Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

รู้จักโมเดล Lighthouse ความสำเร็จของการผลิตที่ก้าวข้าม Productivity มุ่งหน้าสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง!

การผลิตในปัจจุบันมีความท้าทายจำนวนมากเกิดขึ้นตลอดเวลา และอุตสาหกรรม 4.0 ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันที่เกิดขึ้น โดยผู้ผลิตชั้นนำต่างปรับปรุงโรงงานให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตที่มีความโดดเด่นในด้านการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะถูกคัดเลือกให้อยู่ใน Global Lighthouse Network ซึ่งเป็นเหมือนกับหอเกียรติยศสำหรับผู้ประกอบการที่คอยส่องทางให้กับวงการอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Inustry 4.0 (Industrie 4.0) ได้สร้างผลกระทบต่อวงการต่าง ๆ อย่างคาดไม่ถึง การมาถึงของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อและประมวลผลได้โดยไม่ต้องคอยป้อนทุกคำสั่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโฉมของการทำงานไปตลอดกาล เทคโนโลยีเหล่านี้เกิดการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น World Economic Forum และ McKinsey & Company จึงได้จับมือกันจัดตั้ง Global Lighthouse Network ขึ้นในปี 2018 เพื่อปิดช่องว่างระหว่างผู้นำเทคโนโลยีและกลุ่มที่ถูกทิ้งห่างออกไป

Global Lighthouse Network คืออะไร?

Global Lighthouse Network นั้นคือชุมชนของผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีในกลุม่ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเปลี่ยนแปลงโรงงาน ห่วงโซ่มูลค่าตลอดจนโมเดลธุรกิจที่มีให้เกิดผลตอบแทนทางการเงิน การปฎิบัติการณ์และสิ่งแวดล้อม โดยทำการคัดเลือกผู้ผลิตมากกว่า 1,000 รายจากหลากหลายอุตสาหกรรมเพื่อวัดความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม 4.0 และในปัจจุบันมีผู้ผลิตรวม 69 รายสำหรับรายงานที่เปิดเผยออกมาในปี 2021 นี้

กลุ่มผู้ผลิตที่อยู่ใน Global Lighthouse Network น้ันถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น Unilever, Henkel
  • อุตสาหกรรมแปรรูป เช่น POSCO, Tata Steel
  • อุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น Ericsson, Siemens, Schneider Electric, Infineon
  • อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น Bayer, GE Healthcare

จากอุตสาหกรรมทั้งหมดนั้นการวัดผลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กิจกรรมในฐานการผลิตและการเชื่อมต่อของห่วงโซ่มูลค่าแบบ E2E (End-to-End) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

กิจกรรมในฐานการผลิต
– เครื่องจักรและการประกอบโดยดิจิทัล เช่น การเติมเนื้อวัสดุสำหรับเครื่องมือแปรรูป, ควบคุมกระบวนการด้วย AI, วิศวกรรมดิจิทัล
– การซ่อมบำรุงด้วยดิจิทัล เช่น การสนับสนุนการทำงานระยะไกลผ่าน AR, ยานพาหนะไร้คนขับสำหรับงานตรวจสอบ, เครื่องจักรสามารถแจ้งเตือนปัญหาได้เอง
– ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้วยดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มสำหรับวิเคราะห์เพื่อควบคุมการผลิตระยะไกลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด, แพลตฟอร์มการจ้างงานแบบดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมตรงตัวกับความต้องการในการทำงาน
– การควบคุมคุณภาพโดยดิจิทัล เช่น มี AI ในการจัดการงานด้านความปลอดภัย, มีการตรวจสอบคุณภาพของดิจิทัล, แรงงานใช้แว่น MR เพื่อแนะนำในการทำงาน
– สร้างความยั่งยืนได้โดยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น มี Digital Twin สำหรับความยั่งยืน, ใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบการคาดการณ์, การใช้ข้อมูล IIoT แบบ Real-time
การเชื่อมต่อของห่วงโซ่มูลค่าแบบ E2E
– การเชื่อมต่อของเครือข่ายซัพพลาย เช่น การจัดซื้อแบบ Agile ผ่านการคาดการณ์ราคา, ใช้ AI ตรวจสอบสัญญาเพื่อช่วยการตัดสินใจ, ติดตามข้อมูลซัพพลายเออร์และคุณภาพวัตถุดิบ
– การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ E2E เช่น ใช้ Big Data หรือ AI ในการออกแบบและทดสอบ, พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้หุ่นยนต์, ใช้งานการจำลอง 3 มิติหรือ Digital Twin เพื่อการออกแบบและทดสอบผลิตภัณฑ์
– การวางแผนแบบ E2E เช่น การวางแผนแบบ Closed-loop, ทำนายความต้องการล่วงหน้า, วางแผนการขายและการปฏิบัติการณ์แบบ Real-time
– การนำส่งแบบ E2E เช่น Digital Track and Trace, ใช้หุ่นยนต์ในงานด้านโลจิสติกส์, บริหารจัดการคำสั่งได้โดยไม่มีแรงงานสัมผัสสินค้า
– การเชื่อมต่อกับลูกค้า เช่น Digital Twin สำหรับระบบลูกค้า, ข้อมูลเชิงลึกของตลาดระบบวิเคราะห์ที่ทันสมัย, ชุมชนออนไลน์สำหรับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า

ผลลัพธ์ของโมเดล Lighthouse ที่เป็นไปได้มากกว่าการเพิ่ม Productivity

หลายครั้งที่การพูดถึง Industry 4.0 นั้นมักจะนึกถึงการเพิ่ม Productivity ให้กับการทำงาน ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่ผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนไปแม้แต่น้อย ในขณะที่เรื่องของความสามารถในการทำงานที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพียงหนึ่งในศักยภาพของอุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น ความสามารถของเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการ งานเอกสาร ความโปร่งใสของซัพพลายเชนต่าง ๆ และมีศักยภาพอีกมากมายที่จะพลิกโฉมการทำงานไปตลอดกาล

จากรายงานของ WEF และ McKinsey & Company พบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จในกลุ่ม Lighthouse นั้นได้มัการเติบโตจากการลงทุนในเทคโนโลยี 4.0 ทำให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ออกมาของโรงงาน และ OEE ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ต้นทุนการผลิต ต้นทุนด้านปฏิบัติการณ์ และค่าใช้จ่ายด้านคุณภาพก็ยังลดลงอีกด้วย

ในแง่มุมของความยั่งยืนนั้นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของเสียและการใช้น้ำก็ถูกลดลงไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในการใช้พลังงานด้วยเช่นกัน สำหรับเวลา Lead Time และเวลาในการเข้าสู่คลังสินค้าก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในด้านการออกแบบนอกจากความรวดเร็วที่เพิ่มขึ้นแล้วคุณภาพของชิ้นงานก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ความสามารถในการปรับเปลี่ยนได้หลากหลายนี้เองที่เป็นตัวลดขนาดการผลิตและการทำงานลงได้พร้อม ๆ กัน

ผลกระทบที่เกิดจากการใช้งานเทคโนโลยี 4.0 จึงไม่ใช่แค่ ‘กระบวนการ’ เท่านั้นแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมานั้นเกิดขึ้นในหลากหลายมิติที่ไปไกลกว่าตัวธุรกิจเอง โดยโมเดลของ Lighthouse นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นถึง ‘ผลลัพธ์’ ที่เกิดขึ้นจากการผสานดิจิทัลลงไปในกระบวนการนั้นสร้างความยั่งยืนและผลกำไรที่เติบโตได้

ความยั่งยืนที่เกิดจาก Ligthhouse เป็นการเติบโตที่มีพื้นฐานมาจากนวัตกรรม เมื่อมีการผสมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในธุรกิจเดิมจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สามารถจับต้องได้ 3 ประการในเบื้องต้น ได้แก่ โมเดลธุรกิจที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม, ปลดล็อคข้อจำกัด และความสามารถในการตระหนักได้ถึงการเติบโตที่มั่นคงยั่งยืน

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ใช้นั้นไม่ได้เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ชัดเจนในยุคปัจจุบันมากกว่าวิธีอื่น ๆ

อ้างอิง:
Weforum.org

บทความที่เกี่ยวข้อง:
5 แนวคิดปรับตัวภาคธุรกิจหลัง COVID-19 จาก World Economic Forum
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924