Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

IRPC ไตรมาส 3/63 พลิกมีกำไร 1,556 ล้านบาท

IRPC เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 พลิกมีกำไรสุทธิ 1,556 ล้านบาท เดินหน้าขยายผลิตภัณฑ์สินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 30%  ในปี 2567 รับเทรนด์โลกเปลี่ยน 

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 IRPC มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,937 ล้านบาท (8.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากการที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ABS ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสไตรีนิคส์ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าจากประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นแม้ว่าต้นทุน crude premium ปรับตัวสูงขึ้น และส่วนต่างราคากลุ่มปิโตรเลียมส่วนใหญ่ยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 

การดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากความร่วมมือ ในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตในโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก รวมถึงความต้องการบริโภคน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการ  ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 3,770 ล้านบาท หรือ 6.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 8,707 ล้านบาท หรือ 15.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3,949 ล้านบาท หรือร้อยละ 83 ส่งผลให้ IRPC มีกำไรสุทธิ 1,556 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 411 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 479 

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2563 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาส 3/2563 โดยมีปัจจัยที่   เป็นแรงผลักดันราคาจากการบริโภคน้ำมัน ที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวปลายปี ซึ่งคาดว่าจะหนาวกว่าปกติ และการที่กลุ่มโอเปกได้แสดงเจตนารมณ์ในการควบคุมการผลิตเพื่อรักษาสมดุลตลาด รวมถึงการลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่อ่าวเม็กซิโก  ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง 

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่กดดันราคาจากการที่กลุ่มโรงกลั่นกลับมาเดินกำลังการผลิตหลังฤดูการหยุดซ่อมบำรุง   การผ่อนคลายการควบคุมการผลิตของกลุ่มโอเปก การกลับมาส่งออกของประเทศลิเบียหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศคลี่คลาย และการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางประเทศของยุโรป แม้ว่าจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน แต่มีการประเมินว่ายังต้องใช้เวลาถึงกลางปี 2564 จึงสามารถใช้งานได้

นายนพดล กล่าวต่อว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในบางประเทศ ทำให้โรงงานกลับมาผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้พลาสติกสูงขึ้นตามพฤติกรรมการบริโภคในยุค New Normal และการ Stock เม็ดพลาสติกเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานปิโตรเคมีในภูมิภาคช่วงปลายปี ซึ่งทำให้อุปทานตึงตัว แม้ว่าอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากการทยอยกลับมาผลิตของผู้ผลิตเดิมที่ต้นทุนสูงและหยุดซ่อมบำรุง รวมถึงกำลังการผลิตใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 

“IRPC ยังคงเน้นการผลิตสินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA: High Value Added Products) สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี      โดยในปัจจุบันสัดส่วนการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) อยู่ที่ 13% และมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็น 30% ในปี 2567 โดยจะเน้นไปที่เม็ดพลาสติกเกรดที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูงและทนทานมากกว่าโพลิเอทิลีนทั่วไป 10 เท่า หรือ UHMW-PE (Ultra High Molecular Weight Polyethylene) ที่นำไปใช้ในงานผลิตแผ่นกั้นแบตเตอรี่ (Battery separator) ข้อเข่าเทียม เชือกลากจูงเรือ เป็นต้น” นายนพดล กล่าว

สำหรับความก้าวหน้าของโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ “สวนโซลาร์ลอยน้ำ IRPC” ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทุ่นโซลาร์ลอยน้ำผลิตจากเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษสีเทา จะช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ และรับประกันอายุการใช้งานของวัสดุไม่ต่ำกว่า 25 ปี  

ทั้งนี้ IRPC มีโครงการขยายกำลังการผลิตพลาสติก ABS อีก 6,000 ตัน/ปี คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถทำการผลิตได้ในต้นปีหน้า จะทำให้ IRPC มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเพิ่มขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ COVID –19 ที่ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนและคาดว่าจะยังคงอยู่กับทุกประเทศทั่วโลก IRPC จึงวางเป้าหมายการดำเนินงานในการขยายตลาดไปสู่อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE โดยได้เร่งวิจัยพัฒนาผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ ล่าสุดได้วิจัยผลิตภัณฑ์        เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อผลิตผ้า Melt-blown ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย คาดว่าในช่วงต้นปีหน้าจะผลิตได้ตามเป้าหมาย  

ส่วนโครงการความร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อให้บริการทดสอบ สุ่มตรวจและรับรองสินค้า หน้ากากอนามัย ชุด PPE  และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะนี้ได้บรรลุข้อตกลงแล้ว และคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการได้ในต้นปีหน้า      

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมกับพันธมิตรและมูลนิธิเพื่อการกุศล ในการขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการจัดการขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากร้านอาหารแบรนด์ดังระดับโลก  ตามโมเดล “POLIMAXX ECO Solution” ที่ IRPC ได้พัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้เกิดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ภายใต้กระบวนการทำงานแบบ Close Loop ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม และยังได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ช่วยเหลือคนตกงาน ไร้บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ให้มีงานทำมีรายได้ เป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะจัดให้มีการลงนามร่วมกันเร็วๆ นี้

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924