Rockwell Automation on the Move งานสัมมนาและแสดงโซลูชันอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 จาก Rockwell Automation ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมสำหรับงานอุตสาหกรรม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
On the Move 2019 งานสัมมนาและแสดงโซลูชันจาก Rockwell Automation จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหมุนเวียนไปในแต่ละประเทศโดยในครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่ประเทศไทย พร้อมแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับงานอุตสาหกรรมยุค 4.0 พร้อมพันธมิตรมากความสามารถนำเสนอแนวคิด Connected Enterprise เชื่อมต่อทุกศักยภาพการทำงานในกิจการอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่ม Productivity และคุณภาพการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ
โดยคุณเกรียงศักดิ์ ภาสุรกุล Country Manager ประจำประเทศไทยได้กล่าวเปิดงานด้วยความสำคัญของ Digital Transformation ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจอุตสาหกรรม “จากข้อมูลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับ Predictive Analytics 62% Expand Data Storage 58% และ Analyze Unstructured Data ถึง 53% ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ลดต้นทุนรวมสำหรับการครอบครองเทคโนโลยี ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้เต็มประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ได้ ซึ่งผู้บริหารกว่า 84% จากการสำรวจเชื่อว่า IoT จะเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับรายได้จากการปฏิบัติงานเดิมที่มีอยู่” พร้อมกันนี้คุณเกรียงศักดิ์ได้นำเสนอ Connected Enterprise จาก Rockwell Automation ที่จะตอบสนองต่อทิศทางการทำงานและนโยบายประเทศไทย 4.0 ในยุคปัจจุบันที่ครอบคลุมการทำงานด้วยศักยภาพจากพันธมิตรรายสำคัญอย่าง PTC ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชัน
นอกจากนำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชัน 4.0 แล้วคุณเกรียงศักดิ์ได้เปิดตัว Logo ใหม่ของ Rockwell Automation ที่รับกับแนวคิดใหม่ ‘Expanding Human Possibility’ ผลักดันศักยภาพมนุษย์ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอัตโนมัติยุคใหม่ผ่านโซลูชันอัจฉริยะรวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาที่จับมือกับ FIBO อีกด้วย
นอกจากนี้ Rockwell Automation on the Move ยังได้รับเกียรติจาก ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ก่อตั้ง ที่ปรึกษา และรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. ขึ้นกล่าวถึงความสำคัญของ ‘Enabling Thailand 4.0’ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ Digitalization อันเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกทำให้ภาครัฐจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขึ้นเพื่อสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยผ่านนโยบายด้านภาษีจาก BOI และคณะกรรมการ EEC ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ครอบคุลมไปถึง การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ อีกด้วย
หนึ่งในการผลักดันสำคัญท่ีเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนแนวทางการทำ PPP จากเดิม 45 เดือน เป็น 5 เดือน เพื่อตอบสนองต่อการลงทุนภาคเอกชนให้ทันท่วงที รวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาในพื้นที่เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Factory Automation และ IIoT อีกด้วย