Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

Material Handling กับอุตสาหกรรมไทย ลงทุนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ท่ามกลางวิกฤตแรงงานทั้งค่าจ้างและประสิทธิภาพ ที่ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและยั่งยืน ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ถูกจับตามองในฐานะความหวังและทางรอดของอุตสาหกรรมไทย ที่พยายามจะไปให้ถึง 4.0 นอกจากออโตเมชั่นและโรบอติกส์แล้ว ยังมีคำสำคัญโผล่ขึ้นมาให้ได้ยินกันหนาหู นั่นคือ ‘Logistics’ และ ‘Material Handling’ ซึ่งหมายถึงการวางแผนและบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายลำเลียงวัสดุในภาคอุตสาหกรรม จากแรกเริ่มที่คุ้นหูกันแค่ในหมู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ วันนี้อุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมลงมาก็ต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ให้การผลิตของตนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน

Material Handling กับอุตสาหกรรมไทย ลงทุนเพื่อลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ทำความรู้จักกับ Material Handling ให้ลึกขึ้น ผ่านมุมมอง ‘คุณอาณัติ ยงยุทธ’ Senior Logistics Manager แห่ง ECCO Thailand และอดีต Supply Chain Manager บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) ว่าการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายและขนถ่ายวัสดุที่มีประสิทธิภาพจะสร้างโอกาสและเป็นทางรอด รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยในมิติใดได้บ้าง

คุณอาณัติ ยงยุทธMaterial Handling

คือการออกแบบสถานที่ และเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อเคลื่อนย้ายวัสดุในกระบวนการผลิต ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี และใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการผลิตของตัวเอง ก็จะสามารถลดต้นทุนได้ทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมถึงลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตด้วย

คุณอาณัติ ยงยุทธ
Senior Logistics Manager แห่ง ECCO Thailand

RFID  เป็นสัญญาณคลื่นวิทยุ จึงเร็วกว่าและล้ำกว่าบาร์โค้ด เช่น ในกล่องมีสินค้าอยู่ 5 ตัว ถ้าเป็นบาร์โค้ดเราต้องกระจายออกมาเรียงให้เครื่องสแกนอ่านทีละตัว แต่ถ้าเป็น RFID สามารถอ่านผ่านกล่องได้เลย ว่าในกล่องมีสินค้าอะไร อย่างละเท่าไร

จากบาร์โค้ด ถึง RFID

นอกจากอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ แล้ว ยังมีเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างบาร์โค้ดที่เป็นตัวสนับสนุนชั้นเยี่ยม ที่ทำให้การลำเลียงในสายการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งความรวดเร็วและแม่นยำ “เวลาโรงงานรับมา โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นออร์เดอร์ย่อย ซึ่งเปลืองทั้งแรงและเวลา ฉะนั้น เพื่อความประหยัดและมีประสิทธิภาพ จะต้องรวบออร์เดอร์เพื่อหยิบจากสต็อกทีเดียว แล้วค่อยมาคัดแยกเพื่อกระจายไปลงออร์เดอร์ย่อยๆ ตรงนี้ เราใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดในการอ่าน เครื่องมือในระบบ Material Handling จะหยิบวัสดุหรือสินค้าจากคลังออกมาลำเลียงมาตามสายพาน แล้วใช้เครื่องสแกนบาร์โค้ดอ่าน วัสดุหรือสินค้าชิ้นใด ตรงตามออร์เดอร์ไหน สายพานก็จะดีดวัสดุนั้นไปลงออร์เดอร์ย่อยๆ แบบนี้จะประหยัดต้นทุนกว่า ทั้งแรงงาน พลังงาน และเวลา

นี่คือการทำงานแบบสายพาน เน้นความเร็วและความแม่นยำในการคัดแยก ถ้าใช้แรงงานคน ต้องอ่าน Invoice เทียบกับเลข Digit 7-10 หลัก บนสินค้า จะนานกว่ามากๆ ต้นทุนสูงกว่ามาก คอนเวเยอร์จึงช่วยได้มากเรื่องต้นทุนแรงงาน” คุณอาณัติ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

Logistics

คุณอาณัติยังอธิบายเพิ่มเติมถึงการใช้สายพานในปัจจุบันว่า ไม่ใช่เพียงลำเลียงสิ่งของเท่านั้น แต่ยังบูรณาการเทคโนโลยีต่างๆ ลงไปเพื่อทุ่นแรงและทุ่นเวลาในการทำงานยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ในระหว่างการลำเลียงก็สามารถคัดแยกรูปร่างและขนาดได้ โดยใช้ Block เพื่อคัดขนาด หรือใช้ Weight Scale เพื่อคัดน้ำหนัก ต้องทำงานได้เร็ว คือ ต้องสามารถชั่งน้ำหนักในขณะที่วัสดุเคลื่อนที่ไปด้วย และต้องส่งข้อมูลได้รวดเร็วพอจะคัดแยกให้ทันการเคลื่อนตัวของสายพาน

ทว่าบาร์โค้ดยังมีข้อจำกัดว่า หน้าสัมผัสของบาร์โค้ดต้องถูกทิศทางกับเครื่องอ่าน จึงทำให้ลำเลียงและอ่านได้ทีละชิ้น เทคโนโลยีจึงไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่พัฒนาไปถึง RFID (Radio Frequency Indentification) ซึ่งเป็นชิปที่ถูกฝังอยู่ เครื่องอ่าน RFID สามารถอ่านชิปได้ทุกทิศทาง และมีความรวดเร็วกว่าด้วย

“RFID เป็นสัญญาณคลื่นวิทยุ จึงเร็วกว่าและล้ำกว่าบาร์โค้ด เช่น ในกล่องมีสินค้าอยู่ 5 ตัว ถ้าเป็นบาร์โค้ดเราต้องกระจายออกมาเรียงให้เครื่องสแกนอ่านทีละตัว แต่ถ้าเป็น RFID สามารถอ่านผ่านกล่องได้เลย ว่าในกล่องมีสินค้าอะไร อย่างละเท่าไร” คุณอาณัติอธิบายถึง RFID

Material Handling ลงทุนเพื่อลดต้นทุน

มองภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า Material Handling สามารถลดต้นทุนได้ทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นับตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบ ความรวดเร็ว แม่นยำ และสม่ำเสมอ รวมถึงลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต แต่คุณอาณัติก็ชวนมองในมุมกลับกันว่า ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มทุน

“ผู้ประกอบการต้องประเมินความคุ้มค่าก่อนลงทุน ต้องดูว่ามีออร์เดอร์เท่าไร มีการระบายสินค้าอย่างไร มีระยะเวลาคืนทุนมากน้อยแค่ไหน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่อปีเท่าไร ต้องเทียบถึงขนาดว่าหากลงทุนในระบบไปแล้ว จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เท่าไร ลดคนได้เท่าไร ลดค่าแรงได้เท่าไร

“บางโรงงานเครื่องจักรดี อุปกรณ์ดี สายพาน มีประสิทธิภาพมาก ผลิตได้เร็วมาก แต่ผลิตแล้วหยุด นั่นคือไม่มีประโยชน์ สุดท้ายกลายเป็นว่าใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรได้ไม่คุ้มค่า เพราะผลิตได้เกินออร์เดอร์ ผลิตมาแล้วระบายสินค้าไม่ทัน ล้นสต็อก พอเปลืองสต็อก ก็หยุดผลิตดีกว่า ฉะนั้น เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบ Material Handling ที่เลือกใช้ ต้องไม่ใช่แค่ดี แต่ต้องเหมาะสม ต้องใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ประยุกต์และบูรณาการให้เข้ากับธุรกิจตัวเอง”

คุณอาณัติ ยืนยันว่า ผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาจากตัวแทนจำหน่ายได้เลย โดยบอกความต้องการไป แล้วคนขายจะบอกได้ว่า ยี่ห้อไหน สเป็กแบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณ อีกประเด็นที่คุณอาณัติกล่าวไว้อย่างน่าสนใจคือ การขยายธุรกิจหรือโรงงานนั้น อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ แต่ใช้วิธีการต่อยอดหรือโมดิฟายด์ได้

หากผู้ประกอบการจะลงทุนเพิ่มหรือขยายไลน์ผลิต ไม่จำเป็นต้องวางระบบใหม่ ไม่ต้องซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะคอนเวเยอร์ รวมถึง Material Handling ทั้งระบบ สามารถออกแบบโมดิฟายด์เพิ่มเติมได้ เช่น เพิ่มคอนเวเยอร์แนวดิ่งเพื่อเพิ่มระยะทางการลำเลียงทำให้สามารถเพิ่มปริมาณสินค้าหรือวัสดุ โดยให้สายพานเดินอ้อมเพื่อเพิ่มระยะการเดินทาง ในขณะที่หากใช้แรงงานคนจะทำงานได้แนวราบอย่างเดียวแม้ว่าอาจเป็นการลงทุนที่สูง แต่หากพิจารณาอย่างรอบด้านและเลือกลงทุนให้เหมาะสม ก็คุ้มค่าในระยะยาว

“ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง ค่าแรงมนุษย์ไม่เคยลดลง ทุกปี คนต้องการค่าแรงขึ้น แต่ประสิทธิภาพการทำงานทำได้เท่าเดิม ค่าแรงแปรผันไปตามเวลา Material Handling จะตอบโจทย์ เพราะเร็วกว่า และทำงานหนัก ทำงานในพื้นที่อันตรายได้ ไม่มีอุบัติเหตุ สม่ำเสมอกว่า คนควบคุมให้สม่ำเสมอไม่ได้

ระบบสายพานลำเลียง

โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้เวลาในการผลิตมากแต่ได้ Output น้อย ยิ่งต้องผลิตเผื่อเพื่อสต็อกสินค้าไว้ หากรอลูกค้าออร์เดอร์แล้วค่อยผลิตมันไม่ทัน เขาอาจเปลี่ยนใจ โรงงานหรือบริษัทแบบนี้ก็จะเปลืองสต็อก ฉะนั้น ผลิตเยอะ เก็บเยอะ ทั้งคลังวัสดุและคลังสินค้าต้องใช้ทุนมากขึ้น แถมยังมีดอกเบี้ยอีกต่างหาก ถ้าเราใช้ Material Handling มันสามารถวางแผนได้ชัดเจน เพราะผู้ประกอบการสามารถรู้ได้ว่าออร์เดอร์เท่านี้ต้องใช้เวลาในการผลิตนานเท่าไร ต้องใช้วัตถุดิบมากน้อยเท่าไร จึงไม่ต้องสต็อกเยอะ เมื่อผลิตสั้น เราก็มีกำลังการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น เอาเวลาไปทำสินค้าตัวอื่น”คุณอาณัติกล่าว

ทำน้อยแต่ได้มาก ต้องขายไอเดีย รวมกันเราอยู่ มัวแยกหมู่ก็ไปไม่ถึงไหน

‘ทำน้อย ได้มาก’ ดูเหมือนเป็นคีย์เวิร์ดของอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐตั้งเป้าไว้ สอดคล้องกับทั้งปัญหาวิกฤตแรงงาน รวมถึงการหันมาจับตลาดเฉพาะมากขึ้น เน้นความเป็นนวัตกรรมมากขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณอาณัติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และ Material Handling มองว่า อุตสาหกรรมไทยต้องขยับมาขายไอเดียและผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ให้ขาดว่า อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง

“อยากให้ผู้ประกอบการขยับมาขายไอเดีย ขณะนี้ ดูเหมือนรัฐสนับสนุน Start Up จึงมีธุรกิจเล็กๆ ที่ใช้แรงงานตัวเองเกิดขึ้นมากมาย แต่ธุรกิจลักษณะนี้ เป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูงกว่า บางอย่างผู้ประกอบการคิดได้แต่ไม่มีความชำนาญในการผลิต กลายเป็น Weakness กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้น แทนที่ต่างคนต่างมีโรงงานของตัวเอง อาจจะเปลี่ยนเป็นออกไอเดีย ขายไอเดีย แล้วหาผู้รับจ้างผลิตที่มีความชำนาญ เพราะหากผู้รับจ้างผลิตมี Demand เยอะ เขาก็มีออร์เดอร์มากพอจะพัฒนาระบบการผลิต มีกำลังลงทุนได้มากขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้น ย่อมทำให้ต้นทุนลดลง การรวมกันผลิตจะสร้าง Value ได้ ประสิทธิภาพเต็มกำลังมากขึ้นในมุมผู้ประกอบการอาจมองว่า เกิดความไม่มั่นคงกับธุรกิจตัวเอง เพราะอาจโดนก็อปปี้ได้ แต่ทุกวันนี้ที่ผลิตกันเอง ก็โดนก็อปปี้กัน รัฐบาลต้องไปทำเรื่องการจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน ทำให้เกิดความมั่นใจ ทุกคนจะยอมเดินเข้าสู่ระบบใครคิดเก่งก็คิด ใครออกแบบเก่งก็ออกแบบ ใครผลิตเก่งก็ผลิต ใครเก่งอะไรไปทำอย่างนั้น เราจะพัฒนาทุกมิติอย่างเต็มที่” คุณอาณัติทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

EXECUTIVE SUMMARY

Competition in industrial world forces entrepreneurs to find every possibility and assistance in order to reduce production cost, which design and material handling management are the things should not be overlooked. The use of tools in material handling to replace labor force will help reducing cost in every dimension as well as material loss. In addition, entrepreneur can choose to use proper tools to suit their own production lines, which there are 4 types of conveyors available as Conveyor Belt which emphasizing on labor saving and continuity, Chain Conveyor for smooth and continuous run similar to Conveyor Belt, but this type of conveyor must be hung for operation which will practically suit hazardous work and risk area, Roller Conveyor and Skate Wheel Conveyor suiting for large-sized material transportation such as casket, sack, etc. Basically, each conveyor will be suitable for different types of works, on the other hand, entrepreneur must consider break-even point as well. If entrepreneur smartly chooses the right and proper tools for their business and manage material dislocation and transportation with efficiency, this will create opportunity and be the way to survive as well as definitely strengthen up Thai entrepreneurs.

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924