Saturday, January 18Modern Manufacturing
×

เปลี่ยนโลกของการผลิตและธุรกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐาน 5G

เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายอย่าง 5G นั้นเป็นเสมือนความหวังใหม่และโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนที่ทั้งขับเคลื่อนและเติมเต็มความสามารถของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเทคโนโลยีอัตโนมัติต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีเสมือน แต่การจะใช้ศักยภาพของการเชื่อมต่อ 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเป็นเงื่อนไขสำคัญในการบูรณาการทั้ง Ecosystem ให้เกิดขึ้นได้จริง

โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกของข้อมูลข่าวสารและการเชื่อมต่อ ตั้งแต่การทำงาน การติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการทำธุรกิจต่างต้องพึ่งพาระบบเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายไร้สายที่อำนวยความสะดวกได้อย่างมาก ด้วยจุดเด่นในเรื่องของความคล่องตัวในการใช้งาน  ซึ่งเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การใช้งาน WiFi และการใช้งานเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่

การใช้งาน WiFi นั้นจะเป็นการใช้งานตามอาคารสถานที่เป็นหลัก มีความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่อที่จำกัด ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และสายสัญญาณ ในขณะที่เครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่มีการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าอาคาร ท้องถนน หรือการใช้งานระหว่างการเดินทางก็สามารถทำได้ ทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อได้มากกว่าการเชื่อมต่อแบบ WiFi โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายมาตรฐาน 5G ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่

AIS 5G ผู้นำด้านมาตรฐาน 5G สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต

ในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตทุกวันนี้ไม่อาจขาดการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยในภาคการผลิตเอง เทคโนโลยีอัตโนมัติ การทำงานแบบอุตสาหกรรม 4.0 หรือใช้งานในภาคธุรกิจที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเซิร์ฟเวอร์ในบริษัท Cloud หรือแม้แต่การโฆษณาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีสำหรับเครือข่ายเคลื่อนที่อย่าง 5G นั้น เรียกได้ว่ามีคุณสมบัติที่โดดเด่นชัดเจน เหมาะสมกับการทำธุรกิจสมัยใหม่ สามารถพาการทำงานต่าง ๆ ก้าวข้ามกำแพงเทคโนโลยีที่เคยมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพของ 5G ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  AIS 5G ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายไร้สายเคลื่อนที่ ได้จัดกลุ่มคุณสมบัติที่โดดเด่นของการเชื่อมต่อไร้สาย 5G เอาไว้ 6 คุณสมบัติ ดังนี้

  • ความเร็วในการใช้งานระดับสูง – ความสามารถในการใช้งานที่มีความเร็วสูงทำให้สามารถส่งไฟล์หรือปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว
  • ความสามารถในการตอบสนองอันรวดเร็ว – การเชื่อมต่อที่มีความหน่วงต่ำทำให้ระบบสามารถใช้งานได้กับกิจกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูง มีความเสี่ยงต่ออันตราย หรือต้องการการตอบสนองทันต่อสถานการณ์ เช่น ยานยนต์อัตโนมัติ หรือการใช้อุปกรณ์สนับสนุนการทำงานแบบ Real-time
  • พื้นที่ครอบคลุมและการใช้งานเคลื่อนที่ – สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างหลากหลาย สามารถเลือกความครอบคลุมพื้นที่เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ทั้งยังสามารถใช้งานได้ในขณะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง โดยไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณขาดหรือสะดุดอีกด้วย
  • Network Slicing – เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรเครือข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์และแอพพลิเคชันที่เหมาะสมกับประเภทงาน ด้วยการกำหนดคุณสมบัติทั้งด้านความเร็ว การลดความหน่วง หรือการองรับอุปกรณ์จำนวนมาก เช่น การกำหนดช่วง Layer หนึ่งเพื่อใช้งานกับ IoT จำนวนมากแต่ไม่จำเป็นต้องมีการตอบสนองที่เร็วนัก ส่วนอีก Layer หนึ่งกำหนดให้ใช้กับระบบอัตโนมัติที่ต้องการความหน่วงต่ำ ซึ่งการเชื่อมต่อที่ถูกแบ่งออกจากกันเหล่านี้จะไม่แบ่งความเร็วระหว่าง Layer กัน ทำให้เลือกคุณสมบัติของการเชื่อมต่อตามความต้องการได้
  • Edge Computing -– การใช้เซิร์ฟเวอร์หรือหน่วยประมวลผลเชื่อมต่อกับเครือข่าย 5G  ในพื้นที่ใกล้เคียงกับการใช้งานของอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มความเร็ว ลดความหน่วง เพิ่มความต่อเนื่อง เช่น Multi-access EDGE Computing หรือ MEC ที่ใช้ควมคุมเครื่องจักรในโรงงานหรือการวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวจากระยะไกลที่ต้องการกำลังประมวลผลมากโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความหน่วง
  • Private 5G Network – สร้างและปรับแต่งเครือข่ายเคลื่อนที่ไร้สายความเร็วสูงที่มีความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ซึ่ง AIS 5G ได้แบ่งเกรดของการให้บริการออกเป็น 3 แบบเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ ได้แก่
    • Virtual Private Network เครือข่ายส่วนตัว โดยใช้เทคนิค network slicing  ที่ให้ความเร็วได้ตามกำหนด สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน โดยยังมีการใช้โครงข่ายร่วมกันกับผู้ใช้บริการรายอื่น 
    • Zoning Virtual Private Network เครือข่ายส่วนตัวที่มีการใช้โครงข่าย UPF, Edge Computing เฉพาะในพื้นที่ให้บริการ ทำให้มีความเร็วที่สูงกว่า และมีความหน่วงที่ต่ำกว่า โดยเริ่มให้บริการในพื้นที่ EEC
    • Dedicated Private Network เครือข่ายส่วนตัวที่ออกแบบเฉพาะเจาะจงให้กับลูกค้าแต่ละราย มีการวางโครงข่ายแยกจากการใช้งานของผู้ใช้รายอื่น ซึ่งนอกจากความเร็วและความหน่วงที่ต่ำแล้ว ยังได้ความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นด้วย

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ของ 5G ที่มีการตอบสนองที่รวดเร็ว ฉับไว ทำให้สามารถรับมือกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอันตรายหรือต้องการความแม่นยำสูง (Critical Mission) ได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการแพทย์ หรือการใช้งานกับระบบอัตโนมัติในโรงงานซึ่งมีจำนวนข้อมูลมหาศาลและต้องทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา โดยความเร็วสูงสุดของ 5G ที่ทำได้ในปัจจุบันอยู่ที่ 20 Gbps ความหน่วงอยู่ที่ 1 ms และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์มากถึง 1 ล้านหน่วยต่อตารางกิโลเมตร

จุดเด่นของ AIS 5G นั้นอยู่ที่การครอบครองย่านความถี่ครบทั้ง 3 ช่วง จึงทำให้สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยรายละเอียดของย่านความถี่เหล่านี้ ได้แก่ 

  • Low Band ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการใช้งานสำหรับสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก
  • Mid Band มีความเร็วที่สูงขึ้นมา เหมาะกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยทั่วไป แต่มีพื้นที่และการรองรับอุปกรณ์ที่ได้น้อยลง
  • High Band มีความเร็วสูงที่สุด เหมาะสำหรับการใช้งานเฉพาะเจาะจง ที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายของ 5G เต็มที่ 

สำหรับภาคการผลิต การใช้งานเทคโนโลยี 5G นั้นเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเชื่อมต่อจากเดิมที่เป็นระบบสายส่งข้อมูลจำนวนมาก และอาจจะต้องเชื่อมต่อผ่าน Hub หรือศูนย์เชื่อมต่อไปเป็นการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความเสถียรสูง ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแบบ Real-time และการสื่อสารแบบ M2M ให้เกิดขึ้นจริงได้ การใช้งานและควบคุมระบบอัตโนมัติจะเกิดขึ้นแบบ Real-time เพิ่ม Productivity ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

การเชื่อมต่อแบบใช้สายดั้งเดิมทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่ ขาดความยืดหยุ่น ทั้งยังมีต้นทุนในการดูแลรักษาสูง และสร้างความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่การเปลี่ยนมาใช้ 5G จะลดพื้นที่การจัดเก็บสายข้อมูล เพื่อความคล่องตัวในการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรและการควบคุมด้วยมนุษย์ ทั้งยังสะดวกต่อการปรับเปลี่ยนใด ๆ ก็ตาม ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบหรืออุปกรณ์กายภาพก็ตามที

กรณีศึกษาที่น่าสนใจในการใช้งานจากพันธมิตรของ AIS 5G

การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจสร้างความกังวลใจในการใช้งาน และทำให้เกิดการเว้นระยะสำหรับการปรับตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้จะถูกแก้ไขและปรับปรุงได้จากการเกิดกรณีศึกษาภายใต้การใช้งานจริงขึ้น ซึ่ง AIS 5G ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของ 5G สำหรับภาคธุรกิจอย่างครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในระดับสากลอีกด้วย

หนึ่งในพันธมิตรรายสำคัญของ AIS 5G คือ Microsoft ในฐานะผู้ให้บริการ Cloud ระดับโลก ที่นำความสามารถของ Microsoft Azure ที่มี Data center อยู่ทั่วโลก มาไว้ใกล้กับความต้องการในการใช้งานมากขึ้น ทำให้องค์กรสามารถนำแนวคิดมาสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในลักษณะของ Hybrid ไม่ว่าจะเป็นที่ Data center ขององค์กร หรือที่ Data center ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศของ AIS หรือที่ Edge server ที่ตั้งอยู่ในโรงงาน ไซต์งาน หรือฟาร์ม ผ่านบริการ Azure Stack HCI และ Azure PMEC (Azure Private Multi-access Edge Compute) ประกอบกับความสามารถของ Azure Arc ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบริหารจัดการ Workload ได้ทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น On-premise และ Multi-cloud ซึ่งการประยุกต์ใช้ AIS 5G ร่วมกับเทคโนโลยี Edge จาก Microsoft จะสามารถก่อให้เกิดกรณีใช้งานได้อย่างมากมาย ทั้งในอุตสาหกรรม Healthcare, Retail, Logistic และกิจการอื่น ๆ

Hewlett Packard Enterprise และ Mobicrat คู่พาร์ทเนอร์ที่ให้บริการแนวคิด Hybrid Cloud ที่เป็น Edge-to-Cloud-as-a-Service ด้วยการใช้ Multi Access Edge Computing หรือ MEC ซึ่งมีจุดเด่นในด้านความปลอดภัยและสามารถจัดการปรับแต่งได้เอง โดยหนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ คือ โรงงานผลิตเซิร์ฟเวอร์ของ HP ที่ FOXCONN ดูแลลดความผิดพลาดของการประกอบโดยใช้กล้องประมาณหกตัวต่อหนึ่งสายพาน ทำการเก็บภาพและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงการทำงานแบบ Real-time สามารถลดเวลาในการตรวจสอบชิ้นงานได้มากถึง 96 วินาที สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความสำเร็จของโรงงานนี้ คือ ความสามารถในการผลิตแบบ Mass Customization ซึ่งมีรูปแบบเซิร์ฟเวอร์กว่า 1,000 Configuration ที่แตกต่างกัน ซึ่งการตั้งค่าแต่ละแบบจะถูกใช้ผลิตเพียง 3-4 ครั้งก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้งานการตั้งค่าอื่น สายพานการผลิตจึงต้องยืดหยุ่น และเทคโนโลยีที่ใช้สามารถลดความผิดพลาดได้ 25% เพิ่มความเร็วการประมวลผลได้ถึง 95% ลองจินตนาการดูว่าการผลิตที่ต้องเปลี่ยนแบบหรือรายละเอียดบ่อย ๆ จะมีความท้าทายในเรื่องการควบคุมคุณภาพได้มากมายขนาดไหน?

Huawei พันธมิตรรายสำคัญผู้ถือครองสิทธิบัตรในเทคโนโลยี 5G ถึง 15% และอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G กว่า 50% ในตลาด โดย Huawei มองตลาด 5G แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 5GtoC ซึ่งเป็นตลาดสำหรับผู้บริโภค เช่น การถ่ายทอดสด การเล่นเกม งาน Interactive ซึ่งต้องใช้การส่งต่อข้อมูลในระบบสูง และอีกตลาดหนึ่ง คือ 5GtoB กลุ่มของธุรกิจซึ่งมีความต้องการกรณีตัวอย่างการใช้งานที่จับต้องได้ก่อนจะเกิดการลงทุนและเติบโต กรณีที่น่าสนใจในการใช้งาน ได้แก่ โรงงาน GREE ในประเทศจีนที่ใช้ Edge Computing กับ 5G เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลที่ได้ถูกต้อง รวดเร็ว มีการบันทึกข้อมูลเป็นภาพความละเอียดสูง การตอบสนองต่อไฟล์ขนาดใหญ่ในเวลาอันจำกัดจึงมีเพียง 5G เท่านั้นที่สามารถตอบสนองได้ในช่วงเวลานี้ ในกรณีต่อมาโรงงาน Midea ในประเทศจีนใช้ AGV เชื่อมต่อ 5G แก้ปัญหาการเดินที่ใช้ WiFi ซึ่งมีปัญหาการทำงานไม่ต่อเนื่องเมื่อต้องเคลื่อนที่ผ่านจุดที่เปลี่ยนโหนดกระจายสัญญาณ และบางครั้งเครื่องต้องทำการรีสตาร์ทตัวเอง 5G จึงมีความราบรื่นต่อเนื่องในการทำงานที่มากกว่า หรือจะเป็นการตรวจสอบสายไฟฟ้าแรงสูงด้วยการใช้ 5G และ Edge Computing ร่วมกับโดรนและ AI ในการตรวจสอบคุณภาพ ลดความเสี่ยงในการทำงานแทนที่มนุษย์พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

สำหรับ AIS 5G เองก็ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทำการทดสอบกรณีการใช้งานจริงในหลายภาคส่วน มีทั้งสำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และเปิดเผยไม่ได้ แต่ในหนึ่งกรณีที่น่าสนใจและเปิดเผยได้ คือ การทดลองควบคุมเครื่องจักรระยะไกลผ่าน 5G ที่ร่วมมือกับ SCG  เพื่อทำการควบคุมรถฟอร์คลิฟท์ที่โรงงานสระบุรีจากสำนักงานบางซื่อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยดี และ SCG เองก็ยังให้ความสำคัญกับ ESG

ทำให้เกิดการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีการทำงานของบุคลากร การปรับกระบวนการทำงานให้เป็น Automation โดยการใช้ Machine Learning, AI รวมถึง 5G โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่สามารถให้บริการ End-to-End Supply Chain ทำให้อุตสาหกรรมมีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับพัฒนาประสิทธิภาพด้วยความยั่งยืน โดยยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี Drone ในการบินสำรวจ และการใช้ Unmanned Vehicle ผ่าน 5G ในบริเวณเหมือง (Smart Green Mining) ซึ่ง 5G จะเป็นแกนกลางของการทำงานที่ใช้โดรนสำรวจพื้นที่ ทำงานร่วมกับเซนเซอร์ต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายรูปภูเขาตอนระเบิดเพื่อดูภาพหน้าเหมืองขณะระเบิดว่าเป็นไปตามการคำนวณหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการใช้ Digital Twin ในโรงงานปูนซีเมนต์เพื่อช่วยดูแลโรงงานในพื้นที่ห่างไกล ทำให้สามารถส่งต่อและใช้งานองค์ความรู้ขององค์กรที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่า 5G จะเริ่มมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในภาคของผู้บริโภค แต่ในส่วนของการใช้งานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาจจะเป็นการขยับตัวครั้งใหญ่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือ Protocol การเชื่อมต่อและการทำงานที่เปลี่ยนไป สำหรับผู้ประกอบการที่อยากใช้งานเทคโนโลยี 5G นั้น AIS 5G แนะนำให้ค้นหาความท้าทายที่เกิดขึ้นในธุรกิจให้เจอเสียก่อนว่ามีปัญหาอย่างไรเกิดขึ้นในระบบเครือข่าย จากนั้นจึงเข้ามาคุยและดำเนินการ Proof of Concept ตามที่ได้ออกแบบไว้ เพื่อหาโซลูชันที่เหมาะสมใช้งานได้ อันจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคงของธุรกิจต่อไป

สุดท้ายนี้หากท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ https://business.ais.co.th/5g

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924