เมื่อนโยบายด้านความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่คอยผลักดันเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนตามนโยบายต่าง ๆ ในระดับสากลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายสำคัญที่ผู้ประกอบการและธุรกิจการผลิตต้องเข้าใจในภาพใหญ่อยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ UNSDGs, ESG และ BCG
Key Takeaways
– SDGs, ESG และ BCG นั้นมีความเกี่ยวข้องและส่งเสริมกันอยู่อย่างไม่อาจแยกได้
– SDGs เป็นนโยบายระดับสากล ภาพใหญ่ที่โรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางอาจมองว่าไกลตัวมาก
– ESG เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเมินความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
– BCG เป็นแนวคิดที่ปรับใช้ได้กับโรงงานทุกขนาด สามารถเห็นผลได้ชัดเจนไม่ว่า SMEs หรือธุรกิจใหญ่ โดยปัจจุบัน BOI ได้มีมาตรการสนับสนุนกิจการในอุตสาหกรรม BCG ซึ่งสามารถตรวจสอบกลุ่มอุตสาหกรรมได้ตามข้อมูลดังนี้
ความยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจการผลิตจึงต้องใส่ใจ
ความยั่งยืนหรือ Sustainability นั้นองค์การสหประชาชาติได้ให้คำนิยามของการพัฒนาแบบยั่งยืนเอาไว้ดังนี้ ‘การพัฒนาแบบยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สอดคล้องสมประโยชน์กับความต้องการในปัจจุบันที่เกิดขึ้นโดยไม่ไปลดทอนความสามารถของมนุษยชาติรุ่นต่อไปในอนาคตที่จะตอบสนองความต้องการอันจำเป็นได้’ ในขณะที่มหาวิทยาลัย UCLA ได้ให้คำจำกัดความที่ใกล้เคียงกัน คือ ‘การบูรณาการของสุขภาพสิ่งแวดล้อม, ความเท่าเทียมกันของสังคม และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ’
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของความยั่งยืนนั้นประกอบไปด้วยเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม และสังคม เพียงแต่หลายคนยังมองว่าการรักษ์โลกเป็นเพียงแค่เทรนด์ใหม่ ๆ ทางการตลาด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนทรัพยากรในแง่มุมต่าง ๆ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวทางหรือนโยบายต่าง ๆ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อทำให้ธุรกิจและสังคมมนุษย์สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันหลากหลายประเทศได้มีการกำหนดนโยบายด้านการนำเข้าและส่งออกที่ต้องนำเสนอรายงานความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ทำให้กิจกรรมด้านความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งข้อกำหนดสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องส่งออกด้วยเช่นกัน
โดยนโยบายหรือแนวคิดสำหรับความยั่งยืนในภาพใหญ่และมีการใช้งานที่ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจควรรู้จักมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
SDGs หรือบางครั้งเราอาจจะเห็นคำว่า UNSDGs ซึ่งมีความหมายไปในทางเดียวกัน คือ เป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nation) ที่ตั้งเป้าไว้ 17 เป้าหมายที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านของสิทธิมนุษยชนอันหลากหลาย ได้แก่
- การกำจัดความยากจน
- การกำจัดความอดอยาก
- สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- การศึกษาที่มีคุณภาพ
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- น้ำสะอาดและสุขอนามัย
- พลังงานสะอาดราคาถูก
- งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต
- อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
- ลดความเหลื่อมล้ำ
- เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
- บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ
- แก้ปัญหาโลกร้อน
- ชีวิตในน้ำ
- ชีวิตบนบก
- สันติภาพ ยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง
- ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่ง SDGs นั้นจะเป็นนโยบายภาพใหญ่และความเห็นร่วมกันในระดับนานาชาติว่าควรจะมีการดำเนินการในด้านใดร่วมกันบ้าง ซึ่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมเองก็จะมีความเกี่ยวข้องหลัก ๆ ในหมวดที่ 9 และ 12 ซึ่งว่าด้วยการผลิตและการบริโภคเป็นหลัก
ESG ข้อกำหนดและตัวชี้วัดสำคัญสำหรับบริษัทและองค์กรที่ต้องการเติบโต
ESG นั้นเป็นการย่อคำจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาความยั่งยืนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ ซึ่งเรียกได้ว่ามีส่วนสำคัญสำหรับบริษัทที่มีความต้องการในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการทำรายงาน ESG เพื่อประเมินความยั่งยืนในแต่ละด้านขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถคัดกรองบริษัทหรือองค์กรที่มีการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบได้ ซึ่งการลงทุนการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดของ ESG ช่วยให้บริษัทสามารถหลักเลี่ยงความเสี่ยงหรือการดำเนินการบางอย่างที่ผิดต่อจรรยาบรรณได้อีกด้วย
BCG แนวคิดด้านเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่เน้นการหมุนเวียนของทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
BCG Economy นั้นมีรากฐานมาจากแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ที่ถูกนำมาร้อยเรียงเพื่อสร้างประโยชน์ที่เกิดความยั่งยืน ซึ่งจะมองไปถึงการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้ง Life Cycle เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และกระบวนการนำผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุขัยแล้วกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ การรีไซเคิลและอัปไซเคิล ไปจนถึงการแปรรูปเพื่อให้เกิดประโยชน์อื่น ๆ เช่น การนำไปเป็นพลังงานชีวมวล เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจุดแข็งของธุรกิจที่เน้นความคุ้มค่าและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งจะใกล้เคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานและวัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในท้ายที่สุด
จุดร่วมและความแตกต่างระหว่าง SDGs, ESG และ BCG สำหรับธุรกิจการผลิตยุคยั่งยืน
เมื่อพูดถึงเรื่องของความยั่งยืน SDGs, ESG และ BCG เป็น 3 ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง หากพิจารณาเบื้องต้นจะเข้าใจได้ว่า ESG และ BCG นั้นเป็นนโยบายและแนวคิดที่เป็นไปตามหน่วยย่อยของ SDGs หากพิจารณาว่า SDGs นั้นเป็นภาพใหญ่ที่สุด ESG จะเป็นนโยบายหรือข้อกำหนดที่อยู่ในร่มของ SDGs อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดหรือมาตรฐานการดำเนินการของธุรกิจมากกว่าเป็นนโยบายในภาพใหญ่ ในขณะที่ BCG อาจมองอย่างง่ายได้ว่าเป็นแนวคิดที่ออกไปในเชิงปฏิบัติ เป็นแนวทางการดำเนินการมากกว่าเป็นกรอบนโยบายเพื่อใช้วัดผลหรือพิจารณาผลลัพธ์เป็นหลักอย่าง ESG
แม้ว่าเรื่องของความยั่งยืนต่าง ๆ จะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องเพิ่มภาระในการดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการตามแนวคิดเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มศํกยภาพในการแข่งขันที่สามารถจับต้องและวัดผลได้เป็นตัวเลขอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดด้าน BCG ที่จะช่วยลดต้นทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวโรงงานเองได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง:
https://www.sustain.ucla.edu/what-is-sustainability/
https://www.investopedia.com/terms/s/sustainability.asp
https://thailand.un.org/th/sdgs
https://setsustainability.com/page/esg-risk
https://www.bcg.in.th/background/
https://setsustainability.com/libraries/1031/item/-esg-bcg-