Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

เยอรมนีปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรงสุดท้ายแล้ว

ประเทศเยอรมนีดำเนินการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เหลืออยู่ 3 โรงสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ตั้งเป้าเอาชนะความท้าทายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งกำเนิดพลังงานที่มีความเสี่ยงในหลากหลายมิติ แม้ในปัจจุบันจะมีความเสี่ยงด้านพลังงานหลากหลายปัจจัยก็ตาม

พลังงานนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ยุคใหม่ แต่ราคาของพลังงานที่ใช้ก็ตามมาด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือแม้แต่การกำจัดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่หมดอายุแล้วก็ตาม โดยหนึ่งในพลังงานที่ถูกมองว่าสามารถส่งมอบความยั่งยืนด้านพลังงานได้มากที่สุดตั้งแต่อดีต คือ พลังงานนิวเคลียร์ นั่นเอง

แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะสามารถสร้างพลังงานได้จำนวนมากและใช้งานได้ยาวนาน แต่ก็ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงระดับร้ายแรงด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย หลายครั้งจึงอาจมองได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นได้ไม่คุ้มเสีย ซึ่งเยอรมนีชาติที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีตั้งเป้าปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 โดยแผนดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2545 โดยโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เหลืออยู่ 3 แห่ง ได้แก่ Neckarwestheim, Isar 2 และ Emsland ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะประเทศญี่ปุ่นที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้กับเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว

เยอรมนีเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2512 แต่ได้ทยอยปิดเตาปฏิกรณ์รวมแล้ว 16 เตา นับตั้งแต่ปี 2546 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรงสุดท้าย ผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 6 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศในปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2540 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ทั้งหมดผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 30.8 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน เยอรมนีได้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากที่ไม่ถึงร้อยละ 25 เมื่อทศวรรษก่อน เป็นร้อยละ 46 ในปี 2565 และตั้งเป้าปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2581 โดยจะทยอยปิดระลอกแรกในปี 2573 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้ 1 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ

‘ปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์’ การแลกเปลี่ยนด้านพลังงานที่ไม่เท่าเทียม

การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นแม้จะเป็นการลดความเสี่ยงในหลากหลายมิติที่อาจเกิดขึ้นกับเยอรมนี แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดแหล่งพลังงานที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำออกจากซัพพลายเชน โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างที่หายไปของพลังงานนิวเคลียร์

ในการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นเยอรมนีตั้งเป้าทดแทนพลังงาน 6% ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 3 แห่งที่ถูกปิดลงไปด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบัน 30% ของพลังงานในเยอรมนีนั้นมาจากถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนของพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนที่มี ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลเยอรมนีได้ตั้งเป้าปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายไม่เกินปี 2038 และมีการตั้งเป้าการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 80% ภายในสิ้นทศวรรษนี้

แม้ว่าจะเลิกใช้งานแล้วก็ตามแต่นิวเคลียร์หรือสารกัมมันตภาพรังสีที่ถูกใช้งานนั้นยังต้องถูกกักเก็บและป้องกันไว้เป็นเวลากว่า 1 ล้านปีเพื่อความปลอดภัย โดยเยอรมนีมีแผนในการพัฒนาพื้นที่จัดเก็บที่ปลอดภัยและมาตรการที่เหมาะสมซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่า 100 ปี

ที่มา:
tna.mcot.net/
cnn.com

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924