Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

Cobot แตกต่างจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปอย่างไร?

หลังจากได้พบเห็นและได้อ่านบทความเกี่ยวกับ Cobot หรือ Collaborative Robot กันมามากมาย อาจยังมีคนสงสัยในความต่างที่ชัดเจนระหว่างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปกับหุ่นที่เรียกกันว่า Cobot นั้นแตกต่างกันอย่างไร ในวันนี้ขอเล่าถึงความแตกต่างระหว่าง Cobot และหุ่นยนต์อุตสากรรมที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

Cobot แตกต่างจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปอย่างไร?

รู้จัก Cobot และ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

แนวความคิดของ Cobot หรือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1995 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจาก General Motors และแนวความคิดนี้กลายเป็นจริงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีให้หลังนี้ จุดมุ่งหมายของ Cobot คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ซึ่งไม่ต่างกับแนวความคิดจากหนังหรือนิยาย Sci-Fi ที่หุ่นยนต์สามารถโต้ตอบและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ในส่วนของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตนั้นการใช้งานสำหรับอุตสาหกรรมนั้นต้องการความรวดเร็วและแม่นยำสูงซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าการทำงานของมนุษย์ ในบางสายการผลิตยังต้องการการรองรับน้ำหนักที่มาก เช่น สายการประกอบยานยนต์ จะเห็นได้ว่าการทำงานของอุตสาหกรรมนั้นเป็นการทำงานในศักยภาพที่มนุษย์ไม่อาจเอื้อมถึงเพื่อเพิ่ม Productivity ตอบรับการผลิตจำนวนมาก

ความสามารถในการทำงานของหุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบนั้นส่งผลโดยตรงต่อวัสดุ โครงสร้าง มอเตอร์ รวมถึงระบบคำสั่งสร้างความแตกต่างซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัย รูปแบบการทำงานรวมถึงต้นทุนในการใช้งานอย่างชัดเจน

ความแตกต่างของ Cobot กับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

แม้หุ่นยนต์ทั้งสองแบบจะสามารถทำงานในสายการผลิตได้ แต่ขอบเขตการทำงานและศักยภาพนั้นมีความแตกต่างกัน โดยบทความนี้ได้จำแนกความแตกต่างออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. ลักษณะภายนอก

  • Cobot ส่วนมากจะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากหรือมีน้ำหนักเบา ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย
  • วัสดุสำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมักเป็นโลหะหรือวัสดุที่แข็งแรงทนทานเนื่องจากลักษณะการทำงานรวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง ในขณะที่ Cobot สามารถใช้วัสดุทดแทนที่มีความแข็งแรงหรือโลหะที่มีน้ำหนักเบาได้ทำให้ปัญหาที่เกิดจากการกระแทกของหุ่นยนต์ลดความรุนแรงลงไปได้
  • การควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมี PLC ในขณะที่ Cobot หลายรุ่นไม่ต้องการ PLC เนื่องจากมีระบบประมวลผลติดตั้งพร้อมใช้และทำการควบคุมผ่านหน้าจออุปกรณ์เคลื่อนที่ได้

2. การใช้งาน

  • Cobot สามารถทำงานเป็นส่วนหนึ่งของทีมปฏิบัติงานของแรงงานได้ด้วยระบบกล้องตรวจจับที่สามารถแยกแยะชิ้นส่วนและเพื่อนร่วมงานได้ ในขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะทำงานตามคำสั่งเท่านั้นโดยไม่มีการเฝ้าระวังใดๆ นอกจากติดตั้งเซนซเอร์ในพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อทำการหยุดพักงานระหว่างที่มีมนุษย์เดินผ่าน
  • ไม่มีอันตรายจากการเคลื่อนไหวของ Cobot ซึ่งมีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลและปลอดภัยมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทำให้ไม่จำเป็นต้องมีรั้วกั้นป้องกันความปลอดภัย นอกจากนี้หาก Cobot เคลื่อนไหวปะทะแรงงานสามารถตั้งค่าให้หยุดทำงานได้หรือในหุ่น Cobot หลายรุ่นพบว่าแรงกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเบาบางมากเมื่อเกิดการปะทะหุ่นยนต์จะไม่สามารถดันแรงงานให้เคลื่อนที่ได้
  • Cobot สามารถติดตั้งและพร้อมสำหรับการใช้งานได้รวดเร็วกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาก นอกจากนี้ยังรอรับการติดตั้งในพื้นที่ที่มีขนาดไม่มากรวมถึงติดตั้งบนพื้นผิวได้หลากหลายกว่าอีกด้วยในขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนั้นต้องการพื้นที่สำหรับการทำงานและะอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ
  • Cobot ส่วนใหญ่มาพร้อมกับทักษะการเรียนรู้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสอนการเคลื่อนไหวการทำงานได้อย่างง่ายดายแตกต่างจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ต้องใช้การเขียนโปรแกรมและป้อนค่าการทำงานเป็นหลัก หากเป็นการป้อนคำสั่ง Cobot นั้นสามารถตั้งค่าได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายมีโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันสำเร็จรูปมาให้ใช้งานทันที
  • การทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า Cobot เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตจำนวนมากได้เป็นอย่างดีเนื่องจากเน้นศักยภาพในการทำงานเป็นหลัก ทำให้พื้นที่โดยรอบนั้นต้องมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น รั้วกั้น เซนเซอร์หยุดการทำงาน

3. ภาคการลงทุน

  • ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสำหรับ Cobot นั้นมีน้อยกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เนื่องจากหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต้องการส่วนประกอบมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย PLC แต่ในขณะเดียวกันด้วยความสามารถในการทำงานที่รวดเร็วของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทำให้ ROI หรือความสามารถในการคืนทุนนั้นดีกว่า Cobot
  • ต้นทุนสำหรับการใช้งานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสูงกว่า Cobot เป็นผลจากการซ่อมบำรุงรักษา การใช้พลังงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีราคาสูงกว่า ในขณะที่ Cobot สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ความแตกต่างหลักระหว่าง Cobot และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม คือ สมรถนะในการทำงาน ความปลอดภัย และต้นทุน ซึ่งการเลือกใช้งานขึ้นอยู่กับปัจจัยการทำงานที่หลากหลาย อาทิ กำลังผลิต ลักษณะงานที่ต้องทำ พื้นที่การผลิต หรือน้ำหนักของสิ่งที่ต้องผลิตเป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติตอนนี้ประเทศไทยมีศูนย์เรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติซึ่งพร้อมสนับสนุนนักอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่


อ้างอิง:

  • Hannovermesse.de/en/news/robot-or-cobot-the-five-key-differences.xhtml
  • Hmkdirect.com/news/cobot-vs-robot/
  • Koops.com/cobots-vs-robots-difference/
  • Machinedesign.com/motion-control/what-s-difference-between-cobots-and-industrial-robots
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924