ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมล้วนแต่มุ่งเน้นผลกำไรที่เกิดจากการผลิต ซึ่งแม้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน กล่าวคือ เกิดการปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอุตสาหกรรม พื้นที่ป่าลดน้อยลง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศต่างๆ นำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ ปรากฎการณ์ Global Climate Change ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมไทยเท่านั้น หากแต่อุตสาหกรรมทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
สำหรับประเทศไทยได้มีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และกำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ภายในปี พ.ศ. 2561 ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงต้องเร่งปรับตัวพัฒนาทั้งมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และประการสำคัญ คือ มีความเกื้อกูลกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงเป็นกลไกสำคัญในการเติมเต็มความยั่งยืนให้ปรากฎเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
|
คุณลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ประการ
- มีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Emission) หรือมีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุด
- มีการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีละได้มาตรฐาน
- มีกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมสนับสนุนการผลิตที่ดี
- มีการเกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือสังคมโดยรอบ
สำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโรงงานที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต้องดำเนินงานครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ ซึ่งครอบคลุมเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งหมด 14 ประเด็น ได้แก่
- การใช้วัตถุดิบ
- พลังงาน
- การขนส่งและโลจิสติกส์
- โซ่อุปทานสีเขียว
- ภูมิทัศน์สีเขียว
- การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย
- การจัดการน้ำและน้ำเสีย
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การจัดการมลภาวะทางอากาศ
- ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน
- ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การกระจายรายได้ให้กับชุมชน
- การอยู่ร่วมกันกับชุมชนโดยรอบ
ทำไมต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
- มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานจำนวนมากในกระบวนการผลิต
- การแก้ไขปัญหามลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อมรายโรงงานไม่เพียงพอ
- ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จากภาคอุตสาหกรรมสะสมและเรื้อรัง โดยเฉพาะประเด็น “ภาวะโลกร้อน”
- ความต้องการในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการและอาศัยความร่วมมือ บทบาททุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- ความต้องการสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง สังคมอยู่ได้ อุตสาหกรรม อยู่รอด สิ่งแวดล้อมดีอย่างยั่งยืน
“อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ผู้ประกอบการทำแล้ว…ได้อะไร?
- การใช้วัตถุดิบ ทรัพยากรสนับสนุนและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดต้นทุนในการผลิตและบริการ ทั้งยังลดข้อขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรอีกด้วย
- ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบ สิ่งแวดล้อมจากการผลิตสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงานและคนในชุมชนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดความเข้าใจที่ดีและการยอมรับระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบลดข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
- เกิดการสร้างงานและการจ้างงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น มีการจ้างแรงงานที่เป็นธรรม พนักงานมีความปลอดภัย และมีความสุขกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี
- เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้คนในชุมชนโดยรอบสถานประกอบการอุตสาหกรรม มีรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้อย่างเป็นสุขและยั่งยืน
- สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ เป็นกลไกที่จะเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการในการป้องกันมลภาวะตั้งแต่แรกเริ่ม แทนการใช้หลักการบำบัดมลภาวะที่เกิดขึ้นในท้ายสุดของกระบวนการผลิต นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยังถือเป็นการสร้างงานควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
EXECUTIVE SUMMARY
Thailand has a policy to develop the industrial sector to maintain its balance of economic, community and environment within the ideal of sustainable development, which intend to develop an industrial ecology area idea to be solid in 2018. So, the entrepreneur and industrial factory owner must be provided quality managements for safety, resources and energy which reduce waste at the most and furthermore issue is to lend a hand to community and the people who involved.
Thus, industrial ecology development will be an important mechanism to fulfill the long-lasting activity to become true and it could provide job position along with raising environment.