Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

AMR vs AGV: ความเหมือนและความต่างของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้

ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายสินค้าหรือชิ้นส่วนในโรงงานนั้นต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงและมีต้นทุนที่สามารถเข้าถึงได้ การใช้งานสายพานอัจฉริยะอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับความยืดหยุ่นที่ต้องการ เทคโนโลยี AGV และ AMR จึงกลายเป็นความต้องการใหม่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่รู้กันหรือไม่ว่าเทคโนโลยีทั้ง 2 นี้แตกต่างกันอย่างไร

การลำเลียงสินค้าในคลัง สายการผลิต สายการประกอบ และโรงงานอุตสาหกรรมนั้นสามารถดำเนินการได้ด้วยรูปแบบวิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้มนุษย์หยิบยก การใช้รถฟอล์คลิฟต์ ไปจนถึงการใช้งานสายพานลำเลียงซึ่งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้สามารถตรวจนับและตรวจคุณภาพไปได้ในเวลาเดียวกัน แต่กระบวนการเหล่านี้ยังคงมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ความสูญเปล่าของการใช้งานทรัพยากรในบางประเด็น เช่น การใช้คนยกของอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทั้ง ๆ ที่แรงงานเหมาะกับงานใช้ทักษะสูงมากกว่า การใช้ฟอล์คลิฟต์เองก็ต้องการพื้นที่ว่างจำนวนมากในการดำเนินการ หรือแม้กระทั่งสายพานยุคใหม่ก็อาจเกิดปัญหาได้หากต้องมีการปรับเปลี่ยนเลย์เอาท์หรือต้องการความยืดหยุ่นปรับแต่งต่าง ๆ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เกิดการค้นหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง และใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าได้มากยิ่งขึ้น อย่าง AGV และ AMR

AGV & AMR โซลูชันการเคลื่อนย้ายชิ้นงานในรูปแบบ ‘หุ่นยนต์’

การใช้งานหุ่นยนต์ในภาคการผลิตนั้นเป็นที่รู้ดีว่าสามารถลดต้นทุนและสร้างความคุ้มค่าได้สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนแรงงาน ในการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือชิ้นส่วนเช่นกันหุ่นยนต์ได้เข้ามามีส่วนสำคัญไม่ว่าจะงาน Pick and Place ที่เป็นการหยิบจับเคลื่อนย้ายในระยะของแขนกล และเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังจุดต่าง ๆ ในโรงงานที่ต้องการอย่าง AGV และ AMR

AGV – Automated Guided Vehicle

AGV นั้นเป็นพาหนะที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ใช้ขนส่งชิ่นส่วนในโรงงานหรือคลังสินค้า มีภารพหน้าที่ที่ตายตัวชัดเจน ซึ่งแต่เดิมแล้ว AGV จะเป็นการเคลื่อนที่ไปตามแถบแม่เหล็กหรือเส้นทางที่กำหนดไว้ในโลกกายภาพ ซึ่ง AGV ไม่ใช่หุ่นยนต์แบบเต็มตัวแต่เป็นเหมือนกับอุปกรณ์หุ่นยนต์เพราะขาดความสามารถในการกำหนดหรือเปลี่ยนเส้นทางของตัวเองได้ แต่เทคโนโลยี AGV ใหม่ ๆ นั้นก็เริ่มมีการใช้งานเซนเซอร์กลุ่มเดียวกับ AMR แล้วเช่นกัน

AMR – Autonomous Mobile Robot

AMR นั้นเป็นหุน่ยนต์ที่ใช้เซนเซอร์ที่ควบคุมการทำงานได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์นำทางหรือการระบุตำแหน่งพิกัด สามารถเรียนรู้สภาพแวดล้อมได้ และปรับเปลี่ยนเส้นทางการทำงานต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

จุดเด่นการใช้งาน AGV และ AMR นั้นอยู่ที่การปรับเส้นทางลำเลียงขนย้ายได้ง่าย มีขนาดไม่ใหญ่มากจึงมีความคล่องตัวในพื้นที่ต่าง ๆ แต่จะไม่เหมาะกับการขนพาเลทหรือชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักมากหรือขนาดใหญ่

8 ข้อแตกต่าง AGV และ AMR ที่คนอยากใช้งานต้องรู้

เมื่อการทำงานและลักษณะภายนอกของ AGV และ AMR นั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก หลายครั้งเมื่อเทคโนโลยีทั้ง 2 นี้ถูกพูดถึงอาจะสร้างความสับสน หรือเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารขึ้นได้ง่าย เพื่อที่จะสร้างความชัดเจนจึงขอแบ่งประเด็นความแตกต่างไว้ดังนี้

1. การนำทาง

AGV – มีเส้นทางที่ตายตัว ไม่สามารถปรับปรุงเส้นทางได้ด้วยตัวเองเพราะยึดโยงกับระบบนำร่อง เช่น แถบแม่เหล็ก

AMR – มีการเคลื่อนที่อิสระ ผลกจากการใช้เซนเซอร์และเทคโนโลยีเพื่อจำลองแผนที่ขึ้นในระบบและปรับเปลี่ยนเส้นทางตามความเหมาะสมได้

2. การจัดการกับสิ่งกีดขวาง

AGV – สามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางและหยุดการทำงานเพื่อความปลอดภัยได้ จะทำงานต่อเมื่อสิ่งกีดขวางถูกนำออกจากเส้นทาง

AMR – สามารถตรวจจับและเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ สิ่งกีดขวางเพื่อหลบเลี่ยงได้ด้วยตัวเอง

3. ความปลอดภัย

AGV – มีเซนเซอร์ตรวจจับเพื่อหยุดการทำงาน สามารถทำงานได้เฉพาะในพื้นที่จำเพาะเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

AMR – สามารถทำงานในพื้นที่ร่วมกับมนุษย์ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีเซนเซอร์ที่ช่วยให้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางและระวังอุบัติเหตุได้

4. ต้นทุน

AGV – AGV ดั้งเดิมมีต้นทุนที่สูง เพราะต้องการเครื่องมืออื่นๆ เพื่อสร้างโครรงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องได้รับการดูรักษาเช่นกัน แต่ AGV ใหม่ ๆ นั้นไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างพื้นฐานมากนักต้นทุนจึงต่ำลงมาและมีราคใกล้เคียงกับ AMR

AMR – มีต้นทุนรวมในการใช้งานต่ำกว่า AGV ดั้งเดิม เพราะติดตั้งและใช้งานง่ายกว่า แต่ด้วยเทคโนโลยีและเงื่อนไขในการใช้อาจทำให้มีราคาที่สูงกว่า AGV เช่น เซนเซอร์เฉพาะทางหรือต้องการโซลูชันพิเศษอื่น ๆ

5. การติดตั้งใช้งาน

AGV – AGV ดั้งเดิมนั้นต้องการโครงสร้างพื้นฐานในการใช้งานจำนวนมาก เช่น แถบแม่เหล็ก เทป หรือสายใด ๆ เพื่อนำทางในการทำงาน

AMR – สามารถติดตั้งใช้งานได้รวดเร็วทันทีในพื้นที่จริงโดยไม่ต้องดัดแปลงสถานที่แต่อย่างใด

6. การใช้งาน

AGV – มักใช้งานในกิจกรรมเฉพาะ เช่น โรงงานผลิต และคลังสินค้า
AMR – มีความหลากหลายและต่อยอดในการใช้งานได้สูง เช่น การติดตั้ง Cobot เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเป็นต้น สามารถตั้งค่าการทำงานที่ซับซ้อนได้ดี

7. ความยืดหยุ่น

AGV – AGV ต้องการการเดินสายหรือเขียนโปรแกรมใหม่หากต้องการใช้งานภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป มีความยืดหยุ่นในการใช้งานต่ำ แต่ก็มากกว่าสายพานลำเลียง

AMR – มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานได้ทันทีหรือเปลี่ยนภาระหน้าที่ได้โดยไม่ต้องยกเครื่องอะไรใหม่

8. การซ่อมบำรุง

AGV – AGV ดั้งเดิมต้องการการซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ ทั้งตัว AGV เองและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงและใช้เวลามาก แต่ AGV รุ่นใหม่ ๆ นั้นมีความใกล้เคียงกับ AMR

AMR – ต้องการการดูแลน้อยกว่า AGV ดั้งเดิม สามารถติดตามและประเมินค่าต่าง ๆ ด้วยข้อมูลตัวเลขที่จับต้องได้ ทำให้วางแผนซ่อมบำรุงและปรับรูปแบบการใช้งานให้มีอายุยืนยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากเปรียบเทียบเบื้องต้นให้เห็นภาพได้อย่างง่าย ๆ AGV นั้นมีการทำงานที่เป็นเหมือนรถไฟวิ่งไปตามราง ในขณะที่ AMR นั้นเป็นเหมือนรถยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า จึงสามารถปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันการใช้งาน AGV แบบดั้งเดิมอาจเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับผู้คนที่ไม่คุ้นชิ้นกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือโซลูชันอัตโนมัติยุคใหม่ด้วยเช่นกัน

อ้างอิง:
hy-tek.com
robotnik.eu
agvnetwork.com


พบกับ สุดยอดองค์ความรู้เพื่อผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล
AUTOMATION SUMMIT 2023
12 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00-18.00 น.
ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 กรุงเทพมหานคร
ลงทะเบียนเข้าร่วมฟรี คลิก!

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924