Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

วิธีป้องกัน “อันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร” ที่คุณควรรู้

อุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นรวมไปถึงอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร ที่มีปัจจัยต่างๆ มากมาย การทำงานอย่างไม่ระมัดระวัง ใช้เครื่องจักรไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลให้ทรัพย์สินเสียหาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงมีผู้เสียชีวิต ฉะนั้นแล้ว การป้องกันเหตุอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรงงานต่าง ๆ อันตรายจากการทำงานกับเครื่องจักรมีสาเหตุใดบ้าง แล้วมีวิธีไหนที่จะช่วยป้องกันอันตรายเหล่านี้ได้ บทความนี้ได้รวบรวมข้อควรระวังต่าง ๆ มาให้คุณแล้ว 

อันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร มีอะไรบ้าง

จากสถิติของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ได้รายงานว่าระหว่างปี 2559 ไปจนถึง 2563 ลูกจ้างพบเจอกับอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักรสูงเป็นอันดับ 3 ของอันตรายจากการทำงานทั้งหมด ซึ่งในการทำงานกับเครื่องจักรมีสิ่งที่ต้องพึงระวังดังต่อไปนี้

1. อันตรายจากส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร 

เครื่องจักรหลาย ๆ ชนิด มีส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่หลายส่วน เช่น รอก สายพาน เพลา หรือสิ่งที่สัมพันธ์กัน รวมถึงเครื่องมือกล เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการตัด กระแทก หรือดึงอวัยวะของผู้ปฏิบัติงานและทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ เช่น การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ การขับรถฟอร์คลิฟต์ การใช้ลิฟต์โดยสารและลิฟต์ขนส่งวัสดุ การใช้ปั้นจั่น เป็นต้น

2. อันตรายจากแหล่งกำเนิดพลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักร

อย่างไรเสีย เครื่องจักรทุกชนิดก็จำเป็นที่จะต้องมีการจ่ายพลังงานเข้าไป เพื่อให้ตัวเครื่องจักรสามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า เชื้อเพลิง ก๊าซ แสงอาทิตย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือแรงดันลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หากไม่ระวังให้ดีแล้ว ก็จะสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ได้เช่นกัน เช่น การถูกช็อตจากกระแสไฟฟ้า การระเบิดจากเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ

3. อันตรายด้านกายภาพ 

เสียงดังจากการทำงานของเครื่องปั๊มโลหะ ความสั่นสะเทือนของเครื่องสกัด (Jack hammer) เครื่องตอกเสาเข็ม แสงจากเครื่องเชื่อม แสงจ้าประเภทต่างๆ ตลอดจนแสงตกกระทบของดวงไฟจากเครื่องจักร หรือแม้กระทั่งความร้อนและความเย็นที่เกิดจากเครื่องจักรทำงาน รวมไปถึงรังสีที่เกิดจากตัวเครื่องจักรเอง สิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักรที่ส่งผลต่อลูกจ้างได้โดยตรง

4. อันตรายด้านเคมี 

เพราะคนเราอ่อนแอต่อการได้รับสารเคมีต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายจำนวนมาก ซึ่งการทำงานกับเครื่องจักรเองก็ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านั้น ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Inhalable and Respirable Dusts) ละอองน้ำมัน (Oil mists) ก๊าซและไอระเหยของสารเคมี เช่น ไอกรดจากการชาร์ทแบตเตอรีสำหรับรถยกไฟฟ้า ไอระเหยของของเหลวไวไฟ แอลกอฮอล์ ฯลฯ และฟูมโลหะ (Metal Fume) เช่น ฟูมตะกั่ว ปรอท เป็นต้น

 5. ด้านการยศาสตร์

เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาด้านการยศาสตร์นั้นเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว และเป็น “ภัยเงียบ” ที่หลายคนมองข้าม เนื่องจากการทำงานในโรงงานมักไม่ได้มีการออกแบบเครื่องจักร และอุปกรณ์ให้เอื้อต่อสุขภาพของผู้ใช้งานมากเท่าใดนัก การทำงานในระยะยาว และงานที่ใช้เวลาครั้งละมากๆ มีแนวโน้มทำให้เกิดอาการปวดเอว ปวดหลัง อักเสบ ไปจนถึงอาการอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

ตัวอย่างที่พบได้ทั่วไปคือ การติดตั้งเครื่องจักรที่สูงเกินไป ต่ำเกินไป การนำอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานมาติดตั้งแทนที่นั่งหรือพนักพิง ที่อาจทำให้ทำงานได้ลำบาก สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพของพนักงานได้โดยไม่รู้ตัว

รวมสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร

สาเหตุเกิดจากผู้ปฏิบัติงาน

  1. การแต่งกายไม่รัดกุม การสวมเครื่องแต่งกายที่รุ่มร่าม มีเครื่องประดับมากมาย มักเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานกับเครื่องจักรได้ และอาจทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์อีกด้วย
  2. ขาดความตระหนักในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล คนจำนวนไม่น้อยมองว่าการทำงานไม่สะดวก มีความรู้สึกเกะกะในขณะใช้งานเครื่องจักร ซึ่งการขาดอุปกรณ์สวมใส่ หรือใช้งานอุปกรณ์ผิดประเภทอาจทำให้รับมือได้ยากเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
  3. สภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานไม่พร้อมที่จะทำงาน การขาดการพักผ่อน ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา รวมถึงความประมาท ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
  4. การขาดการฝึกอบรมการใช้งานที่ถูกต้อง การทำงานกับเครื่องจักรต่าง ๆ ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้อง การใช้งานเครื่องจักรโดยไม่มีความรู้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้

สาเหตุจากสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์

  1. เครื่องจักรชำรุด รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ประกอบ เช่น น็อตหลวม แท่นเครื่องหลวมคลอนไม่แน่น สายพานใกล้จะขาด เป็นต้น
  2. เครื่องจักรขาดระบบเซฟตี้การ์ด และการใช้เครื่องจักรที่ไม่มีระบบป้องกันอันตราย จะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อผู้ปฏิบัติงานได้ 

สาเหตุจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  1. ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในบริเวณปฏิบัติงาน มีวัสดุกีดขวางในระหว่างปฏิบัติงาน สร้างความลำบากในการปฏิบัติงานของลูกจ้าง
  2. สภาพโดยรอบมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ลูกจ้างในสถานที่ปฏิบัติงานมองเห็นไม่ได้ดีเท่าที่ควร
  3. สภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีการป้องกัน จะทำให้ความสามารถในการรับฟังไม่ดีพอ เกิดการสื่อสารผิดพลาด ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
  4. สถานที่ปฏิบัติงานมีเนื้อที่คับแคบ ไม่มีความสะดวกในการปฏิบัติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
  5. การระบายอากาศไม่ได้มาตรฐาน และการขจัดกลิ่นควันหรือไอพิษไม่ดีพอ ทำให้เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้หรือสารเคมีที่ระเหยได้รั่วไหล จะไม่สามารถระบายออกได้ทัน
  6. สถานที่ปฏิบัติงานไม่มีทางหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉิน ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เมื่อเกิดเหตุจำเป็นที่ต้องใช้ทางหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉิน จะไม่สามารถอพยพได้ทัน
  7. ขาดระบบป้องกันอัคคีภัย และอุปกรณ์ดับเพลิงที่ถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะไม่สามารถควบคุมการลุกลามของไฟได้
  8. ขาดการป้องกันระบบไฟฟ้าที่เหมาะสม ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ลูกจ้างประสบเหตุจนเสียชีวิต หรือลุกลามไปจนเกิดเป็นเหตุเพลิงไหม้ได้

ป้องกันอันตรายจากการทํางานกับเครื่องจักร ทำยังไงเพื่อเซฟตี้พนักงานให้ปลอดภัย

  1. ใช้เครื่องจักรด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามคู่มือหรือขั้นตอนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
  2. ห้ามใช้เครื่องจักร โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำหรือได้รับการอบรมมาก่อน
  3. ห้ามถอดอุปกรณ์นิรภัยหรือที่ครอบเพื่อป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรออกเด็ดขาด
  4. พนักงานทุกคนต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เหมาะสมในการทำงานกับเครื่องจักร
  5. ระมัดระวังอย่าให้มือหรือส่วนใดของร่างกายเข้าใกล้จุดหมุน จุดหนีบ หรือส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
  6. พนักงานที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักร จะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่กระชับ ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับเพราะอาจถูกเครื่องจักรดึงหรือหนีบได้
  7. ในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงาน ห้ามปรับแต่ง ทำความสะอาด หรือพยายามดึงชิ้นงานที่ติดขัดออก โดยที่ตัวเครื่องจักรยังไม่ได้หยุดทำงานทั้งหมด
  8. ในขณะที่ทำการซ่อมแซม ตรวจสอบ หรือแก้ไขเครื่องจักร ให้แขวนป้ายเตือน และใส่กุญแจล็อคตลอดเวลา
  9. ทำเครื่องกำบังสำหรับเครื่องจักรที่มีจุดหมุน จุดเหวี่ยง หรือจุดเคลื่อนไหว หรือทำแผงกันเพื่อแยกคนกับเครื่องจักรออกห่างจากกันหากทำได้
  10. ทำระบบตัดการทำงานอัตโนมัติ interlock เช่นหากพนักงานยื่นมือเข้าไปภายในบริเวณจุดอันตราย ระบบเซนเซอร์ก็จะตัดการทำงานของเครื่องจักรทันที
  11. หากพบว่าเครื่องจักรหรืออุปกรณ์นิรภัย ที่ครอบป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรชำรุด หรือได้รับความเสียหาย ให้รีบแจ้งหัวหน้างานทันที และไม่ควรปฏิบัติงานต่อ
  12. ทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน จะต้องมีการตรวจสอบสภาพเครื่องจักรอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องจักรไม่มีการชำรุด เสียหาย และมีสภาพดีพร้อมใช้งาน

การป้องกันอันตรายจากการที่ลูกจ้างของโรงงานต้องทํางานกับเครื่องจักร เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่โรงงานต้องพึ่งระลึก และรณรงค์พนักงานในฝ่ายปฏิบัติการณ์ของตน ให้ปฏิบัติตามระเบียบการป้องกันในการทำงานอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการเกิดอันตรายจากการที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรให้ได้มากที่สุด เพราะเหตุไม่คาดฝันเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ลูกจ้างของเราต้องเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตหรือพิการแล้ว ตัวโรงงานเองก็มีสิทธิที่จะถูกฟ้องร้องถึงมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุภายในตัวโรงงานด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า มีแต่ผลเสียเท่านั้นที่รออยู่เลยนั่นเอง


ซึ่งอีกหนึ่งทางที่จะป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานจากเครื่องจักรได้ คือการรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนอะไหล่ภายในตัวเครื่องจักรหรือบำรุงรักษา หรือทราบความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ระบบตรวจจับแบบไร้สาย (Wireless Sensing Solution) ของ Murata สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานแบบไร้สาย ทำให้นอกจากจะสามารถได้ข้อมูลสภาพเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังไม่จำเป็นจะต้องเดินระบบสายเคเบิลต่าง ๆ ให้ยุ่งยากอีกด้วย หากสนใจ สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลและดูตัวสินค้าได้ที่ เว็บไซต์ของทาง Murata ได้เลย

ติดต่อทีมงานขาย Thai Murata Electronics Trading, Ltd.

คุณเดชไชยนันท์ สอนโกษา (ทิว)
วิศวกรฝ่ายขาย
โทร: 080-142-0057 

คุณรชธร เอกนิตยบุญ (ปุ้)
วิศวกรฝ่ายขาย 
โทร: 081-132-4462  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924