Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

Lean Talk: เอาตัวรอด พร้อมรับอนาคต หลัง COVID

“C” อะไร เป็นแรงผลักดัน ต่อการเปลี่ยนองค์กรมากที่สุดในยุคนี้ ? ไม่ใช่ CEO, COO หรือ CTO แต่เป็น COVID-19 นะครับ

การปรับตัวครั้งใหญ่นี้องค์กรธุรกิจต้องพิจารณา ครอบคลุมมองการณ์ไกล เลยไปกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ เพราะวิกฤตนี้จะผ่านไปในที่สุด

เมื่อเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงเช่นนี้ องค์กรแทบทั้งหมดเจอผลกระทบอย่างหนัก แต่บางธุรกิจยังคง เจริญเติบโตท่ามกลางวิกฤต เช่น การส่งของ (Delivery) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ครัว อาหารสำเร็จพร้อมปรุง อุปกรณ์การแพทย์ แผ่นอะคริลิคใส เกมส์ Online 

มีการคาดการณ์ถึง แนวโน้มอนาคตข้างหน้า เช่น การเชื่อมโยงโลกด้วยเทคโนโลยี Digital ที่รวดเร็วขึ้น นโยบายเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับประเทศตนเองมากขึ้น การทบทวนห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อลดความเสี่ยง

ดังนั้น องค์กรต้องวางกลยุทธ์ตนเอง ทั้งการเอาตัวรอดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ พร้อมกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตหลังจากวิกฤต ผมจะได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นในภาคอุตสาหกรรมครับ

เอาตัวรอด

เมื่อปัจจัยสำคัญในการชนะศึกคือ ทหารกล้าที่ฮึกเหิม กระหายต่อชัยชนะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อกำลังพลมีความเชื่อมั่นให้กับแม่ทัพ 

ผู้บริหารจึงต้อง ปกป้อง บำรุงขวัญทีมงาน เป็นประการแรก ดูแลทั้งสุขภาพกายและใจตามสภาพการณ์ ให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กรมากขึ้น ทั้งเนื้อหาและความถี่

ถัดมาในหลักการพื้นฐานของธุรกิจคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และ สภาพคล่องคือเส้นเลือด

วิเคราะห์กระบวนการตามแนวทางของ ระบบ Lean อย่างเข้มข้น รัดเข็มขัดด้วยการรีดไขมันหรือความสูญเสีย (Waste) พนักงานทุกคนต้องตั้งคำถามว่า มีการใช้ทรัพยากรใดอยู่บ้าง ที่ไม่ได้นำ
`คุณค่า’ ไปสู่ลูกค้า 

นอกจาก Lean Process แล้ว Lean Organization ยังเป็นโอกาสด้วย เช่น การยุบหรือควบรวมหน่วยงาน เพื่อประหยัดการใช้ทรัพยากรได้ ต้องทำทันที

อุตสาหกรรมที่มีการแปรรูปวัตถุดิบ (Material) จนถึงบรรจุหีบห่อ (Packaging) มักมี ความสูญเสีย ระหว่างทางเสมอ รวมถึง การทำซ้ำ การแก้ไขงาน คือการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น 

ยังมีความสูญเสียใน กระบวนการสนับสนุนอื่นๆ อีกเช่น การขนส่ง (Logistics) การบำรุงรักษาเครื่องจักร พลังงาน องค์กรควรใช้โอกาสในวิกฤต ตั้งเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียเหล่านี้

การลดสินค้าคงคลัง เป็นอีกทิศทางสำคัญ ควรตัดใจสะสางสินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และสินทรัพย์อื่นที่ไม่จำเป็น จากนั้นตั้งเป้าหมายในการลด Stock ทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่วัตถุดิบ งานระหว่างกระบวนการ จนถึง สินค้าสำเร็จรูปก่อนส่งมอบลูกค้า

กระชับความร่วมมือกับผู้ส่งมอบ ทบทวนนโยบายการสั่งซื้อตามความต้องการตลาดที่แท้จริง เพื่อลดการเก็บวัตถุดิบ ยืดระยะเวลา Credit ที่ทำให้ `ห่วงโซ่อุปทาน’ ยังรอดไปด้วยกันได้ 

การสร้าง รักษา พัฒนา ความสัมพันธ์กับฐานลูกค้าปัจจุบัน และ องค์กรเครือข่ายอื่น ในห่วงโซ่คุณค่า คือความสำคัญสูงสุดในระยะนี้ การเข้าใจความยากลำบากของลูกค้า สามารถเป็นโอกาสสร้างธุรกิจในอนาคตต่อไปได้

การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ทำได้ยากในช่วงปกติ จะทำได้ง่ายขึ้นในขณะนี้ เพื่อให้ เข้าใจ และ ตอบสนองความต้องการของตลาด ได้ดีขึ้น ปรับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ลง เพื่อให้จัดการได้สะดวกขึ้น ลดสินค้าคงคลังลงได้

เตรียมการเพื่อเติบโตในอนาคต

องค์กรต้องถามตนเองว่า รูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน ยังสามารถแข่งขันได้ ในยุคหน้าหรือไม่ และ จะหาโอกาสหรือช่องทางการขยายตัวอย่างไร

คำถามท้าทายด้าน “คน” ของทุกองค์กรคือ จำนวนคนที่เหมาะสมต่อองค์กร `ในระยะยาว’ คือเท่าใด? ต้องมีการพัฒนาทักษะความรู้เพิ่มเติมอะไรบ้าง? เพื่อการวางแผนกำลังคนตั้งแต่ตอนนี้ 

ภาวะวิกฤตคือช่วงเวลาที่ดีอย่างยิ่งในการ สร้างแนวร่วม ความร่วมมือพัฒนาองค์กร และพัฒนาความรู้ ทักษะ ของพนักงานให้มี ความหลากหลาย และ ความเชี่ยวชาญ 

ความสามารถของพนักงานที่มากขึ้น จะทำให้การโยกย้ายสลับเปลี่ยน การจัดสรรกำลังคน ตามภารกิจองค์กรทำได้อย่างยืดหยุ่น และ ยังรวมไปถึง การรองรับทิศทางองค์กร ในอนาคตด้วย

เนื่องจากตลาดแรงงานโดยรวมหดตัว การสรรหาคนเก่งในช่วงนี้จะทำได้ง่ายขึ้น มีบุคลากรศักยภาพสูงเป็นตัวเลือก ให้กับองค์กรได้มากขึ้น

 “โควิด ปฏิวัติ Supply Chain โลก ผู้ผลิตจ่อย้ายฐาน ลดพึ่งพาจีน” เป็นข่าวพาดหัว ด้วยเนื้อข่าวเสริมว่า ในช่วงระบาด สินค้าหลายกลุ่มเกิดการขาดแคลน เพราะประเทศจีนเป็นผู้ผลิตสำคัญ ในห่วงโซ่อุปทานโลกพร้อมยกตัวอย่างว่า อุปกรณ์ วัสดุ น้ำยาเคมีทางการแพทย์ถึง 80% มาจากประเทศจีน

เราจึงเรียนรู้ว่า การพึ่งพาแหล่งผลิตใดผลิตหนึ่งเป็น ความเสี่ยง ซึ่งองค์กรต้องทบทวน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงระบบ Logistics ทั้งขาเข้าองค์กร และ ขาออกจากองค์กร เพื่อความยั่งยืน 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากบุคลากร ที่องค์กรต้องพัฒนา ให้มีความรู้เท่าทัน ในท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี Digital และอุตสาหกรรม 4.0 เช่นนี้ เช่น หุ่นยนต์, Automation, Sensors, กล้องอัจฉริยะตรวจจับความผิดปกติ, เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่องานต้นแบบ

ยังมี เทคโนโลยีสนับสนุน ในด้านอื่นๆอีก เช่น Platform Online ต่างๆ, ระบบสารสนเทศในการจัดการองค์กร, AI (ปัญญาประดิษฐ์), AR(Augmented Reality), VR (Virtual Reality), Data Analytics เป็นต้น

ประเด็นที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความมุ่งมั่นทุ่มเทจากพนักงาน ผู้บริหารต้องสื่อสารอย่างเปิดเผยจริงใจ ถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน สร้างความเป็นหนึ่งเดียว ในการฟันฝ่าคลื่นลมมรสุมนี้ร่วมกันครับ

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924