KKP Research วิเคราะห์เทรนด์ EV ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ชี้ผลบวกต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้ดีมากเท่ากับภาพที่เกิดขึ้นแม้จะมีการลงทุนทางตรงเพื่อผลิต EV ของค่ายรถจากจีน เป็นเพราะยิดลงทุนที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก และมูลค่าเพิ่มในการผลิต EV ในประเทศไทยที่กำลังลดลงแม้มีการเข้ามาของค่ายใหม่หรือค่ายใหญ่อย่าง Tesla ก็ตาม
การเติบโตและการตั้งโรงงานของผู้ผลิตยานยนต์จากจีนนั้นเกิดขึ้นเพราะนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่ผู้บุกเบิกตลาดโลกอย่าง Tesla นั้นเน้นไปที่การนำเข้ารถยนต์จากจีนและยังไม่มีการพิจารณาตั้งโรงงานในประเทศไทย แต่การเข้ามาของ Tesla และการเติบโตของค่ายจีนได้กระตุ้นการแข่งขันในตลาด EV ของประเทศไทยและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขาย EV ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
การเปลี่ยนผ่านสู่ EV นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่าประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคได้หรือไม่ และจริง ๆ แล้วประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนเพื่อผลิต EV ในขณะที่โลกเกิดความต้องการสูงเช่นนี้ได้ดีเพียงใด
ข้อมูลจาก KPP Research ชี้ให้เห็นว่าไทยมีความน่าสนใจน้อยลงในฐานะฐานผลิต EV หากพิจารณาจากมุมมองของ Tesla โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ไทยมีตลาดค่อนข้างเล็กจากกำลังซื้อในประเทศที่จำกัด ราคาของ Tesla ในปัจจุบันสามารถเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็นเพียง 4.5% ของตลาดยานยนต์ในประเทศไทย
- การนำเข้ายานยนต์จากจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก เนื่องจากปลอดภาษีนำเข้าและโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย
- การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก ประเทศพัฒนาแล้วพยายามดึงฐานการผลิตกลับประเทศแม่มากขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่และลดความเสี่ยงของซัพพลายเชนลง
การผลิต EV ในไทยจึงเป็นการดึงดูดทุนจีนเป็นหลัก แม้ค่ายรถตะวันตกหรือค่ายจากเยอรมันจะมีการประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบนั้นสูงกว่าและการลงทุนถือว่าเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับความต้องการและเทรนด์ที่เกิดขึ้น โดยจุดเด่นของค่ายจีนนั้นมีราคาที่ถูกกว่าทำให้เข้าถึงตลาดกว้างกว่า การตั้งโรงงานจึงมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนที่เร็วกว่าค่ายจากตะวันตก
KKP Research มองว่าการลงทุนทางตรงด้าน EV ในช่วงที่ผ่านมาสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้น้อย เป็นผลจากประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ
- ขนาดการลงทุน EV จากจีนถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ เรียกได้ว่ายังน้อยกว่าการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในการผลิตยานยนต์ในอดีตเสียอีก
- มูลค่าเพิ่มที่ประเทศไทยสร้างได้จาก EV มีน้อยลง ทั้งยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวทำให้มูลค่าเพิ่มที่ประเทศไทยเคยทำได้หายไปมากกว่าครึ่ง
ในขณะเดียวกันการเข้ามาทำธุรกิจขายยานยนต์จากตะวันตกอย่าง Tesla แม้จะเป็ฯประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ไม่ได้สร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้ยังสร้างความท้าทายมากขึ้นในระยะยาวให้กับค่ายยานยนต์ญี่ปุ่นเดิมที่อยู่ในไทยซ้ำอีกด้วย
ที่มา:
kkpfg.com
เนื้อหาที่น่าสนใจ:
Afeela แบรนด์ EV น้องใหม่จากยักษ์ใหญ่อย่าง Sony และ Honda