Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

TECH NC Turn Crisis into Chance เสริมศักยภาพการผลิตด้วย Automation

กระแสเศรษฐกิจไทยรวมถึงเศรษฐกิจโลกที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดภาวะวิกฤตในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เกิดภาวะชะงักงัน จะเห็นได้ว่าหลายๆ องค์กรเลือกที่จะอยู่นิ่ง ไม่ลงทุนพัฒนาในเรื่องใดเพิ่มเติม ทั้งนี้ก็เพื่อประคองให้ธุรกิจของตนรอดพ้นจากภาวะวิกฤตไปให้ได้ แต่ด้วยมุมมองธุรกิจที่คิดต่าง ทำให้ บริษัท เทค เอ็นซี จำกัด มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส และตัดสินใจที่จะรุกตลาดธุรกิจอุตสาหกรรม ด้วยการนำเทคโนโลยี Automation หรือ ระบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจมีศักยภาพ ทั้งในด้านประสิทธิภาพการผลิต และความได้เปรียบทางต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงาน ด้วยเพราะเชื่อมั่นว่า… ‘ความสำเร็จของลูกค้า คือ เป้าหมายความสำเร็จขององค์กร’ ด้วยเช่นกัน

TECH NC Turn Crisis into Chance เสริมศักยภาพการผลิตด้วย Automation

ชู Automation รุกตลาดต่อเนื่อง
ขยายฐานเสริมทัพ รองรับอุตสาหกรรม 4.0

กว่า 14 ปี ที่ บริษัท เทค เอ็นซี จำกัด ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมการผลิต ในฐานะการเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักรหนักหลากหลายแบรนด์ดัง ที่มุ่งนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักดีว่าความได้เปรียบด้านต้นทุน หรือความสามารถในการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ดังนั้น ท่ามกลางภาวะกระแสเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก บริษัท เทค เอ็นซี จำกัด จึงได้รุกขยายตลาดด้วยการนำเสนอระบบอัตโนมัติ หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า ‘Automation’ เป็นโซลูชั่นใหม่ ที่จะติดอาวุธให้อุตสาหกรรมการผลิตเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร

TECH NCผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธนา หริรักษาพิทักษ์ Director บริษัท เทค เอ็นซี จำกัด ได้ให้รายละเอียดในประเด็นดังกล่าวว่า “การขยายธุรกิจในส่วนงาน Automation หรือระบบอัตโนมัติของ TECH NC ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำแขนกลเข้ามาบูรณาการกับเครื่อง CNC เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการผลิตให้สูงขึ้น สามารถผลิตชิ้นงานได้รวดเร็วมากขึ้น ความถูกต้องแม่นยำสูงขึ้น การเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานต่ำลง และยังลดการใช้แรงงานในการผลิตได้อีกด้วย

สำหรับในส่วนของ TECH NC นั้น โซลูชั่นที่เป็นระบบ Automation มุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบกระบวนการผลิตอัตโนมัติสำหรับกระบวนการผลิตที่มีลักษณะเป็น Mass Production กล่าวคือ เป็นกระบวนการผลิตที่ผลิตจำนวนมากและมีความต่อเนื่อง โดยระบบ Automation จะทำหน้าที่ทดแทนแรงงานคนในกระบวนการผลิตเช่น แขนกลจับชิ้นงานวางลงในเครื่องจักร จากนั้นเครื่องจักรทำงานตามโปรแกรมเพื่อผลิตชิ้นงานโดยแขนกลหยิบชิ้นงานออกมา นำไปวางในกระบวนการตรวจสอบ หากไม่พบปัญหาชิ้นงานก็จะถูกส่งไปวางในจุดที่สำเร็จส่วนแขนกลจะหยิบชิ้นงานตัวใหม่มาป้อนเป็นกระบวนการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามกระบวนการผลิตที่ได้ออกแบบไว้

นอกจากนี้ TECH NC ยังให้บริการในลักษณะของการเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้งสายการผลิตอัตโนมัติ โดยจะมีทีมงานเข้าไปให้คำปรึกษาในทุกกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการวางแผน ออกแบบกระบวนการผลิต ติดตั้งเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติจนกระทั่งกระบวนการผลิตแล้วเสร็จเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จออกมา รวมไปถึงการประมวลผลต่างๆ ซึ่งถือเป็นการยกระดับกระบวนการผลิต ให้สอดรับกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต” ผศ.ยุทธนา กล่าว

บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ และติดตั้งระบบ Automation ตลอดกระบวนการผลิต

สำหรับการติดตั้งระบบ Automation นั้น ผศ.ยุทธนาได้กล่าวถึงรายละเอียดในกระบวนการออกแบบและติดตั้งระบบ Automation ว่า “ทีมงานของ TECH NC จะต้องทราบกระบวนการผลิตทั้งหมดของลูกค้าก่อนที่จะวางแผน ออกแบบกระบวนการผลิต และติดตั้งระบบ Automation ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการผลิตที่มีการติดตั้งระบบ Automation แล้วมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น ใช้ระยะเวลาในการผลิตน้อยลง สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น ในระยะเวลาที่ลดลง อีกทั้งมีความถูกต้องแม่นยำในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยลง และที่สำคัญ คือ การใช้แรงงานคนลดลง ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบัน”

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตที่เป็นระบบอัตโนมัติ (Automation)

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะช่วยให้ TECH NC สามารถออกแบบกระบวนการและระบบ Automation ที่มีประสิทธิภาพทำงานสูง ช่วยลดระยะเวลาในการผลิตและต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ ถือเป็นบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการติดตั้งกระบวนการผลิตด้วยระบบ Automation

  1. ข้อมูลตัวสินค้า (Product) ลูกค้าผลิตสินค้าประเภทใด เพื่ออะไร ใช้งานในอุตสาหกรรมใด
  2. กระบวนการผลิต (Production) พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับกระบวนการผลิตทั้งหมด ว่ามีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้าง
  3. เวลาในการผลิต (Cycle Time) เมื่อใช้แรงคนในการทำงานแล้วเวลาที่ใช้ในการผลิตเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรในแต่ละหน่วยการทำงาน

เครื่องจักร Automation ทำงาน 24 x 7 ทดแทนการพึ่งพาแรงงานคน

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบ Automationต้องยอมรับว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ แม้ว่าแรงงานจะเป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนธุรกิจก็ตาม ส่งผลให้กระบวนการผลิตไม่สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งในด้านความรวดเร็วในการผลิตและคุณภาพของสินค้า ดังนั้น การนำระบบ Automation เข้ามาทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วในวงการอุตสาหกรรมการผลิต

ผศ.ยุทธนา ยังได้กล่าวต่อไปว่า “จุดเริ่มต้นของการนำระบบ Automation เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ก็เพื่อจัดการปัญหาด้านแรงงานขาดแคลน ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานที่เป็นผลมาจากความเหนื่อยล้าในการทำงาน การเจ็บป่วย หรือกระทั่งการได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ดังนั้นการพัฒนาแขนกล ซึ่งถือเป็นระบบ Automation มาใช้ในกระบวนการผลิตจึงทำให้ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไข

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการทำงานของแขนกลและแรงงานคนสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ หลังจากชิ้นส่วนออกจากเครื่อง Die Casting แขนกลจะหยิบชิ้นงานไปเจียรครีบ ลบครีบได้อย่างแม่นยำ แล้วเข้าสู่สถานีต่อไปในกระบวนการผลิต แต่หากเป็นแรงงานคน ก็ต้องหยิบชิ้นงานออกจากเครื่อง มาทำการเจียรด้วยมือ ซึ่งใช้ระยะเวลาต่อชิ้นค่อนข้างมาก และยังเป็นงานที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทำให้กระบวนการผลิตหยุดชะงัก ขณะที่การใช้ระบบ Automation อย่างแขนกลนั้น สามารถทำงานได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน ทำให้กระบวนการผลิตมีความต่อเนื่อง เหมาะสำหรับการผลิตจำนวนมาก หรือการผลิตที่เป็นแบบ Mass Production”

บทบาทระบบ Automation กับอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตไทย

ผศ.ยุทธนา ได้กล่าวว่า “Automation หรือระบบอัตโนมัติไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมไทยมีความตื่นตัวต่อการนำระบบ Automation มาใช้กันก่อนหน้านี้แล้ว ดังจะเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งนั้นมีกระบวนการผลิตเป็นระบบ Automation แล้วโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME นั้นยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้ยังไม่สามารถนำเครื่องจักรระบบ Automation ไปประยุกต์ใช้ได้ เนื่องจากระบบ Automation นั้นเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นลักษณะ Mass Production มากกว่าอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตชิ้นส่วนจำนวนน้อย ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน”

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบ Automationอย่างไรก็ตาม ระบบ Automation ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรม SME ที่มีกระบวนการผลิตหรือประกอบที่มีอันตราย หรือมีความเสี่ยงสูง มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน การนำระบบ Automation เข้ามาใช้ แม้จะลงทุนสูง เพราะระบบ Automation มีราคาแพง แต่เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมไทยจะมีโอกาสใช้ระบบ Automation ได้ในทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากศักยภาพในการพัฒนาประกอบกับองค์ความรู้เชิงวิศวกรรมในประเทศไทยเท่าทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในต่างประเทศ

“ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมการผลิตไทย ปัจจุบัน TECH NC จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง เพื่อส่งเสริมและร่วมเรียนรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้

ขณะนี้สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งได้เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้น เชื่อว่าหากมีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี ในอนาคตวงการอุตสาหกรรมการผลิตไทย ก็จะมีโอกาสได้ใช้ระบบ Automation สัญชาติไทย ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น อีกทั้งการมีหลักสูตรสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยังทำให้บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

บริการลูกค้าด้วยใจ เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน

ด้าน คุณสัญชัย นันทกิจโสภณ Managing Director ได้กล่าวถึงมุมมองเชิงลึกด้านเศรษฐกิจและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TECH NC ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าศักยภาพและขีดความสามารถในการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้า คือ เป้าหมายสำคัญการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น TECH NC จึงไม่เพียงแต่พัฒนาองค์กรของตนเองให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น หากยังมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพและต่อเนื่อง

กระบวนการผลิต ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบอัตโนมัติ

“ผมมองว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นปัจจัยภายนอก ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น เราต้องหันกลับมาบริหารจัดการปัจจัยภายใน ที่สามารถควบคุมได้แทน ไม่ใช่ตระหนกว่าสภาพเศรษฐกิจไม่ดี แล้ววางเฉย เพียงประคองให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปให้ได้โดยไม่ให้องค์กรเกิดผลกระทบใดๆ สำหรับ TECH NC ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย เป็นโอกาสให้เราได้ปรับกลยุทธ์ เราต้องใช้วิกฤตสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้น และนี่เองทำให้ TECH NC ตัดสินใจรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายธุรกิจในบทบาทของการเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้งเครื่องจักรระบบ Automation ครบวงจร เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อม ซึ่ง TECH NC ได้สั่งสมประสบการณ์มายาวนานบนเส้นทางสายอุตสาหกรรมการผลิต

ระบบ Automation จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักทางการตลาด ที่ TECH NC จะวางแผนขยายฐานธุรกิจตั้งแต่นี้เป็นต้นไป กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ จะมุ่งเน้นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปัจจุบันลูกค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก็เป็นการทำงานร่วมกัน เสมือนพาร์ทเนอร์ เสมือนที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อบูรณาการเครื่องจักรต่างๆ ในกระบวนการผลิตไม่ว่าจะเป็นเครื่อง CNC หรือเครื่องจักรใดก็ตามให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งด้านต้นทุน ความรวดเร็วในการผลิต และคุณภาพ”

คุณสัญชัย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากระบบ Automation ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และสามารถสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนแล้ว TECH NC ยังมีจุดแข็งด้านบริการหลังขาย มีทีมงาน Call Center คอยดูแลให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยเพราะเข้าใจดีว่ากระบวนการผลิตนั้นจะหยุดชะงักไม่ได้ ดังนั้น การบริการด้วยหัวใจจึงเป็นสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอด เพราะเราคิดเสมอว่า… ‘ลูกค้าทุกคนคือครอบครัวเดียวกันกับเรา’

จากแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร TECH NC ทำให้เชื่อว่า…แม้ TECH NC จะเพิ่งก้าวสู่ตลาดระบบ Automation แต่ก็ไม่ยากที่จะเติบโตเป็นเจ้าตลาดในอนาคตอันใกล้ ดังเช่นที่ คุณสัญชัย กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า… “เศรษฐกิจไม่ดี ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉย เพื่อที่จะเดินไปถึงจุดหมาย ธุรกิจจะต้องพัฒนาตนเองเสมอ จะอยู่เฉยไม่ได้”

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924