Tuesday, November 26Modern Manufacturing
×

RE 4.0 ยุคทองของพลังงานสีเขียว

RE: Renewable Energy พลังงานทดแทน คือ ธุรกิจ คือ การลงทุน คือ สัมปทาน คือ โครงสร้างพื้นฐาน คือ เกมการเงิน คือ สินค้าซื้อง่ายขายคล่อง ที่ทำให้คนรำรวยเป็นเศรษฐีในแค่ข้ามปี มีคนสมหวัง ผิดหวัง และหมดหวังกับพลังงานทดแทน ไม่ว่าพลังงานทดแทนจะเป็นผีป่าซาตาน หรือนางฟ้า เทพธิดา แต่วันนี้พลังงานทดแทนไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยน ผู้คุมบังเหียนจึงต้องมีความรอบคอบและกล้าตัดสินใจ

RE 4.0 ยุคทองของพลังงานสีเขียว

ขอเหลียวหลังแลหน้า และก้าวข้ามวันนี้ไปสู่อนาคตที่ควรเป็น หรือจะเรียกตามยุคสมัยว่ายุค 4.0 จะได้เข้าใจง่ายดี ในยุคนี้เน้นความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานการพัฒนา ถ้าใช้คำวิชาการว่า ‘Value Based Economy’ ก็ดูเท่ดี เรามาลองย้อนอดีตว่าสิบกว่าปีมานี้ RE ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง…

พลังงานธรรมชาติ

สายลมแสงแดดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมต่างก็เป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของพลังงานทดแทน เนื่องจากใครที่ได้เห็นภาพกังหันลมหรือแผงโซลาร์เซลล์ จะเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือพลังงานทดแทน แต่จะมีสักกี่คนที่จะเข้าใจพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง

สังเกตได้จากคำถามของคนนอกวงการว่า ‘ทำไมเราไม่ติดโซลาร์เซลล์ให้ทั่วประเทศไทยจะได้ไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำเอากูรูทั้งหลายตอบไม่ถูกกันเลยทีเดียว…’ พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์มีการปรับตัวรวดเร็วที่สุด ทั้งด้านเทคโนโลยีและราคา โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาเมกะวัตต์ละ 130 ล้านบาท แต่วันนี้ราคาเมกะวัตต์ละ 30 ล้านบาท ส่วนพลังงานลมนั้น ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากการลงทุนกังหันลมผลิตไฟฟ้า ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการตรวจวัดความเร็วลม นอกจากนี้ ยังหาพื้นที่เหมาะสมค่อนข้างยาก กระแสลมในเมืองไทยโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับทางยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกังหันลม อาจกล่าวได้ว่าพลังงานลมในประเทศไทยมีข้อจำกัดค่อนข้างมากก็ได้ ต้องขอบคุณนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงช่วยให้เราเห็นกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเมืองไทยมากมาย

น้ำมันชีวภาพ (BIOFUEL)

ในที่นี้หมายถึง เอทานอลและไบโอดีเซล หลายปีที่ผ่านมานี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและราคา นอกจากปริมาณการผลิตที่รัฐส่งเสริมให้มีการใช้มากขึ้น น้ำมันชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ค้ารายใหม่เข้าสู่ธุรกิจได้ค่อนข้างยาก และมีผู้ค้าน้อยราย เมื่อต้นทุนการผลิตสูง ราคาขายก็สามารถปรับสูงตาม ข้อดีก็คือช่วยปรับสมดุลราคาพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง จากข้อมูลที่มีอยู่เอทานอล แต่ละลิตร มีต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบ เช่น อ้อย หรือ มันสำปะหลัง 65-70% ส่วนไบโอดีเซลแต่ละลิตรจะมีต้นทุนการผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ราว 80% จึงมีแนวคิดว่าถ้าจะพัฒนาน้ำมันชีวภาพ ควรมีการพัฒนาการปลูกให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จะช่วยให้ราคาน้ำมันชีวภาพถูกลงและชาวไร่มีรายได้ดีขึ้น

ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (BIOMASS & BIOGAS)

จัดว่าเป็นพลังงงานชีวภาพ (BIOENERGY) ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและเป็นประเทศเกษตรกรรม ประการสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยก็คือเป็นพลังงานทดแทนที่ชุมชนมีส่วนได้มากที่สุด ตั้งแต่การขายเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไม้สับ การปลูกพืชพลังงาน การนำน้ำจากโรงงานก๊าซชีวภาพไปใช้เป็นปุ๋ย นอกจากนี้ การผลิตก๊าซชีวภาพยังสามารถผลิตได้ตั้งแต่โรงงานขนาดเล็ก นำก๊าซมาใช้หุงต้ม จนถึงโรงงานขนาดใหญ่สามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับภาครัฐ

พลังงานชีวมวล

ที่เราเห็นเป็นรูปธรรมเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันก็คือ การนำเศษไม้เหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและการผลิต Wood Pellet จากเศษไม้นานาชนิด เพื่อใช้ในประเทศและเพื่อการส่งออก ส่วนการปลูกพืชโตเร็วเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปัจจุบันยังไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่คาดว่าในอนาคตเมื่อรัฐส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เกิดขึ้นมาก ๆ ราคาเชื้อเพลิงย่อมสูงขึ้น และอาจเป็นเวลาของการปลูกพืชพลังงานอย่างกระถินยักษ์ เป็นต้น

ก๊าซชีวภาพ

เป็นเทคโนโลยีสำหรับชุมชนโดยแท้ และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีการนำเทคโนโลยีการหมักก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานโดยใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้หมักก๊าซผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ โครงการพลังงานขยะก็ยังจำเป็น เพราะต้องนำส่วนที่เป็นขยะอินทรีย์และน้ำชะล้างขยะมาหมักผลิตก๊าซชีวภาพ นอกจากได้พลังงานแล้วยังเป็นวิธีการบำบัดของเสียและน้ำเสียที่ประหยัดและคุ้มค่าที่สุดอีกด้วย

พลังงานขยะ (Waste to Energy)

เป็นวาระแห่งชาติแต่จัดอยู่ในพลังงานทดแทนที่ไม่มีอนาคต เนื่องจากปริมาณขยะมีจำกัดและเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราลดลง อันเนื่องจากนโยบาย 3R (R: Reduce, R: Reuse, R: Recycle) ของรัฐ ปัจจุบันนี้จึงมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางมากขึ้น ซึ่งคาดว่าขยะที่สามารถจัดเก็บได้ในปัจจุบัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 500 – 600 เมกะวัตต์ ดังนั้น โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอาจจะสิ้นสุดลงภายใน 3 ปีนี้ และหลังจากนั้นการบริหารจัดการที่ดีรวมทั้ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ที่กำลังจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะช่วยให้ประเทศไทย สามารถเอาชนะขยะได้ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้วทีเดียว เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

Renewable Energy 4.0

ประเทศไทยยังมีพลังงานสีเขียวหรือพลังงานทดแทนอีกมากมายแต่อาจจะยังไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ พลังงานจากคลื่นในทะเล รวมทั้งการผลิตน้ำมันจากพืช เช่น สบู่ดำ ฯลฯ

หากนับจากวันนี้มองไปข้างหน้าอีก 5 – 10 ปี ด้วยวิสัยทัศน์เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือที่รัฐใช้คำว่า Value-Based Economy สู่ RE 4.0 หรือพลังงานทดแทน 4.0 ก็พอจะจินตนาการได้ดังนี้

  • ไฟฟ้าชุมชนเสรี ผลิตเองขายเอง เปิดประตูสู่ Smart Grid
  • พลังงานขยะเฟื่องฟู สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ฟื้นฟูหลัก 3R
  • Solar Cell ไม่ต้องพึ่งพารัฐทั้งแบบ Farm และ Roof Top
  • รับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงแบบ Hybrid, RE ขายไฟฟ้าแบบ Firm
  • ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) สู่เชิงพาณิชย์
  • ยุคทองของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ: เอทานอล-ไบโอดีเซล
  • รถยนต์ไฟฟ้าแข่งขันกันเต็มรูปแบบ
  • นิวเคลียร์ฟิวชั่น (Fusion) เป็นที่สนใจและมีการพัฒนามากขึ้น

ประเทศไทย 4.0 เน้นการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน พลังงานทดแทนก็เช่นกัน การที่จะไปถึง 4.0 ได้นั้นก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จนอกจากภาคเอกชนแล้วยังต้องอาศัยภาครัฐที่เข้มแข็ง จริงจัง กล้าตัดสินใจ ไม่ยึดเอากฎระเบียบเป็นที่พึ่งพิงมากจนเกินไป ประเทศไทยจึงจะไปสู่ยุคพลังงานทดแทน 4.0

EXECUTIVE SUMMARY

Thailand’s Renewable Energy is coming to the turning point, the government should be considering carefully and confront to any barrier. To walk into the future or transform into 4.0 era that focus on stability, wealth and sustainable, technology and innovation are needed as a development foundation. If we develop renewable energy sector with the vision of technology and innovation, we’ll become Value-Based Economy or RE 4.0 or Renewable Energy 4.0.

To reach 4.0 era, the innovation and technology should be in place. Besides strengthen private sector, the
government should be strength, earnest and make a courage consideration while they should not stick to unnecessary rule or discipline. Therefore, Thailand will move forward to renewable energy 4.0 era as the bright future.

 

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924