Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

ถูกเรื่อง-ถูกที่-ถูกเวลา AUTOMACH ปักธงรายแรกจัดมหกรรมระบบ Automation ขานรับ EEC

EEC เนื้อหอม ภาคเอกชนตั้งความหวังกระตุ้นเงินหมุนเวียนมหาศาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยุคใหม่และระบบอัตโนมัติซึ่งได้รับการส่งเสริมจาก BOI อุตสาหกรรมต้นน้ำ-ปลายน้ำรุดปักธง

คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาและเป็นประธานเปิดงานแสดงเทคโนโลยีด้านระบบการผลิตอัตโนมัติ  ‘AUTOMACH 2018’ (ออโตแมค 2018) ณ Hall C ศูนย์ประชุม PEACH โรงแรมรอยัลคลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป พัทยา และมี คุณสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ร่วมแถลงถึงการสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว โดยมีการใช้แขนกลเป็น Gimmick ร่วมในพิธีเปิด ภายในงาน AUTOMACH 2018 มีผู้จำหน่ายสินค้าระบบอัตโนมัติกว่า 70 รายร่วมแสดงเทคโนโลยี มีการสาธิต Smart Factory และสัมมนาฟรีกว่า 30 หัวข้อ งานจะมีจนถึงวันที่ 30 มีนาคมนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ระหว่าง 10:00-18:00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านทาง www.thaiautomach.com

คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างจับจ้องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขยายการลงทุน เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเติบโตประมาณ 1-2% จีนไม่เติบโต ญี่ปุ่นเติบโตประมาณ 1% ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนยังสามารถเติบโตได้อีก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และมีไทยเป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศเหล่านั้น

“ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของกลุ่ม CLMV เป็นจุดเชื่อมต่อของประเทศเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งไทยถือว่ามีระดับของการพัฒนาความเจริญอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียมีอันดับใกล้เคียงกับเรา เพียงแต่รายได้เฉลี่ยของประชากร การพัฒนาธุรกิจและความทันสมัยยังเป็นรองไทยเล็กน้อย”

คุณเจนกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐบาลมีโมเดล Thailand 4.0 ปรับเปลี่ยนจากผู้ผลิตที่เน้นปริมาณมาเป็นผู้ผลิตที่เน้นคุณภาพ และต้องเร่งผลักดันส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC รวมถึงพัฒนาภาคการผลิตให้มีความก้าวหน้า ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ประเทศในระดับสากล

“การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC รัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนอุตสาหกรรม 10+1 นั่นคือ มุ่งยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะนำไปต่อยอดให้ทันสมัยมากขึ้น ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาเข้าใช้งานในกระบวนการผลิต ขณะที่การสร้าง 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ ไบโอ และดิจิทัล อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องมี IoT รวมถึงดิจิทัลเข้ามารองรับ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการสนับสนุนอีกหนึ่งอุตสาหกรรม นั่น คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจำนวนมาก อาทิ ประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะไทยถือเป็นฐานการลงทุนและการผลิตหลักของนักลงทุนญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย แต่ทั้งนี้การที่จะผลักดันให้ EEC ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการร่วมแรงจากภาคเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่ามัวรอให้พื้นที่โตแล้วค่อยเข้าไปบุกตลาด งานแสดงสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคบริการที่สำคัญ ซึ่งงาน AUTOMACH 2018 จัดขึ้นได้ถูกที่ถูกเวลาตรงกับพื้นที่เป้าหมายที่ภาครัฐต้องการยกระดับและผลักดันให้เติบโต”

คุณธีระ กิตติธีรพรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเวิลด์ พับลิเคชั่น จำกัด ผู้จัดงาน AUTOMACH 2018 เล่าถึงที่มาว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตสื่อด้านอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีทั้งนิตยสาร สื่อออนไลน์ e-marketplace รวมถึงการจัด mini-exhibition การสัมมนา และ business matching ในพื้นที่อุตสาหกรรมหลายจังหวัด ได้เห็นแนวโน้มว่าบุคลากรภาคอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“เรารวบรวมข้อมูลจากหลายช่องทาง พบว่าภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญในการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ส่งผลกระทบกับเราโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้วยเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อแรงงาน การย้ายฐานการผลิต คุณภาพสินค้าและราคา ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าอุปสงค์จะลดลงหรือฐานการผลิตอาจย้ายไปที่อื่น ในขณะที่บุคลากรกลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่หรือไม่ จะถูกเลิกจ้างไหม ฯลฯ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งแต่ก่อนอาศัยจุดแข็งด้านค่าแรงในการผลิตสินค้าจำนวนมากราคาถูก ก็ต้องปรับตัวในหลายมิติกระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีทั้งในฐานะผู้ใช้และผู้ผลิต และแรงงานก็ยกระดับตนเองมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น”

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะ EEC เรามองว่าเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์อย่างมาก เพราะมีทิศทางสร้างความยั่งยืนในการแข่งขันระยะยาว งานแสดงสินค้าก็เป็นตัวสะท้อนที่สำคัญถึงการกระจายความเจริญสู่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมถึงสร้างความมั่นใจภูมิใจแก่คนในพื้นที่อีกด้วย

“การจัดงาน AUTOMACH 2018 ครั้งนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับเราในการนำเสนอทางเลือกใหม่ ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากแบรนด์อุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ จนสามารถทำให้จัดงานได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยใช้เวลาการเตรียมงานเพียง 6 เดือน และหัวข้อสัมมนาต่าง ๆ กว่า 30 หัวข้อเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานก็มีบุคลากรในพื้นที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 4,600 ที่นั่ง ตอกย้ำความมั่นใจในศักยภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

การที่ประเทศไทยยังมีสัดส่วนการใช้ระบบ Automation น้อย นั่นคือโอกาสมหาศาล แม้ว่าตอนนี้ต้นทุนของการลงทุนระบบยังสูง แต่เราก็ต้องเริ่มเรียนรู้เพื่อพร้อมรับมือ ซึ่งประเทศไทยเองมีมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์ด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ราว 134,000 ล้านบาท  และมีการนำเข้าที่ 270,000 ล้านบาท โดยโรดแมปของ BOI เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คือ สนับสนุนให้มีการใช้ ร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และ SI ภายในประเทศ กำหนดเงื่อนไขให้ต้องใช้ local suppliers สัดส่วน 30% ขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในอนาคต

“ดังนั้น ปี พ.ศ. จึงเป็นจังหวะที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการและบุคลากรภาคการผลิตใน EEC ที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาทักษะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงการขยับขยายไปยังธุรกิจใหม่ที่อาจเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve หรืออุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งนี้ ในปีต่อไป AUTOMACH จะขยายการจัดงานโดยเพิ่มสาขาเทคโนโลยีที่จัดแสดงให้ใหญ่ขึ้นและครอบคลุม MICE Destination ทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกฟันเฟืองร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป” คุณธีระ กล่าวทิ้งท้าย

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924