Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

3DUJ-553 เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่เปลี่ยนความฝันให้มีสีสันมากกว่าที่เคย

ใครกำลังเบื่อที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติไม่มีสีสันอยู่หรือเปล่าครับ? หรืออยากจะทำสีสวย ๆ ต้องคอยสลับวัตถุดิบไปมา หรือต้องใช้เครื่องที่ผสมวัตถุดิบได้แต่ก็มีสีสันที่จำกัด หลังจากที่ได้ไปเดินชมงาน Intermach 2022 มาต้องบอกว่า 3DUJ-553 เครื่องพิมพ์เรซินจาก Mimaki เป็นอะไรที่เห็นแล้วก็อยากหยิบมาเล่าหยิบมาฝากกันเลยทีเดียวครับ แต่ทีเด็ดเรื่องสีหรือการใช้งานจะเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันเลยครับ

เทคโนโลยีการเติมเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing ซึ่งเรามักจะเรียกกันติดปากว่าการพิมพ์ 3 มิตินั้นเข้ามามีบทบาทอย่างมากในธุรกิจและภาคการผลิตยุคปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคนิคการผลิตไม่ว่าจะเป็นวัสดุพลาสติก เรซิน หรือโลหะการผลิตชิ้นงานที่มีสีสันจึงมักต้องผสมผสานเทคนิคต่าง ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นการสลับวัสดุ การเพิ่มช่องวัสดุหรือหัวพิมพ์ให้สามารถใช้งานได้ 2-3 วัสดุ ไปจนถึงการพิมพ์แล้วฉีดสีลงไปในขณะที่วัสดุยังคงสถานะเป็นของเหลว ในขณะที่การตกต่งพื้นฐานที่สุดเห็นจะเป็นการพ่นและเคลือบสีทีหลัง หลายครั้งการทำวัสดุสีที่มีความซับซ้อนอาจจบลงด้วยการผลิตเพื่อนำชิ้นส่วนมาประกอบกันภายหลังเพื่อให้ได้มิติที่ต้องการ

ปกติแล้วการพิมพ์ 3 มิติเรียกว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีชิ้นส่วนมากหรือรายละเอียดของชิ้นงานเยอะการพิมพ์แบบแยกส่วนก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก พอมาเป็นเรื่องสีสันก็ไม่ใช่ว่าวิศวกรหรือใครก็ได้จะมีทักษะในการลงสีด้วยเทคนิคต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้จึงกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาพยายามสร้างเทคนิคใหม่ ๆ มาตอบสนองเงื่อนไขที่เกิดขึ้น และล่าสุด Mimaki ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ 3 มิติจากญี่ปุ่นก็ได้เข็นเจ้า 3DUJ-553 เครื่องพิมพ์เรซิน 3 มิติออกมาสู่ตลาดด้วยความสามารถพิมพ์สีสันได้เลย และที่สำคัญมีเฉดสีให้เลือกใช้งานกว่า 10 ล้านเฉดเลย!

3DUJ-553 เปลี่ยนทุกฝันให้มีสีสันกว่าที่เคย

ต้องยอมรับว่าเห็นเครื่องครั้งแรกก็ว่าทรงแปลกแล้ว พอมาเห็นชิ้นงานก็นึกเสียว่า “เอ้อ สวยดี” พลางนึกเอาว่าน่าจะเป็นการพิมพ์แยกแล้วประกอบชิ้นส่วนเข้ากันทีหลัง ด้วยความสงสัยซึ่งมีที่มาจากความสวยงามของผลงานและรายละเอียดที่เห็นแล้วก็ทำให้นึกถึง Art Toy ได้ เลยเข้าไปสอบถามกับ Photonics Science Co., Ltd. ที่เป็นเจ้าของเครื่อง ผลลัพธ์ที่ได้นั้นแตกต่างออกไปจากที่คิดไม่น้อย

หุ่นยนต์สีสันสดสวยที่จัดแสดงไว้และมีสีใสปิดทับที่เห็นอยู่นี้เกิดจากการพิมพ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แถมยังเป็นวัสดุเรซินี่มีผิวสัมผัสอันน่าประทับใจ ซึ่งผิวสัมผัสที่เกิดขึ้นนี้เป็นผิวที่เกิดขึ้นหลังจากนำซัพพอร์ทชิ้นงานออกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องนำมาอบหรือตบแต่งพื้นผิวเพิ่มเติมแต่อย่างใด เรียกว่าเอาซัพพอร์ทออกปุ๊ป สวยปั๊ป ใช้ได้เลย

จุดเด่นของการพิมพ์นั้นอยู่ที่วัสดุต้นทางอย่างเรซินที่มีถึง 6 สีหลัก ได้แก่ Cyan, Magenta, Yello, Key, White และ Clear ซึ่งเมื่อนำมาผ่านซอฟต์แวร์ Slicer จาก Mimaki โดยเฉพาะแล้วการพิมพ์ชิ้นงานจะรองรับสีสันได้มากถึง 10 ล้านเฉดสี กระบวนการเติมเนื้อวัสดุจะเป็นการหยดสีลงในตำแหน่งที่ต้องการจากนั้นจึงใช้แสง UV เพื่อทำให้เรซินแข็งตัวและปรับระดับตามที่ต้องการ

ความเป็นไปได้ในการใช้งานจึงอาจจะไม่ได้หยุดอยู่แค่การผลิตชิ้นงานต้นแบบอีกต่อไป การมีสีสันที่หลากหลายนี้สามารถใช้ผลิตชิ้นงาน Custom ที่ตรงกับความต้องการและมีจำนวนไม่มากนักได้เป็นอย่างดี หรือใช้ในการผลิตเครื่องมือสื่อการสอนที่ไม่คุ้มกับการผลิตจำนวนมากได้ ยกตัวอย่างเช่น Art Toy ที่มีล็อตการผลิตจำนวนจำกัดหรือมีการปรับแต่งรายละเอียดตามคำขอ หรืออุปกรณ์สื่อการสอนด้านการแพทย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะภายในที่ต้องการรายละเอียดของสีสันไปจนถึงผิวสัมผัสบางอย่างที่เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญในการบ่งชี้ลักษณะบางอย่าง

ด้วยสีสันที่หลากหลาย ทำงานได้ง่ายผ่านซอฟต์แวร์ 3 มิติ การออกแบบจึงเป็นเรื่องง่าย และสามารถนำออกมาใช้ได้จริงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตแบบอื่นซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น เช่น ตัวอย่างการทำโมเดลบ้านไม่ว่าจะเป็นสำหรับสำนักงานขายหรือทำโมเดลเพื่อการศึกษา ซึ่งแต่เดิมต้องการทักษะเฉพาะทางและมีความแม่นยำในการแปลงข้อมูลจากแบบสู่วัตถุกายภาพในระดับสูง

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ก็แอบเดาราคาว่าน่าจะแรงแน่ ๆ แต่เอาเข้าจริงด้วยศักยภาพที่มี เฉดสีที่ได้ คุณภาพของงานที่ได้ลองสัมผัสแล้ว ต้องบอกว่าเป็นราคาที่ไม่แพงเลยสำหรับคุณสมบัติเหล่านี้ ซึ่งเอาเข้าจริงอยากให้หลายคนได้ลองหยิบจับหรือสัมผัสชิ้นงานดูก่อนด้วยซ้ำแล้วจะเข้าใจเลยว่า 3DUJ-553 น่าประทับใจแค่ไหนแม้แต่ในแง่มุมของคนใช้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่พิมพ์เสร็จแล้วเองก็เถอะ!

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924