Monday, December 2Modern Manufacturing
×

รู้จักนโยบายด้านความยั่งยืน! UNSDG, ESG และ BCG แตกต่างกันอย่างไร?

เมื่อนโยบายด้านความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่คอยผลักดันเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนตามนโยบายต่าง ๆ ในระดับสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายสำคัญที่ผู้ประกอบการและธุรกิจการผลิตต้องเข้าใจในภาพใหญ่อยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ UNSDGs, ESG และ BCG

Key Takeaways
SDGs, ESG และ BCG นั้นมีความเกี่ยวข้องและส่งเสริมกันอยู่อย่างไม่อาจแยกได้
– SDGs เป็นนโยบายระดับสากล ภาพใหญ่ที่โรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางอาจมองว่าไกลตัวมาก
– ESG เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเมินความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 
– BCG เป็นแนวคิดที่ปรับใช้ได้กับโรงงานทุกขนาด สามารถเห็นผลได้ชัดเจนไม่ว่า SMEs หรือธุรกิจใหญ่ โดยปัจจุบัน BOI ได้มีมาตรการสนับสนุนกิจการในอุตสาหกรรม BCG ซึ่งสามารถตรวจสอบกลุ่มอุตสาหกรรมได้ตามข้อมูลดังนี้ 

ความยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจการผลิตจึงต้องใส่ใจ

ความยั่งยืนหรือ Sustainability นั้นองค์การสหประชาชาติได้ให้คำนิยามของการพัฒนาแบบยั่งยืนเอาไว้ดังนี้ ‘การพัฒนาแบบยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สอดคล้องสมประโยชน์กับความต้องการในปัจจุบันที่เกิดขึ้นโดยไม่ไปลดทอนความสามารถของมนุษยชาติรุ่นต่อไปในอนาคตที่จะตอบสนองความต้องการอันจำเป็นได้’ ในขณะที่มหาวิทยาลัย UCLA ได้ให้คำจำกัดความที่ใกล้เคียงกัน คือ ‘การบูรณาการของสุขภาพสิ่งแวดล้อม, ความเท่าเทียมกันของสังคม และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ’ 

จะเห็นได้ว่าแนวคิดของความยั่งยืนนั้นประกอบไปด้วยเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และสังคม เพียงแต่หลายคนยังมองว่าการรักษ์โลกเป็นเพียงแค่เทรนด์ใหม่ ๆ ทางการตลาด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนทรัพยากรในแง่มุมต่าง ๆ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางหรือนโยบายต่าง ๆ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อทำให้ธุรกิจและสังคมมนุษย์สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันหลากหลายประเทศได้มีการกำหนดนโยบายด้านการนำเข้าและส่งออกที่ต้องนำเสนอรายงานความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต  ทำให้กิจกรรมด้านความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งข้อกำหนดสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องส่งออกด้วยเช่นกัน

โดยนโยบายหรือแนวคิดสำหรับความยั่งยืนในภาพใหญ่และมีการใช้งานที่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจควรรู้จักมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

SDGs หรือบางครั้งเราอาจจะเห็นคำว่า UNSDGs ซึ่งมีความหมายไปในทางเดียวกัน คือ เป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nation) ที่ตั้งเป้าไว้ 17 เป้าหมายที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านของสิทธิมนุษยชนอันหลากหลาย ได้แก่

  1. การกำจัดความยากจน
  2. การกำจัดความอดอยาก
  3. สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
  4. การศึกษาที่มีคุณภาพ
  5. ความเท่าเทียมทางเพศ
  6. น้ำสะอาดและสุขอนามัย
  7. พลังงานสะอาดราคาถูก
  8. งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต
  9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
  10. ลดความเหลื่อมล้ำ
  11. เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
  12. บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ
  13. แก้ปัญหาโลกร้อน
  14. ชีวิตในน้ำ
  15. ชีวิตบนบก
  16. สันติภาพ ยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง
  17. ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่ง SDGs นั้นจะเป็นนโยบายภาพใหญ่และความเห็นร่วมกันในระดับนานาชาติว่าควรจะมีการดำเนินการในด้านใดร่วมกันบ้าง ซึ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมเองก็จะมีความเกี่ยวข้องหลัก ๆ ในหมวดที่ 9 และ 12 ซึ่งว่าด้วยการผลิตและการบริโภคเป็นหลัก

ESG ข้อกำหนดและตัวชี้วัดสำคัญสำหรับบริษัทและองค์กรที่ต้องการเติบโต

ESG นั้นเป็นการย่อคำจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาความยั่งยืนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ซึ่งเรียกได้ว่ามีส่วนสำคัญสำหรับบริษัทที่มีความต้องการในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการทำรายงาน ESG เพื่อประเมินความยั่งยืนในแต่ละด้านขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถคัดกรองบริษัทหรือองค์กรที่มีการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบได้ ซึ่งการลงทุนการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดของ ESG ช่วยให้บริษัทสามารถหลักเลี่ยงความเสี่ยงหรือการดำเนินการบางอย่างที่ผิดต่อจรรยาบรรณได้อีกด้วย

BCG แนวคิดด้านเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่เน้นการหมุนเวียนของทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

BCG Economy นั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่ถูกนำมาร้อยเรียงเพื่อสร้างประโยชน์ที่เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะมองไปถึงการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้ง Life Cycle เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และกระบวนการนำผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุขัยแล้วกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ การรีไซเคิลและอัปไซเคิล ไปจนถึงการแปรรูปเพื่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ เช่น การนำไปเป็นพลังงานชีวมวล เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจุดแข็งของธุรกิจที่เน้นความคุ้มค่าและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งจะใกล้เคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานและวัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในท้ายที่สุด

จุดร่วมและความแตกต่างระหว่าง SDGs, ESG และ BCG สำหรับธุรกิจการผลิตยุคยั่งยืน

เมื่อพูดถึงเรื่องของความยั่งยืน SDGs, ESG และ BCG เป็น 3 ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง หากพิจารณาเบื้องต้นจะเข้าใจได้ว่า ESG และ BCG นั้นเป็นนโยบายและแนวคิดที่เป็นไปตามหน่วยย่อยของ SDGs หากพิจารณาว่า SDGs นั้นเป็นภาพใหญ่ที่สุด ESG จะเป็นนโยบายหรือข้อกำหนดที่อยู่ในร่มของ SDGs อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดหรือมาตรฐานการดำเนินการของธุรกิจมากกว่าเป็นนโยบายในภาพใหญ่ ในขณะที่ BCG อาจมองอย่างง่ายได้ว่าเป็นแนวคิดที่ออกไปในเชิงปฏิบัติ เป็นแนวทางการดำเนินการมากกว่าเป็นกรอบนโยบายเพื่อใช้วัดผลหรือพิจารณาผลลัพธ์เป็นหลักอย่าง ESG

แม้ว่าเรื่องของความยั่งยืนต่าง ๆ จะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องเพิ่มภาระในการดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการตามแนวคิดเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มศํกยภาพในการแข่งขันที่สามารถจับต้องและวัดผลได้เป็นตัวเลขอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดด้าน BCG ที่จะช่วยลดต้นทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวโรงงานเองได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง:
https://www.sustain.ucla.edu/what-is-sustainability/
https://www.investopedia.com/terms/s/sustainability.asp
https://thailand.un.org/th/sdgs
https://setsustainability.com/page/esg-risk
https://www.bcg.in.th/background/
https://setsustainability.com/libraries/1031/item/-esg-bcg-

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924