Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

โรงงานต้องรู้! ‘System Analyst’ ตำแหน่งสำคัญในการทำ Factory Transformation

ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจการผลิต การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับการผลิตและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้การแข่งขันยุคปัจจุบัน แต่สิ่งที่ผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยพบเห็น พบเจอ หรือได้ฟังเกี่ยวกับการลงทุนที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องราวของความล้มเหลว ความไม่คุ้มค่า ไปจนถึงความยากลำบากในการสื่อสารความต้องการกับ SI หรือตัวแทนจำหน่ายที่เรียกได้ว่าแค่จะเริ่มก็ดูเป็นไปไม่ได้แล้ว สาเหตุสำคัญนั้นมาจากการที่โรงงานเองไม่เข้าใจและมองไม่เห็นข้อมูลสำคัญในธุรกิจตัวเองมากพอที่จะดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นกับโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่โรงงานขนาดใหญ่หรือธุรกิจข้ามชาติกลับไม่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้มากเท่าไหร่และมักจะเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ ซึ่งความแตกต่างหลักของความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมักจะเริ่มต้นมาจากตำแหน่งที่ชื่อว่า ‘System Analyst’ หรือ SA นั่นเอง

Key Takeaways :
– SA มีหน้าที่เก็บข้อมูลและประเมินสถานะของโรงงานหรือสายการผลิต และร่าง ToR
– SA รับโจทย์และเงื่อนไขจากโรงงาน พร้อมทำหน้าที่เสนอตัวเลือกที่วิเคราะห์ OEE, การคืนทุนต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เสนอในแต่ละรูปแบบด้วย
– SI ทำงานของ SA ได้แต่ไม่ใช่หน้าที่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนควรระวังในการตัดสินใจ
– การเลือกใช้ SA ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการของโรงงานจะช่วยป้องกันความล้มเหลวในการลงทุนและ Transformation ได้
– หน้าที่ของ SI คือ นำ ToR และข้อมูลจาก SA นำมาดำเนินการ โดยมีความท้าทายหลักอยู่ที่เทคนิคต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการบูรณาการระบบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหาความต้องการโรงงาน

การทำ Factory Transformation นั้นเป็นกระบวนการสำคัญในการแข่งขันของการผลิตยุคใหม่ เพราะตอบสนองทั้งในเรื่องของความยั่งยืน ความสามารถในการแข่งขัน การลดความสูญเปล่า และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงมีเงินก็ใช่ว่าจะลงทุนแล้วสำเร็จ ปัญหาสำคัญสำหรับทุกธุรกิจที่เหมือนกัน คือ จะลงทุนตรงไหน อย่างไร ซึ่งการที่จะหาคำตอบให้กับคำถามนี้ได้โรงงานจำเป็นจะต้องมีข้อมูลเชิงลึกที่มากพอในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย OEE หรือแม้แต่ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ในโรงงานแต่ละระดับที่เกี่ยวข้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วหลายครั้งมักพบว่าสิ่งที่โรงงานสื่อสารไปยัง SI (System Integrator) หรือผู้รับช่วงต่องานระบบทั้งหลายมักจะเกิดขึ้นมาจากความต้องการที่ไม่จำเพาะเจาะจงมากนัก หรือไม่มีรายละเอียดที่มากเพียงพอ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากการเก็บข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือมีอคติ (Bias) ในตัวข้อมูลก็เป็นได้ ซึ่งการเก็บข้อมูลหรือการวิเคราะห์หาตัวเลือกเหล่านี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของ SI ที่มีหน้าที่หลักในการบูรณาการระบบ แต่เป็นหน้าที่ของตำแหน่งที่เรียกกันว่า ‘System Analyst’ ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยสักเท่าไหร่ต่างหาก

System Analyst ตำแหน่งสำคัญที่โรงงานยุคใหม่ต้องมีไว้หากอยากเติบโต

หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของ SI กันมาไม่มากก็น้อย แต่สำหรับตำแหน่ง System Analyst หรือ SA นั้นแม้จะมีชื่อที่คล้ายกันแต่รายละเอียดกลับแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เพราะมีหน้าที่เป็นหลักในการผู้วิเคราะห์ระบบการผลิตเดิมที่อยู่หรือความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้โรงงานสามารถทำการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตได้อย่างคุ้มค่าและประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการช่วยการผลิต ตลอดจนการทำความเข้าใจศักยภาพการผลิตที่มี เพื่อให้สามารถวางแผนและต่อยอดการลงทุนได้อย่างสมเหตุสมผล เกิดประสิทธิภาพ

หน้าที่หลักของ SA นั้นจะต้องทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ศักยภาพของโรงงานหรือสายการผลิตเพื่อให้สามารถเข้าใจถึงสถานะของธุรกิจการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำไปวางแผนในการต่อยอดการลงทุนที่เหมาะสมและเกิดศักยภาพในการแข่งขันให้ตรงกับยุทธศาสตร์หรือนโยบายของธุรกิจ โดยมีขอบเขตการทำงานหลัก ได้แก่

  • การรับโจทย์จากผู้บริหาร: การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มขึ้นได้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในรูปแบบ Top Down การรับโจทย์ ความต้องการและสมมุติฐานจากผู้บริหารจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องขีดจำกัดเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงเงินทุนที่มีของธุรกิจอีกด้วย
  • การเก็บข้อมูลและประเมินสถานการณ์: SA มีหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งจากระบบกระบวนการผลิตและมิติของผู้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการณ์ซึ่งจะให้มุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยนโยบายที่ได้รับมาตอนแรกจะถูกยืนยันแนวคิดผ่านข้อมูลที่ได้รับและนำกลับไปคุยกับผู้บริหารอีกครั้งเพื่อปรับจูนความต้องการให้เหมาะสมชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การวิเคราะห์และออกแบบโซลูชัน: เมื่อได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและได้รับความชัดเจนของนโยบายมาแล้ว SA จะต้องออกแบบและนำเสนอตัวเลือกโซลูชันที่มาพร้อมกับการวิเคราะห์ข้อมูลในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารได้เปรียบเทียบ ซึ่งตัวเลือกแต่ละตัวเลือกนั้นไม่ควรที่จะมีความแตกต่างกันมากเกินไปจนกลายเป็นการชี้นำให้เลือกทางใดทางหนึ่งอย่างจงใจ ซึ่งแต่ละแบบที่เป็นคู่เทียบนั้นควรที่จะมีจุดเด่นที่ชัดเจน ซึ่งรวมถึงแนวทางการร่าง ToR สำหรับส่งต่อ SI อีกด้วย

งานของ SA นั้นจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงการใช้ทักษะความสามารถด้านวิศวกรรม แต่จะครอบคลุมถึงการพูดคุยเพื่อค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ความต้องการและเงื่อนไขของธุรกิจโรงงานนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้ตรงกับ Pain Point มากที่สุด โดยจะต้องคำนึงถึง Payback Period และ ROI ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละตัวเลือกที่ได้นำเสนอไปยังผู้บริหารอีกด้วย

SA ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องรู้จักทั้ง คน เครื่องจักร และระบบของธุรกิจการผลิต

ความท้าทายของ SA จึงเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการผลิตหลากหลายมิติเข้าด้วยกัน เพื่อเปิดทางสู่การเติบโตและความสามารถในการแข่งขันด้วยการปรับปรุงการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับปรุงนั้นก็ไม่จำเป็นจำต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยหรือมีราคาสูงมากเสมอไป ซึ่งหลายครั้งที่โรงงานเกิดความล้มเหลวในการ Transformation ก็เกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีที่เกินความจำเป็นหรือคิดแค่เรื่องของเงินทุนเพียงมิติเดียวก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน ดังนั้นสายตาของ SA จึงต้องมองตั้งแต่เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้จัดการ พนักงานในสายการผลิต ไปจนถึง Stakeholder ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจถึง ‘Business Need’ และ ‘Stakeholder Need’ ที่เป็นตัวกำหนด Transformation และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดมานั่นเอง

เพื่อให้การทำงานของ SA เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวก การพัฒนา SA ขึ้นมาภายในโรงงานถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจาก SA เองต้องเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและมีความอ่อนไหวสูง การให้หน่วยงานภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจอื่น ๆ มาเกี่ยวข้องอาจเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงหรือสร้างความไม่สบายใจได้ ซึ่งปัจจุบันทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลักดันสร้างบุคลากรด้าน SA อยู่อย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

แล้วถ้าโรงงานอยาก Transform ตัวเอง แต่ไม่มี SA จะเป็นไปได้ไหม ?

ต้องบอกว่าสำหรับโรงงานที่อยากจะ Transformation การผลิต หรือต้องการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ แต่ติดที่ว่าไม่มี SA ภายในองค์กรที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และออกแบบระบบให้ ในความเป็นจริงแล้วโรงงานก็ยังสามารถลงทุนเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยตัวเองได้ บางรายอาจจะเคยไหว้วานให้ SI ทำหน้าที่เหล่านี้ก็เคยมี ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมา คือ โรงงานเหล่านั้นอาจขาดการวิเคราะห์เพื่อการวางแผนออกแบบระบบที่มีประสิทธิภาพและรอบคอบ กลายเป็นการทำงานตามความต้องการหรือข้อสงสัยเบื้องต้นที่ขาดการพิสูจน์ยืนยันข้อมูล การลงทุนในเทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติใหม่ ๆ อาจกลายเป็นการเสียเปล่าและไม่เกิดความคุ้มค่าทั้งในการใช้งานรวมถึงเวลาที่เสียไป

ทางออกของเรื่องนี้ คือ การเลือกใช้บริการ SA จากภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีความน่าเชื่อถือในการทำงานเพื่อเข้ามาสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘SA ภายนอก’ VS ‘SA ภายใน’ เลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับโรงงานของคุณ

สำหรับโรงงานที่ต้องการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือทำการ Transform สายการผลิตเปลี่ยนแปลงโรงงาน SA เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้หากต้องการให้การทำงานประสบความสำเร็จ ซึ่งตัวเลือกที่มีในปัจจุบันมีทั้งการพัฒนา SA ขึ้นมาภายในสำหรับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือมีการเติบโตในระดับหนึ่ง และการเลือกจ้างวาน SA ภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ เหมาะสำหรับโรงงาน SME ส่วนใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลือกต่างก็มีประเด็นที่น่าสนใจในแบบของตัวเอง ได้แก่

จุดเด่นของ SA ภายในโรงงาน

  • การเลือกสร้าง SA ภายในขึ้นมาในองค์กร จะทำให้ SA นั้น ๆ มีความรู้และความเข้าใจในธุรกิจและปัญหาในโรงงานของตนเองอย่างละเอียด ทำให้สามารถกำหนด ToR และเกิดผลลัพธ์จากการลงทุนที่ตรงความคาดหวังของผู้บริหาร พร้อม ๆ ไปกับความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง
  • การมี SA ภายในจะช่วยให้โรงงานสามารถตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนสายการผลิตได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ และพร้อมทำการปรับปรุงระบบได้ตลอดเวลา
  • การมี SA ภายในจะเหมาะกับโรงงานขนาดใหญ่ หรือโรงงานที่มีระบบการผลิตซับซ้อน รวมถึงการมีสายการผลิตย่อยจำนวนมาก SA ภายในที่มีความเข้าใจในระบบจะสามารถเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างสายการผลิตแต่ละส่วนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเด่นของ SA ภายนอกโรงงาน

  • SA ภายนอกเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับงานวิเคราะห์ระบบและโครงสร้าง มีจุดเด่นที่ประสบการณ์อันหลากหลาย ทำให้เกิดมิติและมุมมองใหม่ ๆ ในการลงทุนและปรับปรุงสายการผลิตที่แตกต่างจาก SA ภายในได้
  • SA ภายนอกสามารถเสนอแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องกังวลกับผลกระทบกับการเมืองภายในองค์กรได้ ทำให้มองเห็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ได้อย่างเป็นกลาง มีอคติในการคิดวิเคราะห์น้อย และลงลึกในต้นตอที่มาของปัญหาได้อย่างสะดวกใจยิ่ขึ้น
  • การใช้บริการ SA ภายนอกเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กหรือโรงงานที่เริ่มต้นทำการ Transformation เพราะ SA ภายนอกจะมองเห็นภาพที่หลากหลายด้วยประสบการณ์จากกรณีอื่น ๆ ที่เคยสัมผัสมา รวมถึงยังมีจุดเด่นในเรื่องที่ไม่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอื่น ๆ ในการพัฒนา SA ภายในขึ้นมาหากธุรกิจยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ SA ภายนอกหรือภายในนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณงาน เพราะหลายครั้งงานของ SA ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงพลิกทั้งโรงงานในครั้งเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ถ้าโรงงานมีสถานีผลิตที่หลากหลาย มีปัญหาที่ต้องแก้มากมาย เรียกว่าโครงการนึงก็แทบจะมีต่อเลย หรือเว้นไปไม่นานก็ต้องปรับปรุงส่วนอื่น กรณีแบบนี้มี SA ไว้ภายในธุรกิจจะเกิดการทำงานที่คล่องตัวกว่ามาก ในขณะที่โรงงานที่ทุนน้อยหรืออยู่ในช่วงเริ่มต้น Transformation และกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยู่ การเลือกใช้ SA ภายนอกจะเป็นมิตรกับเงินทุน เวลาที่ใช้ และความสะดวกอื่น ๆ มากกว่า ซึ่งการเลือกใช้ SA ภายนอกนั้นจะต้องมีการลงนาม NDA เพื่อปกป้องข้อมูลและความลับทางการค้าอีกด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาตำแหน่งงาน SA นั้นอาจยังไม่เป็นที่รู้จักของโรงงานส่วนใหญ่ในไทยสักเท่าไหร่ อาจคุ้นชินแต่กับ SI ซึ่งมักจะเป็นผู้รับผิดชอบการติดตั้งและบูรณาการเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน หลายกรณีก็มักใช้งาน SI ทำงานของ SA ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองทำแหน่งมีการทำงานที่คาบเกี่ยวกันอยู่ แต่ในรายละเอียดแล้วเป็นงานที่ยุ่งยากและซับซ้อนแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

‘เพราะ SI ไม่เท่ากับ SA’ ความเข้าใจผิดยอดฮิตของโรงงานที่อยาก Transformation

โดยทั่วไปแล้ว SA นั้นจะทำงานภายใต้เงื่อนไขความต้องการที่โรงงานกำหนดมาหรือที่เรียกว่า ‘Terms of Requirement (ToR)’ แต่ปัจจุบันหนึ่งในอุปสรรคของเหล่า SA ในประเทศไทย คือ การที่หลาย ๆ โรงงานในประเทศไทยมักจะผลักหน้าที่ของการกำหนด ToR ไปให้เหล่า SI หรือ System Integrator ทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นมาแทน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากความไม่เข้าใจ หรือแม้กระทั่งความต้องการในการประหยัดเงินทุนซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมักกลายเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย

‘SI’ ผู้รับข้อมูลและทำตาม ToR ที่ ‘SA’ ไว้วิเคราะห์และวางแผนเอาไว้ 

หน้าที่จริง ๆ ของ SI คือการติดตั้งและบูรณาการระบบให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นการทำงานเชิงเทคนิค แก้ไขปัญหาการติดตั้งและการใช้งาน ไม่ใช่การวิเคราะห์และออกแบบระบบตามความต้องการของธุรกิจซึ่งเป็นหน้าที่ของ SA การให้ SI ขยับเข้ามาทำหน้าที่ในจุดนี้จึงทำให้ SI ที่มีตำแหน่งเป็นผู้ขายและผู้บูรณาการระบบอาจจะทำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่สะดวกต่อการทำงานและมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับตัวเองแทนการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขโรงงานนั้น ๆ หากมองในระยะยาวโรงงานอาจต้องแก้ไขหรือมีการออกแบบระบบขึ้นมาใหม่อีกครั้งจนกว่าโซลูชันที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น

โรงงานจำนวนมากในประเทศไทยอาจะเกิดคำถามว่า “ไหน ๆ ก็จ้าง SI แล้วทำไมถึงจะไม่รับโจทย์ความต้องการไปด้วยเลยล่ะ?” แน่นอนว่ามันดูเหมือนสะดวกต่อการทำงาน แต่เอาเข้าจริงก็แค่สะดวกต่อการสั่งงานแค่นั้นเลย แต่ถ้ามาดูกันจริง ๆ จะพบว่าชุดทักษะที่ต้องใช้เป็นคนละชุดกัน อย่าลืมว่าการทำงานวิเคราะห์และเก็บข้อมูลยังเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความสามารถซึ่งมีคุณค่าไม่ต่างจากความสามารถด้านเทคนิคในการปรับตั้งค่าระบบ หลายครั้งที่ SI ต้องรับงานในลักษณะของ SA นี้พ่วงไปในฐานะการบริการก่อนการขาย แต่ท้ายที่สุดกลับไม่สามารถปิดการขาย หรือทำงานในส่วนของ SI ได้ต่อ เนื่องจากเมื่อประเมินออกมาแล้วพบว่าแนวคิด/โจทย์ที่ตั้งเป้าไว้ตอนต้นนั้นไม่เหมาะสมหรือไม่อาจเป็นจริงได้ เช่น ในเรื่องของงบประมาณ หรือพบว่าแท้จริงแล้วจุดที่ต้องการปรับปรุงนั้นไม่ได้มีปัญหา เกิดการเสียเวลากันทั้งสองฝ่าย 

จะเห็นได้ว่าลักษณะงานของ SA นั้นเป็นรูปแบบการทำงานเชิงวิเคราะห์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายหลายมิติ เป็นการวางรากฐานและหาทิศทางของการ Transformation ที่เหมาะสมกับแนวทางของธุรกิจ แตกต่างจาก SI ที่เน้นไปที่การบูรณาการระบบหรือเทคโนโลยีตามข้อตกลงซึ่งเป็นเหมือนปลายทางของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นโรงงานที่ต้องการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยากใช้ระบบอัตโนมัติ อยากบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นเฉพาะจุด หรือจะเป็นการวางแผน Transforrmation ในแต่ละเฟส การดำเนินการของ SA จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดในการทำความเข้าใจและหาข้อมูลเพื่อยืนยันสมมุติฐาน ตลอดจนนำเสนอแนวทางการลงทุนเพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผลงานชิ้นนี้ร่วมผลิตขึ้นโดย : Pisit P., Jirapat R., Thossathip S.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924