เลขาธิการ EEC เดนหน้าตามแผนดึงดูดนักลงทุน คาดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่มีผลกระทบต่อแผนการดำเนินงาน โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อ 3 สนามบินเกิดความล่าช้ากว่าแผนงานเดิม รอคณะรัฐมนตรีใหม่พิจารณาปรับวงเงินงบประมาณ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่ EEC ว่า ขณะนี้มีการเร่งรัดการดำเนินการใน 4 โครงการ  

  1. โครงการก่อสร้างสนามบินอูตะเภา ซึ่งเป็นโครงการ่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เอกชนดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และรัฐดำเนินการก่อสร้างรันเวย์สนามบิน โดยจะมีประกาศเชิญชวนประมาณเดือน ก.ค.66 ซึ่งขั้นตอนล่าช้าไปบ้าง แต่จะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2570 
  2. โครงการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้าแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อขยายท่าเทียบเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น จากที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2569 แต่มีปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้าง เรื่องการถมทะเล ทำให้จะล่าช้ากว่าแผนงานออกไปประมาณ 1 ปี 
  3. โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รองรับเรือขนส่งก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งจะนำไปใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ขณะนี้มีการถมทะเลแล้ว โดยการก่อสร้างเป็นไปตามแผน กำหนดเปิดให้บริการในปี 2570
  4. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับเปลี่ยนสัญญาของภาคเอกชนในการเชื่อมเส้นทางแต่ละสนามบิน ที่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งต้องมีการพูดคุยเรื่องปรับวงเงินงบประมาณ และต้องนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่ ทำให้กำหนดแผนงานก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2570-2571 ขณะนี้ล่าช้าไปแล้วประมาณ 1 ปี  

สำหรับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น พบว่าระบบรถไฟความเร็วสูง จะมีส่วนเชื่อมสนามบินดอนเมือง-บางซื่อ, บางซื่อ-พญาไท -สุววรณภูมิ พบว่าพื้นที่เขตทางบางส่วนทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อาจต้องปรับแผนก่อสร้างบ้าง โดยที่ผ่านมามีความพยายามในการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ขณะที่พื้นที่ส่งมอบช่วงบางซื่อ –พญาไท ที่ยังติดปัญหาเคลียร์เรื่องท่อน้ำมัน เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างได้ ส่วนเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ไปจนถึงอู่ตะเภา ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร ใช้แนวเส้นทางเขตรถไฟเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนทางโค้งได้มีการเวนคืนพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อปรับเส้นทางรองรับความเร็วของรถไฟ รวมทั้งก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม 

เลขาธิการ EEC ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโดรนใช้ในพื้นที่ EEC เพื่อขนส่งพัสดุสินค้าขนาดเล็ก ขณะนี้ได้เริ่มทดลองโครงการในพื้นที่ Sandbox ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi  วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เข้าร่วม โดยมีบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ ระหว่างโดรนและเครื่องบิน ซึ่งจะมีระดับเพดานบินที่แตกต่างกัน

ขณะที่นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) บอกว่าพื้นที่ EEC ที่ตั้งเป้าหมายให้เป็นเมืองการบิน มีการตั้งเป้าหมายนำระบบอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนมาใช้ในการขนส่งทั้งคนและพัสดุ เพื่อให้เป็นเมืองการบินอย่างสมบูรณ์ในอนาคต โดย บวท.จะเข้ามาบริหารการจัดจราจรทางอากาศ ให้มีความสมบูรร์ปลอดภัยมากที่สุด

ที่มา:
tna.mcot.net

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924