Thursday, October 31Modern Manufacturing
×

Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ต้องเกิดขึ้นก่อนโลกหยุดหมุน

ศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสำคัญของสภาพแวดล้อม มลภาวะ และทรัพยากรที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรมากที่สุด ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้อยู่ในสภาพเลวร้ายอย่างมาก สามารถนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่โตมโหฬารอย่างคาดไม่ถึง เช่น การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์จากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

Circular Economy

เศรษฐกิจหมุนเวียน อะไร? ทำไม? เมื่อไหร่? อย่างไร?

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบที่ตั้งใจให้เกิดการฟื้นฟูและการนำทรัพยากรทั้งหมดกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งเพื่อลดการผลาญทรัพยากรบนโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งยังเป็นการลดมลภาวะที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานด้านอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทำไม?

เศรษฐกิจหมุนเวียนกลายเป็นประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมและโลกยุคปัจจุบัน ถ้าจะให้ใกล้ชิดกับหลายคนอาจต้องยกประเด็นของฝุ่นควันมลพิษที่หนาหูหนาตาในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่เชียงใหม่ที่กลายเป็น Silent Hill ทุก ๆ ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน มิหนำซ้ำยังหนักหนาขึ้นทุกปีอีกด้วย แม้แต่ใน Social Network มิตรสหายของบางคนต้องเสียเลือดเสียเนื้อนอนโรงพยาบาลกันไปก็มี รู้หรือไม่ว่าในปี 2018 นั้นมีการปล่อยก๊าซ CO2 นั้นสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ในมิติของทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลงจนจะไม่เหลืออะไรให้ใช้ในอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ การบริหารทรัพยากรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะวัตถุดิบ น้ำ ของเหลือต่าง ๆ ให้สามารถกลับมาใช้ในระบบได้และหมุนวนไปจนถึงที่สุดแล้วนั้นอีกนัยหนึ่งยังหมายถึงช่วงเวลาพักฟื้นและฟูมฟักให้ทรัพยากรธรรมชาติมีสภาพที่ดีขึ้นได้อีกด้วย แน่นอนว่าถ้าทรัพยากรหมดโลกมนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือถ้าทรัพยากรยังไม่หมดแต่สภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเสียก่อน จุดจบในประเด็นนี้ก็ไม่ต่างกัน… สูญพันธุ์อยู่ดี

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้ทรัพยากรมากที่สุด รวมถึงมีของเสียเกิดขึ้นจำนวนมากทำให้ภาคอุตสาหกรรมกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญตัวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการรายงานผลกันอย่างชัดเจน ได้แก่

  • ปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็ก PM 2.5
  • ภูมิอากาศและฤดูแปรปรวน
  • การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด คาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 1-4 ฟุต ในปี 2100
  • คลื่นความร้อนที่เข้มข้นและร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อไหร่?

ถ้าถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันเกิดขึ้นมานานแล้วครับ และเหมือนปรากฎการณ์หิมะกลิ้ง (Snow Ball) ที่ยิ่งนานวันยิ่งสะสมแล้วทวีความรุนแรงขึ้นเหมือนลูกบอลหิมะที่กลิ้งลงจากยิดเขาแล้วมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  และแน่นอนว่าวันนึงมันจะใหญ่โตเกินกว่าที่เราจะรับมือไหว

แต่ถ้าถามว่า เริ่มต้นเปลี่ยนเมื่อไหร่? ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้เลย ในภาพใหญ่รัฐบาลหลากหลายประเทศได้มีโครงการสนับสนุน รณรงค์ และออกนโยบายสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความสำคัญกับพลังงานและทรัพยากรต่าง ๆ จนกลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งการตื่นตัวในเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่ภาคการผลิต แต่ภาคประชาชนหรือผู้บริโภคเองยังให้ความสำคัญในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไร?

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญ คำถามสำคัญที่คุณควรจะทำความเข้าใจเป็นหลักเลย คือ คุณมีส่วนร่วมต่อสิ่งเหล่านี้ด้วยไหม? มีส่วนร่วมที่ว่า คือ การที่คุณเป็นหนึ่งในคนที่ต้องมาเจอมลพิษแย่ ๆ อากาศร้อน ๆ ที่เพิ่มขึ้นมันทุกปีหรือเปล่า หรือต้องเจอกับการขาดแคลนวัตถุดิบบ้างไหม เอาง่าย ๆ ก็ โดนปัญหา PM 2.5 กันบ้างหรือเปล่า มีคนต้องเสียชีวิต อวัยวะเสียหายอย่างรุนแรง หรือ อาหารที่คุณชอบมันหายไปเพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน ปลูกไม่ได้ เลี้ยงไม่ทัน ก็เจ็บช้ำกันไป ถ้าคุณเข้าใจว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ คุณก็คงพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมหมุนเวียนแล้วล่ะ

‘เปลี่ยน’ ก่อนจะหมดเวลาเปลี่ยน

ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะก็ คุณมาถูกทางแล้ว! แต่จะทำอย่างไรให้มันเห็นผลได้คงเป็นสิ่งที่ถามกันอยู่ในใจ หรือคิดว่าทำคนเดียวจะเห็นผลอะไร ก็อยากให้ลองคิดใหม่ว่าถ้าคุณไม่เริ่ม ไม่ทำมัวแต่รอ แล้วคนอื่นก็มัวแต่รอ มันก็ไม่เริ่ม มันก็ไม่เกิด คุณอาจโชคดีเสียชีวิตไปก่อนปัญหาเหล่านี้จะหนักขึ้นก็ได้ แต่ถ้าไม่คุณอาจต้องลองหาหนังพวก Post Apocalypse ดู เช่น Mad Max , I am Legend, Water World หรือ Six Strings Samurai ดู แล้วจะเห็นเลยว่าโลกหลังการสูญเสียถ้าคุณยังรอดจะเจอกับอะไร ดังนั้นถ้าเข้าใจและตระหนักดีแล้วก็ทำมันเสียเลย เป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านโดยไม่ต้องรอ

การสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มต้นจากเรื่องที่คุณสามารถทำได้ใกล้ตัวก่อนเลย เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติก การสนับสนุนสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่เปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ แล้วในโรงงานอุตสาหกรรมล่ะ? ถ้าคุณยังไม่สามารถลงทุนอะไรใหม่ได้ อย่างน้อยการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าที่สุดถือเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ดี นอกจากนี้การแยกจัดกับของเสียแต่ละชนิดให้เป็นหมวดหมู่อย่างถูกต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำได้เลย เมื่อสามารถจัดเก็บและจัดหมวดหมู่ได้แล้วจะทำให้สะดวกต่อการนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้งได้ง่ายขึ้น ลดการปนเปื้อนต่าง ๆ และมีสุขลักษณะสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นซึ่งเห็นผลได้ในระยะสั้น

ในเบื้องต้นของเสียต่าง ๆ หากไม่สามารถลงทุนการจัดการเองได้ทั้งหมดสามารถจัดหาตัวแทนที่สามารถให้บริการในการจัดการหมุนเวียนของเสียเหล่านี้ได้เช่นกัน ขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะดูเหมือนมีความยุ่งยากมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะยาวเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแน่นอน

แต่ในกรณีของภาคธุรกิจอย่างภาคการผลิตนั้นการดำเนินการตามแนวคิดรีไซเคิล อัปไซเคิล ตลอดจนแนวคิด BCG อื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าภาคประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันมีธุรกิจในซัพพลายเชนจำนวนมากที่ให้บริการหมุนเวียนทรัพยากร ตลอดจนการสนับสนุนเรื่องวัตถุดิบที่ย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการดำเนินการตามแนวนโยบายเหล่านี้นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าแล้วยังเป็นการชะลอการใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบันให้มีโอกาสฟื้นตัว รวมถึงลดปัญหามลภาวะอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะของผลกระทบลูกโซ่ได้อีกด้วย

เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับสากล

ปัญหาเรื่องโลกร้อน มลภาวะ ของเสีย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต่างประเทศมีนโยบายรวมกลุ่มและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านและปรับตัวมากมาย เช่น พิธีสารเกียวโต ความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงเพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย 55 ประเทศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงมากกว่า 55% ของโลก

โดยเป้าหมายสำคัญที่สหภาพยุโรปได้วางเอาไว้หลากหลายประการ เช่น

  • ตั้งเป้ารีไซเคิลของเสียจากเทศบาลให้ได้ 65% ภายในปี 2035
  • ตั้งเป้ารีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ได้ 70% ภายในปี 2030
  • ตั้งเป้าการรีไซเคิลวัสดุเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์ดังนี้
    • กระดาษ 85%
    • โลหะ 80%
    • อะลูมิเนียม 60%
    • แก้ว 75%
    • พลาสติก 55%
    • ไม้ 30%
  • ตั้งเป้าลดพื้นที่ทิ้งขยะให้เหลือเพียง 10% จากของเสียของเทศบาลภายในปี 2035

นอกจากนี้แต่ละประเทศยังมีกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านต่าง ๆ เช่น การตั้งเป้าลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะมาเป็นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า หรือสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานและการรีไซเคิลวัตถุดิบของเสียในโรงงานเป็นต้น

ปัจจุบันเทรนด์ที่สำคัญของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านปัญหาสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติก ถุงพลาสติก หันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ หรือติดตามข้อมูลย้อนกลับถึงกรรมวิธีการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรวัดสำหรับสำหรับความยั่งยืน คือ Carbon Footprint ที่สะท้อนให้เห็นถึงมลภาวะและทรัพยากรที่ใช้ไปของธุรกิจการผลิต อีกนัยหนึ่ง คือ การแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการผลิตที่ธุรกิจเองต้องกลับมารับผิดชอบในการกระทำและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่กลายเป็นข้อบังคับสำหรับการส่งออก-นำเข้าสินค้าเริ่มมีให้เห็นชัดเจนกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น CBAM ที่กลายเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่เมินเฉยต่อแนวคิดด้านความยั่งยืน หรือไม่มีการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอาจกลายเป็นธุรกิจที่ไร้ความสามารถในการแข่งขันได้ภายในเวลาอันสั้น

เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ด้วยการตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มความเสื่อมโทรมที่ไม่ว่ามองในแง่มุมใดก็มีแต่เรื่องร้าย ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับมนุษย์ หน่วยงาน องค์กร และประเทศต่าง ๆ จึงเร่งดำเนินการแก้ไข ผ่อนหนักเป็นเบา ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าแรงงาน ผู้ประกอบการ นักลงทุน หรือภาครัฐ

อ้างอิง:
Reports.weforum.org/toward-the-circular-economy-accelerating-the-scale-up-across-global-supply-chains/from-linear-to-circular-accelerating-a-proven-concept/
Mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/mapping-the-benefits-of-a-circular-economy
Kenniskaarten.hetgroenebrein.nl/en/knowledge-map-circular-economy/what-is-the-definition-a-circular-economy/
Governmenteuropa.eu/circular-economy-concept-explained/90557/
Climate.nasa.gov/effects/
Mfa.go.th/thai_inter_org/th/services
Ec.europa.eu/environment/circular-economy/index_en.htm

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924