Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ตีแผ่ ‘Stakeholder’ ใครเป็นใครในเรื่องของความยั่งยืนภาคการผลิต!

ตัวชี้วัดและองค์ประกอบในเรื่องของความยั่งยืนนั้นมีอยู่มากมาย แต่หนึ่งในตัวชี้วัดหรือปัจจัยที่บางครั้งอาจจะไม่ได้มีตัวเลขหรือผลกระทบชัดเจน แต่มักจะมีกรอบหรือข้อกำหนดความรับผิดชอบที่ตามมา นั่นก็คือ Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจริง ๆ แล้วมีมากกว่าแค่ ‘นักลงทุน’ หรือ ‘เจ้าของเงิน’

Key Takeaways:
– Stakeholder ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตั้งแต่ผู้บริหาร แรงงาน นักลงทุน ชุมชนแวดล้อม พันธมิตร และคู่ค้า ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดูแล
– Stakeholder ที่ทำงานใกล้ชิดกับโรงงานให้ดี จะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้ 
– การละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Stakeholder ที่อยู่ในโรงงานหรือชุมชนแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจต้องเกิดการชดเชยต่อผลกระทบในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลบังคับทั้งทางกฎหมายและการดึงดูดนักลงทุน

Stakeholder ผลกระทบหลากหลายมิติที่ขับเคลื่อนและยับยั้งการผลิตได้ในเวลาเดียวกัน

หากเราพูดถึง Stakeholder ในธุรกิจ หากเป็นคนยุคเก่าหน่อยอาจมองว่า Stakeholder นั้นคือผู้ถือหุ้น นักลงทุน หรือคณะกรรมการบริษัทเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราจะพูดกันถึงมาตรฐานสากล หรือบรรทัดฐานที่มีการกำหนดเอาไว้ Stakeholder จะเป็นอะไรที่กว้างและครอบคลุม ‘คน’ ที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากธุรกิจนั้นทั้งหมดไม่เกี่ยงว่ามากน้อยเท่าใด

ดังนั้นการนิยาม Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นในภาพรวมอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ มีทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร เช่น พนักงานผลิตหรือแม่บ้าน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในซัพพลายเชน เช่น คู่ค้า ผู้มีส่วนเสียในพื้นที่โดยรอบ เช่น หมู่บ้านโดยรอบ ไปจนถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นหน่วยงานรัฐหรือประชาชนองค์กรอื่นใดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางตรง – ผู้ใกล้ชิดองค์กรโดยตรง และได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางตรงจากการประกอบกิจการ เช่น แรงงาน ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ลูกค้า คู่ค้าซัพพลายเชน ครอบครัวพนักงาน ธนาคารหรือเจ้าหนี้เงินทุน หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนรอบถิ่นตั้งองค์กร
  2. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางอ้อม – ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางอ้อมจากการประกอบกิจการซึ่งอยู่ไกลออกไป ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น รัฐบาล สมาคม กลุ่มวิชาชีพ NGO และชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงงาน เป็นต้น

ในอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากการจัดกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ในต่างประเทศส่วนหนึ่งก็ได้แบ่งเรื่องของ Stakeholder ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ เช่นกัน ได้แก่ Internal Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในองค์กร และ External Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์กร ซึ่งไม่ว่าจะแบ่งตามหลักเกณฑ์ใด ๆ ก็ตาม Stakeholder ทั้งหมดจะถูกควบคุมดูแลด้วยกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป

การที่ผู้ประกอบการหรือโรงงานละเลยกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับ Stakeholder นั้นจะมีบทลงโทษและการชดเชยที่ส่งผลต่อธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น พรบ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่กำหนดบทลงโทษสูงสุดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท

หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่นายจ้างละเลยการดูแลสภาพแวดล้อมและสถานประกอบการให้เกิดความปลอดภัยและมีสุขลักษณะที่ดี ซึ่ง พรบ. นี้เป็นเพียงหนึ่งในกฎหมายข้อปฏิบัติที่มีอีกหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้อง หรือในมุมของประชาชนสังคมที่สามารถออกมาเรียกร้องให้เกิดการไม่ใช้สินค้าจากโรงงานนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ว่าแบนสินค้า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำเสีย หรือมีการทำธุรกิจที่ขาดความยั่งยืน โดยผู้บริโภคหรือลูกค้าเองก็ถือเป็นหนึ่งใน Stakeholder ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งด้วย 

ในกรณีที่เลวร้ายอาจมีคำสั่งให้หยุดสายการผลิตชั่วคราวจนกว่าจะมีการแก้ไขหรือมีคำสั่งสั่งรื้อถอนได้ แต่ในทางกลับกันหากมีการดูแลที่ดีกระบวนการทำงานก็จะราบรื่น ในขณะที่ภาพลักษณ์หรือภาพจำของโรงงานต่อผู้บริโภคก็สามารถเพิ่มยอดขาย ซึ่งเสียงของ Stakeholder ทั้งหมดสามารถส่งผลต่อทิศทางของธุรกิจอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

Stakeholder บทบาทของ ‘คน’ ที่ส่งผลกับธุรกิจในแง่มุมอันแตกต่างแต่ส่งผลต่อเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก

ธุรกิจและโรงงานนั้นไม่อาจดำเนินการได้ด้วยตัวคนเดียว การเติบโตและความสำเร็จนั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันกับหลายฝ่าย ซึ่งแม้จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันแต่มีความเกี่ยวข้องถึงกันมากกว่าที่จะมองเห็นผ่านสายตาเท่านั้นได้ เพราะผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder เหล่านี้มีบทบาทที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละด้านของธุรกิจการผลิต 

การทำความรู้จักบทบาทและผลกระทบของ Stakeholder ในแต่ละกลุ่มนั้นมีความสำคัญต่อการประเมินความยั่งยืนของธุรกิจ ไม่ว่าจะใช้ไม้บรรทัดหรือมาตรวัดใดก็ตาม เช่น UNSDGs หรือ ESG เองต่างก็มีเรื่องของ ‘คน’ ที่นับเป็น Stakeholder สำคัญในสมการอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งในบทความนี้ต้องการจำแนกแยกแยะ Stakeholder แต่ละกลุ่มออกจากกันและทำให้เห็นถึงภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากแต่ละกลุ่ม โดยสามารถจัดกลุ่มเบื้องต้นได้ ดังนี้


ลูกค้า

ลูกค้านั้นถือเป็น Stakeholder ที่มีผลกระทบต่อองค์กรในการปรับใช้แนวคิดด้านความยั่งยืนมากที่สุด ในปัจจุบันลูกค้านั้นมีความต้องการที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อม และในฐานะคู่ค้าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องการลดมลภาวะที่เกิดขึ้นในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องให้สมเหตุสมผลที่สุด เช่น การมี ISO 14000 เพื่อรับรองผลกระทบ ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ให้ Feedback และคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับความต้องการผลิตภัณฑ์ได้ดี นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจด้วยการแนะนำหรือวิจารณ์แบบปากต่อปากให้กับธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกด้วย


หน่วยงานรัฐบาล/ผู้ออกฎหมาย

เมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกข้อบังคับใหม่ ๆ ผลกระทบส่วนมากที่เกิดกับโรงงาน คือ การต้องปรับตัวตามให้ได้ กลายเป็นแรงกดดันที่ตามมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงาน คาร์บอน การปลดปล่อยมลภาวะต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นผู้กำกับขีดเส้นขอบเขตที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ


องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)/กลุ่มที่สร้างแรงกดดันให้ธุรกิจ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นจะมีการขับเคลื่อนในรูปแบบที่ตามกระแสสังคม และการขับเคลื่อนที่เกิดจากความผิดพลาดของโรงงานหรือธุรกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งบทบาทหลัก ๆ จะอยู่ที่การนำปัญหาหรือข้อสงสัยที่เกิดกับธุรกิจไปอยู่บนหน้าสื่อต่าง ๆ ให้เกิดความสนใจในวงกว้าง การเคลื่อนไหวเหล่านี้มักจะเกิดจากความผิดพลาดของธุรกิจเป็นที่ตั้งแรก


นักลงทุน/ผู้ถือหุ้น

นักลงทุนและผู้ถือหุ้นถือว่าเป็น Stakeholder ที่สำคัญต่อการอยู่รอด กำไร และการเติบโตของธุรกิจในรูปแบบของต้นทุนที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อการลงทุนปรับใช้เทคโนโลยีหรือปรับตัวตามนโยบายใหม่ ๆ เช่น การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและการปลดปล่อยคาร์บอนในระยะยาว เป็นต้น การดูแล Stakeholder กลุ่มนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งผลประกอบการ นโยบาย และความสัมพันธ์กับ Stakeholder อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพมารวมกัน


ผู้บริหาร/ผู้จัดการโรงงาน

ผู้บริหารและผู้จัดการโรงงานถือเป็น Stakeholder ภายในที่มีความสำคัญต่อการบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ โดยระดับผู้บริหารมีหน้าที่บูรณาการทรัพยากรและความต้องการของระบบเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ทั้งยังเป็นผู้จัดการกับกำแพงที่ขวางกั้นองค์กรและปัจจัยสำคัญหลายประการในการบูรณาการปัจจัยภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ในขณะที่ผู้จัดการโรงงานหรือผู้จัดการแผนกจะเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมและทำการประเมินสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับ


พันธมิตร/ซัพพลายเออร์

พันธมิตรและซัพพลายเออร์สามารถส่งผลกระทบได้อย่างมากต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่คุณภาพของสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไป หรือความน่าเชื่อถือในการจัดส่งไม่เหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบไปยังลูกค้าและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืนยุคใหม่ยังทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลตลอดทั่วทั้งซัพพลายเชนนั้น ๆ ส่งผลให้การเลือกพันธมิตรหรือซัพพลายเออร์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตได้ในยุคใหม่ที่ต้องมีทั้งความยั่งยืนและต้องมีประสิทธิภาพ


ชุมชนและสังคมรอบโรงงาน

ชุมชนและสังคมรอบโรงงานนั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจการผลิตเป็นหลัก เพราะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงจากโรงงานและมลภาวะที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น มลภาวะด้านเสียง อากาศ การเป็นพื้นที่ซึ่งมีคนพลุกพล่านขาดความสงบ เป็นต้น ซึ่งชุมชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบในบางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับโรงงานเพื่อรับผลกระทบทางตรง อาจอยู่ห่างไกลออกไปแต่ยังสามารถได้รับผลกระทบทางอ้อมได้ด้วยเช่นกัน เช่น ในกรณีของถังบรรจุสารเคมีโรงงานพลาสติกย่านกิ่งแก้ว เป็นต้น


ลูกจ้าง/แรงงาน

ลูกจ้างหรือแรงงานถือเป็นกลุ่มของ Stakeholder หลักที่จะส่งผลต่อการไปถึงเป้าหมายของธุรกิจ ทั้งในด้านการดำเนินการ รวมถึงการปรับใช้นโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ถึงแม้ว่าแรงงานจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในธุรกิจไม่มาก แต่ Stakeholder กลุ่มนี้สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้โดยตรง เช่น การปฏิเสธการทำงาน หรือการทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายหรือนโยบายต่าง ๆ ที่วางไว้ อาทิ นโยบายด้านความยั่งยืน หรือการทำงานเชิงรุก เป็นต้น การดูแลและสนับสนุนแรงงานในมิติต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพื้นฐาน เช่น การดูแลสภาพแวดล้อมสถานที่ผลิต การจัดเตรียมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อกำหนดพื้นฐานที่โรงงานต้องปฏิบัติตามให้ได้อย่างเคร่งครัด


แม้ว่า Stakeholder แต่ละกลุ่มจะไม่ได้ใกล้ชิดกัน หรืออาจจะไม่รู้จักและห่างไกลกันออกไป แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Stakeholder กลุ่มหนึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่เหลือได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น กรณีของแรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับด้านการบำบัดของเสียอย่างเคร่งครัดก็จะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ ทำให้เกิดแรงกดดันจากภายนอกและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อนักลงทุนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเรื่องก็จะย้อนกลับเข้ามาที่ผู้บริหารและผู้จัดการโรงงาน และลงเอยที่การดำเนินการกับแรงงานทางใดทางหนึ่งอยู่ดี

การดูแล ‘แรงงาน’ หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการผลิตยุคสังคมผู้สูงอายุและความยั่งยืน

หากพิจารณากลุ่ม Stakeholder ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วจะพบว่า Stakeholder จำนวนมากถือว่ามีศักยภาพในการต่อรองกับธุรกิจหรือโรงงานอยู่ประมาณหนึ่ง ทำให้ตัวธุรกิจเองมีความระแวดระวังอยู่พอสมควร แต่ในทางกลับกัน ‘แรงงาน’ ถือเป็น Stakeholder ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและต้องพึ่งพิงโรงงานมากที่สุด ทำให้ในอดีตที่ผ่านมาหรือในบางโรงงานนั้นแรงงานยังขาดอำนาจต่อรอง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ และในท้ายที่สุดก็วนกลับมากระทบต่อการทำงานในโรงงานอีกไม่รู้จบ

การแก้ปัญหาแรงงานยอดฮิตในอดีตคงหนีไม่พ้นการเชิญออก แล้วประกาศรับสมัครใหม่ แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เห็นได้ชัดว่าขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ยิ่งแรงงานมีทักษะสูงยิ่งแล้วใหญ่ การแก้ไขโดยการปลดคนเดิมออกแล้วหาคนใหม่มาแทนไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะโรงงานอื่นต่างก็มองหาแรงงานและหา Talent เช่นกัน หากธุรกิจการผลิตที่มีพร้อมทุกอย่างแต่ขาดคนทำงานยังไงธุรกิจก็ไม่อาจขับเคลื่อนได้

ต้องอย่าลืมว่าการจ้างงานใหม่ การปรับตัวเข้ากับงาน ตลอดจนความคุ้นเคยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นนับว่าเป็นทั้งต้นทุนทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแรงงานบ่อยครั้งนอกจากจะทุนจมแล้วยังทำให้ธุรกิจการผลิตไม่อาจก้าวไปข้างหน้าได้ เนื่องจากขาดแคลนความเชี่ยวชาญที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจจะต้องคิด คือ ‘จะรักษาและพัฒนาแรงงานเดิมได้อย่างไรในขณะที่ดึงดูดคนเก่งหน้าใหม่เข้ามาในองค์กร’

แนวคิดในการดูแลแรงงานและดึงดูดคนเก่งหน้าใหม่นั้นต้องประกอบไปด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ตั้งแต่ผลตอบแทน สวัสดิการ ความชัดเจนในด้านนโยบาย เส้นทางการเติบโตในสายงาน ไปจนถึงการสนับสนุนแรงงานในมิติของการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงทักษะและชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวคิดด้านความยั่งยืนในการบริหารจัดการแรงงานอีกมากมายให้ได้ศึกษาและปรับใช้ เช่น Sustainable Practices (SP), Stakeholders Pressures (STP), Stakeholder Engagement & Materiality Analysis และ Strategic Relational Engagement (SRE) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจโรงงานที่ต้องมีการใช้ทรัพยากรหลากหลายด้าน และมีการสร้างผลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน ซึ่ง Stakeholder ทุกส่วนแม้จะมีบทบาทและผลกระทบที่แตกต่างกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้วผลกระทบที่เกิดกับ Stakeholder กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็จะส่งผลต่อธุรกิจและกระทบต่อ Stakeholder อื่น ๆ ได้เช่นกัน การดูแลและใส่ใจ Stakeholder ทุกส่วนจึงมีความสำคัญต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานภายในโรงงานซึ่งสามารถลดผลกระทบเชิงลบและสร้างผลกระทบเชิงบวกได้อย่างชัดเจนมากที่สุดต่อธุรกิจนั่นเอง

Reference:
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0959652623045602
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/bse.3355
https://www.linkedin.com/pulse/sustainable-supply-chain-stakeholder-analysis-maur%C3%ADcio-bitencourt-ogipf
https://www.investopedia.com/terms/s/stakeholder.asp#:~:text=A%20stakeholder%20has%20a%20vested,%2C%20governments%2C%20and%20trade%20associations.
https://setsustainability.com/page/stakeholder-engagement
https://inria.hal.science/hal-02460452/document
https://www.huffpost.com/entry/stakeholder-engagement_b_1556070#:~:text=BlogBusinessVideo-,Improving%20Stakeholder%20Engagement%20Increases%20Productivity%2C%20Profit%20and%20Sustainability,as%20a%20good%20corporate%20citizen.
https://www.linkedin.com/pulse/8-increased-productivity-through-stronger-stakeholder-mcconnochie
https://www.bizcommunity.com/Article/196/701/82542.html
https://legal.labour.go.th/images/law/Safety2554/2554_2382564.pdf
https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z6scbdm/revision/4

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924