Saturday, December 14Modern Manufacturing
×

Flexible Manufacturing: การผลิตยุคใหม่ที่รองรับความหลากหลายของสินค้าในยุค Personalization

การผลิตแบบ Mass Manufacturing ที่คุ้นเคยกันนั้นอาจไม่สามารถตอบสนองต่อการแข่งขันในธุรกิจการผลิตแบบอุตสาหกรรมได้คุ้มค่าที่สุดอีกต่อไป เมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ซัพพลายเชน และเทรนด์ผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบของการผลิตที่มีความคล่องตัวกว่าอย่าง Flexible Manufacturing จึงกลายมาเป็นแนวทางใหม่ บทความชุด Flexible Manufacturing นี้จะพาคุณมาทำความรู้จักกับทิศทางการผลิตยุคใหม่ผ่านสายตาและความเชี่ยวชาญของ คุณชัชชัย ผลมูล CEO & Founder บริษัท เบรนเวิร์คส จำกัด และรองนายกสมาคม TARA ที่จะทำให้คุณเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและการรับมือกับการผลิตยุคใหม่ได้อย่างแน่นอน

Flexible Manufacturing คืออะไร?

ปัจจุบันเทรนด์อุตสาหกรรม 4.0 หรือโรงงานไร้คนที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้างทั่วโลก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับพบว่าแนวคิดสุดทางอย่างอุตสาหกรรม 4.0 อาจจะเหมาะกับบางอุตสาหกรรมและบางประเทศที่ค่าแรงงานต่อชั่วโมงสูง และมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง หรืองานทักษะต่ำแต่หาแรงงานมาทำงานได้อย่างยากลำบาก เช่น Packing, Palletizing, Intralogistic และอื่น ๆ ในอีกมุมหนึ่งก็อาจพบว่าการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติเต็มรูปแบบนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับธุรกิจการผลิตบางรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การผลิตที่ต้องอาศัยประสบการณ์และการตัดสินใจที่ซับซ้อน ซึ่งการดำเนินการตามแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องลงทุนใช้เซนเซอร์ต่าง ๆ จำนวนมาก หรือหากจะต้องบูรณาการ AI ก็อาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคการระบาดครั้งใหญ่ของ Covid-19 และความพยายามฟื้นตัวหลังสถานการณ์ที่ซัพพลายเชนทั่วโลกล้มพังลงมา ซึ่งเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติดูเหมือนจะเป็นคำตอบ แต่ในระยะยาวแล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกธุรกิจจะสามารถเข้าถึงได้ การผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) อาจไม่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่ากับแนวคิดด้าน Flexible Manufacturing

Flexible Manufacturing หรือระบบการผลิตแบบยืดหยุ่นเป็นกระบวนการผลิตที่ถูกออกแบบมาให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับชนิดและปริมาณของสินค้าที่ต้องการการผลิตได้ เน้นการผลิตที่มีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นในขณะที่ปริมาณการผลิตต่อสินค้าหนึ่งรูปแบบอาจไม่ได้มีปริมาณมากเท่ากับ Mass Production หรือการผลิตจำนวนมากที่เราคุ้นเคยกัน แต่สามารถตอบสนองต่อสินค้าได้หลากหลายรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ไม่ต้องรอคอยแต่คำสั่งผลิตชนิดเดียวซึ่งมีความเสี่ยงสูงอีกต่อไป

จุดเด่นของการผลิตแบบ Flexible Manufacturing ทำให้โรงงานสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรอคอยการผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าเพียงชนิดเดียวที่ต้องมีคำสั่งปริมาณมาก แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนบางส่วนของสายการผลิตก็สามารถทำให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้มากขึ้น เช่น โรงงานผลิตเครื่องดื่มที่รองรับขวดและฝาได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพียงแค่ทำการเปลี่ยนอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ ฐานยึดขวดหรือแท่นวางฝา ซึ่งการเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่านี้ใช้เวลาไม่นานแต่ทำให้ไม่ต้องรอคอยผลิตสินค้าเพียงชนิดเดียว ลด Downtime ที่ต้องรอคอยคำสั่งเดียวแต่สามารถรับคำสั่งผลิตที่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย

การมาถึงของ Flexible Manufacturing นั้นเป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้นและรวดเร็วคงหนีไม่พ้นการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่เป็นจุดแตกหักสำคัญ ในขณะที่แรงผลักดันและทิศทางของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการแข่งขันด้วยแนวคิด Flexible Manufacturing

5 ปัจจัยหลักลมเปลี่ยนทิศการผลิตยุค Flexible Manufacturing

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการผลิตนั้นเปลี่ยนแปลงไปสู่ Flexible Manufacturing ไม่ได้มาจากเรื่องของความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหมือนห่วงโซ่ที่เชื่อมถึงกัน มิติต่าง ๆ นั้นเกี่ยวพันและส่งผลกระทบกันอย่างไม่อาจแยกออกได้ จากการสังเกตพบว่าปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตยุคใหม่นั้นแบ่งออกได้เป็น 5 ส่วน ได้แก่

1. พฤติกรรมผู้บริโภคและลูกค้าที่เปลี่ยนไป

สิ่งหนึ่งที่เราจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนและใกล้ตัวที่สุด คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากลองมองย้อนกลับไปเพียงแค่ 10 – 20 ปีที่แล้ว จะพบได้ว่าผู้คนยังคงมีความอยากเป็นเจ้าของสินทรัพย์อยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ หรือของสะสม แต่ในปัจจุบันเรียกได้ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่อยากจะเป็นเจ้าของหรือครอบครองสิ่งใดในระยะยาว เนื่องจากมองถึงภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหลังการเป็นเจ้าของ โมเดลการเช่าใช้งานอย่างบริการ Subscription จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น บริการเรียก Grab เพื่อเดินทาง หรือการเช่าที่อยู่อาศัยแทนการเป็นหนี้บ้านระยะยาว 30 ปี ซึ่งเปลี่ยนที่อยู่ได้ และไม่ต้องมีต้นทุนการซ่อมบำรุงเท่ากับการเป็นเจ้าของจึงเป็นที่นิยม

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่เป็นแรงขับดันที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมผ่านการอุปโภคบริโภคมากขึ้น เช่น แนวคิดการลดโลกร้อน, การต่อต้านสงคราม, การต่อต้านความรุนแรง และปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมอื่น ๆ ผ่านการอุปโภคบริโภค เช่น การหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products), ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการรีไซเคิล (Recycle Products) ตลอดจนนโยบาย Net Zero Carbon Emissions ในภาคการผลิต นอกจากนี้ข้อมูลจาก McKinsey ในสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า 75% ของผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะลองแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของแบรนด์มากกว่า

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เองส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าที่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น อาจจะต้องมองถึงสินค้าสำหรับองค์กรเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจ Subscription เมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น การผลิตแบบ Mass Production จึงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการ (Demand) ของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับ Flexible Manufacturing ที่รองรับความหลากหลายและยืดหยุ่นได้ดียิ่งกว่า

ผลกระทบต่อภาคการผลิต:
ข้อดี
– ผู้ผลิตที่เป็นรายเล็กและรายกลางแข่งขันได้มากขึ้น หากพิจารณาจากการให้ความสำคัญของคุณภาพและสินค้าที่ตรงกับ Pain Point มากกว่าการยึดติดกับแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริโภคยุคใหม่

ข้อควรพิจารณา
– ในกลุ่มสินค้าที่เปลี่ยนแปลงจากการซื้อขาดเป็นการเช่าใช้ต่าง ๆ เป้าหมายอาจไม่ใช่เพียงผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทที่ให้บริการเช่าจะมีสัดส่วนมากขึ้น ตามมาด้วยรูปแบบการรับประกัน และโซลูชันหลังการขายที่จะแตกต่างออกไปอย่างแน่นอน
– ความสำเร็จของยอดขายอาจเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่อาจจะเป็นความสำเร็จในระยะสั้นหากไม่สามารถคงคุณภาพและพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะตลาดและคู่แข่งปรับตัวได้เร็ว
– Brand Loyalty อาจไม่ใช่จุดแข็งและมีมูลค่าเท่าที่เคยมีมาแต่ยังคงมีความสำคัญอยู่
– การผลิตแบบจำนวนมากจะมีแนวโน้มความเสี่ยงที่สูงขึ้น เนื่องจากทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไป

2. Personalization ในโลกยุคใหม่ที่ไม่อยากให้มีใครเหมือน

Personalization หรือการแสดงความเป็นตัวตนออกมาเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนและยังเป็นพฤติกรรมที่ทรงพลังอย่างมาก แต่เดิมแล้วเรื่องของ Personalization นั้นมักจะเข้าถึงได้ผ่านสินค้ากลุ่มแฟชันและความงามเป็นหลัก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ เข้าใจความสำคัญของเทรนด์นี้เป็นอย่างดีจนทำให้เกิดโปรโมชันต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้งานกว่า 87% ยินยอมให้เก็บข้อมูลการเข้าใช้งานเว็ปไซต์เพื่อแลกกับส่วนลดและดีลอื่น ๆ การใช้ข้อมูลเพื่อมอบประสบการณ์และ Personalization สำหรับลูกค้าแต่ละรายยังสามารถสร้างความพึงพอใจได้มากถึง 3.9 เท่าอีกด้วย

ในกรณีที่ผู้ผลิตหรือแบรนด์ไม่อาจสร้าง Personalization ที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ แนวโน้มการใช้จ่ายกับแบรนด์และภาพลักษณ์แบรนด์อาจมีแนวโน้มที่ลดลงได้เช่นกัน จากข้อมูลของ McKinsey พบว่าความคาดหวังของลูกค้าต่อแบรนด์นั้นต้องการที่จะให้แบรนด์เข้าใจความต้องการได้ในระดับบุคคล แต่ในทางปฏิบัติแล้วความแตกต่างหรือ Personalization ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้แตกต่างหรือฉีกไปถึงระดับการสั่งทำหรือสินค้าแบบ Tailor Made 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีขีดจำกัดด้านรายได้และเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการในการแต่งตัวไปทำงานที่ไม่ต้องการสวมใส่ยูนิฟอร์มเหมือน ๆ กัน เว้นเสียแต่ว่าเป็นข้อบังคับเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ  

การผลิตแบบ Mass Production นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการยุค Personalization ได้เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่ต้องใช้ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ แต่ในส่วนของอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น Smart Watch แม้จะผลิตรุ่นเดียวกันแต่ก็ต้องมีตัวเลือกด้านสีสันและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่ง Flexible Manufacturing มีศักยภาพในการรองรับความต้องการเหล่านี้ได้

ผลกระทบต่อภาคการผลิต:
ข้อดี
– มีโอกาสในการขายมากขึ้น เนื่องจากตลาดหรือกลุ่มลูกค้าแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก และกระจายตัวกันเป็นกลุ่ม แต่ตลาดที่ขนาดเล็กลงเหล่านี้มีความเหนียวแน่นและค่อนข้างมีความตายตัว
– การเลือกกลุ่มเป้าหมายได้เหมาะสมกับความเชี่ยวชาญ จะสะท้อนออกมาเป็นคุณภาพชิ้นงานและส่งผลต่อยอดขายโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด Personalization ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม โอกาสในการ ผูกขาดตลาดบางกลุ่มสินค้าที่มีขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
– หากผู้ประกอบการสามารถจับเทรนด์ตรงนี้ได้ก็จะมีโอกาสทางการตลาดและการขายสินค้าได้อีกมาก

ข้อควรพิจารณา
– ในกลุ่มสินค้าที่ต้องการ Brand Loyalty สูง ผู้ผลิตหรือแบรนด์ต้องระวังต่อความคาดหวังของลูกค้าต่อแบรนด์ เนื่องจากมีความอ่อนไหวและความคาดหวังมากยิ่งขึ้น ในขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนหรือนิยมชมชอบแบรนด์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม
– การผลิตแบบ Mass Production หรือการผลิตจำนวนมากยังคงมีอยู่ แต่จะมีประสิทธิภาพสูงได้ก็ต่อเมื่อเป็นการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นส่วนประกอบมากกว่า Final Product เช่น นอต, สกรู, เซนเซอร์สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะ เป็นต้น
– Mass Production จะต้องมีความสามารถในการจับกลุ่ม Mass Customization ตามกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน
– รูปแบบการผลิตที่หลากหลายนั้นต้องการสายการผลิตที่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนสูง

3. จาก IoT สู่ IIoT เชื่อมต่อกิจกรรมที่หลากหลายสู่การบริหารจัดการที่ปลายนิ้ว

Internet of Things (IoT) นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างศักยภาพในการใช้ข้อมูลของโลกกายภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประโยชน์หลักที่ได้จากการใช้งาน IoT จะเป็นการแสดงข้อมูลผ่านเครือข่ายแบบ Real-Time เพื่อนำเสนอข้อมูลที่แม่นยำและรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ แว่นตาอัจฉริยะ กล้องรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับที่พักอาศัย ไปจนถึงอาคารอัจฉริยะที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น ระบบส่องสว่าง, ระบบควบคุมอุณหภูมิ, ลิฟต์, พลังงานที่ใช้, ระบบควบคุมน้ำ ไปจนถึงฟาร์มอัจฉริยะที่ตรวจดูทั้งความชื้น อุณหภูมิ สารอาหาร แสงแดด ควบคุมการคายน้ำ เป็นการแปลงค่าหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นข้อมูลที่จับต้องง่ายและประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก Statista มีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ IoT ทั่วโลกในปี 2020 ที่มีอยู่ประมาณ 15,100 ล้านชิ้น จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 29,000 ล้านชิ้นในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเทคโนโลยีที่องค์กรในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้มีการบูรณาการในการทำงานแล้วมากกว่า 57%

เมื่อ IoT มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และมีคุณสมบัติมากมายที่เหมาะสมกับการใช้งานในภาคธุรกิจที่มีความซับซ้อน จึงเกิดการพัฒนา Industrial Internet of Things (IIoT) ขึ้นมาโดยมีจุดเด่นอยู่ที่ความทนทานในระดับงานอุตสาหกรรม สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ใช้พลังงานน้อย ทนต่อสภาพแวดล้อมและการกัดกร่อนต่าง ๆ ได้ เมื่อรวมเข้ากับศักยภาพเดิมของ IoT ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จากที่ใดในโลกก็ได้ ไม่จะเป็นต้องอยู่หน้างาน สะดวกต่อการบริหารจัดการธุรกิจที่มีโรงงานตั้งอยู่หลายที่หรือข้ามประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการผลิต, การลดของเสีย, การเพิ่ม OEE, การตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง การเก็บข้อมูลการสร้าง Carbon Footprint ในโรงงานผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตั้งและตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ความชื้น อุณหภูมิ แรงดันในท่อ พลังงานที่ใช้ ฯลฯ

ผลกระทบต่อภาคการผลิต:
ข้อดี
–  ทำให้สามารถบริหารจัดการโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส วางแผนจัดการล่วงหน้าได้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูล Real-Time การแจ้งข้อมูลล่วงหน้า การบริหารจัดการซ่อมบำรุงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิต
– เก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วแม้ในพื้นที่เข้าถึงยาก
– ไม่จำเป็นต้องเดินสายระบบเครือข่ายให้ยุ่งยาก ในกรณีที่มีโรงงานหลายโรง และมีพื้นที่ซึ่งเข้าถึงข้อมูลได้ยาก จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงด้านเครือข่ายข้อมูลได้อย่างมหาศาล
– เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน

ข้อควรพิจารณา
– ความท้าทายหลักในการใช้งาน IIoT ไม่ได้อยู่ที่ความทนทาน หรือการบูรณาการ แต่อยู่ที่ Cybersecurity ซึ่งเมื่อมีอุปกรณ์เชื่อมต่อเพิ่มขึ้นก็หมายถึงจุดที่สามารถถูกโจมตีและเป็นรูรั่วเพิ่มขึ้นเช่นกัน
– การดูแลรักษาและปกป้องนั้นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจ โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน Cybersecurity นั้นหาได้ยาก แต่ในขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้าน OT Security ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงงานและเครื่องจักรโดยตรงนั้นเรียกได้ว่าหายากยิ่งกว่า ซึ่งทั้ง IT และ OT ล้วนเกี่ยวข้องกับ IIoT
– ปัจจุบันอุปกรณ์ IoT ถูกผลิตและหาใช้ได้ง่าย ซึ่งผู้ประกอบการบางรายพยายามนำมาประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจ แต่ควรจะต้องเลือกแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักหรือไว้ใจได้ เนื่องจากโอกาสที่แบรนด์ไม่มีชื่ออาจไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญมากพอในกรออกแบบระบบ รวมถึงงานบริการ

4. E-Commerce ตลาดซื้อของออนไลน์ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบไปตลอดกาล

E-Commerce นั้นถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมแห่งยุคที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนและธุรกิจทั่วโลกอย่างมาก ด้วยการเชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายเข้าด้วยกันจากทั่วโลก ตลอดจนการเกิดขึ้นของธุรกิจอีกหลากหลายรูปแบบ และพ่อค้าแม่ขายหน้าใหม่ที่ไม่ต้องเช่าที่ห้างสรรพสินค้า หรือต้องเดินเร่ขายสินค้าตามบ้านอีกต่อไป เรียกว่าเกิดโอกาสการค้าขายใหม่ ๆ ขึ้นทุกวินาทีก็ไม่ผิดนัก

ก่อนหน้าการมาถึงของ Covid-19 นั้นตลาด E-Commerce เติบโตอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นพฤติกรรมการบริโภคต่าง ๆ ถูกบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ E-Commerce ได้กลายเป็นกระแสหลักแทบจะในทันที ผลกระทบในแง่ของผู้บริโภคนั้นสามารถจับต้องได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลรีวิวสินค้า การเปรียบเทียบราคา และการสั่งซื้อที่รวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น ตลาดการค้าต่าง ๆ เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สินค้าเฉพาะกลุ่มสามารถจับกลุ่มและทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเดิมที่อาจเข้าถึงได้ยากและไม่อาจมองเห็นความเป็นไปได้ในการเปิดตลาดใหม่ของสินค้าที่อยู่นอกเหนือความเชี่ยวชาญเดิม โดยปัจจุบันมูลค่าของตลาด E-Commerce นั้นอยู่ที่ 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความรวดเร็วของธุรกิจ E-Commerce นั้นทำให้โรงงานต้องมีศักยภาพในการผลิตที่รวดเร็วและมีการครอบคลุมความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลายมากขึ้น ผลกระทบต่อธุรกิจการผลิต นั้นเกิดขึ้นทั้งในแง่ของการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดจำหน่ายสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยข้อมูลจากงานศึกษาวิจัย ‘Analysis of the Impact of E-Commerce on Industrial Manufacturing Based on Big Data’ แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่น่าสนใจเอาไว้ ดังนี้

ผลกระทบต่อภาคการผลิต:
ข้อดี
– เปิดโอกาสให้โรงงานสามารถขายสินค้าโดยตรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SME
– Point of Sell สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างแนบชิดกับ Point of Production ทำให้เห็นข้อมูลสินค้าเข้าออกได้แบบ Real-Time
– สามารถเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าได้โดยตรง และเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น
– สามารถเปิดตลาดใหม่ได้อย่างง่ายดาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
– เพิ่มศักยภาพในการจัดซื้อสินค้าของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบราคา เปรียบเทียบคุณสมบัติ ตลอดจนการจัดการใบเสนอราคาที่สะดวก รวดเร็ว และจัดเก็บได้ดียิ่งขึ้น
– โรงงานขนาดเล็กมีความยืดหยุ่นสูงกว่า ในการปรับตัว และสามารถผลิตสินค้า Small Batch ได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น

ข้อควรพิจารณา
– กิจกรรมทางออนไลน์ที่ขาดความระมัดระวัง และขาดมาตรฐานควบคุมอาจทำให้เกิดปัญหาด้าน Cybersecurity ได้ โดย E-Commerce สามารถเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเด็นของบัญชี และข้อมูลของคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง
– การแข่งขันในยุค E-Commerce นั้นมีความรุนแรงสูง ด้วยธรรมชาติของคนไทยที่มักเน้นราคาถูก อาจทำให้เกิดปัญหาในการเริ่มต้นการขายกับลูกค้ารายใหม่ได้
– คู่แข่งไม่ได้อยู่เฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียงหรือจำกัดในประเทศอีกต่อไป การมองหาจุดแข็งและจุดขายจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาบ่อยครั้งเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
– กิจกรรมที่คลังสินค้าใหม่ เรียกว่า Fulfillment ซึ่งเป็นการจัดสินค้าหลากหลายรายการและมีปริมาณสูงในการจัดส่ง ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดรายการสินค้าและจำนวนที่แตกต่างกันเพื่อจัดส่งให้ร้านขายของชำ (Grocery Store) แต่ละสาขาตามคำสั่งซื่อเพิ่มเติมเพื่อบรรจุให้เต็มชั้นวางตามระบบ Pool System ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานคนจำนวนมากเพื่อทำกิจกรรมนี้ซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานตามมา
– SME ต้องปรับวิธีการผลิต เครื่องมืออุปกรณ์ให้ยืดหยุ่นสูงขึ้น ลดเวลา Time to Market เพิ่มกลยุทธ์ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการออกแบบสินค้า ลดการพึ่งพาแรงงาน เพิ่มการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

5. ผสานศักยภาพมนุษย์และหุ่นยนต์สู่การทำงานยุคใหม่

ปัญหาการขาดแคลนทักษะแรงงานนั้นกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญหน้าและแก่งแย่งแรงงานกลุ่มนี้ไปพร้อม ๆ กัน จากผลสำรวจความต้องการแรงงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ปี 2565 พบว่ามีการขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยมากถึง 12,000 ตำแหน่ง ในขณะที่เทรนด์ด้านระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนเทคโนโลยีจึงกลายเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและเห็นผลลัพธ์บางอย่างที่ชัดเจน แต่ยังคงนำมาซึ่งการขาดแคลนทักษะแรงงานในอีกมิติ โดย Sea (ประเทศไทย) เผยผลวิจัยด้านแรงงานพบว่าแรงงานไทยขาดทักษะด้านดิจิทัลมากถึง 45% ซึ่งนับเป็นปัญหาใหม่ที่อาจจะใหญ่กว่าเดิมหากต้องการทดแทนแรงงานเดิมด้วยเทคโนโลยี

จะเห็นได้ว่าการลงน้ำหนักไปที่เทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ก็อาจนำปัญหาในอีกมิติที่อาจจะแก้ได้ยากกว่าและมีการลงทุนที่สูงกว่าเกิดขึ้นได้ แนวคิดด้านการใช้งานหุ่นยนต์ในรูปแบบ Human – Robot Collaborative (HRC) เพื่อเติมเต็มช่องว่างภายใต้ความคุ้มค่าที่จับต้องได้จึงเกิดขึ้นมา ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทั้งแรงงานเดิมและเสริมจุดอ่อนด้วยหุ่นยนต์ ยกตัวอย่างเช่น แรงงานสูงวัยที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบการขัดผิววัสดุ ในขั้นตอนการขัดอาจใช้งานหุ่นยนต์เพื่อขัดงานหยาบที่ต้องใช้แรงเยอะ ในขณะที่การเก็บผิวท้ายสุดหรือการตรวจสอบก็สามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการ ซึ่งในกรณีของการใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบจะมีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถตอบสนองได้เท่าแรงงาน ในขณะที่การลงทุน Cobot ซึ่งมีความปลอดภัยในการใช้งานเคียงข้างกับแรงงานนั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่า ติดตั้งและปรับแต่งใช้เวลาน้อยกว่าอย่างมากด้วยลักษณะการทำงานแบบ Low Code และ No Code ที่กำลังพัฒนาขึ้นมา แรงงานที่ทำงานเคียงข้างจึงไม่ต้องมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและไม่จำเป็นต้องมีทักษะในระดับสูงสำหรับการควบคุมหรือทำงานคู่กับหุ่นยนต์อีกต่อไป

จากรายงานการศึกษาวิจัย ‘Trends of Human-Robot Collaboration in Industry Contexts: Handover, Learning, and Metrics’ พบว่า HRC นั้นสามารถเพิ่มประสิทธิผลของโรงงาน SME ได้เป็นอย่างดี และในระยะยาวไม่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อให้เกิดการผลิตแบบ Agile หรือทำให้เกิด Flexible Manufacturing ขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องออกแบบการทำงานของโรงงานใหม่ทั้งหมด ในเมื่อตัวแรงงานเองสามารถปรับรูปแบบการทำงานได้ ในขณะที่หุ่นยนต์ก็ทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมเติมเต็มของแรงงาน เช่น การใช้ศักยภาพการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและประสบการณ์ของแรงงาน ในขณะที่หุ่นยนต์คอยทำงานซ้ำ ๆ งานใช้แรง หรืองานที่ต้องการสมาธิและความแม่นยำสูง แต่สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตและจัดวางต่าง ๆ ได้ง่าย

ผลกระทบต่อภาคการผลิต:
ข้อดี
– สามารถลงทุนและบูรณาการใช้งานได้ง่ายกว่าระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีชั้นสูงเต็มรูปแบบ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก
– เป็นการรักษาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงยังมีความรักและความผูกพันธ์กับองค์กรเอาไว้ในระบบได้ โดยคงคุณค่าของแรงงานและผลตอบแทนของธุรกิจเอาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว
– สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตได้ง่าย รองรับการเปลี่ยนแปลงของ Demand และเทรนด์ตลาดยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
– มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง

ข้อควรพิจารณา
– ข้อจำกัดของ Cobot ในด้านของ Payload รองรับได้สูงสุดอยู่ที่ 25 กิโลกรัม (ใช้เฉพาะ Palletizing Application)
– ความทนทานของ Cobot นั้นอยู่ในระดับต่ำหากเปรียบเทียบกับเครื่องจักรทั่วไปในโรงงาน
– ความเร็วในการทำงานของ Cobot นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัย การทำงานจึงไม่อาจใช้ความเร็วได้เทียบเท่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไป
– ผู้ผลิตต้องแยกให้ออกว่างานที่ใช้ Cobot งานไหนเป็นงานของแรงงานงานไหนเป็นของหุ่นยนต์ เช่น งานอันตราย, งานสกปรก, งานที่ยากสำหรับแรงงาน หรือ งานที่มีความน่าเบื่อ เป็นงานของหุ่นยนต์ และงานที่ต้องพิจารณาใช้ปะสบการณ์ ใช้มือเยอะใช้ทักษะเยอะควรจะเป็นงานของแรงงาน

Demand ชี้ชัดการผลิตยุคใหม่ต้อง High Mix, Low Volume

จากทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด ไม่ว่าจะเป็น Demand ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และการผสมผสานของเทคโนโลยียุคใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นวัฎจักรที่หมุนวนเสริมแรงกันไปมา ซึ่งหากพิจารณาในฐานะผู้ผลิตแล้วความต้องการที่เกิดขึ้นนี้อาจสวนทางกับอุดมคติด้านการผลิตที่มีมาแต่ดั้งเดิม

แนวคิดด้านการผลิตแบบอุตสาหกรรมดั้งเดิมนั้นให้คุณค่ากับ Mass Production หรือการผลิตจำนวนมาก ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าเพียงรูปแบบเดียวจำนวนมหาศาล เช่น การใช้แม่พิมพ์พิมพ์ช้อนหรือถ้วยพลาสติกที่มีแบบน้อยแต่ต้องการปริมาณซ้ำ ๆ จำนวนมาก แต่เมื่อ Demand ของตลาดเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นเทรนด์ Personalization เกิดมีบทบาทมากขึ้น การผลิตของเพียงแบบเดียวหรือน้อยแบบอาจทำให้โรงงานที่ใช้แนวคิดการผลิตจำนวนมากนั้นเกิดช่วงเวลาว่างในการผลิตขึ้นมาก เพราะต้องรอคำสั่งซื้อแบบเดียวกันที่มีปริมาณสูงในระดับหนึ่ง กลายเป็นความสูญเปล่าทางธุรกิจที่หลีกเลี่ยงได้ยากหากยังคงดำเนินการแบบเดิม

เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โรงงานควรพิจารณาการผลิตบนแนวคิด High Mix, Low Volume หรือผลิตสินค้าที่มีหลายแบบในปริมาณที่น้อยลง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการตลาดได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น การตอบสนองต่อรูปแบบการผลิตนี้จำเป็นต้องใช้แนวคิดการผลิตแบบ Flexible Manufacturing ที่มีความยืดหยุ่นสูงในการผลิต ทำให้สามารถปรับสายการผลิตได้ง่าย ลดเวลาในการปรับสายการผลิตเมื่อต้องเปลี่ยนแบบสินค้า ทำให้รับงานได้หลากหลายและลดการเกิดช่วงเวลา Downtime ไม่ว่าจะเป็นการปรับตั้งเครื่อง ตลอดจนการไม่สามารถตอบสนองต่อคำสั่งซื้อที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ภายใต้แนวคิดใหม่นี้หน้าที่ของแรงงานในยุคใหม่จึงมีบทบาทเป็นผู้ออกคำสั่งและมีหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อยที่เกิดขึ้น แตกต่างจากยุค 4.0 ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายในการบูรณาการเข้าด้วยกันทำให้มีต้นทุนที่สูงทั้งการใช้งาน การบำรุงรักษา และเมื่อพิจารณากันใหม่ด้วยการมองทั้งภาพใหญ่และภาพย่อย แบ่งแยกว่าส่วนไหน Task ใดคืองานที่หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติทำได้ดี และงานส่วนใดที่คนยังมีความโดดเด่นไม่อาจถูกทดแทนได้ ตามแนวคิดของ Lean Automation จะทำให้โครงการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนสามารถจับต้องทั้งยังประเมิน ROI ที่เกิดขึ้นได้ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด

จะเห็นได้ว่าภาพของเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างพฤติกรรมผู้บริโภคและ Personalization ตลอดจนการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่าง IIoT, E-Commerce และ HRC ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันและส่งผลถึงกันอย่างแยกไม่ออก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงย้อนกลับมายังผู้ผลิตที่ต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ตาม Demand ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแตกต่างจากเดิมอย่างมาก ความคาดหวังของโรงงานในการผลิตของเพียงอย่างเดียวครั้งละมาก ๆ จึงเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ผลิตทุกรายต่างก็คิดแบบเดียวกัน ทางออกในเรื่องนี้ คือ การปรับตัวสู่การผลิตแบบ High Mix, Low Volume ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดด้าน Flexible Manufacturing จะเป็นคำตอบสำคัญที่เราจะมาเล่าให้ฟังกันในบทความต่อไปครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน:
ชัชชัย ผลมูล 
– CEO & Founder เบรนเวิร์คส อิมเมจิเนียริ่ง จำกัด
– ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และปรับปรุงการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์
– รองนายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA)
– ที่ปรึกษาการลงทุนในระบบอัตโนมัติและความยั่งยืนขององค์กร, สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA)
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924