Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ย่อยบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมโลก 2018 กับ MM Thailand

ย่อยบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมโลก 2018 กับ MM Thailand

MM Thailand นำเสนอบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมจากต่างประเทศซึ่งส่งสัญญาณการเติบโตที่ดีในปี 2018 โดย Russel Investment กล่าวถึงจีนในฐานะฟันเฟืองสำคัญและจุดอ่อนของเศรษฐกิจ Reuters ชี้ยุโรปเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง Moody แสดงตัวเลขการขยายตัวของอุตสาหกรรมโลก Advancemanufacturing.org ระบุสหรัฐจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งผ่านอุตสาหกรรมอากาศยาน Focus-Economics มั่นใจการเติบโตอาเซียนในปี 2018 ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากทิศทางเหล่านี้โดยตรงเนื่องจาก GDP ของไทยขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก

ทิศทางโลก 2018

ปี 2017 เป็นปีที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอันเป็นสัญญาณมาจากไตรมาสที่ 3 ของปี โดยมีพี่ใหญ่อย่างจีนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ด้วยศักยภาพทางการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในขณะที่ผู้นำของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือสร้างความไม่มั่นใจให้กับทั่วโลกทำให้เกิดการชะลอตัวสำหรับการลงทุน ภูมิภาคยุโรปฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากสภาวะ Brexit และการก่อการร้ายที่กระจายตัว เป็นผลให้สถาบันการเงินต่างๆ มีมาตรการที่รัดกุมยิ่งขึ้นสำหรับการลงทุน สำหรับภาวะปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกระบบออโตเมชันและหุ่นยนต์กลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างรวดเร็ว

มุมมองจาก MM Thailand ภาพรวมอุตสาหกรรมมีสภาพคล่องและการเติบโตที่ดีมากขึ้นและส่งผลต่อการลงทุนในปี 2018 เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีแนวโน้มความต้องการสินค้ามากขึ้น โดยเอเชียถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำหรับตลาดการผลิตโลกซึ่งมีพื้นฐานมาจากประเทศจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันประเทศจีนถือเป็นความเสี่ยงขนาดใหญ่ต่อภาพรวมเศรษฐกิจหากเกิดปัญหาขึ้น แม้ว่าปี 2018 จะเป็นปีที่มีแนวโน้มที่ดี แต่ปัจจัยผลักดันการเติบโตนั้นไม่ได้ถูกกระจายออกจึงกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ด้วย ถือเป็นโอกาสในการแทรกตัวได้หากมีตลาดที่เข้มแข็งชัดเจนพอในการแบ่งส่วนแบ่งจากประเทศจีน”

แดนสยาม 4.0

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)

สำหรับประเทศไทยปัญหาภาวะแรงงานขาดตลาดและสังคมผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พึงระวัง ปี 2017 มีการขยายตัวของอุตสาหกรรม MPI อยู่ที่ 1.5 % และคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2.5% สำหรับปี 2018 โดยการเติบโตหลักของประเทศไทยอยู่ที่การส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ากลุ่มยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มการผลิตถึง 2.56%ได้ ทางด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากความต้องการ IC ที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบรับเทคโนโลยีอัจฉริยะและ IoT โดยกลุ่มเป้าหมายส่งออกที่มีการเติบโตสูงสุด คือ ยุโรป จีน และ CLMV ตามลำดับ

มุมมองจาก MM Thailand “เทรนด์ EV ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวังกระแสความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เปลี่ยนไปซึ่งเป็นปัญหาในระยะยาวการเติบโตของธุรกิจ แม้ภาครัฐจะมีการสนับสนุนและตลาดปัจจุบันอาจดูมั่นคงแต่การเปลี่ยนแปลงสู่ EV จะมาถึงไม่ช้าก็เร็วจากการขับเคลื่อนของเทรนด์และความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้อุตสาหกรรมในปี 2018 จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น แรงงานต้องมีความสามารถในด้านวัตกรรมรองรับการทำงานและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับตลาดที่เติบโตขึ้นในพริบตาซึ่งเป็นผลกระทบจาก Disruptive Technology ความรู้ความสามารถและไหวพริบจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับแรงงานยุคนวัตกรรม และตลาดอาชีพของช่างซ่อมบำรุงจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก”

นักวิเคราะห์ต่างประเทศ

Russel Investments

ในปี 2017 ถือว่าสถานการณ์ทั่วไปดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ กำแพงของความกังวลก่อตัวขึ้นภายใต้การชี้นำของ Donald Trump ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ในปี 2017 ประเทศจีนมีการเติบโตอันเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก สำหรับปี 2018 การเติบโตของสหรัฐฯ ในปี 2017 เป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ก็เปราะบาง ทำให้มีความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจและการลงทุนสูงตามขึ้น สำหรับยุโรปถือว่ากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว GDP เติบโตอย่างแข็งแรงแต่ต้องระวังเกี่ยวกับความอ่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น สถาบันการเงินในภูมิภาคยังไม่นิ่งเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม

สำหรับเอเชียแปซิฟิกแม้จะมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากแต่เป็นไปอย่างหนักแน่นมั่นคง โดยมีอัตราการเติบโตของ GDP 5% ในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการซื้อขายระหว่างภูมิภาค ในปี 2018 คาดการณ์ว่ามีการเติบโต 10% สำหรับ MSCI Asia Pacific Index ซึ่งการเติบโตหลักมาจากจีนที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 55% ของภูมิภาค สำหรับประเทศญี่ปุ่นอนาคตการลงทุนถือว่าสดใสเป็นผลจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิคปี 2020 เอเชียแปซิฟิกในปี 2018 เป็นปีที่มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในขณะที่ต้นทุนต่างๆ เริ่มมีราคาสูงขึ้นแต่ก็ยังเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจที่สุดในการเติบโตของปี 2018

Reuters

ในปี 2017 อุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดเนื่องจากความต้องการของตลาดและมาตรการที่รัดกุมยิ่งขึ้นของสถาบันการเงิน มีการเพิ่มดอกเบี้ยในธนาคารแต่ละภูมิภาคซึ่งประเทศเกาหลีเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีมาเลเซียและฟิลิปปินส์ตั้งเป้าเริ่มดำเนินการในปีหน้า

การผลิตของภูมิภาคยุโรปเดือนพฤศจิการยนเป็นช่วงเวลาที่งานเยอะที่สุดในรอบ 17 ปี ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเป็นแรงส่งไปจนถึงปลายปี 2017 โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่มีช่วงเวลาของอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่งผลการเติบโตในปี 2018 ในช่วงไตรมาสแรกด้วย

สำหรับฝั่งเอเชียมีการขยายโรงงานขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในขณะที่ปักกิ่งต้องพบเจอปัญหาด้านมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมจีน อินเดียเริ่มฟื้นตัวจากการถูกขัดด้วยภาวะภาษีที่เพิ่มขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอินเดียมีกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากที่สุดตั้งแต่การมัดมือผู้ประกอบการด้วยภาษีเมื่อช่วงต้นปี 2016 ทำให้เอเชียเป็นตลาดที่มีการเคลื่อนไหวสูงในปี 2018 ในขณะที่นักวิเคราะห์ต่างมองว่าจีนยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพราะการกระจุกตัวของการเติบโตนั่นเอง

Moody’s Investor Service

ในปี 2018 นั้นอุตสาหกรรมทั่วโลกมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี Moody คาดการณ์ว่า EBITDA จะเติบโตถึง 3.1% โดยมีตลาดผู้ใช้งานเป็นตัวผลกดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเกิดขึ้น โดยในกลุ่มประเทศ G-20 มี GDP ที่โตเกิน 3% และสำหรับประเทศเศรษฐกิจใหม่สามารถโตได้ถึง 5% จนถึงปี 2019

นอกจากนี้ดัชนีอุตสาหกรรมของ JPMorgan มีค่าสูงถึง 53.5 จุด ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงการขยายตัวที่เกิดขึ้น เป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิดทั่วโลก

Advancemanufacturing.org

ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งของสหรัฐอเมริกาสส่งผลให้อัตราการเติบโต 2% เกิดขึ้นได้ในภาคส่วนของอากาศยาน ยานยนต์ พลังงานและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งตลาดอากาศยานสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกได้ในขณะที่ตลาดของโลกกำลังหดตัวลงเป็นผลจากการก่อการร้าย การณีพิพาทกับเกาหลีเหนือและปัญหาด้านการบินระยะยาวโดยไม่ต้องพัก ด้วยความท้าทายของตลาดอากาศยานที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เป็นโอกาสของสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินสะพัดกว่า 8 หมื่นล้านในปี 2015 สร้างมูลค่าการส่งออกถึง 1.35 แสนล้านและด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มาพร้อม Lean และระบบ ERP ทที่ดียิ่งขึ้นคาดว่าผลิตภาพสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 40%

Focus-Economics

ด้วยตลาดแรงงานที่มีความแข็งแรง โครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานดีขึ้นและความต้องการสินค้าจากตลาดโลกที่เข้มแข็งทำให้เศรษฐกิจอาเซียนโตถึง 5.1% ในปี 2017 ทำให้ปี 2018 ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการเติบโตนี้และส่งผลให้กลุ่มประเทศอาเซียนเติบโตได้อย่างมาก

เมียนมาเป็นประเทศที่ถูกจับตามองว่ามีการเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคถึง 7.4% ตามมาด้วยกัมพูชา โดยประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีการเติบโตได้ถึง 3.6% ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 GDP เพิ่มขึ้น 4.3% สูงเกินความคาดหมายของตลาด ปัจจัยภายนอกเป็นตัวหลักในการผลักดันการเติบโตนี้ สำหรับภาคอุตสาหกรรมในปี 2018 มีการขยายตัวอยู๋ที่ 2.1% อย่างไรก็ตามการเติบโตนี้มีความเสี่ยงเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องกับกำหนดการเลือกตั้งที่จะประกาศในปีหน้าด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอแนะจาก MM Thailand 

จากการเติบโตของประเทศจีน ทิศทางตลาดอุตสาหกรรมโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น และโลกตะวันตกเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางพายุของการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็น Disruption Technology หรือภาวะสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน การวางแผนรับมือล่วงหน้าภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองของผู้ประกอบการชาวไทยจะเป็นไม้เด็ดที่สร้างจุดยืนอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก 2018 ได้ และหากอุตสาหกรรมในประเทศจีนเกิดความอ่อนไหวประเทศไทยสามารถกลายเป็นทางเลือกของนักลงทุนต่างชาติได้ โดยควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้

  1. ประเทศไทยควรพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มซ่อมบำรุง (สายปฏิบัติ) และวิศวกรควบคุม (สายทฤษฎี) เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานนวัตกรรม การดูแลรักษา และการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เปรียบเทคโนโลยีเป็นกล้ามเนื้อและระบบประสาท ในขณะที่มนุษย์เป็นมันสมองของการทำงานที่ไม่อาจขาดความรู้ในเชิงทฤษฎีและความสามารถ-ประสบการณ์ในการทำงานได้
  2. การเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเติบโตที่เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึงชั่วอายุคน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีการเติบโตก่อนหน้าทำให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่แตกต่าง ประเทศญี่ปุ่นที่เป็ฯเจ้าของนวัตกรรม หรือแม้แต่ประเทศรัสเซียที่ Mercedes ลงทุนสร้างโรงงานมูลค่าแสนล้านในขณะที่ประเทศจีนยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีความเข้มแข็งทางด้านยานยนต์กลับไม่ถูกเลือก บทเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสังเกตและวิเคราะห์เพื่อนำมาปรับใช้
  3. การประยุกต์สิ่งที่มีเข้ากับเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ เพื่อก่อให้เกิดการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง สร้างความยั่งยืน เพราะการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสามารถตัดความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างหรือย้ายฐานการผลิตได้ รวมถึงการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถป้อนตลาดภายในประเทศทำให้เกิดทุนหมุนเวียนภายในโดยไม่ต้องคอยพะวงกับการส่งออกเป็นหลัก

อ้างอิง:

  • https://russellinvestments.com/us/insights/global-market-outlook/asia-pacific-outlook
  • https://www.reuters.com/article/us-global-economy/global-manufacturing-buoyed-as-focus-shifts-to-rate-hikes-idUSKBN1DV3OC
  • https://www.moodys.com/research/Moodys-2018-outlook-for-global-manufacturing-is-positive-on-continued–PR_377214
  • https://www.focus-economics.com/regions/asean
  • https://www.focus-economics.com/country-indicator/thailand/manufacturing
  • https://www.biv.com/article/2017/12/outlook-2018-building-innovative-workforce-should-/
  • http://advancedmanufacturing.org/
  • http://www.oie.go.th
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924