Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

EEC –กนอ.-ปตท.เซ็น MOU สร้างห้องเย็นผลไม้

3 หน่วยงาน ร่วมลงนาม MOU สร้างห้องเย็นผลไม้ รับโครงการ EFC ภาคตะวันออก ดันไทยผงาดมหานครผลไม้โลก

เมื่อ 25 ม.ค.2564 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  (สกพอ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) เล็งสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดผลไม้ ยกระดับราคา ผลักดัน EFC เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เกษตรกรไทยในภาคตะวันออก  ได้ประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตามเป้าหมายของรัฐบาล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี    ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนแล้ว ภาคการเกษตรมีส่วนสำคัญเช่นเดียวกันโดยการยกระดับภาคตะวันออกเป็นมหานครผลไม้ของภูมิภาค และเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูง มีมาตรฐานระดับโลก ด้วยการสร้างห้องเย็นจัดเก็บผลไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี 

สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ให้พัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การค้า บริการ การท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งการจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ที่ใช้เทคโนโลยีในการยึดอายุการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรให้คงคุณภาพรสชาติเดิมได้นาน แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน การกำหนดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการตลาดของเกษตรกร ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการฯ 

“ตลาดกลางและห้องเย็นในพื้นที่สามารถรองรับผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอื่นที่ส่งเข้ามาวางจำหน่ายได้ โดยรูปแบบธุรกิจจะมีสินค้าของเกษตรกรโดยตรง หรืออาจจำหน่ายในนามสหกรณ์การเกษตร ผู้ค้าส่งผลไม้ ตลอดจนล้ง มาร่วมเลือกซื้อสินค้า และเมื่อตกลงซื้อจะนำผลไม้จากห้องเย็น มาจัดส่งทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งรูปแบบของโครงการจะมีการสร้างห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและพื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้ โดยใช้แนวทางประชารัฐที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯจะช่วยยกระดับภาคการเกษตรในพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายเห็นร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เน้นการให้บริการแก่ภาคเกษตร เพื่อเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากการใช้ห้องเย็น ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นมหานครผลไม้ของภูมิภาค 

โดยการจัดทำระบบทำความเย็น มีความสำคัญและจำเป็นมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีไม่เพียงพอกับปริมาณของผลผลิตที่ออกมา ซึ่งการพัฒนาโครงการฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง สกพอ. กนอ. และ ปตท.ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดย สกพอ.จะส่งเสริม สนับสนุนโครงการพัฒนาระบบห้องเย็น และโครงสร้างพื้นฐาน และสนันสนุนด้านสิทธิประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินงานกับ ปตท.รวมทั้งจะจัดหาเกษตรกร ภาคเอกชนและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเกี่ยวกับ Supply Chain ของคลังสินค้าความเย็นทั้งหมด เช่น การคัดแยก  การเช่าห้องเย็น  การบริหารขนส่ง  เป็นต้น  

ส่วนกนอ.จะดำเนินการลงทุนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อรองรับการดำเนินโครงการฯ โดยนางสาว สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.พร้อมสนับสนุนในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ที่ปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง และเตรียมนำเสนอคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองและคณะกรรมการ กนอ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเผยแพร่ TOR เพื่อให้มีการประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานก่อสร้างและควบคุมงาน โดยคาดว่าขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 

“นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นอกจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New         S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

 ขณะเดียวกัน ปตท.จะทำการศึกษาและพิจารณาการใช้ระบบทำความเย็นที่เหมาะสมกับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อ รักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการขายนอกฤดูกาล รวมทั้งออกแบบทางด้านเทคนิคสำหรับห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน (ในระยะที่ 1) โดยเป็นห้องเย็นในรูปแบบของ Multi-block Model และ Multi Purposes ที่สามารถรองรับทุเรียนหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้องเย็นให้มีการกระจายขายได้ตลอดทั้งปี 

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924