Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

Automation กระดูกสันหลังอุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าถึงร้อยละ 5.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และได้รับการกล่าวถึงอย่างมากจากผู้ประกอบการยานยนต์ทั่วโลก จึงทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ถูกบรรจุลงในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยจะมีการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

เมื่อยานยนต์ไทยจะไปยานยนต์โลก

ประเทศไทยเริ่มมีรถยนต์ใช้ในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยชาวต่างชาติเป็นคนนำเข้ามาภายในประเทศซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นไทยได้เริ่มส่งเสริมกิจการประกอบรถยนต์ภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศ และมีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการประกอบ และเริ่มพัฒนาในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของผู้ประกอบรถยนต์ จนในปี พ.ศ. 2548 ไทยสามารถผลิตรถยนต์เพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออกครบ 1 ล้านคัน ด้วยแรงผลักดันและการส่งเสริมจากภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการลงทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ในที่สุดไทยก็ก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ประเภทเครื่องยนต์สันดาป และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ในปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทรนด์โลกเป็นไปในทิศทางสีเขียวหรือรณรงค์เรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมถึงพลังงานทางเลือกที่จะช่วยในเรื่องความความมั่นคงพลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ทำให้การพัฒนายานยนต์ในอนาคตจะใช้พลังงานจากการขับเคลื่อนแบบอื่น อาทิ HEV PHEV ยานยนต์ไฟฟ้า และ Fuel Cell Vehicle นั้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ต้องติดตามและพัฒนา รวมถึงการวิจัยเพื่อต่อยอด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ประสบความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วนด้วยกัน โดยหัวเรือใหญ่ในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าอย่างกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2579 จะเกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 1.2 ล้านคัน ทั้งแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle)

จากข้อมูลของ IEA เมื่อปี 2017 ในรายงานได้ระบุว่าสถานการณ์การผลิตรถยนต์ทั่วโลกมีอัตราการผลิตรถยนต์จำนวน 80 ล้านคันต่อปี โดยในปี 2020 จะมีการผลิตประมาณ 120 ล้านคัน แต่มี EV เพียง 2 ล้านคัน นั่นเท่ากับว่ายังไม่ถึง 1% ของจำนวนรถทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากในจำนวนรถสะสมทั้งหมด 30% ประมาณในปี 2030 สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเรื่องของการพัฒนาตลาดของเทคโนโลยีใหม่ๆ

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มตื่นตัวและมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมียานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในประเทศไทย 103,702 คัน แบ่งเป็น ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 102,308 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 1,394 คัน


อย่างไรก็ตาม ยานยนต์โลกเปลี่ยนทำให้ปี 2040 รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมีการใช้มากถึง 120 ล้านคัน หรือมีสัดส่วน 50% ในอนาคตเครื่องยนต์สันดาปจะถูกกลบด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเทคโนโลยีมีแนวโน้มจะถูกลง ตุ้นทุนต่ำลง ชิ้นส่วนน้อยลง ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น นั่นจึงเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการจะก้าวไปเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะปัจจุบันไทยเป็นผู้นำในการผลิตรถกระบะในภูมิภาคนี้ ดังนั้น จึงมีสิทธิ์ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของ EV เพียงแต่การจะเป็นฮับได้นั้นต้องพึ่งพาองค์ความรู้ เดินหน้าด้วยนวัตกรรม มีแบรนด์ของตัวเอง และไม่เลียนแบบต่างชาติ

เมื่อออโตเมชันไม่ใช่แค่กระแสนิยม

การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั้งโรงงานประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องเร่งการผลิตมากกว่าปกติ แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญ คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือ ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ หากในอนาคตประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วขึ้น เกิดความต้องการแรงงานมากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าแรงงานเหล่านั้นจะย้ายกลับภูมิประเทศ

อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมองหาเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบการผลิตอัจฉริยะและโลจิสติกส์ที่จะสามารถเพิ่มผลิตภาพ ผลผลิต เพิ่มความคล่องตัวเป็นที่ต้องการของผู้ผลิต รวมถึงรองรับความหลากหลายของหุ่นยนต์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ด้วย และตอบโจทย์อุตสาหกรรมยุค 4.0 ดังนั้น การนำระบบออโตเมชันเข้ามาใช้งานจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะจะช่วยสนับสนุนการทำงานของแรงงาน ช่วยลดต้นทุนและลดเวลาในการทำงาน เพิ่มคุณภาพ เพราะระบบออโตเมชันนั้นเป็นสิ่งที่มีความแม่นยำสูง เพิ่มความสามารถในการผลิต รวมถึงรักษาสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี

จากรายงานของ International Federation of Robotics (IFR) ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) มียอดขายเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5 ล้านตัว ส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) มียอดขายเฉลี่ยเพียง 200,000 ตัวเท่านั้น โดย IFR ได้คาดการณ์ว่าในปี 2018 จะมีแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ ความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจาก 5 อุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และการแปรรูปอาหาร

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงอัตราส่วนการทดแทนแรงงานของหุ่นยนต์ต่อจำนวนแรงงาน (Robot Density) ในประเทศจีน จะพบว่ายังมีอัตราส่วนที่ค่อนข้างน้อย ประมาณ 36 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน ซึ่งล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศเป้าหมายการเพิ่ม Robot Density ในปี 2020 ให้สูงขึ้นอีก 300% หรือเท่ากับ 150 ตัวต่อ 10,000 คน พร้อมทั้งเตรียมแผนการดำเนินงานเพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ท้องถิ่นมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกกว่า 5 เท่า ภายใต้นโยบาย China Manufacturing 2025 ที่จะสร้างอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับระบบออโตเมชันที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ Industrial Robot ถูกนำมาใช้ในงานสร้างรูปทรงโดยตัดเฉือนเนื้อวัสดุออก งานประกอบ งานตรวจสอบ งานหยิบจับวัสดุ เป็นต้น โดยหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถทำงานได้อัตโนมัติตามโปรแกรมที่ถูกตั้งค่าเอาไว้ ซึ่งมีรายงานพบว่าค่าเฉลี่ยความสามารถในการทำงานของแรงงานเมื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มขึ้น 0.37% เพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้ถึง 13.6% ตัวอย่างเช่น ไทยซัมมิทกรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ได้ใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติกว่า 1,765 ตัว สามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน เมื่อนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิตสามารถลดจำนวนพนักงานลงกว่า 5,000 คน โดยใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนในจุดที่ยากและเมื่อยล้า ช่วยลดกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานในพื้นที่เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมบางประเภทจะเริ่มหันมาใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์บ้างแล้ว แต่อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบ Manual คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1 – 3 ปี ถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายให้ปีนี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท และภายใน 3 ปีไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เพราะการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ไม่เพียงแค่ช่วยประหยัดแรงงาน แต่ก็ยังใช้เพื่อประหยัดพลังงานและวัสดุ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพ ความถูกต้องและความแม่นยำของสายการผลิตได้อีกด้วย

ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงความต้องการตลาด เช่น EV หรือ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำให้การใช้งานออโตเมชันหรือระบบอัตโนมัตอสามารถตอบสนองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยปัจจุบันการผลิตและการประกอบยานยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มการใช้งานออโตเมชันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์ ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ทวีความเข้มข้นขึ้นด้วยเทคโนโลยีการผลิต และหากนักลงทุนไทยยังลังเลหรือไม่ลงทุนด้านระบบอัตโนมัติให้เพียงพออาจเป็นผู้ผลิตต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและแย่งส่วนแบ่งเดิมออกไปแทน

ท้ายที่สุดแล้ว หากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงยึดติดกับการผลิตแบบเดิมที่พึ่งพา ‘แรงงาน’ วันหนึ่งวันใดที่ประสบกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น คนน้อยลง หรือแม้แต่การย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานต่างชาติ วันนั้นจะเกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมหาศาล ดังนั้น การหันมาพึ่งพากระดูกสันหลังชิ้นใหม่อย่าง ‘ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์’ ในการผลิตจะทำให้อุตสาหกรรมถูกขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันนำพาประเทศไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เพราะการชิงพื้นที่อุตสาหกรรมในปัจจุบันไม่ใช่เพียงการแข่งขันในตลาดโลกแต่ยังหมายถึงการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติที่สามารถลงทุนช่วงชิงโอกาสในบ้านเราได้ ไม่เริ่มวันนี้ อาจไม่มีที่ของธุรกิจคุณเหลือในปีหน้าก็เป็นได้


บทความโดย: จีราพร ทิพย์เคลือบ

ที่มา:

  • http://www.thaiauto.or.th/2012/th/
  • http://www.industry.go.th
  • http://www.eppo.go.th
  • https://www.iea.org/publications/freepublications/publication/GlobalEVOutlook2017.pdf
  • http://www.aic.or.th
  • IEA
READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924