Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

หวั่นเศรษฐกิจถูกซ้ำเติม หลังจีนเริ่มปิดเมืองกว่า 45 เมืองจากพิษ COVID-19 ระลอกใหม่

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเรียกว่าอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงหลังจากเกิดการสังหารโหดของรัสเซียในยูเครน ธุรกิจต่างเกิดการชะงักงันโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ในขณะที่สถานการณ์ต่าง ๆ อาจเลวร้ายลงไปอีกเมื่อประเทศจีนกลับต้องปิดเมืองและกักตัวประชาชนจำนวนมากท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

ด้วยนโยบายปราบปราม COVID-19 ให้เป็น 0 ของจีนการปิดเมืองกว่า 45 เมืองจึงเกิดขึ้นทั่วประเทศ กระทบผู้คนกว่า 400 ล้านคน ซึ่งเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ก็ได้รับกลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ประเทศจีนนั้นถือว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อเกิดการปิดเมืองและกักกันขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั่วโลกเนื่องจากเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้แปรรูปและผู้ส่งออกรายสำคัญ ผลกระทบดังกล่าวจะเห็นได้ชัดจากการเกิด COVID-19 ระลอกแรกที่การผลิตทั่วโลกเกิดสุญญากาศ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงเร่งย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ในกรณีของการระบาดระลอกล่าสุดในจีนนั้นทำให้เหตุการณ์กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง เฉพาะแค่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งถือเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับถูกแช่แข็งไว้ กิจกรรมการส่งออกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่เมืองท่าแห่งนี้แห่งเดียวคิดเป็น 20% ของจีน จากข้อมูลของ CNN พบว่าสินค้าที่ถูกส่งมายังท่าเรือเซี่ยงไฮ้ต้องใช้เวลา 8 วันก่อนจะมีการนำสินค้าออกจากพื้นที่ เที่ยวบินขนส่งถูกยกเลิกทั้งหมด และผู้ให้บริการขนส่งทางบกกว่า 90% ได้หยุดการดำเนินการแล้ว ซึ่งสายการผลิตของผู้ผลิตชั้นนำที่ได้รับผลกระทบ เช่น MacBook จาก Apple ที่ผลิตโดย Quanta หยุดการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ Tesla นั้นสูญเสียกำลังผลิตไปกว่า 50,000 คัน ปัจจุบันเริ่มมีผู้คนบางส่วนออกมาแสดงความไม่พอใจกับการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวเนื่องจากไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

สำหรับผู้ที่สั่งสินค้าจากต่างประเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะพบปัญหาการส่งสินค้าที่ล่าช้าออกไปอย่างมาก ในบางกรณีอาจเกิดการยกเลิกสินค้าขึ้นจากการจัดส่ง ในกรณีที่เลวร้ายอย่างการซื้อขายวัตถุดิบนั้นระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นทำให้อายุของวัตถุดิบอย่างผัก ผลไม้ หรืออาหารต่าง ๆ นั้นมีอายุสั้นลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ครั้งสำคัญจากการระบาดระลอกแรกซึ่งยังส่งผลกระทบในด้านราคาที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงปัญหาการขาดแคลนสินค้าในตลาด แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์บางส่วนเกิดการฟื้นตัวแล้วและราคาก็กลับมาใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤต แต่หากเหตุการณ์เดิมเกิดซ้ำขึ้นอีกครั้งความแตกต่างของผลลัพธ์นั้นจะแตกต่างไปจากเดินสักแค่ไหนกัน?

อ้างอิง:
Cnn.com
Bbc.com

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924