การซื้อสินค้าราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศจีนนั้นได้กลายเป็นทั้งทางเลือกและทางที่ไม่อาจเลือกได้ของผู้บริโภคจำนวนมากในประเทศไทย ในขณะเดียวกันราคาที่ถูกจนผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ยากนั้นยังมาพร้อมกับต้นทุนแฝงทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีค้นพบว่าสินค้าที่ซื้อจากแหล่งผลิตในจีนมีสารพทาเลตซึ่งมีความอันตรายสูงกว่ามาตรฐานเกินกำหนดกว่า 400 เท่า ซึ่งภัยเงียบเหล่านี้คอยแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย ตั้งแต่ของเล่นเด็กไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันที่ผู้บริโภคอาจไม่เคยรู้ตัวเลยก็เป็นได้
Key Takeaways:
– สินค้าจีนที่ราคาถูกจำนวนไม่น้อย ใช้การลดต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้งานที่เกิดขึ้น
– มาตรฐานรูปแบบ ‘จีน ๆ’ ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเป็นการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ และทำไมจึงต้องมีมาตรฐานของตัวเองไม่ใช้มาตรฐานสากล
– แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งยากต่อการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหลังการขาย
– การเลือกใช้สินค้าจากแบรนด์ดังที่มีการประกาศนโยบายด้านคุณภาพและความยั่งยืนอย่างชัดเจนไม่ได้รับประกันถึงคุณภาพเสมอไป
– หากเปรียบเทียบสินค้าจีนที่มีมาตรฐานสากลรับรองกับท้องตลาด จะพบว่าไม่ได้แตกต่างจากราคาตลาดมาก ซึ่งผู้ผลิตไทยสามารถเข้าไปแข่งขันได้ในสินค้ากลุ่มนี้
‘ถูกและดี’ ไม่ได้มีเสมอไป ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทั้งพ่อค้าคนกลางและผู้บริโภคหลับตาลงข้างหนึ่งเสมอมา
สินค้าราคาถูกนั้นมักเป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่อยู่ในรูปแบบของการหาเช้ากินค่ำมากกว่าการมีความสามารถในการลงทุนต่าง ๆ ทำให้กลุ่มประเทศและกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ที่ไม่ได้มีตัวเลือกในชีวิตมากนักต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดก่อนคุณภาพชีวิตอื่นใด
ในขณะเดียวกันการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจจีนในฐานะโรงงานผลิตของโลก ซึ่งมีทั้งความพร้อมของวัตถุดิบ นโยบายส่งเสริมด้านภาษี กำลังในการผลิต รวมถึงวิธีคิดที่ผสมผสานระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยมหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสินค้าตั้งแต่ระดับพรีเมียม เกรดอุตสาหกรรม ไปจนถึงสินค้าลอกเลียนแบบราคาถูกที่สมัยก่อนเราเรียกกันว่าสินค้า ‘จีนแดง’ ที่เด่นเรื่องราคาแต่คุณภาพน้ำตารื้นก็ยังคงไม่หายไปไหน
ประเทศไทยเองเรียกว่าได้รับผลกระทบจากการตีตลาดของสินค้าจีนอย่างรุนแรงเนื่องจากผลกระทบจาก Geopolitics และการอยู่ร่วมใน FTA ของประชาคมอาเซียน ซึ่งการเข้าถึงสินค้าจากจีนมีทั้งการซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายทางการ การซื้อผ่านพ่อค้าแม่ขายคนกลาง ไปจนถึงการซื้อผ่านแพลตฟอร์มยอดฮิตที่ส่งตรงฟรีถึงบ้าน ด้วยราคาที่ถูก ส่งสินค้าก็ไม่ได้ช้าเท่าสมัยก่อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินอยู่ของคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ยไม่สูงมากเป็นอย่างดี
จีนผลิต ‘ถูกได้ถูกดี’ ทีเด็ดอยู่ที่การลดต้นทุน
ผลจากนโยบายการดึงดูดการลงทุนของประเทศจีนนั้นทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อองค์ความรู้ใหม่ ๆ ถูกถ่ายโอนเข้าประเทศ ประกอบกับพื้นฐานเดิมที่มีแรงงานและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้ Ecosystem การผลิตของจีนเกิดการเติบโตได้ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และกลายมาเป็นแนวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตโลกแม้กระทั่งผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม
หากมองเผิน ๆ ก็จะพบว่าความสามารถในการผลิตของจีนจะเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับต้นทุนที่ลดลงจากระบบนิเวศรายล้อม แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่พยายามลดต้นทุนลงอีกด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือมาตรฐาน ซึ่งในบางกรณีอาจกลายเป็นการละเลยมาตรฐานด้วยการทำงานหรือมีกระบวนการที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างสารคดี American Factory ที่เคยเขียนถึงในบทความ ‘เมื่อมังกรต้องลงทุนในบ้านลุงแซม! สารพันปัญหาเรื่อง ‘คน’ จากสารคดี American Factory’ ที่มีการละเลยขั้นตอนความปลอดภัยในการทำงาน หรือในกรณีที่ทำให้คนเกิดความสับสนระหว่างมาตรฐาน CE ซึ่งเดิมเป็นมาตรฐานจากยุโรป (Conformité Européenne) ที่กลายมาเป็น CE (China Export) ซึ่งมีสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก แตกต่างแค่เว้นระยะเล็กน้อย ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดได้อย่างง่ายดาย
แต่หนึ่งในกรณีที่มีความร้ายแรงที่สุดที่เป็นไปได้ อาจเป็นการลดต้นทุนโดยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่มีราคาถูกแต่ไม่มีการตรวจสอบรับประกันคุณภาพ ทำให้ค่าของสารเคมีที่เป็นอันตรายเกินกำหนดมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาวโดยไม่อาจรู้ตัวเลย เนื่องจากการทดสอบเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนสูงและต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกว่าผลกระทบจะแสดงตัวออกมาชัดเจนกลับต้องใช้เวลายาวนานจนไม่อาจระบุสาเหตุที่มาได้ด้วยซ้ำ ปัญหาเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากความรับผิดชอบและจรรยาบรรณของธุรกิจเป็นสำคัญ
‘ภัยเงียบ’ ผลกระทบถึงตาย จากการลดต้นทุนจีนที่แบรนด์ใหญ่เล็กอาจไม่เคยบอก
ก่อนจะไปกันต่อที่ตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้น อยากจะเน้นย้ำกันเสียก่อนว่าผลกระทบจากการลดต้นทุนโดยไม่ใส่ใจ Stakeholder ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการละเลยในเรื่องมาตรฐานนั้น สร้างผลเสียกับธุรกิจในระยะยาว ลองพิจารณาดูครับว่า หากผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้นั้นสามารถส่งผลต่อสุขภาวะได้ในระยะยาว การเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าเท่าไร? คุณค่าของแบรนด์จะเป็นอย่างไร? และถ้าเป็นแรงงานในโรงงานหรือคนที่ต้องเดินไปมาในพื้นที่ผลิตหรือคลังสินค้า ความหนาแน่นของมลพิษเหล่านั้นจะเข้มข้นกว่าที่ผู้บริโภคสัมผัสกี่เท่า? ยิ่งภายใต้สภาวะสังคมสูงอายุที่ขาดแรงงานด้วยแล้ว การที่แรงงานป่วยหรือไม่อาจทำงานได้จะกลับกลายเป็นผลร้ายกับตัวธุรกิจเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานขนาดเล็กหรือธุรกิจครอบครัวที่ผลกระทบสามารถส่งผลต่อคนที่คุณรักได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่า ลดต้นทุนเฉพาะหน้าแต่เยียวยากันไปตลอดกาล
แน่นอนว่าความกังวลและประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอย ๆ แต่สิ่งที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างประเทศ ความเคร่งครัดในด้านกฎหมายข้อบังคับเพื่อควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยของผู้คน โดยสารเจ้าปัญหาตัวหลักที่พบเจอมักจะเป็นพทาเลต (Phthalate) ซึ่งนิยมใช้ในกระบวนการแปรรูปพลาสติก ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่การเป็นมะเร็ง เบาหวาน IQ ต่ำ เป็นหมัน ฯลฯ ทำให้ต้องมีการควบคุมปริมาณกันอย่างเคร่งครัดเพราะสารเคมีที่อันตรายเหล่านี้สามารถพบเจอได้ทุกที่ ความน่ากลัวของภัยเงียบเหล่านี้นั้นไม่อาจตรวจพบได้ในทันที ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเหมือนกันการตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัวและอาจไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงได้ด้วยซ้ำ ซึ่งในวันนี้เราจะชวนคุณมาดูกรณีตัวอย่างของปัญหาบางส่วนที่ถูกตรวจพบและได้รับการเปิดเผยข้อมูลกันมาแล้วครับ
AliExpress กรณีตัวอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ส่งตรงภัยร้ายถึงมือผู้บริโภค
ข้อมูลจาก The Korea Times ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง AliExpress ที่นำเสนอข่าวว่า หน่วยงานภาครัฐของเกาหลีใต้ตรวจพบสินค้าสำหรับเด็กที่สั่งจากแพลตฟอร์มดัง มีสารก่อมะเร็งเกินค่าที่กำหนดมากถึง 56 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการสุ่มตรวจสินค้าสำหรับเด็กและบ้านเรือนกว่า 31 รายการ ในขณะที่เครื่องประดับอย่างต่างหูพบสารก่อมะเร็งทั้งแคดเมียมและตะกั่วที่มากกว่ามาตรฐานถึง 700 เท่า จากแพลตฟอร์มออนไลน์ AliExprees และ Temu ความน่ากังวลของการตรวจพบในครั้งนี้ คือ AliExpress นั้นเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมามีมูลค่าการนำเข้าที่มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างน่าสะพรึงกลัว
ในทางกลับกันสินค้าที่นำเข้าโดยตรงจากจีนผ่านแพลตฟอร์มในไทยทั้งเจ้า S และ L ก็ไม่ได้แตกต่างจาก AliExpress มากนัก เนื่องจากเป็นการส่งตรงจากผู้ผลิตหรือคลังสินค้าในประเทศจีนซึ่งไม่อาจตรวจสอบใด ๆ ได้ แม้ว่าตัวแพลตฟอร์มจะมีการประกันสินค้าหรือคุณภาพบางส่วน แต่ในลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจตรวจพบและดำเนินการด้านความรับผิดชอบได้โดยง่าย ซึ่งในกรณีที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าผ่าน Shipping หรือสั่งสินค้าเข้ามาเป็นล็อตใหญ่ก็อาจจะตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงเช่นกันหากไม่มีการตรวจสอบที่เหมาะสม ในมุมของคนขายหรือผู้ค้าคนกลางนั้นผลกระทบสามารถเกิดขึ้นจากการจัดเก็บสินค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก อาจได้รับการสัมผัสในปริมาณมาก และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
‘SHEIN’ ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่แบรนด์ดัง ที่อาจไม่ได้การันตีถึงความปลอดภัย
SHEIN (ชีอิน) เป็นแบรนด์แฟชันและไลฟ์สไตล์ที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง โดยมีการดำเนินการตามแนวคิดด้านความยั่งยืนของธุรกิจอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในสถานที่ทำงาน การประกาศ Roadmap ด้านความยั่งยืน เช่น การเป็น Carbon-Neutral Scope 2 ภายในปี 2030 ไปจนถึงการลดคาร์บอนในซัพพลายเชนและการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ความเชื่อมั่นที่เพียรสร้างมาพังทลายลงไปได้อย่างง่ายดายจากการตรวจพบสารพทาเลตเกินกำหนดจากการสุ่มตรวจสินค้า 8 รายการจาก SHEIN โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ เช่น รองเท้าเด็ก กระเป๋าหนัง และเข็มขัด จากการตรวจสอบกระเป๋า 4 ใบพบว่ามีฟอร์มาลดีไฮด์เกินกว่าที่กำหนด 1.2 เท่า พทาเลตเกินค่าที่กำหนด 153 เท่า ในขณะที่รองเท้าเด็กมีพทาเลตสูงกว่ามาตรฐานถึง 428 เท่า ส่งผลให้ EU และเกาหลีใต้จับตาดูอย่างเคร่งครัด ซึ่งเมื่อความผิดพลาดในการผลิตผสมกับชื่อเสียงในด้าน Fast Fashion ที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วทำให้ภาพจำของแบรนด์ยิ่งติดลบลงไปอีก
ความน่ากังวลใจในประเด็นของ SHEIN นั้นแตกต่างออกไปจากกรณีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง AliExpress ซึ่งมีหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับขายเพียงอย่างเดียว แต่ SHEIN นั้นเป็นผู้ผลิตเอง ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับสากลซึ่งสร้างความเข้าใจว่าต้องมี ‘มาตรฐาน’ ในการผลิตและตรวจสอบคุณภาพที่เป็นไปในระดับสากลเช่นเดียวกับภาพลักษณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับสิ่งที่แบรนด์พยายามสื่อสารออกมา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจและการตั้งคำถามต่อตัวแบรนด์เอง และอาจนำไปสู่คำถามว่าในท้ายที่สุดแล้วแบรนด์จีนแท้ ๆ จะไว้ใจได้แค่ไหน?
หรือ ‘การผลิตจีน’ จะไว้ใจได้เฉพาะบริษัทที่แบรนด์แม่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ ?
แน่นอนว่าความผิดพลาดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก ธุรกิจมีชื่อหรือเป็นโรงงานรับช่วงการผลิต แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นรวมถึงประเด็นน่าสังเกตบางประการ เช่น CE หรือแม้แต่เรื่องของมาตรฐานระยะทาง EV ที่จีนกับที่อื่น ๆ ใช้มีมาตรฐานต่างกัน โดยมากมักพบในสินค้าที่เป็นแบรนด์จีนแท้ทั้งโรงงานและการทำแบรนด์ซึ่งไม่นับแบรนด์นอกแผ่นดินใหญ่ เช่น แบรนด์จากไต้หวัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งคำถามว่า ‘ทำไมถึงใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้?’
หากไม่นับแบรนด์ระดับโลกจากจีนที่สามารถกำหนดมาตรฐานสากลเองได้แล้ว เมื่อต้องเปรียบเทียบแบรนด์จีนแท้กับแบรนด์จากชาติอื่น ๆ ที่เข้าไปทำการผลิตในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จากไทยเอง แบรนด์จากเยอรมนี แบรนด์จากยุโรป หรือแบรนด์จากสหรัฐอเมริกาต่างก็พบว่ามาตรฐานส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ดี มีไม่น้อยที่เรียกได้ว่าน่าประทับใจ แต่ในขณะที่แบรนด์จากจีนล้วน ๆ มักจะเจอปัญหาที่บ่อยกว่าและบางครั้งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เจอในแบรนด์อื่น ๆ หากเปรียบเทียบให้ใกล้ตัวหน่อย เช่น สมาร์ตโฟนแบรนด์จีนกับแบรนด์เกาหลี ซึ่งภาพจำมักจะเป็นการอัดสเปคที่ดูทรงพลัง เกินราคา มาเต็ม แต่เรื่องคุณภาพรายละเอียดไว้ว่ากัน ในขณะที่แบรนด์เกาหลียังคงให้ความสำคัญกับการออกแบบประสบการณ์การใช้งานและคุณภาพให้สมดุล ทั้งยังใช้งานจริงได้อย่างราบรื่นมากกว่า
แม้แต่ในกรณีของการร้องเรียน หรือปัญหาจากการผลิตที่เกิดขึ้น หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าในกรณีของประเทศฝั่งตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งฝั่งตะวันออกอย่างเกาหลี หรือญี่ปุ่น หากมีความผิดพลาดขึ้นมามักเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความเป็น Law Suit ที่เรียกว่ามีการดำเนินคดีกันจริงจัง มีข่าวแพร่สะพัด เช่น ข่าวลิขสิทธิ์สิทธิบัตรของ Samsung, กรณีการฟ้องร้องเรื่องความลับทางการค้าระหว่าง Rivian และ Tesla ไปจนถึงกรณีใกล้ตัวอย่าง Mazda ในประเทศไทยทั้ง CX-5 และ Mazda 2 แต่พอเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากประเทศจีนกลับมีข่าวสารและความคืบหน้าให้ติดตามน้อยมาก ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วแบรนด์จากจีนแท้ ๆ จะมีความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้ใจได้จริงขนาดไหน
ในประเด็นที่เกิดขึ้นผู้บริโภคเองอาจไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ได้มากสักเท่าไร หรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจมากเพราะเป็นสินค้าราคาไม่แพง ผู้ผลิตไทยเองก็ต้องประสบกับปัญหาเจอสินค้าเหล่านี้มาโจมตีตลาดทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านรอบ ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งค้าขายที่สำคัญของประเทศไทย หากผู้ประกอบการไทยลงไปแข่งในสนามของราคาแน่นอนว่าคงต้องแพ้ไปอย่างราบคาบ แต่สามารถให้ความสำคัญกับมาตรฐาน หรือรักษาคุณค่าของสินค้าให้โดดเด่นชัดเจนได้ การแข่งขันก็สามารถทำได้ไม่แตกต่างจากแบรนด์ฝั่งตะวันตกที่มีราคาสูงแต่ยังคงมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง
มาตรฐาน = โอกาส คว้าชัย ของผู้ประกอบการไทย
บางคนอาจบอกว่าบทความนี้ตื่นตูม หรือมีอคติกับสินค้าจากประเทศจีน ก็ต้องขอออกตัวก่อนว่าความต้องการของบทความนี้ คือ การกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้สินค้า/บริการสำหรับผู้บริโภคทุกคน ในขณะเดียวกันก็ต้องการชี้ช่องให้ผู้ประกอบการตั้งคำถามและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการแข่งขันที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในสภาวะปัจจุบัน
‘ของดี’ อย่างไรก็ขายได้ ไม่เกี่ยงว่าผลิตที่ไหน
ถ้าเรามองให้ชัดเจนกันขึ้นไปอีกสักนิดหนึ่ง ในกรณีของสินค้าจากจีนที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ส่วนมากแล้วก็ไม่ได้มีราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดสักเท่าไร เรียกว่าเป็นราคามาตรฐานตลาดไปจนถึงพรีเมียมก็ไม่ผิดนัก ซึ่งตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจ ได้แก่
- กีตาร์ที่ผลิตในจีน Blueridge จากเครือ Saga Musical Instrument ที่มีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ สามารถจัดจำหน่ายได้ในช่วงราคาตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับพรีเมียม เรียกได้ว่า มีราคาจำหน่ายหน้าร้านไม่แพ้แบรนด์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Martin และ Taylor โดย Blueridge มีราคาเริ่มต้นที่ 20,900 บาทไปจนถึง 325,000 บาท
- สมาร์ตโฟนแบรนด์ Apple อย่าง iPhone ที่ผลิตในจีนก็มีช่วงราคาในตลาดตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงพรีเมียม เริ่มต้นที่รุ่น iPhone SE 17,900 บาท ไปจนถึง iPhone 15 Pro Max 48,900 บาท
- กรณีของผู้ผลิตยานยนต์อย่าง Volvo จากสวีเดน ที่ประกาศตัวว่าเป็นบริษัทผลิตยานยนต์รายแรกที่สามารถควบคุมการดำเนินการทั้งหมดในประเทศจีนได้อย่างเต็มรูปแบบ แม้ไม่ได้เป็นบริษัทจีนก็ตาม ในขณะที่ราคาขายเรียกได้ว่าเกาะอยู่ในกลุ่มกลาง ๆ ซึ่งยานยนต์ในตลาดเอเชียส่วนใหญ่ผลิตที่จีน โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 1.59 ล้านบาท ในรุ่น EX30 ไปจนถึงรุ่น XC90 Recharge ที่สนนราคา 4.09 ล้านบาท
กรณีเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจำนวนมากในตลาดที่ทำให้เห็นว่าการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ถ้าดีจริง มีจุดขายที่ชัดเจน อย่างไรเสียผู้บริโภคก็ให้การตอบรับอย่างแน่นอนไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหน และจะเห็นได้ว่าเรื่องราคานั้นจะไม่ได้โฟกัสไปที่ Price War แต่มุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าที่เป็น ‘มาตรฐาน’ ซึ่งประกอบไปด้วย Reliability ในการใช้งานและคุณภาพในมิติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
ผู้ผลิตไทยต้องก้าวข้ามสงครามราคา มุ่งหน้าสู่มาตรฐานและภาพจำของผู้บริโภค
คำถามที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นใจ คือ พอขายของแพงแล้วคนจะซื้อน้อยลงหรือไม่ซื้อของเลยใช่หรือไม่? คำตอบที่มีอาจไม่ง่ายดายเหมือนซ้ายกับขวา แต่จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่ามีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร ทำอย่างไรให้คนกลับมาซื้อซ้ำ ทำอย่างไรให้บอกกันปากต่อปาก
จากกรณีที่เกิดขึ้นของทั้ง SHEIN และ AliExpress เป็นตัวอย่างที่ผู้บริโภคจะต้องติดตามและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ในขณะเดียวกันประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ยังเรียกได้ว่าเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตไทยย้อนกลับมามองตัวเองและเปรียบเทียบกับสถานการณ์การผลิตของจีนที่ทะลักเข้ามาในปัจจุบันว่าจะตัดสินใจรับมืออย่างไรดี แน่นอนว่าโอกาสในการแข่งขันของไทยที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตมาอย่างยาวนานยังคงมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ค้นพบอยู่ การนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายในราคาที่ดีขึ้นแล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปนเปื้อน ความไม่สมบูรณ์ของชิ้นส่วน หรือผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคยังถูกควบคุมและจำกัดลงได้อย่างมากอีกด้วย
อ้างอิง:
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0045653523020301
- https://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2024/07/129_372275.html
- https://www.kedglobal.com/regulations/newsView/ked202404080016
- https://www.bangkokbiznews.com/world/1129113
- https://www.kimuagroup.com/news/differences-between-ce-and-china-export-markings/#:~:text=The%20main%20difference%20between%20the,distance%20between%20them%20at%20all
- https://th.shein.com/About-Us-a-117.html
- https://www.lemonde.fr/en/economy/article/2024/05/28/seoul-government-finds-shein-products-contain-high-levels-of-toxic-chemicals_6672910_19.html
- https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2015/feb/10/phthalates-plastics-chemicals-research-analysis#:~:text=In%20the%20past%20few%20years,development%20and%20male%20fertility%20issues.
- https://www.volvocars.com/th-th/news/corporate/volvo-cars-to-take-full-control-of-its-chinese-operations/