สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์ฯ’ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) ขึ้น โดยแปลงยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมทั้งการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9-11 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทยสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน
เป้าหมายการพัฒนาประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)
- วางรากฐานให้คนไทยเป็นคนที่สมบูรณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย ค่านิยมที่ดี มีจิตสาธารณะ และมีความสุข โดยมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ครอบครัว อบอุ่น ตลอดจน เป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ ความสามารถ และพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
- เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยง (Connectivity) กับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและสร้างสรรค์ในด้านการค้า การบริการ และการลงทุน ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและโลก
- เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้
- เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของฐานการผลิตและบริการเดิม และขยายฐานใหม่ โดยการใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร และน้ำ
- เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคโดยการพัฒนาภาคและเมือง เพื่อรองรับการพัฒนายกระดับฐานการผลิต และบริการเดิม และขยายฐานการผลิตและบริการใหม่
- รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้สามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
- เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพโปร่งใสทันสมัย และมีการทำงานเชิงบูรณาการของภาคีการพัฒนา
ทั้งนี้ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนด 10 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
- การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์
- การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบ และธรรมมาภิบาลในสังคมไทย
- การสร้างงความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
- การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
- การพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
- การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาภาคเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ
- การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
- ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนา
สำหรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ Advance Track และ Future Track Advance Track จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า เกษตรและอาหาร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เคมีภัณฑ์ชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทักษะขั้นสูง ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบคลัสเตอร์ รวมถึงระบบเครือข่ายตลอดห่วงโซ่ คุณค่าที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างและพัฒนาตลาดสินค้าคุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานบังคับ พัฒนาความรู้ผู้บริโภค ตลอดจนกระจาย การลงทุนไปยังภูมิภาคและอาเซียน เพื่อสร้างฐานการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าต่อไป
ส่วน Future Track นั้น จะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 อุตสาหกรรม คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พลังงานชีวภาพ โดยมีแนวทางการพัฒนาโดยวางแผนและพัฒนากำลังคน เป้าหมาย ทั้งความร่วมมือภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา/วิจัย โดยระยะเร่งด่วนอาจจำเป็นต้องให้เอกชนเป็นผู้นำ หรืออาจใช้โมเดลการวางแผนร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีโทรคมนาคม ตลอดจนศูนย์วิจัยและทดสอบกลาง ระบบบ่มเพาะ สนับสนุนให้มีการศึกษาเชิงลึก ‘สร้างหรือซื้อ’ เทคโนโลยีและระบบถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งต้องปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้รองรับ เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบริบทแวดล้อมให้เกิดสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หากสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้นย่อมนำไปสู่การพัฒนาเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของสังคมประเทศอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงกระแสโลกาภิวัตน์ ทางเศรษฐกิจและสังคม ดังวิสัยทัศน์… ‘ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติตามมาด้วย
EXECUTIVE SUMMARY
Office of the National Economic and Social Development Board has made the draft of the 12th National Economic and Social Development Plan (B.E. 2560 – 2564) to elevate the level of Thailand as the developed country by inducing economic sufficiency philosophy to pilot the country development, promote immunity for Thai society to withstand themselves with stability, proper risk management and elevate the level of country development toward the balance and sustainability.
The 12th National Economic and Social Development Plan will be propelled with 10 strategies in the following (1) Human capital capacity promotion and development (2) Social justice and difference creation (3) Economic strength and sustainable competitiveness creation (4) Environmental friendly growth for sustainable development (5) National security promotion for country development toward integrity and sustainability (6) governmental sector management, corruption prevention and good governance in Thai society (7) Infrastructure and logistics development (8) Science, technology, research and innovation development (9) Regional, city and economic area development, and (10) International collaboration for development.
Source:
- https://goo.gl/iPDksK
- https://goo.gl/vHVtTL