Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

Rethink Redo และ Revolution สานต่อโอกาสการผลิตในยุค Post COVID-19

ท่ามกลางความวอดวาย และปั่นป่วนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ก็ยังพอมีเรื่องดีให้ได้ชื่นใจอยู่บ้าง นั่นคือ โลกสีฟ้าใบนี้ของเรากำลังรักษาตัวเองอยู่อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ เริ่มมีผลกระทบในทางบวกมากขึ้น และมันทำให้เกิดคำถามสำคัญที่ดังก้องในใจผม คือ “เราจะทำให้โลกดีขึ้นแบบนี้ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?”

Rethink, Redo, Revolution สานต่อโอกาสการผลิตยุค Post COVID-19

สภาพแวดล้อมสุดวิกฤติกับการส่งสัญญาณเตือนของโลก

“How dare you!”

“คุณกล้าดียังไง!”Greta Thunberg

เมื่อปีที่แล้วเสียงของเด็กตัวน้อยอย่าง Greta Thunberg ที่ออกมาพูดบนเวทีสหประชาชาติในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่กำลังเลวร้ายลงอย่างมากกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมที่ต้องกลับมานั่งขบคิดอีกครั้ง แน่นอนว่าแม้จะเป็นเพียงเสียงของเด็กคนหนึ่งแต่ใจความที่เธอพูดนั้นชดเจนและสำคัญมาก โดยเฉพาะในประเด็นของนโยบายการลดการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่งในระยะเวลา 10 ปี ต่อจากนี้ ที่พบว่านโยบายในปัจจุบันมีโอกาสเพียง 50% เท่านั้นในการลดอุณหภูมิโลกลงได้เพียง 1.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้อีกมากมาย แสดงให้เห็นถึงโอกาสความล้มเหลวในการรักษาโลกนี้เอาไว้ที่แทบไม่ต่างจากทอยเหรียญหัวก้อย มัน คือ ความเสี่ยงแบบ 50/50 ที่โอกาสแพ้เท่ากันกับการอยู่รอด

โลกเรากำลังดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็วด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคนจนกระทั่งการมาถึงของไวรัส COVID-19 ซึ่งอุบัติขึ้น ณ มหานครแห่งการผลิตของโลกอย่างประเทศจีนพอดิบพอดี แน่นอนว่ามีความสูญเสียทั้งชีวิตและภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้ายยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเอเชีย ลุกลามไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา โรงงานทั้งหลายต่างปิดตัวลงอย่างไร้ทางเลือก ธุรกิจมากมายเสียหายและไม่อาจหวนคืนได้เช่นกัน

ในขณะเดียวกันมีหลักฐานและรายงานไม่น้อยที่ออกมาบอกว่าโลกของเรากลับดีขึ้นอย่างรวดเร็วในระหว่างที่มนุษยชาติต้องกักตัวและเจอกับโรคระบาด (เหมือนพลอตหนัง Post Apocalypse หรือพวกวิกฤติล้างโลกไหมครับ?) ยกตัวอย่างเช่นข่าวเกี่ยวกับช่องโหว่ชั้นโอโซนที่กำลังปิดแคบลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ รายงานนี้เป็นผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์อย่าง Nature โดยพบว่าชั้นโอโซนที่เคยได้รับความเสียหายนั้นมีความหนาเพิ่มมากขึ้นทำให้กระแสลมกรดซีกโลกใต้นั้นกลับมาพัดอยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็น ทำให้หลายภูมิภาคในโลกไม่ต้องเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่รุนแรงแบบเดิม เช่น ออสเตรเลียจะไม่ต้องเผชิญภัยแล้งอันรุนแรงแบบที่ผ่านมา หรือความเข้มข้นของรังสี UV จะลดน้อยลง 

ในแง่ของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม World Economic Forum เองยังมีบทความ ‘How COVID-19 might help us win the fight against climate change’ ออกมาสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนโดยไม่หลงระเริงดีใจไปกับผลลัพธ์ระยะสั้นที่เกิดขึ้น 

สำหรับภาคการผลิตในระดับสากลได้มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำอุตสาหกรรม กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพยายามรณรงค์นโยบายสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญารอตเตอร์ดัม อนุสัญญาบาเซล สนธิสัญญาปารีส หรือพิธีสารเกียวโต ที่บ่งชี้ถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ก่อนหน้าวิกฤตนั้นเรากำลังทำตัวเหมือนหิมะที่กลิ้งลงจากภูเขาและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนต่างรับรู้ได้และเกิดการตื่นตัวในการแก้ปัญหาทั้งภาคประชาชนรวมถึงรัฐบาล ทำให้หลายประเทศได้ทำข้อตกลงต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยหนึ่งในเป้าหมายหมายที่ UN หรือสหประชาชาติและสมาชิกกำหนดเอาไว้ คือ การลดอุณหภูมิให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส

เรื่องของอุณหภูมิลองดูข้อมูลจาก NASA กันบ้างครับ เขาบอกว่ามีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันมีมากถึง 413 ppm มากที่สุดในรอบ 650,000 ปี อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.9 องศาฟาเรนไฮต์นับตั้งแต่ปี 1880 และแผ่นน้ำแข็งก็มีมวลที่ลดลงอยู่ที่ประมาณ 427 กิ๊กกะตันต่อปี นี่เป็นสัญญาณของการล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้ว่าหลายประเทศได้วางนโยบายสำหรับลดการปล่อยมลพิษ วางแนวนโยบายด้านทรัพยากร หรือเตรียมการสำหรับนโยบายส่งเสริมความยั่งยืนต่าง ๆ กันไว้บ้างแล้ว ทั้งนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า การลดการปล่อยก๊าซต่าง ๆ หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนทักษะ ทรัพยากรขาดแคลน หรือปัญหาด้านขยะของเสีย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 แนวทางที่ถูกสร้างมาเพื่อรองรับการแก้ปัญหาเหล่านี้จำต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ได้อย่างเต็มกำลัง ขั้นตอนหรือนโยบายที่ดำเนินการบางส่วนต้องถูกปรับเปลี่ยน บางส่วนต้องถูกรื้อใหม่เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานบรรจุภัณฑ์ ทุกวันนี้หลายฝ่ายรณรงค์เรื่องลดการใช้พลาสติกและโฟมกันเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติ COVID-19 เราจะเห็นได้ชัดว่ามีการใช้งานบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่คือพลาสติกตัวร้ายที่เราตั้งใจจะหลีกเลี่ยง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาแบบนี้การใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์มีความจำเป็นอย่างมาก ภาครัฐและเอกชนจำต้องเร่งหาแนวทางการรับมือปัญหาขยะที่กำลังจะก่อให้เกิดมลภาวะต่อไป มิเช่นนั้นสิ่งที่เราต้องประสบพบเจอก็คื อ ‘ปัญหาพลาสติกล้นโลก’ หรือแท้จริงแล้วเรากำลังจะมูฟออนเป็นวงกลม?

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนการแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

เพื่อสานต่อผลลัพธ์ระยะสั้น และต่อยอดนโยบายด้านความยั่งยืนที่นานาประเทศช่วยพยุงโลกใบนี้เอาไว้ ภาคธุรกิจต้องเกิดการปรับตัวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในส่วนของตัวธุรกิจและทรัพยากรในโลก รวมถึงการดำเนินนโนบายเชิงรุกเพื่อป้องกัน Disruption อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาด หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาเฉียบพลันเหล่านี้ แนวทางสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาจดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก (มากๆ) แต่ท้ายที่สุดแล้วภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ทำให้การซ่อมสร้างสภาพแวดล้อมนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทั้งตัวธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มันอาจจะดูเป็นเรื่องยาก บางคนอาจมองว่าไกลตัว หรือบางคนอาจคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด แต่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวสำหรับทุกคน ใกล้ขนาดที่เข้าไปในเซลล์ของเราแล้วยังไม่รู้ตัวก็มีครับ เช่น PM2.5 ที่หายใจเข้าไปนั่นก็เป็นผลจากสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ดังนั้นแล้วถ้าหากไม่ทำอะไรเลยนอกจากวันหนึ่งทรัพยากรจะหมดจนไม่รู้จะผลิตอะไรหรือแปรรูปอะไรแล้ว ก่อนที่จะไปถึงวันนั้นคุณและคนรอบข้างอาจตายก่อนเพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด คลื่นความร้อน ปอดอักเสบ ดังนั้นลองพยายามเปลี่ยนการผลิตและโมเดลธุรกิจให้มีความยั่งยืนไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อความมั่นคงในระยะยาวของตัวคุณและคนที่คุณรักกันครับ ซึ่งผมอยากเสนอแนวคิดในการปรับตัวแบบ 3 R คือ Rethink, Redo และ Regain กันครับ

Rethink, Redo and Revolution

ท่ามกลางวิกฤตในปัจจุบันยังคงพบเห็นโอกาสใหม่ในการทำงานได้เกิดขึ้นเช่นกัน ในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากช่วงเวลากักตัวเราจะพบเห็นรูปแบบธุรกิจยุคดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร การขนส่ง โลจิสติกส์ต่าง ๆ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีการผลิตอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนเฉพาะหน้า ทำให้เกิดสภาพคล่องในภาคธุรกิจได้แม้จะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก

แม้จะมีปัญหากระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการที่จีนไม่สามารถผลิตหรือส่งออกได้ไปจนถึงเวลาที่จีนฟื้นตัวแต่ตลาดทั่วโลกกลับบอบช้ำเราจะพบว่าอย่างน้อย ๆ ตลาดภายในประเทศก็ยังมีศักยภาพในการหมุนเวียนอยู่ในระดับหนึ่ง มีธุรกิจไม่น้อยที่ยังคงไปต่อได้และบางส่วนก็ไม่อาจแบกรับค่าใช้จ่ายไหวต้องปิดตัวลงไป สิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ การปรับตัวของธุรกิจและสังคมที่อิงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นแต่การซื้อขายไปจนถึงการผลิตครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องรับมือกับนโยบาย Social Distancing เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายตัวของเชื้อโรค

หากลองมองและพิจารณาให้ดีจะพบว่าธุรกิจและการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการทำแบบเดิม ๆ นั้นไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ในปัจจุบัน หากคุณยังคงคิดค้าขายแบบเดิมต้องเจอหน้าลูกค้าตลอดเวลานอกจากเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อแล้วมันก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อคู่ค้าอีกด้วย ครั้นจะออกนโยบายส่งเสริมการขายจัดงานแสดงสินค้าก็ไม่ต่างกัน การพึ่งพิงแนวคิดใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับภาคการผลิตแต่เดิมที่เน้นการผลิตจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณเพื่อหาจุดคุ้มทุนนั้นจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น หรือการวางแผนการทำงานที่แตกต่างจากเดิมเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงของธุรกิจ การจะทำสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้จำเป็นต้องเกิดการปรับตัวด้วยแนวคิดใหม่ (Rethink) ทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น (Redo) สร้างพลวัติแห่งการปฏิวัติ (Revolution) ด้านความคิดและการลงมือทำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในด้านทรัพยากร ธุรกิจ และด้านสังคม

Rethink คิดใหม่เพื่อโลกเดิม

โครงสร้างความคิดสำหรับการทำธุรกิจในยุคใหม่จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนและจัดลำดับเสียใหม่ตั้งแต่รากฐาน เมื่อเราทำธุรกิจแน่นอนว่าสิ่งที่ทุกคนต้องการ คือ กำไรที่มากขึ้นซึ่งนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน แต่ท้ายที่สุดแล้วความมั่นคงทางการเงินควรถูกจัดไว้ในลำดับที่หนึ่งจริงหรือไม่?

ดูจากสถานการณ์ในตอนนี้สิครับ ต่อให้คุณมีเงินหน้ากากอนามัยใช่ว่าจะหาได้ง่าย ๆ ต่อให้คุณรวยแค่ไหนแต่ถ้าระบบกับสภาพแวดล้อมยังเป็นแบบนี้อยู่ คุณติดเชื้อกันแน่นอนครับเหลือแค่จะแสดงอาการหรือไม่ ต่อให้คุณอยากไปเที่ยวที่ไหนอยากพบปะผู้คน มันก็เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่สำคัญและสะท้อนออกมาให้เห็นได้จริง คือ ความอยู่รอดครับ การที่เราหาเงินมากมายเพราะเราต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเงินมีความจำเป็นอยู่ลำดับหลัง ๆ แต่การมีอาหารกิน มียา มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกลับเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ ซึ่งในสถานการณ์ปรกติเงินก็สามารถนำไปสู่สิ่งเหล่านี้ได้ แต่ในสถานการณ์วิกฤตหรือหากมองให้ไกลอีกนิดเมื่อโลกถูกทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายยิ่งกว่านี้สกุลเงินที่มีอยู่อาจไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถ้ายังรักเงินที่อยู่ในมือ รักคนรอบข้าง รักของสะสมของคุณ ถ้ายังอยากส่งมอบโลกนี้ให้คนรุ่นหลังสิ่งที่ต้องรักษาไว้ลำดับแรก คือ สภาพแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถรักษาระบบชีวิตใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ครับ

การปรับความคิดใหม่ในการทำธุรกิจจึงควรอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สะท้อนออกมาให้ผลประโยชน์กับทุกคน คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตและการทำงานที่มีศักยภาพ ในขณะที่การเติบโตของธุรกิจต้องเกิดขึ้น แต่อาจปรับเปลี่ยนกลไกการทำงาน วิธีการวัดและประเมินผลเสียใหม่

ถ้าใครยังคิดไม่ออก ให้ลองกางแผนโมเดลธุรกิจใส่ใน Business Model Canvas ดูครับ โดยในส่วนของ Value Propositions, Key Activities และ Key Resources ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเป็นหลักและต่อยอดผสมผสานกับสิ่งที่คุณมี วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวออกมาให้ชัดเจน

คุณจะพบว่าคุณค่าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นมีความแตกต่างกัน สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคไม่อาจปฏิเสธได้ว่าต้องการการผลิตแบบเน้นปริมาณเป็นหลัก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปอาจมีของเสียเหลือบ้างเล็กน้อยจากภาชนะที่จะต้องถูกออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างเหมาะสม แต่สำหรับสินค้าในกลุ่มที่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาลล่ะครับ?

อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาเพราะการตอบสนองต่อดีมานด์จากพฤติกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการบริโภคแบบ Overconsuming ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตลาดด้วยการโมเดลธุรกิจแบบใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เราลองมาดูกันครับว่าแนวคิดที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่น่าสนใจนั้นมีอะไรบ้าง

Modular/Upgradable 

การออกแบบสินค้าใหม่ตั้งแต่รากฐานแนวคิดสามารถต่อยอดเป็นสินค้าที่สร้างความนิยมไปพร้อมกับความยั่งยืนได้ หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวหลายเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนที่สามารถอัพเกรดหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวเองได้เมื่อนานมาแล้ว นั่นคือไอเดียสำคัญในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าโดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน คือ กรณีของ Tesla ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับความสามารถในการอัพเดทซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ แถมผู้ผลิตยังมีการปรับเปลี่ยนตามคำขอที่เห็นว่ามีความสำคัญอีกด้วย 

ในอีกกรณีที่ใกล้เคียงกัน คือ ธุรกิจการแปลงยานยนต์ธรรมดาให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า ในธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องการชิ้นส่วนจากผู้ผลิต EV เช่นกัน แน่นอนว่าในอนาคตอาจเป็นอีกตลาดที่มีการเติบโตมากกว่าการซื้อรถใหม่ทั้งคัน ทำไมน่ะเหรอครับ? มีคนไม่น้อยที่รักของคลาสสิค มีคนอีกมากที่หลงใหลในของร่วมสมัย ลองจินตนาการว่าคุณนั่งอยู่ในรถคลาสสิคสุดโปรดของคุณอย่าง Karmann Ghia, Ford Mustang 1970 หรือ Datson 240z ที่แรงขึ้น ดูแลรักษาน้อยลงและจ่ายค่าพลังงานน้อยลงดูสิครับ สวยงามอย่างเดิมแต่ไวขึ้น ทำร้ายโลกน้อยลง ถ้าซื้อจากผู้ผลิตที่มีวิสัยทัศน์หน่อยก็อัพเกรด Firmware ได้อีก อาจจะแต่งเติมง่ายขึ้นด้วยซ้ำ

Subscription/In-app Purchase/DLC Product

การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การครอบครองหรือการใช้งานสินค้าและบริการนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความหลากหลายในการให้บริการที่ตรงกับความต้องการใช้งานมากขึ้น 

ในปัจจุบันเราอาจเคยชินกับการจ่ายค่า Subscription ให้กับผู้ให้บริการอย่าง Netflix หรือการซื้อการใช้งานเพิ่มเติมต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มที่เราใช้อยู่ ว่ากันง่าย ๆ มันก็เหมือนกับการซื้อบริการเพิ่มเติมนั่นเอง ผมขอยกตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าเดิมอย่าง Tesla ที่เปิดให้ผู้ใช้งาน Tesla Model 3 มอเตอร์คู่จ่ายเงินเพิ่มอีก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับอัตราเร่งจาก 0 – 60 ไมล์ ที่ปรกติใช้เวลา 4.4 วินาทีเป็น 3.9 วินาที หรือบริการ Subscription ของ Google เช่น Google Drive ในการเก็บข้อมูล

นอกจากขายเป็นตัวเลือกเสริมแล้วผู้ผลิตก็ยังสามารถขายบริการเป็นหลักได้เหมือนกับที่ Toyota กำลังดำเนินการพัฒนาในปัจจุบันภายใต้ชื่อ KINTO บริการ Subscription สำหรับการใช้รถยนต์ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บริการหลัก ๆ ได้แก่

  • KINTO Share บริการยานยนต์สำหรับทุกสถานการณ์ใช้งาน เช่น การออกไปซื้อของแบบกระทันหัน ท่องเที่ยว หรือการประชุมธุรกิจ โดยเป็นการแบ่งปันการใช้งานยานยนต์ร่วมกัน
  • KINTO Join สนับสนุนการทำงานของลูกจ้างบริษัทในการเดินทางไปทำงาน เชื่อมต่อเพื่อนร่วมงานและใช้การเดินทางร่วมกัน เน้นการเดินทางเป็นกลุ่ม
  • KINTO One ผู้ใช้งานสามารถเลือกระยะเวลาครอบครองยานยนต์ และเพิ่มเติมบริการซ่อมบำรุงได้ โดยเลือกยานยนต์ได้เพียงรุ่นเดียว
  • KINTO Flex บริการที่ถูกออกแบบมาให้แตกต่างจากผู้ให้บริการอื่น ๆ ด้วยรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นตามความต้องการ สามารถเลือกยานยนต์ได้หลากหลายรุ่นตลอดสัญญา รวมค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน และค่าภาษีลงไปในในเงินที่ต้องจ่าย สิ่งที่ต้องทำเพียงอย่างเดียวคือเติมเชื้อเพลิงเท่านั้น
  • KINTO Ride แบ่งปันการใช้งานยานยนต์โดยมีเพื่อนร่วมทางด้วยกัน
  • KINTO Go บริการที่รวมการเดินทางหลากหลายยานพาหนะไว้ด้วยกันในหน่ึงเส้นทาง สามารถเลือกปรับแต่งเส้นทางได้

สำหรับโมเดล Subscription นั้นจะเห็นได้ว่ามีจุดเด่นในการใช้งานต่อเนื่องระยะยาว หรือการซื้อ DLC หรือ In-App Purchase ต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนการซื้ออุปกรณ์เสริมที่มีก็ดีแต่หลายครั้งไม่มีก็ได้หากการใช้งานหลักเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งรูปแบบการซื้อ-ขายบริการหรือส่วนเสริมใหม่นี้จะสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดีใกล้เคียงกับการใช้งานแบบ Tailor-made ทำให้สามารถตัดสินใจเลือกใช้งานได้ง่ายดายยิ่งขึ้นเนื่องจากตรงกับความต้องการมากกว่าการขายแบบดั้งเดิม ซึ่งหลายครั้งเราอาจพบว่าสิ่งที่ได้มานั้นเกินความจำเป็น หรือมีการขาดเหลือเล็กน้อยทำ ในขณะที่โมเดลใหม่นี้สร้างความรู้สึกคุ้มค่าที่สามารถสัมผัสได้มากกว่า

Made to Order

หลายคนอาจเคยได้ยินสินค้าผลิตตามสั่ง สินค้า Custom-made สินค้า Made to Order ซึ่งมักจะเจอกับค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันโอกาสในการผลิตจำนวนน้อยหรือผลิตแบบพิเศษตามความต้องการสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น

หากเรานำเอาระบบซื้อของออนไลน์มาเชื่อมต่อเข้ากับการผลิต เราจะสามารถรับคำสั่งผลิตได้จากที่ไหนก็ได้บนโลกและขนส่งด้วยบริการโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความพิเศษนั้นยังคงมีต้นทุนที่สูงอยู่ แต่การกำหนดขอบเขตคำสั่งสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้แบบเดียวกับแอปพลิเคชันสั่งอาหารในยุคปัจจุบันที่มีให้เลือกส่วนเสริมต่าง ๆ ที่ต้องการใส่ลงไป หรือการกรอกแบบฟอร์มพร้อมอัพโหลดไฟล์อ้างอิงที่กำหนดเป็นต้น เมื่อมีการกำหนดเงื่อนไขผลิตอย่างชัดเจนการรับออเดอร์พิเศษจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขและเตรียมการรองรับเอาไว้แล้ว

นอกจากนี้การใช้งานเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่อย่าง 3D Printing ก็สามารถสนับสนุนการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนแบบ Made to Order ได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีของการผลิตชิ้นงานขนาดเล็กที่มีปริมาณไม่มากนักอาจทำได้ง่ายดาย แต่ในส่วนของชิ้นงานที่ต้องมีการประกอบหรือมีทักษะด้านวิศวกรรมเป็นส่วนร่วมสามารถกลายเป็นจุดแข็งสำหรับผู้ให้บริการผลิตสินค้าได้ด้วยเช่นกัน

Resources – Circulation Industry 

อุตสาหกรรมหมุนเวียน หรือ Circulation Industry เป็นการใช้แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมากและในขณะเดียวกันก็มีความสูญเปล่าเกิดขึ้นมากตามมาด้วยเช่นกัน หลักสำคัญในแนวคิด คือ การใช้ทรัพยากรทั้งหมดให้เกิดคุณค่าสูงสุดโดยการนำทรัพยากรทั้งหมดกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้งในกระบวนการต่าง ๆ อาทิ ของเสีย เศษวัสดุ หรือ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ อุตสาหกรรมหมุนเวียนจะเป็นเสาหลักสำคัญในการแปรรูปความสูญเปล่าเหล่านั้นให้กลับมาเป็นทรัพยากรในซัพพลายเชนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปของเสีย ของเหลือใช้ สารเคมี หรืออื่นใดก็ตาม ทำให้อุตสาหกรรมหมุนเวียนถูกวางบทบาทสำคัญไว้ในอุตสาหกรรมระดับพื้นฐานซึ่งส่งผลต่อทั้งโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรม

หลายคนอาจคิดว่าการเปลี่ยนความสูญเสียให้เป็นพลังงาน หรือการรีไซเคิลต่าง ๆ ที่แต่ละโรงงานลงมือทำกันเองจะมีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินการด้านนี้นั้นค่อนข้างสูงทั้งยังไม่สามารถดำเนินการแปรรูปกลับเข้าสู่ระบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การแยกการดำเนินการส่วนนี้ออกมาตั้งเป็นโรงงานสำหรับแปรรูปทรัพยากรกลับเข้าสู่ซัพพลายเชนจึงเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งในด้านการดำเนินงานและปริมาณที่สามารถแปรรูปได้

ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมที่สร้างการหมุนเวียนทรัพยากรจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมหลักที่เราคุ้นชิน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นพลังงาน การบำบัดของเสีย การรีไซเคิล การอัพไซเคิลอุปกรณ์ต่าง ๆ แน่นอนว่าถึงแม้จะดำเนินธุรกิจโรงงานแต่ก็ไม่จำเป็นต้องดูแลทุกส่วนเองทั้งหมด

ในยุคอุตสาหกรรมใหม่นี้อุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ จะมีส่วนอย่างมากในซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นการป้อนพลังงานกลับไปให้ระบบ การแปรรูปวัตถุดิบจากของเหลือในโรงงานหรือขยะแต่ละประเภท ซึ่งกระบวนการทำงานเหล่านี้จะต้องมีความรัดกุมและสร้างความคุ้มค่าได้มากยิ่งขึ้น

การทำงานในอุตสาหกรรมที่สร้างการหมุนเวียนทรัพยากรกลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับการยกแผงโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งหมด มันอาจเป็นเรื่องยากที่เราจะพบโรงงานสักแห่งที่ไม่ปล่อยของเสียออกมาเลย (ไม่มีแม้แต่ก๊าซ ละออง น้ำเสียหรือของเสียต่าง ๆ ) แต่ในอนาคตโรงงานทั้งหลายจะต้องกลายเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ซึ่งหากมีของเสียที่ไม่อาจแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้ภายในโรงงาน กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนจะกลายเป็นพื้นที่รองรับการแปรรูปเหล่านั้น กลายเป็นวัตถุดิบวนเวียนกันเป็นห่วงโซ่ในระบบ โรงงานหนึ่ง ๆ อาจทำธุรกิจแค่หนึ่งเรื่อง เช่น แปรรูปสารเคมีจากน้ำเสียคัดแยกเป็นน้ำบริสุทธิ์และสารเคมี ซึ่งในขั้นตอนกระบวนการอาจเกิดก๊าซหรือผลึกที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เอง วัตถุดิบเหลือเหล่านั้นต้องส่งต่อไปยังโรงงานที่รับแปรรูปก๊าซนั้น ๆ หรือผลึกให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ หมุนเวียนทรัพยากรในระบบ

แม้ว่าการทำโรงงานในลักษณะของอุตสาหกรรมที่สร้างทรัพยากรหมุนเวียนเหล่านี้อาจมีมานานแล้ว แต่ด้วยความคุ้มค่าที่มียังน้อยและมีต้นทุนที่สูง ทำให้อุตสาหกรรมบางกลุ่มที่ควรจะเป็นเสาหลักให้กับอีกหลากหลายอุตสาหกรรมไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ด้วยตัวเอง เช่น โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะระบบปิดที่สามารถย่อยสลายทรัพยากรที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (ในช่วงเวลาปัจจุบัน) ให้กลับมาเป็นพลังงานในขณะที่ควันที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาทำความสะอาดและแปรรูปเป็นก๊าซเพื่อใช้งานกับเครื่องปั่นไฟ สำหรับขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย ทั้งสร้างพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม และใช้ทรัพยากรทั้งหมดในกระบวนการได้อย่างคุ้มค่าทั้งยังสนับสนุนพลังงานให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงตัวเองด้วยในเวลาเดียวกัน

คำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่อาจเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์และมุมมองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แน่นอนว่าเทคโนโลยีแปรรูปมีราคาแพงและจะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ การร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กรใด ๆ เพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาเป็นเหมือนทางเลือกบังคับสำหรับผู้ที่จะต้องเติบโตในธุรกิจกลุ่มนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มในวันนี้แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะมีวันข้างหน้า?

“In the private sector, there is always innovation. There’s always change. There’s always improving productivity, and if you’re not leading that, you’ll be passed and ultimately go out of business. So there’s an urgency to constantly update and renew and to rethink your enterprise.”

“ในภาคเอกชนนั้นจะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้มีการยกระดับ Productivity และหากคุณไม่ได้เป็นผู้นำในกิจกรรมเหล่านี้คุณจะถูกแซงและต้องเลิกทำธุรกิจนั้นไปเสีย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการอัพเดท มีการยกเครื่องและกลับมานั่งทบทวนองค์กรของคุณอย่างสม่ำเสมอ”Mitt Romney

Redo อะไรที่ดีทำซ้ำ ๆ ให้ดีขึ้น

ทุกโรงงานทุกการผลิตมีกิจกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเน้นย้ำไปที่ความชำนาญหรือจุดแข็งที่มีนอกจากจะทำให้ธุรกิจมีจุดเด่น สร้างความแตกต่างได้ในการแข่งขันแล้ว ยังทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้อีกด้วย ดังนั้นการให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญ การยกระดับสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนได้เช่นกัน

แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาหรือจุดอ่อนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่การเสียเวลาไปกับการทุ่มเทผลักดันจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการทำงานเสมอไป แต่การทำซ้ำ ๆ ในสิ่งที่เชี่ยวชาญนั้นสามารถเห็นผลได้ชัดเจนและรวดเร็วกว่ามากนัก

ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีจำนวนมากในโรงงานและองค์กรต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับการ Work Smart (ทำงานอย่างฉลาด) มากกว่าการ Work Hard (ทำงานหนัก) ที่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งการทำงานอย่างฉลาดนั้นจำเป็นต้องมีทั้งทักษะความรู้ สภาพแวดล้อมและเครื่องมือที่เหมาะสม หนึ่งในวิธีการที่ง่ายและเห็นผลได้ชัดเจน คือ การสำรวจและเพิ่มความเข้มข้นให้กับค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณค่า

Corporate Culture

วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนโครงสร้างหลักของการทำงาน ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความรักในองค์กรอีกด้วย แต่ละองค์กรมีจุดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมที่เห็นได้ชัด เช่น กิจกรรมแยกขยะ การประหยัดทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือไฟฟ้า ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่สามารถลดต้นทุนและต่อยอดสำหรับโครงสร้างทรัพยากรได้

กิจกรรมอนุรักษ์และรณรงค์เหล่านี้หากพนักงานมีความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่สะท้อนมาถึงแต่ละคุคคลได้จะยิ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมได้ดียิ่งขึ้น เช่น การประหยัดต้นทุนทรัพยากรต่าง ๆ สามารถส่งผลต่อต้นทุนบริษัทและในท้ายที่สุดก็จะเป็นส่วนหนึ่งของโบนัสที่บริษัทสามารถจ่ายให้กับลูกจ้างได้เป็นต้น การประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมให้เห็นถึงนโยบายเดิมที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันสามารถต่อยอดได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมาก

หากมองให้ไกลมองให้ลึกลงไป วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นจุดเด่นยังสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับบริษัทในภาพรวมได้อีกเช่นกัน ยกตัวอย่าง บริษัทน้ำมัน P ที่มีการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนด้านการอบรม การเรียนรู้ ผลักดันการวิจัยและพัฒนาอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และการเติบโตของบริษัทอักด้วย การที่จะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้เฉิดฉายออกมาได้ พนักงานทุกคนจำเป็นต้องมีความเข้าใจและมีสำนึกไปในทิศทางเดียวกัน ในท้ายที่สุดแนวคิดและค่านิยมเหล่านั้นจะสะท้อนออกมาผ่านตัวตนของพนักงานทุกคน สร้างความยั่งยืนในการทำงานที่แข็งแกร่งในทิศทางที่ชัดเจน การทำให้ความสำคัญกับจุดเด่น ทิศทางและค่านิยมของวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ และทำซ้ำ ๆ จนเกิดความเชื่อมั่นและนำมาซึ่งการเติบโตอย่างยั่งยืน

Enhance Lean Methodology

หนึ่งในวิธีลดความสูญเสียที่นิยมใช้กันมาอย่างยาวนาน คือ เทคนิค Lean ต่าง ๆ การลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจากระบบจากโครงสร้างนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างความแตกต่างในทางธุรกิจได้ ในการทำงานร่วมกับ Blue Collar แนวคิดต่าง ๆ พวกนี้อาจเป็นเพียงแค่คำสั่งนายจ้าง ซึ่งทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงความผิวเผินซึ่งส่งผลต่อทิศทางและการทำงานในระยะยาวได้ การทำให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงการมีส่วนร่วม และดำเนินการตามแนวทาง Lean สามารถสร้างความแตกต่างให้กับการทำงานได้อย่างไร

แนวทาง Lean นั้นนอกจากจะลดความสูญเสียในกระบวนการต่าง ๆ แล้วในทางกลับกันยังเป็นเครื่องมือที่สามารถลำดับความสำคัญและการคัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกได้ด้วย เมื่อทุกหน่วยในองค์กรมีความเข้าใจและสามารถใช้ Lean ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การต่อยอดการทำงาน ลงทุน รวมถึงการขยับขยายต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงด้วยรากฐานความคิดที่มีระบบหนักแน่น การส่งเสริมให้แรงงานเข้าใจถึง Lean และมองเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นประโยชน์ในระยะยาว ในกรณีนี้การใช้งาน Lean เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจในกระบวนการเดิมที่มากขึ้นจึงเป็นกุญแจหลักในการสร้างความแตกต่างภายใต้การทำงานรูปแบบเดิมเสียมากกว่า

Technology

เมื่อมีรากฐานหรือระบบโครงสร้างที่แข็งแรงปราศจากความสูญเสียแล้ว การต่อยอดด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จะสามารถเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน เทคโนโลยียุค 4.0 และ Digitalization ทั้งหลายทำให้เราสามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ ได้แบบ Real-time และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที สิ่งสำคัญที่สุด คือ ข้อมูลทั้งหมดจะสร้าง Transparency หรือความโปร่งใสของระบบ ทำให้สามารถบริหารจัดการกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล สร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนได้

ปัจจุบันการใช้งานเทคโนโลยีในการทำงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกธุรกิจ แต่หลายครั้งเราอาจพบว่าองค์กรยังไม่ได้ใช้ศักยภาพเหล่านั้นอย่างเต็มความสามารถซึ่งกลายเป็นช่องว่างและโอกาสที่สามารถเติมเต็มศักยภาพที่มี เช่น การใช้เซนเซอร์เพื่อปรับอุณหภูมิอัตโนมัติ การทำงานผ่าน IoT ซึ่งสามารถลดต้นทุนการใช้พลังงานในการเดินทางเข้าสำนักงงานและอาคารได้ การใช้ Cloud ในการจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ หรือการใช้หุ่นยนต์ในการผลิตที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพแรงงาน

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าเทคโนโลยีทั้งหลายที่ใช้งานกันอยู่นั้นแท้จริงแล้วกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้งานไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งเดิมที่มนุษย์เคยทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น ไม่ว่างานประกอบชิ้นส่วน ขึ้นรูปวัสดุ การตรวจสอบคุณภาพ งานด้านเอกสารต่าง ๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้งานมักจะเป็นกลุ่มงานที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานที่เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการทำในสิ่งเดิมแต่ทำอย่างชาญฉลาดมากขึ้น ลดความสูญเสียและความผิดพลาดลง พร้อมทั้งยังสามารถบันทึก Log กิจกรรมเพื่อสร้างข้อมูลในการต่อยอดได้อีกด้วย การลงทุนกับเทคโนโลยีจึงเป็นเหมือนการยกระดับกระบวนการที่ดำเนินการอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตามการใช้งานเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในการใช้งานไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อสามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ชนิดหนึ่งทำให้เปิดโอกาสในการต่อยอดเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน การลงทุนด้านเทคโนโลยีจึงควรดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มทักษะของแรงงานไปพร้อมกัน

Renewable Resources

การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนนั้นหมายรวมไปถึงพลังงานและวัตถุดิบด้วย หลายโรงงานได้มีการปรับใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนปัจจุบันเกิดขึ้นเฉพาะในบางอุตสาหกรรม และสามารถใช้งานได้กับบางวัตถุดิบเท่านั้น ทำให้ยังเกิดของเสียและมีการใช้งานทรัพยากรใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจำนวนมาก

ปัจจุบันกระบวนการแปรรูปทรัพยากรนั้นถือว่ามีต้นทุนที่สูง และการใช้งานไม่สามารถครอบคลุมได้กับของเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสีย ของเหลือ การรั่วไหลของพลังงาน ความร้อน ในขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้การแปรรูปและอนุรักษ์ทรัพยากรด้วยกรรมวิธีนี้เป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อย แต่ในระยะยาวนวัตกรรมเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่คุณอยากจะให้มันเกิดขึ้นในเวลาที่คุณไม่พร้อมและคับขัน หรืออยากจะดำเนินการปรับปรุงการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะขัดสนเหล่านั้นเกิดขึ้นจะดีกว่าไหม

แม้ปัจจุบันการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำจะเกิดขึ้นแล้วกับโรงงานบางกลุ่ม แต่การผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดการใช้งานจริงในวงกว้างจะสามารถลดการใช้งานทรัพยากรใหม่ลงไปได้ไม่น้อย หากจะคุยกันถึงเรื่องทรัพยากรหมุนเวียนที่ใกล้ตัวสำหรับงานอุตสาหกรรม ลองพิจารณาดูถึงกลุ่มสารเคมีหล่อเย็นที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการกรองและนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างง่ายดายด้วยเครื่องจักรที่มีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ในกรณีของโรงงานที่มีการใช้สารเคมีกลุ่มนี้จำนวนมากการหมุนเวียนกลับมาใช้สามารถลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว 

การให้ความสำคัญและขยายผลที่เกิดจากการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำหรับธุรกิจในยุคที่ทรัพยากรเกิดความขาดแคลนและต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดการคัดแยกขยะหรือวัสดุเหลือใช้ก็ยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถต่อยอดได้ในอนาคตหากมีการบังคับใช้ที่เข้มงวด

“There’s always instances where you want those throws back, but the worst part about it is that I can’t redo it.”

“มันจะมีอะไรบางอย่างที่คุณอยากย้อนกลับไปเสมอ แต่ส่วนที่แย่ที่สุดของเรื่องนี้คือฉันกลับไปทำอะไรกับมันไม่ได้อีกแล้ว”Baker Mayfield

Revolution ปฏิวัติล้างคราบความความเคยชิน

การปฏิวัติที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ ไม่ใช่ Industrie 4.0 แต่หมายถึงการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงความเชื่อในการทำธุรกิจ แน่นอนว่าเราจะไม่ได้มาล้มล้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หรือหนังสือการตลาดใด ๆ แต่อยากให้ทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม สร้างดีมานด์ใหม่ที่ส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อโลกใบนี้

การสร้างดีมานด์ใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเรามองเห็นโครงสร้างและรากฐานความต้องการที่แท้จริง การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องยากไปเสียทีเดียว จากแนวคิดทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของมาสโลว์ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • การเติมเต็มตัวตน
  • ความต้องการทางจิตวิทยา
  • ความต้องการพื้นฐาน

การสร้างค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านธุรกิจนั้นเปรียบเสมือนแนวคิดที่อยู่บนยอดของทฤษฎีที่สะท้อนภาพย้อนลงมาถึงรากฐานของบันได้ทั้ง 5 ขั้นได้ ในขณะที่บันไดขั้นต้นที่เป็นความต้องการพื้นฐานนั้นมีขอบเขตการรับรู้เพื่อการอยู่รอดเป็นหลัก ยากที่จะเข้าใจไปได้ไกลมากไปกว่าสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า การอยู่รอด ณ ขณะปัจจุบันจึงสำคัญที่สุด

ถามว่าแล้วมันสำคัญอย่างไร? ถ้าให้มองใกล้ตัวเสียหน่อยก็อยากหยิบยกเรื่องถุงพลาสติกขึ้นมาครับ สิ่งเหล่านี้สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนต่ำและผลลัพธ์ของมันก็อย่างที่เห็น ๆ คือ การย่อยสลายได้ยากและมีปริมาณที่มหาศาล แรกเริ่มเดิมที ถุงพลาสติกเกิดขึ้นมาเพื่อทดแทนถุงกระดาษที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่า ในทางทฤษฎีแล้วถุงพลาสติกถูกคาดหวังว่าให้มีการใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง แต่ในปัจจุบันกลับเป็นการใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง   ผู้คนที่ใช้งานวัตถุดิบเหล่านี้ส่วนมากเพราะมีราคาถูก และสร้างความสะดวกสบาย จะมีหนุ่มสาวโรงงานสักกี่คนที่มีปิ่นโตถือไปมาขึ้นรถสาธารณะแบกไปกลับล่ะครับ Mass Production อย่างถุงพลาสติกสร้างความสะดวกสบายในความต้องการพื้นฐานของชีวิตอย่างอาหารได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดการใช้งานอย่างมหาศาลในชีวิตประจำวันซึ่งตรงนี้แหละครับเป็นประเด็นที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่ถูกผลิตขึ้นมาอย่างมหาศาลแต่มีปัญหาในการย่อยสลาย หรือใช้ทรัพยากรในการผลิต-แปรรูปจำนวนมากควรมีทางเลือกใหม่ 

หลายคนอาจบอกว่าให้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค แต่เอาเข้าจริงผู้บริโภคมีเงินเท่าเดิมและสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เงินหายากขึ้นอีกด้วย มันจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีทรัพยกรอยู่อย่างจำกัด แต่หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มต้นที่ภาคการผลิตและภาครัฐจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยมีผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะผู้บริโภค ผู้ผลิต รัฐบาล หรือสิ่งแวดล้อม

โครงสร้างใหม่นี้ คือ การออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานที่กำหนดให้มีการดำเนินการจัดเก็บ คัดแยก นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างเคร่งครัด เช่น ในภาคการผลิตต้องมีการกำหนดควบคุมวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิตที่ต้องสามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ได้มากกว่า 70% ในระยะแรกและ 100% สำหรับในระยะยาว ในภาครัฐบาลออกข้อบังคับกฎหมายการแยกขยะที่มีบทลงโทษชัดเจนนอกเหนือจากตัวเงิน เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี เงินกู้ เทคโนโลยี องค์ความรู้ ไปจนถึงการบังคับใช้มาตรฐานการผลิตที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ส่วนภาคประชาชนหรือผู้บริโภคเองต้องมีหน้าที่ในการคัดแยกและจัดเตรียมขยะให้เหมาะสมกับการนำกลับมาแปรรูปใช้อีกครั้ง

เมื่อประชากรส่วนใหญ่นั้นยังไม่สามารถก้าวข้ามระดับความต้องการพื้นฐานขึ้นมาได้โซลูชันในระยะสั้นและระยะกลางจึงควรเป็นการสร้างดีมานด์และระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเหล่านั้น แม้ว่าการสร้างเสริมให้เกิดการตระหนักและเข้าใจจะดีกว่าในระยะยาวแต่เมื่อปากแห้ง ท้องหิว สิ่งอื่นใดก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบใหม่ สร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดสิ่งทดแทนที่มีศักยภาพดีกว่า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อะไหล่แปลงยานยนต์สันดาปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งกลับโรงงานเพื่อนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งการนำขยะติดเชื้อมาสร้างมูลค่าใหม่ ๆ ก็ตามแต่ ภาครัฐมีหน้าที่สร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ ให้กับภาคเศรษฐกิจ และภาคประชาชนด้วยวิสัยทัศน์ แนวทาง รวมถึงข้อมูลที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ไม่ใช่พ่อค้าแป้งที่ขาดความรู้ ความสามารถมานั่งบริหารกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ถึงเวลาต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมานั่งเก้าอี้ดูแลในแต่ละสาขา และที่สำคัญที่สุดรัฐต้องสร้างความปลอดภัยเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของประชาชนให้ได้ เมื่อท้องอิ่ม บันไดขั้นแรกจาก 5 ขั้นสำเร็จประตูสู่บันไดขั้นถัดไปจะเปิดออกอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการเองต้องร่วมมือกันสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุนที่สามารถทำงานร่วมกับธุรกิจของตัวเองขึ้นมาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์สำหรับแรงงาน เช่น การรณรงค์ให้ตระหนักถึงภัยจากสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อตัวเองในทุกวันนี้ การก้าวข้ามความคิดที่ว่าการลงมือทำเพียงคนเดียวไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง  ซึ่งแท้จริงแล้วประกายไฟที่ถูกจุดแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความสว่างไสวและจุดไฟดวงอื่น ๆ ต่อได้เช่นกัน และในภาคประชาชนเองการใช้ทรัพยากรในปริมาณที่เหมาะสมพอดีกับตัวเองถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำได้ไม่ยากจนเกินไป

“A revolution is impossible without a revolutionary situation; furthermore, not every revolutionary situation leads to revolution.”

“การปฏิวัติไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไร้สถานการณ์แห่งการปฏิวัติ ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์แห่งการปฏิวัติไม่ได้นำไปสู่การปฏิวัติเสมอไป”Vladimir Lenin

Go Together, Grow Stronger

การทำธุรกิจในจังหวะนี้หากใครยังมองเรื่องการแข่งขันเป็นสำคัญอาจจะถูกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงซัดหายไปในเกลียวคลื่นก็เป็นได้ อย่างที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้แล้วว่าการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่สามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่ยั่งยืนได้เช่นกัน การหาพันธมิตรทางธุรกิจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเสริมศักยภาพในการฝ่าฟันวิกฤตยุคใหม่ไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง

สิ่งไหนที่คุณไม่ถนัด ไม่มีความจำเป็นต้องทำเองก็หาพาร์ทเนอร์มาช่วยกัน ถ้าคุณไม่เก่งเรื่องการบำบัดของเสียก็หาบริษัทที่จัดการเรื่องนี้โดยตรงมาดูแลให้ ถ้าคุณไม่เก่งเรื่องการจัดการระบบ IT สำหรับโรงงานก็ไปจับมือกับ SI หรือหากคุณไม่สันทัดในเรื่องการตลาดสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อคุณสามารถสร้างโครงข่ายของคุณเองได้สำเร็จ ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเก่งและชำนาญ การเติบโตของธุรกิจจะมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าการแก้จุดอ่อนเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่คุณคิดบ้างไหมครับว่าการแก้จุดอ่อนนั้นแท้จริงแล้วทำแค่อุดไม่ให้ทรัพยากรรั่วไหลออกก็เพียงพอ เอาเวลาไปเสริมจุดแข็ง ทำสิ่งที่ตัวเองเก่งจะสามารถสร้าง Productivity ได้ดีกว่า ยิ่งพยายามผิดทางเท่าไหร่ เมื่อก้มลงมอง KPI ในด้านนั้นอาจจะสร้างความถดถอยมากกว่าความสำเร็จ 

อย่าลืมนะครับว่าเมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้วสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวในทันทีทันใด และแน่นอนว่าเมื่อมีการพยายามเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น นอกจาก Over Supply แล้วฝุ่นควันต่าง ๆ ก็จะกลับมาอีกครั้งและอาจจะแย่ลงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ และปัญหาต่าง ๆ จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนวิกฤตครั้งนี้จะผ่านพ้นไปผมอยากชวนให้ทุกคนมาคิดพิจารณาให้ดีครับว่าเราจะยืนขึ้นใหม่อีกครั้งกันอีท่าไหน แล้วจะทำอย่างไรเราถึงจะทำธุรกิจไปด้วยในขณะที่ยังส่งมอบโลกใบนี้ให้กับคนที่เรารักไปด้วยได้ ทำอย่างไรความมั่นคงที่สำคัญกว่าความมั่นคงทางการเงินจะถูกดูแลรักษาได้อย่างที่ควรจะเป็น

อ้างอิง:

Bbc.com/thai/international-52068333
Npr.org/2019/09/23/763452863/transcript-greta-thunbergs-speech-at-the-u-n-climate-action-summit
Weforum.org/agenda/2020/03/covid-19-climate-change/
Aljazeera.com/indepth/opinion/coronavirus-outbreak-part-climate-change-emergency-200325135058077.html
Autoblog.com/2019/12/19/tesla-model-3-speed-boost/
Global.toyota/en/newsroom/corporate/30975344.html
Deqp.go.th/new/สารสนเทศสิ่งแวดล้อม/คลังความรู้/อนุสัญญา/
Public.wmo.int/en/media/press-release/multi-agency-report-highlights-increasing-signs-and-impacts-of-climate-change
News.un.org/en/story/2020/03/1059061
Climate.nasa.gov
Excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdy3/~edisp/webportal16200067047.pdf
Forbes.com/sites/ryanrobinson/2019/04/08/business-ideas-greater-good/#14ca6c3f3f4c
Weforum.org/agenda/2018/11/can-entrepreneurship-serve-the-greater-good/
Program.npru.ac.th/pa/pdf/Theory_of_Motivation.pdf]
Simplypsychology.org/maslow.html
Independent.co.uk/environment/plastic-bags-pollution-paper-cotton-tote-bags-environment-a9159731.html
QIUYING WANG, DEHAI ZHAO, Research on the Influence of the Circulation Industry and Economic Growth Based on Grey Relational Analysis, Atlantis Press, 2017
www.gov.cn/premier/news/2015/08/19/content_281475171439937.htm
Rocío González-Sánchez, Davide Settembre-Blundo, Anna Maria Ferrari, Fernando E. García-Muiña, Main Dimensions in the Building of the Circular Supply Chain: A Literature Review, MDPI, 2020
Sankyo-asia.com/content–4-1612-33323-1.html

บทความที่น่าสนใจ:
10 เทคโนโลยีโลกต้องจำสำหรับทศวรรษที่ผ่านมา
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924