Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

GULF เผยไตรมาส 1 ปี 66 กำไรโต 13%  จากธุรกิจพลังงานและส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH

GULF ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 กำไรจากการดำเนินงานโต 13%  จากธุรกิจพลังงาน และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 29,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จาก 22,453 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 3,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,257 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ครบทั้ง 4 หน่วย (รวม 2,650 เมกะวัตต์) ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564 – 2565 เทียบกับในไตรมาส 1/2565 ที่รับรู้รายได้และกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC เพียง 2 หน่วย (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ส่งผลให้กลุ่ม IPD มี Core Profit เท่ากับ 1,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 550 ล้านบาท หรือ 58% YoY 

อีกปัจจัยหนึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนที่ขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม โดยสาเหตุหลักมาจากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับค่า Ft เฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น โดย

Alaska Airlines ร่วม ZeroAvia สร้างเครื่องบินไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุด | FactoryNews ep.55 / 5 May 2023

ค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 441.56 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 496.39 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2566 และค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.0139 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 1.5492 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 1/2566 

นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) มีกำไรที่เพิ่มขึ้นจาก 36 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 103 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566 หรือเติบโตขึ้น 188% YoY เนื่องจากต้นทุนราคาไม้เฉลี่ยที่ลดลงจาก 1,120 บาท/ตัน เป็น 963 บาท/ตัน ในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำไร Core Profit ของกลุ่ม GJP ในไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 428 ล้านบาท ลดลง 31% YoY โดยสาเหตุหลักมาจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ IPP 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้ากัลฟ์ หนองแซง (GNS) และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ อุทัย (GUT) ที่ได้รับอัตราค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment Rate) ลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ในไตรมาส 1/2566 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH จำนวน 1,247 ล้านบาท โตขึ้น 13% จาก 1,100 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ AIS และรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ในประเทศโอมาน จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จครบทั้ง 326 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit เต็มไตรมาสจากโครงการที่เข้าลงทุนในปี 2565 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation จำนวน 282 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว Thai Tank Terminal จำนวน 73 ล้านบาท และจาก THCOM จำนวน 63 ล้านบาท โดยปัจจัยที่กล่าวข้างต้น สามารถชดเชยส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2  (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งในเดือนธันวาคม 2565 GULF ได้จำหน่ายหุ้น 50.01% ที่ถือใน BKR2 Holding ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้า BKR2 ให้แก่ Keppel Group ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2566 มีส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง 

 ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 8,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับ 7,075 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2565 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 28.0% เทียบกับ 31.5% ในไตรมาส 1/2565 โดยเหตุผลหลักมาจากกำไรของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ลดลงภายหลังจากที่จำหน่ายหุ้นใน BKR2 Holding ออกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565

กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 1/2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 3,850 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจาก 34.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 4/2565 เป็น 34.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 ซึ่งผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.62 เท่า สูงขึ้นจาก 1.56 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เนื่องจาก GULF ได้มีการออกหุ้นกู้จำนวน 20,000 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้บางส่วน รวมถึงได้เบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท 

 นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า สำหรับปี 2566 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปี 2566 ซึ่งยังเป็นไปตามแผน โดยโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ภายใต้กลุ่ม IPD หน่วยที่ 1 (662.5 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 และหน่วยที่ 2 (662.5 เมกะวัตต์) มีกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 ซึ่งมีกำหนดจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 90 – 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 GULF ได้เข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson Generation (1,200 เมกะวัตต์) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ส่งผลให้กำลังการผลิตในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,900 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับแผนธุรกิจของ GULF ในปี 2566 จะเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 40% ภายในปี 2578 ซึ่งจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และอังกฤษ

นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มว่า สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3  มีกำหนดจะถมทะเลแล้วเสร็จและจะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ในปี 2567 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีกำหนดจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 และ F2 ในปี 2569 และปี 2573 ตามลำดับ ในส่วนของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) นั้น มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 

นอกจากนี้ ความคืบหน้าของธุรกิจดิจิทัลยังเป็นไปตามแผน โดยธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนกับ Binance คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในเดือนมิถุนายน 2566 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการซื้อขายภายในสิ้นปีนี้ ส่วนธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ร่วมลงทุนกับ Singtel และ AIS นั้น มีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในกลางปีนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 2568

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924