Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

ถ้าคุณชอบเบียร์ เราคือเพื่อนกัน! ทำความรู้จักการผลิต Craft Beer ของดีที่ใครก็นิยม

แอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกิน-ดื่มที่มีมานานหลายร้อยหลายพันปี เกี่ยวข้องกับศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เบียร์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกเข้าถึงได้ ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการผลิตเบียร์ทั้งในรูปแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ SME และในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Craft Beer ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามรสนิยมและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิต วันนี้ผมอยากพาทุกคนเข้าไปรู้จักกับกรรมวิธีและเรื่องราวของ Craft Beer ที่น่าสนใจบางส่วนที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก

What is craft beer?

คำถามง่าย ๆ ที่หลายคนไม่รู้แต่ไม่กล้าถามให้ชัดเจน Craft Beer คืออะไร? แล้วมันแตกต่างจากเบียร์ที่ขายในตลาดกันเกลื่อนกลาดอย่างไร? หากแบ่งตาม Brewers Associations ของสหรัฐอเมริกาจะมีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อหลัก ดังนี้

  1. ต้องมีขนาดการผลิตขนาดเล็ก ที่ต่ำกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อปี หากเปรียบเทียบเป็นขวด 12 oz ต้องมีการผลิตน้อยกว่า 1,980 ล้านขวดต่อปี โดยกระบวนการผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดของสมาคมฯ
  2. เป็นอิสระ Craft Beer ที่ผลิตหรือเป็นเจ้าของโดยผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ถือเป็น Craft Beer
  3. ต้องได้รับการรับรองจาก TTB Brewer’s Notice และทำการผลิตเบียร์อย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่

  • จุดเด่นของ Craft Beer อยู่ที่การคิดค้นผสมผสาน จึงมักเป็นการนำวิธีบ่มตามประวัติศาสตร์มาดัดแปลงให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น
  • มีวัตถุดิบมาตรฐาน เช่น มอลต์ บาเลย์ เป็นส่วนประกอบมาตรฐาน และในบางครั้งประยุกต์ใช้ส่วนผสมอื่น ๆ มารวมด้วยเพื่อสร้างจุดเด่น

จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญที่ใช้บ่งบอก Craft Beer คือ กำลังผลิตขนาดเล็กและความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมี Craft Beer จำนวนมากที่จัดจำหน่ายในประเทศ แต่เชื่อหรือไม่กว่าเกือบทั้งหมดเป็นสินค้านำเข้า แทนที่จะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีทรัพยากรมากมาย

ชาติไหนก็นิยม แต่ยาขมของรัฐไทย?

Craft Beer ในประเทศไทยนั้นไม่สามารถถูกผลิตขึ้นมาได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ตลาดการผลิต Craft Beer ในไทยนั้นสวนทางกับความต้องการและความเป็นจริง ซึ่ง Craft Beer สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

จากข้อมูลของ Brewers Associations แห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ในปี 2018 นั้นยอดขายเบียร์ในประเทศตกลง 1% แต่สำหรับ Craft Beer นั้นมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นสัดส่วน 13.2% จากยอดขายทั้งหมด หรือเป็นมูลค่ากว่า 27,600 ล้านดอลลาร์​สหรัฐฯ โดยในปี 2017 สร้างเม็ดเงินมูลค่ากว่า 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานกว่า 5 แสนตำแหน่ง สำหรับตลาดในยุโรปเองตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 13% คาดว่าภายในปี 2022 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า Craft Beer นั้นสร่างมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก กลับกันประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น?

จากข้อมูลของกรุงเทพธุรกิจ (โดย TDRI) พบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้า Craft Beer ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีมูลค่านำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของมูลค่าตลาดเบียร์ไทยซึ่งมีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านี้เกิดจากการนำเข้า 100% รายได้ตกอยู่กับผู้ผลิตในต่างประเทศและผู้นำเข้าไม่กี่ราย นำมาซึ่งคำถามถึงช่องโหว่ในโอกาสที่มีนี้

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ตามกฎข้อ 2 วรรค 1 ประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณสมบัติการผลิตสุรากลุ่มสุราแช่ ชนิดเบียร์ ต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของจํานวนหุ้นทั้งหมด โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชําระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท และกฎข้อ 4(1) โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์เพื่อขาย ณ สถานท่ีผลิต ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนลิตรต่อปีและไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี นอกเหนือจากกรณีนี้ต้องมีขนาดกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่าสิบล้านลิตรต่อปี

ในความเป็นจริงการผลิต Craft Beer ให้มีคุณภาพนั้นสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กไม่จำเป็นเงินลงทุนจดทะเบียนถึง 10 ล้านบาทก็ได้ รวมถึงการขายซึ่งไม่ใช่การขาย ณ สถานที่ผลิต (เช่นโรงเบียร์) ทำให้ต้องมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี เห็นได้ชัดว่าข้อกำหนดเหล่านี้เป็นการกีดกันการผลิตของผู้ผลิตรายเล็ก โดยหนึ่งในทางออกที่ผู้ผลิตบางรายได้ดำเนินการเพื่อให้สามารถทำการจัดจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำกลับมาจัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน แทนที่จะเป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ

“การสนับสนุนให้มีการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรให้เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เท่ากับสนับสนุนให้มีการดื่มแอลกอฮอล์”
พิธา ลิ้มเจริญ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่

แน่นอนว่าความเข้มข้นของจริยธรรมและปัญหาที่เกิดจากการมึนเมาในประเทศไทยที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องอาจถูกหยิบมาเป็นประเด็นโต้แย้ง แต่เรามองว่าการเปิดกว้างผลิตคราฟท์เบียร์นั้นเป็นคนละประเด็นกับการส่งเสริมให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรายังคงสนับสนุน พรบ. ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ให้มีผลบังคับใช้ไปตลอด และอยากให้คนไทยรู้จักบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ

แต่ในขณะที่เราอนุญาตให้อุตสาหกรรมรายใหญ่ผลิตเบียร์ได้ ด้วยเชื่อว่าสามารถรณรงค์สร้างค่านิยมความรับผิดชอบในการดื่ม สังคมที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมได้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว) ทำไมการสนับสนุนให้เกิดการผลิต Craft Beer อย่างถูกต้องในประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้?

ทำไมต้อง Thai’s Craft Beer?

ในฐานะคนที่ลุ่มหลงกับความรุ่มรวยของรสชาติอาหารอันเลิศรสในประเทศไทย ขอบอกอย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่าผลิตภัณฑ์อาหารและการแปรรูปอาหารของเมืองไทยนั้นมีรสชาติที่โดดเด่น แตกต่าง และมีเสน่ห์อย่างไม่รู้ลืม แน่ใจได้เลยว่าวัตถุดิบของไทยทั้งหลายสามารถหมักบ่มเกิดเป็นเบียร์ที่มีจุดเด่นได้อีกมากมาย อาทิ เบียร์ที่ผสมสมุนไพร เช่น ตะไคร้ หรือเบียร์ผลไม้อย่าง ลำไย สับปะรด หรือเครื่องเทศต่าง ๆ

ปัจจุบันผู้ผลิต Craft Beer ไทยมีการทดลองผลิตโดยใช้ผลไม้ หรือสมุนไพรไทยจำนวนมาก ทั้งยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้ผลิตรายใหญ่เห็นโอกาสในตลาดนี้และเริ่มสวมรอยใส่หนังแกะโดยการใช้กรรมวิธีการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนสูตรส่วนผสมบางประการ ผลิตออกมาในจำนวนที่น้อยกว่าปรกติของการผลิตตัวเอง และในบางรายมีการโปรโมทว่าตัวเองนั้นเป็น Craft Beer โดยมีการจัดจำหน่ายเป็นวงกว้างซึ่งในท้ายที่สุดก็ยังเป็นการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ที่อยากชุบตัวกับเทรนด์ที่กำลังมา ทำให้ความหลากหลายจำนวนมากจากกลุ่มการผลิตขนาดเล็กและกลางไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และรายใหญ่ยังคงพยายามแทรกแทรง ควบคุมตลาดอยู่เช่นเดิม

การเปิดโอกาสทางการแข่งขันจะทำให้เกิดความหลากหลายของสินค้าที่มีอัตลักษณ์จากพื้นถิ่นไทย ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นจุดขายที่มีความแข็งแกร่งได้เป็นอย่างดีด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรที่มีนับไม่ถ้วนในประเทศไทย

รู้จักวัตถุดิบ ‘เบียร์’ แบบ Craft

คุณรู้กันไหมว่าเบียร์เลิศรสที่คุณชอบดื่มนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง? ส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญของเครื่องดื่มอย่างเบียร์นั้นประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 4 อย่าง ได้แก่

น้ำ แน่นอนว่าน้ำ คือ ส่วนประกอบสำคัญของเบียร์ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 95% ซึ่งคุณภาพของน้ำบริสุทธิ์นี่แหละที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อเบียร์

ยีสต์ ยีสต์ คือ วัตถุดิบที่เปลี่ยนส่วนผสมสีน้ำตาลอันแสนหวานให้กลายเป็นเบียร์ โดยเจ้าเซลล์เดี่ยวนี้จะกินน้ำตาลและเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ หรือจะเรียกกันอย่างง่ายว่าก่อให้เกิดกระบวนการหมักนั่นเอง

ธัญพืช วัตถุดิธัญพืชที่นิยมใช้ในการหมักเบียร์ คือ บาร์เลย์ ในขณะเดียวกันยังมีสูตรการหมักที่ใช้วัตถุดิบอื่น ๆ อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด หรือแม้กระทั่งข้าวเจ้า ถ้าหากคุณใช้กระบวนการผลิตแบบใช้ธัญพืชครบถ้วนคุณจะต้องซื้อข้าวบาร์เลย์ทั้งครบทั้งรวง แต่ถ้าใช้กระบวนการสกัดจะสามารถเลือกซื้อบาร์เลย์มอลต์ ซึ่งเป็นส่วนของน้ำตาลและแป้งที่สามารถละลายน้ำได้ง่ายซึ่งเหมาะต่อการหมัก

ฮอพ กุญแจสำคัญที่ทำให้เบียร์สามารถปรับกลิ่นและรส ทั้งยังสามารถจัดการกับความหวานที่หลงเหลือจากกระบวนการหมัก ทั้งยังทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอีกด้วย

ภายใต้วัตถุดิบเหล่านี้กระบวนการหมักบ่มจะเป็นตัวบ่งบอกความซับซ้อนของรสชาติที่เกิดขึ้น โดยรูปแบบการหมักบ่ม 2 รูปแบบที่นิยมหลัก ๆ  ได้แก่ 

Lager การหมักแบบให้ยีสต์นอนก้น

Ale การหมักแบบยีสต์ลอยผิวด้านบน

สำหรับจุดเด่นของส่วนผลิต Craft Beer อยู่ที่ความสามารถในการ ‘กล้า’ ที่จะลองส่วนผสมพิเศษต่าง ๆ ที่จะทำให้รสชาติ กลิ่น และสัมผัสของเบียร์ออกมาแตกต่างกันไปตามรสนิยม ส่วนผสมพิเศษเหล่านี้อาจเป็นธีญพืช สมุนไพร หรือผลไม้ต่างไม่ว่าจะเป็นผลไม้ท้องถิ่นหรือนำเข้าก็ได้

สำหรับการผลิตโดยโรงงานหรือผู้ผลิตขนาดใหญ่นั้นต้องผลิตเป็นจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงที่จะขายไม่หมดหากรสชาติไม่ถูกใจตลาด ในขณะที่ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กที่ผลิตจำนวนน้อยนั้นสามารถทดลองการผลิตด้วยวัตถุดิบแปลก ๆ และสามารถทดลองตลาดขนาดย่อมได้ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ความเล็กและความคล่องตัวจะทำให้เกิดการแข่งขัน เติบโต มีการผลิตสินค้าเพื่อทดลองสูตรได้หลากหลาย มีความน่าสนใจ และเข้าถึงผู้คนได้เร็วกว่ารายใหญ่ในตลาด

ปัจจุบันผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในตลาดพยายามเข้ามามีส่วนในตลาด Craft Beer ด้วยการผลิตแบบทดลองจำนวนน้อย(แต่ก็ยังถือว่าเยอะอยู่)และโปรโมทในฐานะ Craft Beer ทั้งยังมีความสามารถในการกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงและตัวบทกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ทำให้ส่งเสริมสภาพผูกขาดทางการค้าในปัจจุบัน

กว่าจะ Craft มาเป็นเบียร์ได้

การผลิต Craft Beer นั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการผลิตเบียร์โดยทั่วไปมากนัก สิ่งที่แตกต่างหลัก คือ กำลังการผลิต และไอเดียในการพัฒนาเบียร์เป็นหลัก มีขั้นตอนการผลิตเบื้องต้นดังนี้

  1. Malting ธัญพืชงอก

ขั้นแรกของการทำเบียร์ คือ Malting หรือทำธัญพืชงอก วัตถุดิบพื้นฐานที่นิยมใช้ในการผลิตเบียร์โดยมากมักเป็นมอลต์ ดังนั้นเมื่อข้าวบาร์เลย์มาแล้วจะทำการเติมน้ำให้ชุ่มในกล่องเก็บเพื่อให้เกิดกระบวนการงอกซึ่งเป็นการสร้างเอนไซม์ Amylase ซึ่งจำเป็นต่อการย่อยแป้ง จากนั้นจะถูกนำไปทำให้แห้ง

  1. ทำการบดหรือสกัดธัญพืช

เมื่อเตรียมความพร้อมวัตถุดิบแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การบดหรือการสกัดให้เป็นแป้งเพื่อง่ายต่อการละลายน้ำ ซึ่งมีหลายเกรด ไม่ว่าจะเป็นการบดละเอียด การบดทุกส่วนผสม หรือเลือกบดเฉพาะส่วนแป้งเป็นต้น

  1. แปลงวัตถุดิบเป็นน้ำหมัก

นำธัญพืชที่ผ่านกระบวนการสกัดแล้วผสมเข้ากับน้ำร้อนเพื่อสร้างน้ำหมัก กระบวนการหมักจะเกิดขึ้นจากเอนไซม์ธรรมชาติในธัญพืช เช่น มอลต์ เพื่อเปลี่ยนแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล

  1. กรองแยกกาก

กระบวนการแยกธัญพืชกับน้ำที่ผ่านการหมักด้วยเอนไซม์แล้วนั้นแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ การแยก Wort ซึ่งเป็นของเหลวที่ได้จากการหมัก และจากนั้นจะทำการล้างกากที่เหลือด้วยน้ำร้อนอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ Wort ครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งกากเหล่านี้สามารถนำมากรองซ้ำได้โดยกระบวนการ Recitculate ซึ่งทำให้ Wort ที่ได้นั้นมีความใสขึ้น และกากที่เหลือสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้เนื่องจากมีโปรตีนสูง เช่น อาหารสัตว์

  1. การต้ม

Wort จะถูกต้มภายใต้อุณภูมิควบคุม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Sterilized ก่อนที่จะทำการเติมฮอพลงไป ทำให้โปรตีนตกตะกอนและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ 

  1. การทำให้เย็นลงและตกตะกอน

Wort จะถูกนำเข้าไปสู่ Whirlpool หรือเครื่องช่วยตกตะกอน อนุภาคฮอพที่ไม่ละลายเข้ากับน้ำจะถูกเหวี่ยงและจับตัวเป็นก้อนทรงกรวย Wort ที่ผ่านกระบวนการจะมีลักษณะใสและถูกลดอุณภูมิจนอยู่ในช่วง 10 – 20 องศาเซลเซียส

  1. การหมัก

ขั้นตอนนี้เองเป็นขั้นตอนที่สร้างชนิดและเอกลักษณ์ของเบียร์ชัดเจนอีกขั้นตอนหนึ่ง ถังหมักจะถูกเติมยีสต์ชนิดพิเศษลงไปซึ่งจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ รสชาติจะขึ้นอยู่กับยีสต์ที่ใช้ว่าจะเป็นยีสต์หมักแบบลอยผิวด้านบน หรือยีสต์หมักแบบนอนก้น รวมถึงการเตรียม Wort อีกด้วย

  1. บ่ม

การบ่มนั้นจะเป็นการพัฒนารสชาติ กลิ่น และสัมผัสให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ซึ่งใช้เวลาแตกต่างกันไปตามสูตร อาจใช้เวลา 3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน อนุภาคที่เหลือจะกองที่ก้นถัง เบียร์จะมีความใสและเริ่มพัฒนาสีที่มีลักษณะเฉพาะ

  1. การกรอง

เป็นการเก็บรายละเอียดขั้นสุดท้ายเพื่อให้ได้สีสันและความใสขั้นสุดท้าย ซึ่งตัวกรองเองสามารถสร้างเอกลักษณ์โดยขึ้นอยู่กับความถี่ของตัวกรองอีกด้วย

  1. การบรรจุ

การบรรจุขวดหรือกระป๋องถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการขนส่งเพื่อจัดจำหน่าย

ในการเสริมแต่งด้วยวัตถุดิบพิเศษอย่างผลไม้ สมุนไพร หรือเครื่องเทศ นั้นไม่มีกฎตายตัวว่าต้องทำการผสมที่ขั้นตอนไหนอย่างไรจึงจะดีที่สุด เนื่องจากรสชาติเป็นอีกหนึ่งรสนิยมที่ความชอบของแต่ละคนแตกต่างกันไป การเติมส่วนผสมพิเศษเหล่านี้อาจทำในขณะกำลังต้ม Wort เติมตอนกำลังบ่ม หรือใส่ลงไปในขวดก็ได้เช่นกัน หรือหากมีสูตรดั้งเดิมอยู่แล้วก็สามารถลองปรับเปลี่ยนชนิดของยีสต์ ฮอพ หรือเพิ่มลดปริมาณของมอลต์ก็ได้

ปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พยายามผลักดันให้ Craft Beer แบบไทย ๆ กลายเป็นกิจการที่สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความชอบ หรือเหตุผลของโอกาสทางเศรษฐกิจ 

ต้องยอมรับว่า Craft Beer นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการกิน-ดื่มได้โดยตรง เมื่อกฎหมาย จริยธรรมและความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน ทำให้คนไทยหรือผู้สนใจ Craft Beer ต้องผลิต ‘นอกบ้าน’ เพื่อนำกลับมาขาย ‘ในบ้าน’ อย่างน่าเสียดายโอกาส ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยซึ่งมีศิลปะในการกินที่ละเอียดอ่อน (สังเกตได้จากความยุ่งยากในการปรุงอาหารไทยแต่ละอย่าง) จะมีลิ้นที่สามารถนำไปสู่การผลิต Craft Beer เลิศรสที่ไม่ว่าใครได้ลองก็ต้องจดจำได้ว่า Craft Beer ของไทยมีรสชาติไม่เป็นรองใคร และสร้างความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มขนาดกลาง-เล็กได้อย่างแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง:
“ทิม พิธา” ชี้โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรยังเป็นที่ต้องการอีกมาก!

อ้างอิง:
Craftbeer.com/beer/what-is-craft-beer
Brewersassociation.org/statistics-and-data/craft-brewer-definition/
Blog.wishbeer.com/เบียร์/คราฟท์เบียร์/
Thenationalherald.com/225013/craft-beer-market-in-europe-2018-2022/
52brews.com/how-to-make-beer
Th.liq9.asia/blog/type-of-beer.html
Tdri.or.th/2019/04/th-craft-beer-industry/
Authorstream.com/Presentation/Chanasut-1157906-industiral-botany-beer-02/
Braeuamberg.at/en/brewing-process/
Brewcabin.com/adding-spices-to-beer/
Thekitchn.com/5-easy-ways-to-change-up-your-beer-next-time-the-kitchns-beer-school-2015-217264
Ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/095/59.PDF
Belmont-station.com/keg-info-policy

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924