Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

หรือการ Reskill จะไม่ได้รับประกันการจ้างงานเสมอไป?

เรื่องของการ Reskill และ Upskill เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ภาพของตลาดแรงงานก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลายสายงานเกิดปัญหาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นสายงานด้านการบริการต่าง ๆ ตลอดจนการทำงานที่อยู่ในพื้นที่แออัดหรือพบเจอผู้คนจำนวนมากอย่างสายการผลิตก็เช่นกัน การ Reskill เพื่อย้ายสายงานจึงกลายเป็นความสำคัญที่เร่งด่วนในการเอาตัวรอดสำหรับการเลี้ยงชีพ แต่แท้ที่จริงแล้วการ Reskill ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการแก้ปัญหาตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นได้ในภาพรวม

หลายปีมานี้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานทั่วโลกต่างมีความพยายามในการ Reskill เพื่อไปอยู่ในสายงานที่ถูกจับตามองว่ามีความต้องการในตลาดงาน เพื่ออัตราค่าตอบแทนที่มากกว่า หรือเพื่อเสริมในด้านที่องค์กรกำลังขาดแคลน และเมื่อการระบาดใหญ่ของ COVID-19 มาถึง ภาพของการ Reskill จึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในประเทศที่ต้องมีการกักตัวหรือปิดเมืองอย่างเช่นสหราชอาณาจักร

จากข้อมูลที่ BBC ได้นำเสนอมานั้นพบว่าหนึ่งในทักษะที่ผู้คนมองว่าเป็นดาวเด่นอยู่กลางเวทีในยุคปัจจุบัน คือ งานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ทุกคนต่างลงความเห็นว่าน่าจะไปได้ดีในตลาดการจ้างงาน รวมถึงการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความสนใจและรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในการแก้เกมส์จากนายกรัฐมนตรี Boris Johnson แห่งสหราชอาณาจักร คือ การประกาศแผนที่จะ Upskill แรงงานในรูปแบบของหลักสูตรฟรีจากวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกิลทางด้านจิทิทัล ค่ายฝึก หรือการฝึกงานต่าง ๆ เพื่อ ‘กลับมาให้ดีกว่าเก่าหลัง Coronavirus’ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่สอดคล้องไปกับทิศทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแรงงานจำนวนมากก็คิดเช่นเดียวกัน แรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้าง การพักงาน หรือการตัดลดเงินเดือนเพื่อประคองธุรกิจ บางรายที่ถูกเลิกจ้างก็ต้องรีบปรับตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่มาถึง (ซึ่งถือว่ายังพอโชคดีอยู่บ้างที่รัฐยังมีสวัสดิการและนโยบายบางส่วนรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น) นั่นทำให้แรงงานจำนวนมากพุ่งตรงมาที่ธุรกิจดิจิทัล

“ดูเหมือนไม่ช้าก็เร็วทุกคนต้องกระโดดเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้”Baltasar Romeo ,ผู้จัดการด้านการบริการจองที่พัก

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองว่ามันเป็นประเด็นเล็ก ๆ สำหรับการฝึกฝนคนจำนวนเป็นล้านคนสำหรับทักษะใหม่ ๆ ที่สุดท้ายแล้วมันจะออกมาได้ไม่ดีพอสำหรับงานจริง ๆ “มันอาจจะเวิร์คก็ได้สำหรับบางคน แต่มันไม่ได้ออกมาดีสำหรับนโยบายทางเศรษฐกิจเท่าไหร่” Gordon Lafer นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย Oregon ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในแนวทางแก้ปัญหาที่เหมือนหว่านแหไปเรื่อย ๆ โดยไม่แก้ที่ปัญหาหลัก

“ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ผุดขึ้นมาการฝึกฝนทักษะแรงงานก็มักจะถูกเสนอขึ้นมาด้วยเสมอ และมันไม่เคยเวิร์คเลย”Gordon Lafer นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย Oregon

ยกตัวอย่างในกรณีของ Claire Winterbottom จาก Leeds ที่ได้ลองเรียนหลักสูตร 4 เดือนซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย เธอลงมือทำด้วยคำบอกเล่าจากกลุ่มเพื่อนที่มองเห็นว่าสายงานด้านเทคโนโลยีน่าจะเป็นงานที่มีความมั่นคงและมีความต้องการอย่างมากในเวลาปัจจุบัน เมื่อหลักสูตรจบลงผ่านไป 7 เดือน มีเพียง 4 จาก 16 คนในหลักสูตรเท่านั้นที่หางานได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้คนต่างคิดแบบเดียวกันเรียนเขียนโค้ดเหมือนกัน จึงเกิดเป็นกลุ่มคนที่มีทักษะในด้านนี้จำนวนมากและยิ่งไปกว่านี้คือระดับทักษะที่แตกต่างกันอีกมากโขด้วยเช่นกัน ในขณะที่ตลาดแรงงานมีพื้นที่อยู่ไม่มากนัก

“แนวคิดที่ว่าตำแหน่งงานอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงล่อแหลมของแรงงานทำให้เกิดการดิ้นรนฝึกฝนซึ่งดูแล้วออกจะเป็นตรรกะวิบัติ” นับเป็นมุมมองที่น่าสนใจจากมุมมองของ Gordon Lafer ผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะการณ์การฝึกอบรมทักษะในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปี 1980 ผู้คนต่างไม่มีงานเพราะการระบาดครั้งใหญ่ได้ปิดกั้นเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมให้สะบั้นลงมิใช่การขาดแคลนทักษะ “หากการฝึกอบรมทักษะนั้นไม่เคยได้ผลอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ไม่ต่างกัน”

แม้กระทั่งก่อนเกิดการระบาด เรื่องเล่าเกี่ยวกับการ Reskill ยังคงมีรากฐานที่สั่นคลอน จากสถานการณ์โลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเสริมกำลังกันกัดกร่อนรายได้ของแรงงานทักษะต่ำ (Blue Collar) และงานที่เป็นกิจวัตรทั่วไปของสำนักงาน ซึ่งภาครัฐได้เดินหน้าสนับสนุนให้ระบบอัตโนมัติกลายเป็นโซลูชันในการแก้ปัญหาด้วยซ้ำ

ตรรกะในเรื่องนี้ คือ การที่อุตสาหกรรมอย่างเช่นภาคการผลิตนั้นเกิดภาวะถดถอยและอุตสาหกรรมอย่าง IT กลับเติบโตอย่างดุดัน จึงเกิดเป็นช่องว่างระหว่างแรงงานที่มีทักษะและกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวข้องกับ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) การสอนแรงงานในทักษะที่เป็นที่ต้องการ เช่น โค้ดดิ้ง จึงเป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว การก้าวมาสนองความต้องการของอุตสาหกรรมกับการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกทดแทนให้กลับมามีโอกาสอีกครั้ง

แต่หลักฐานนี้ไม่ได้สนับสนุนในประเด็นของปัญหา ‘ช่องว่างทักษะ’ แต่อย่างใด

Heidi Shierholz อดีตหัวหน้าด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ชี้ให้เห็นว่าสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของปัญหา คือ อาชีพที่มีส่วนผสมระหว่างอัตราว่างงานที่ต่ำและมีการเติบโตรายได้ที่แข็งแรง สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันสำหรับการมีทักษะซึ่งอยู่ในแสงสปอร์ตไลท์ของเวที แต่หลักฐานเหล่านี้ก็ยังไม่หนักแน่นพอ ข้อมูลในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่าอาชีพในด้านกฎหมายนั้นไล่ตีตื้นขึ้นมา เมื่อได้พูดคุยกับนายจ้างก็จะพบว่าการจ้างงานนั้นอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากค่าตอบแทนที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงนั้นไม่ได้ตรงหรือถูกต้องเหมาะสมสำหรับทักษะที่กำลังเฟ้นหาอยู่

ประเด็นสำคัญที่ต้องมองให้ขาด คือ การที่ในสังคมมีทักษะบางอย่างที่มากเกินความต้องการ Hal Salzman นักสังคมวิทยาจาก Rutgers University ได้แสดงให้เห็นว่ามีเพียง 60 – 70% ของประชากรสหรัฐฯ ที่จบการศึกษาด้านวิศวะและคอมพิวเตอร์นั้นได้งานในกลุ่ม STEM (เอกสารงานวิจัยปี 2018) ลดลงเหลือ 10 – 50% สำหรับผู้เรียน Life Sciences, Physical Sciences และคณิตศาสตร์ จากการศึกษาของสำนักงงานสถิติแห่งชาติ (อังกฤษ) พบว่าในปีที่ผ่านมา (2019) มีการบันทึกไว้ว่าสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้มีปัญหาด้านการขาดแคลนทักษะ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า 16% ของแรงงานในปี 2017 ยังมีระดับการศึกษาที่สูงกว่างานที่ทำ ซึ่งคิดเป็น 31% ของผู้สำเร็จการศึกษา

ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหาสำหรับการหาอาชีพในปัจจุบันที่เกิดขึ้น มาจากการสนับสนุนให้เกิดการ Retrain ทักษะในส่วนที่ส่งผลต่อภาพรวมทั้งหมดเพียงเล็กน้อย หลายองค์กรได้เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติแทนที่แรงงานมากกว่าการฝึกอบรม

แล้วทำไมผู้วางนโยบายและผู้นำธุรกิจต่างยังคงมุ่งเน้นไปที่การ Reskill?

ระลึกไว้เสมอว่าคนเรานั้นชอบการแก้ปัญหาที่ง่าย หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ยิ่งดี แน่นอนมันเป็นเรื่องของความสบายใจในการแก้ปัญหาแต่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่นั้นก็สุดแท้แล้วแต่ ในกรณีนี้ Gordon Lafer คิดว่ามันเป็นทางออกที่ง่ายกว่าหากเป็นการเอาความผิดไปไว้ที่แรงงานในแง่มุมของการจ้างงาน การที่จะบอกว่ามันเป็นความล้มเหลวเพราะแรงงานขาดทักษะหรือมีทักษะที่ไม่ดีพอมันสะดวกกว่าที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเชิงลึกของเศรษฐกิจ ทางเลือกที่ดีกว่าอาจเป็นการผลักดันให้เกิดการจ่ายค่าตอบแทนที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานจำนวนมากแต่มีผลตอบแทนที่น้อยนิด เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการศึกษา

แต่ในมุมมองของ Marcela Escobari จาก Brookings Institution นั้น การให้ความสำคัญกับการ Reskill เป็นเหมือนทฤษฎีสมคบคิดที่มีต่อแรงงาน มันเป็นเหมือนการเบี่ยงประเด็นให้เอาเรื่องที่สำคัญน้อยกว่ามาปกปิดเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ควรได้ ทั้งยังเป็นเหมือนกับการกระเสือกกระสนเกินจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งโซลูชันที่เหมือนกับยาครอบจักรวาล กินปุ๊ปหายปั๊ปทุกโรค ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความคลุมเครือของทักษะที่มีกรณีมากมายในการปิดกั้นแรงงานให้ติดอยู่ในวังวนเป็นทางตันของอาชีพ

“มันจะมีสถานที่ที่ทักษะเป็นสิ่งสำคัญอย่างแน่นอน แต่ก็มีเหตุผลอีกมากมายที่ว่าทำไมผู้คนถึงยังติดอยู่ในวังวนของงานที่มีรายได้ต่ำที่มองไม่เห็นหนทางขยับขยายใด ๆ “

จากการศึกษาการเปลี่ยนงานในโลกจริงจึงได้พบว่าส่วนใหญ่แล้ว Retraining นั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการเสียส่วนใหญ่ มันเป็นการเลือกอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นความเข้ากันได้กับทักษะเดิมที่มีอยู่หรือมีความต้องการแรงงานที่มีสูงในกลุ่มงานเหล่านั้นก็ตามแต่

สิ่งสำคัญทอีกประเด็นหนึ่งในการโยกย้ายเปลี่ยนถ่าย คือ ผู้ออกนโยบายควรให้ความสำคัญกับกระบวนการย้ายงานที่ม่ายยิ่งขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างผลประโยชน์ที่ติดตัวไปด้วยแม้จะเกิดการโยกย้าย เช่น แผนประกันสุขภาพ แผนเกษียณอายุที่จะอยู่กับแรงงานแม้จะเปลี่ยนนายจ้างก็ตาม

นอกจากนี้การทลายกำแพงให้กับผู้ที่ต้องการ Reskill แต่มีโอกาสอันน้อยนิดในการเข้าถึงกระบวนกรเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สำหรับแรงงานรายได้ต่ำนั้นประเด็นที่เรียบง่ายเป็นเรื่องที่สร้างความแตกต่างได้ไม่น้อย ยกตัวอย่างในกรณีของโลจิสติกส์ เช่น ความสามารถที่จะลางานได้หรือการมีรถเพื่อเดินทางไปอบรม และเพราะว่าหลักสูตรสำหรับ Reskill นั้นจะถูกวัดผลตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นของการคัดตัวผู้ที่มีโอกาสที่จะทำสำเร็จมากที่สุดก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความลำบากให้กับคนที่ขาดโอกาสเช่นกัน

อย่างไรก็ตามนั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะบอกได้ว่า Reskill เป็นแนวคิดที่แย่ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นปัจเจกในแต่ละบุคคลเช่นกัน ยกตัวอย่าง ในกรณีของ Stefanie Lis ที่ถูกปลดจากงานในภัตตาคารช่วงแพร่ระบาดและได้ใช้เวลาในการเรียนโค้ดแบบออนไลน์ 3 เดือน ต่อมาเธอสามารถจ่ายทุนกู้เรียนได้ด้วยการกลายเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ของ Huddle ซึ่งกลายมาเป็นงานประจำที่เรียกได้ว่ามีความมั่นคงในระดับหนึ่ง

Stefanie Lis ยืนกรานว่า มีหลักสูตรออนไลน์ราคาถูกหรือทรัพยากรออนไลน์ฟรีจำนวนมหาศาลอยู่ในปัจจุบันจริง นั่นหมายความว่าใครก็เรียนเขียนโค้ดได้หากตั้งใจ แต่เธอกังวลว่าเวลาที่ว่างเว้นจากงานจะทำให้การเรียนทักษะใหม่นี้กลายมาเป็นอาชีพเต็มตัวได้หรือไม่ และเธอโชคดีที่สามารถหานายจ้างที่เปิดใจให้กับนักพัฒนาหน้าใหม่ “พวกเขาใช้เวลาในการอดทนและแสดงให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนการสนับสนุนฉัน”

“หากคุณต้องทำงานอย่างหนักและทำกิจกรรมเสริมต่าง ๆ และต้องดำดิ่งลงไปเต็มตัว เมื่อขาดความหลงใหลฉันก็ไม่เห็นว่าเขาเหล่านั้นจะมุ่งหน้าไปทางไหนได้”

นอกเหนือจากความพยายามแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ ความลุ่มหลง ในสิ่งที่ทำ แน่นอนว่าเมื่อเกิดการจ้างงานก็จะไม่ต้องกังวลกับหนี้สินที่เกิดขึ้น แต่หากไม่มีความหลงใหล ความลุ่มหลง หรือความรักในการทำงานแล้วความก้าวหน้าคงเกิดขึ้นได้ยาก การ Reskill จึงอาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนและทุกการทำงาน การที่นักการเมืองออกมาแนะนำว่าการ Reskill จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องได้อาจไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมานักสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

อย่าลืมว่าการจ้างงานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากค่าตอบแทนและความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มงานดิจิทัลนั้นเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเติบโตงอกงามอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามภาคส่วนอื่น ๆ นั้นไม่ได้มีความสำคัญน้อยลงแต่อย่างใด การปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวต้องเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งการส่งเสริมเรื่องฐานรายได้หรือความมั่นคงนั้นต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องมีมาตั้งแต่ภาครัฐในการออกนโยบายสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและเป็นจริง ซึ่งต้องการวิสัยทัศน์และความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตร การทำธุรกิจของ SME หรือ Startup ต่างสามารถเกื้อกูลและสนุบสนุนการได้ ทั้งนี้รัฐที่มี Ecosystem ที่ดี และมีศักยภาพเท่านั้นจึงจะผลักดันให้เกิดการกระจายตัวของแรงงาน รายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทุกข์ยากของแรงงานได้

ที่มา:
Bbc.com

บทความที่เกี่ยวข้อง:
11 ทักษะ Soft Skills ที่ต้องมีสำหรับวิศวกรยุคดิจิทัล
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924