Sunday, January 19Modern Manufacturing
×

10 เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนด้านออโตเมชัน

สถานการณ์อุตสาหกรรมในปัจจุบันถูกผลักดันด้วยเทคโนโลยีเป็นหลักเนื่องจากค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงของแรงงานมนุษย์นั้นมีอยู่มาก ความผิดพลาดในกระบวนการผลิตที่มีแรงงานเป็นกำลังหลักนั้นส่งผลต่อธุรกิจโดยตรง สำหรับประเทศไทยการประสบกับปัญหาสภาวะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สร้างปรากฎการณ์ขาดแคลนแรงงานและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน กลับเปลี่ยนการใช้แรงงานมนุษย์ไปเป็นระบบอัตโนมัติแทนเพื่อเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

การลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสายการผลิตสามารถเป็นทางออกให้กับปัญหาที่เผชิญหน้ากันอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบออโตเมชันซึ่งมีความแม่นยำในการผลิต สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญสามารถวางแผนควบคุมการผลิตได้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา การซ่อมบำรุง หรือการควบคุมคุณภาพสินค้า ส่งผลให้ Productivity และคุณภาพของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงลดความผิดพลาดจากการผลิตของแรงงานหรือ Human Error ได้อย่างชัดเจน

 เตรียมตัวอย่างไรก่อนการลงทุนออโตเมชัน?

ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมไทยส่วนมากยังไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเท่าที่ควรหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีที่มีการใช้งานหุ่นยนต์จำนวนมากสามารถผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตให้ก้าวหน้าได้แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กก็ตาม สายการผลิตหรือสายการประกอบสินค้าที่มีความต้องการสูงสามารถลงทุนระบบอัตโนมัติและคืนทุนได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปี สำหรับการผลิตจำนวนน้อยการลงทุนด้านออโตเมชันสามารถสร้างความคุ้มค่าด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและลดการบาดเจ็บจากการทำงานของแรงงานได้เช่นเดียวกับสายการผลิตขนาดใหญ่

ที่มา: IFR

ในการปรับเปลี่ยนจากการผลิตทั่วไปสู่ระบบออโตเมชันหรือระบบอัตโนมัติต่าง ๆ บุคลากรที่มีอยู่เดิมจำเป็นต้องมีมุมมองในแง่บวกและความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ด้วย นอกเหนือจากการปรับปรุงความรู้ความสามารถการปรับความเข้าใจสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญก่อนการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันมีความกังวลใจเกี่ยวกับการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งในความเป็นจริงการลงทุนระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีต่างๆ ถือเป็นการสนับสนุนการทำงานรูปแบบที่ต้องทำซ้ำ ๆ ลดความเสี่ยงต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

10 ปัจจัยต้องคิดก่อนตัดสินใจลงทุนเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนติดสินใจลงทุน” ประโยคฮิตที่มักจะได้ยินติดหูกันตามโฆษณาชวนลงทุนต่าง ๆ นี้เป็นประโยคที่ต้องพิจารณาและจำให้ขึ้นใจเสมอหากต้องตัดสินใจลงทุนในกิจการที่รัก ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 10 ข้อ ดังนี้

  1. รู้เราให้เท่าทัน

การประเมิณศักยภาพและเป้าหมายของตัวเองตามความเป็นจริง พิจารณาการลงทุนและความสำคัญในการลงทุนแต่ละภาคส่วนอย่างละเอียด เช่น การลงทุนหุ่นยนต์ในสายการผลิตของคุณสามารถเพิ่ม Productivity ได้กี่เปอร์เซ็นต์จากเดิม (โดยเฉลี่ยประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 30%) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้คุ้มค่าหรือไม่ หรือสามารถเลือกการอัพเกรดเครื่องมือแทนการซื้อใหม่เลยจะดีกว่าไหม อย่างไร

การคำนึงถึงภาพรวมทั้งกระบวนการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ การประเมินต้นทุนและผลตอบแทนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอาจไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด การทำความเข้าใจกับภาพรวมหรือผลลัพธ์ที่ประกอบขึ้นจากรายละเอียดการลงทุนทั้งระยะสั้นและยาวทำให้สามารถตรวจสอบวัตถุประสงค์ของการลงทุนรวมถึงโอกาสสัมฤทธิ์ผลเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าการลงทุนนั้นยังคงดำเนินตามเป้าหมายหลักอยู่ การพิจารณาปัจจยยการลงทุนจำเป็นต้องอ้างอิงกับสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท เช่น สถานการณ์การเงินที่ไม่คล่องตัวมากนักแต่สามารถลงทุนได้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคืนทุนระยะสั้นมากกว่าการลงทุนระยะยาว หรือพิจารณาการใช้สินเชื่อโดยเปรียบเทียบต้นทุนดอกเบี้ยกับการลดต้นทุนที่สามารถทำได้

  1. แผนการลงทุนที่ละเอียดยิบ

หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการการลงทุนอะไร สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือสถานภาพทางการเงินในปัจจุบัน ตั้งเป้าหมายของการลงทุนให้ชัดเจนว่าจะลงทุนในด้านใด เช่น หุ่นยนต์ออโตเมชัน ระบบบบำบัดของเสียอัจฉริยะ ระบบเครือข่ายภายในและภายนอกโรงงานเป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มต้นประเมินความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการลงทุนครั้งนี้เพื่อสร้างแผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสำหรับคุณ และอย่าลืมที่จะตั้งกองทุนสำรองฉุกเฉินในกรณีที่มีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นตามมาเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะการล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการลงทุน

  1. เริ่มให้ง่าย ทำให้ง่าย

ความเรียบง่ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการปรับเข้ามาใช้เทคโนโลยีอย่างออโตเมชันเป็นครั้งแรก ความฝัน ความหวังและจินตนาการสามารถสร้างความยุ่งยากและยุ่งเหยิงให้กับสายการผลิตได้โดยไม่จำเป็น การออกแบบสายการผลิตที่มีระบบออโตเมชันจึงจำเป็นจะต้องทำให้กระชับรัดกุมเพราะนอกจากจะส่งผลต่อการลงทุนแล้วยังส่งผลต่อศักยภาพการผลิตด้วย

ไม่ว่าจะตัดสินใจลงทุนอย่างไรก็ตามแต่ เราขอแนะนำการทำขั้นตอน Test Automation ผ่านซอฟท์แวร์เพื่อจำลองการทำงานและประเมินความคุ้มค่าของระบบที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น

ในการเริ่มต้นลงทุนนั้นควรให้ความสำคัญกับสายงานเพียงส่วนเดียวหรือยูนิตเดียวก่อน อย่าเพิ่งกังวลกับการใช้งานเต็มศักยภาพตั้งแต่ครั้งแรก ต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทีมงานที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากการลงทุนออโตเมชัน พยายามสร้างแผนงานที่มีความเสี่ยงน้อยและสร้างโอกาสใหม่ ๆ จากยูนิตต้นแบบที่มั่นคงเมื่อถึงเวลาอันสมควร

  1. ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อ

เพราะอุตสาหกรรมในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเป็นหลัก การใช้นวัตกรรมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่อย่าง IIoT ซึ่งสามารถสนับสนุนการทำงาน 24/7 แบบ Real Time ถือเป็นเทรนด์ที่ต้องคำนึงถึง

การลงทุนออโตเมชันสมัยใหม่จำเป็นต้องลงทุนในระบบที่รองรับการทำงานควบคู่กับระบบเครือข่าย โดยต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้งานเบื้องต้นทั้งหมด 2 สวน ได้แก่ การแสดงผลข้อมูล (Monitoring) และการควบคุม (Control) ซึ่งรูปแบบการใช้งานทั้งสองมีความเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น การลงทุนกับการแสดงผลข้อมูลในระบบมีความเสี่ยงต่อเหตุการฉุกเฉินน้อย สามารถสนับสนุนการซ่อมบำรุงเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ได้ เช่น ระบบตรวจสอบการใช้พลังงาน สำหรับความสามารถในการควบคุมการทำงานสามารถสนับสนุนการจัดการที่ต้องการความเร่งด่วนได้ เช่น สั่งหยุดหรือปรับแต่งสายการผลิตจากนอกสถานที่ผ่านเครือข่ายเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกแผนการ

  1. ระบุส่วนที่ต้องลงทุนให้ชัดเจน

การระบุชิ้นส่วนที่ต้องการลงทุนให้ชัดเจนสามารถป้องกันปัญหาจากการลงทุนในชิ้นส่วนที่ผิดพลาดหรือเกินความจำเป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อเครื่องจักร หุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องใส่รายละเอียดที่ต้องการให้ละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งซื้อทั้งระบบ เราต้องระบุอย่างละเอียดถึงแบรนด์ รุ่น การรับประกัน ไม่ว่าจะเป็น PLCs กล้องตรวจจับ หุ่นยนต์ สายพาน เซนเซอร์ มอเตอร์เซอร์โว ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน เพราะในบางครั้งตัวแทนอาจเลือกใส่ของราคาถูกที่สุดหรือมีศักยภาพไม่ตรงตามการประเมิน การพูดคุยกับทีมปฏิบัติการและหารือร่วมกันเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีในการเลือกรุ่นหรือยี่ห้อที่ต้องการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  1. วางแผนสำหรับการต่อยอดในอนาคต

อย่างไรก็ตามการลงทุนควรจะเปิดช่องสำหรับการเติบโตและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต หากเป้าหมายระยะยาวของธุรกิจยังอีกไกลและการลงทุนในปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้ การเลือกลงทุนควรแบ่งแผนการเป็นระยะ สำหรับในช่วงแรกควรพิจารณาให้ดีว่าควรจะเริ่มลงทุนส่วนใดก่อนและพิจารณาในส่วนของการลงทุนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ต้องเลือกและวางแผนให้เสร็จก่อนลงมือวางแผนระบบไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากในการแก้ไข เช่น กระบวนการประกอบรถยนต์ที่มีขั้นตอนหลากหลายจำเป็นต้องออกแบบการประกอบแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนและอย่าปิดกั้นสำหรับการต่อขยายเพิ่มเติมในอนาคต

การเสนอราคาจากผู้ผลิตควรเลือกรายที่มีความเชี่ยวชาญและใส่ใจในกระบวนการผลิตของเราจริง ๆ การเสนอราคานั้นควรมีตัวเลือกอย่างน้อย 3 บริษัทขึ้นไปเพื่อทำการเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่จะได้รับและจำเอาไว้เสมอว่าราคาที่ถูกที่สุดไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดเสมอไป ประสบการณ์ของผู้ผลิต ตัวอย่างลูกค้าที่เคยใช้บริการ รวมถึงความสามารถและนโยบายหลังการขายเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี

  1. Training มองข้ามไม่ได้

นอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักร ระบบ หรือพลังงานแล้ว การลงทุนด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานกับเทคโนโลยี ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดควรมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน การเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานร่วมกับระบบออโตเมชันนั้นนอกเหนือจากการพัฒนาแรงงานเดิมให้มีศักยภาพสอดรับกับแนวทางการผลิตในอนาคตแล้ว การลงทุนจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ลงทุนถือเป็นตัวเลือกที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคุณจะเลือกลงทุนบุคลากรก่อนการตัดสินใจเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติ เพราะแม้เครื่องจักรจะเป็นคำตอบที่เรากำลังมองหา แต่มันจะเป็นคำตอบสุดท้ายได้ต่อเมื่อมี “มนุษย์ เป็น ผู้ตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง” การปรึกษาและการทำงานร่วมกับบุคลากรดังกล่าวจะช่วยค้นหาตัวเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด

หนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายที่น่าสนใจ คือ การบริการฝึกอบรมตัวแทนของผู้ซื้อเทคโนโลยีหรือระบบ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ขาย ความสามารถในการหาโซลูชันสำหรับการผลิตที่ผู้เกี่ยวข้องต้องการรวมถึงการต่อยอดความคิดที่มีให้แก่ผู้เข้าฝึกอบรมนับเป็นตัวเลือกที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันสำหรับการคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้ความรู้ทั้งเชิงลึกหรือเชิงกว้าง อาทิ

www.tgi.or.th

www.ftpi.or.th

www.thailandindustrialforum.com

www.thaiautomach.com

  1. เคลียร์ข้อสงสัยให้ไว

ความคาดหวังเป็นได้ทั้งพลังและอาจเป็นได้ทั้งความพังพินาศ ดังนั้นถ้าคุณเลือกเครื่องจักรหรือระบบที่ต้องการลงทุนแล้ว ต้องสื่อสารคำถามที่มีทั้งหมดในใจกับทีมงานและผู้วางระบบให้ชัดเจน เช่น มีผลต่อกำลังคนอย่างไร Cycle Time หรือโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเป็นอัตราเท่าไหร่ และอัตราที่ยอมรับได้อยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ ดังนั้นก่อนที่โครงการจะเกิดขึ้นจัดการกับข้อกังขาที่มีเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้และการลงทุนครั้งนี้อาจเป็นความสูญเสียมากกว่าเป็นโอกาส

  1. ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

การลงทุนระบบอัตโนมัติหรือเครื่องจักรใด  ๆ ก็ตามแต่ล้วนมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังจากพิจารณาการลงทุนแล้วควรสร้างรายการสำหรับตรวจเช็คความพร้อมที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กำลังไฟ ความพร้อมของระบบไฟฟฟ้าในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์สวมใส่สำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

การลงทุนด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการรักษาสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานแล้วยังหมายถึงการถนอมเครื่องจักรและสร้างสายการผลิตที่มีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง

  1. ซ่อมบำรุง ฟันเฟืองสำคัญในการผลิต

การซ่อมบำรุงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต การนำระบบออโตเมชันเข้ามาใช้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับรูปแบบเฉพาะของออโตเมชันนั้น ๆ เช่น การซ่อมบำรุงสำหรับหุ่นยนต์แขนกลซึ่งต้องการความเข้าใจใน PLC เพื่อแก้ไขโค้ดหรือตรวจสอบคำสั่งสำหรับการทำงาน ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อการใช้งานให้ปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แม้การซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์มือ 1 จะมีการรับประกันและการสนับสนุนจากผู้ขาย แต่การมีทรัพยากรบุคคลที่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างทัน ท่วงทีถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำธุรกิจ นอกจากสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วแล้วยังสามารถสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการหลังการขายได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน สำหรับสินค้ามือสองจำเป็นต้องมีความพร้อมสำหรับการซ่อมบำรุงมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเครื่องจักรมือไหน รุ่นใด ทีมซ่อมบำรุงต้องมีศักยภาพเพียงพอสำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่วาดฝันไว้เป็นพื้นฐานสำคัฐ

การซ่อมบำรุงเทคโนโลยีออโตเมชันนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ซึ่งสองส่วนนี้มีการทำงานควบคู่กันแต่ทว่ามีรายละเอียดโครงสร้างที่แตกต่างกัน ในส่วนของฮาร์ดแวร์ช่างเทคนิคอาจมีความคุ้นชินในการซ่อมบำรุงแต่ซอฟท์แวร์นั้นมีรูปแบบการทำงานและการดูแลที่แตกต่างออกไป จำเป็นต้องมีผู้ดูแลที่มีความรู้เรื่อง IT หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะประจำทีมซ่อมบำรุงด้วยเช่นกัน และหากนำ IIoT เข้ามาใช้งานจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายเพิ่มเติมซึ่งอาจเป็นคนเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟท์แวร์ได้ด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้วปัจจัยสำคัญของการลงทุนระบบออโตเมชัน คือ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มกำไรจากกระบวนการผลิต ดังนั้นการพิจารณาเงินทุนโดยอ้างอิงกับสถานการณ์ที่เป็นจริงพร้อมกับพิจารณาระยะเวลาคืนทุนในระยะสั้นและระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนี้เทรนด์การผลิตโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยการผลิตอัตโนมัติจะสร้างความแตกต่างที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทิ้งให้ผู้ผลิตที่ไม่เกิดการปรับตัวค่อย ๆ ถูกลบหายออกไปจากตลาดโลก และหากตัดสินใจในการลงทุนแล้วการใช้เวลาพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุน ไม่เช่นนั้นการเลือกลงทุนที่ผิดพลาดอาจเกิดความเสียหายมากกว่าการอยู่นิ่งเฉยรอปิดฉากการผลิต


ที่มา:

  • https://www.sec.gov/investor/pubs/tenthingstoconsider.htm
  • http://www.machinedesign.com/manufacturing-equipment/10-things-consider-automating-facility
  • https://www.bdc.ca/en/articles-tools/money-finance/get-financing/pages/equipment-purchasing-9-tips-business-owners.aspx
  • http://www.libarts.up.ac.th/v2/img/Thailand-4.0.pdf
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924