Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

 สินค้าเกรดต่ำ-ราคาถูก จากจีน ‘ภัยเงียบ’ ต่อชีวิตผู้บริโภคและผู้ผลิต

การซื้อสินค้าราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศจีนนั้นได้กลายเป็นทั้งทางเลือกและทางที่ไม่อาจเลือกได้ของผู้บริโภคจำนวนมากในประเทศไทย ในขณะเดียวกันราคาที่ถูกจนผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ยากนั้นยังมาพร้อมกับต้นทุนแฝงทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมาประเทศเกาหลีค้นพบว่าสินค้าที่ซื้อจากแหล่งผลิตในจีนมีสารพทาเลตซึ่งมีความอันตรายสูงกว่ามาตรฐานเกินกำหนดกว่า 400 เท่า ซึ่งภัยเงียบเหล่านี้คอยแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย ตั้งแต่ของเล่นเด็กไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันที่ผู้บริโภคอาจไม่เคยรู้ตัวเลยก็เป็นได้


Key Takeaways:
– สินค้าจีนที่ราคาถูกจำนวนไม่น้อย ใช้การลดต้นทุนที่ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้งานที่เกิดขึ้น
– มาตรฐานรูปแบบ ‘จีน ๆ’ ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเป็นการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ และทำไมจึงต้องมีมาตรฐานของตัวเองไม่ใช้มาตรฐานสากล
– แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งยากต่อการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหลังการขาย
– การเลือกใช้สินค้าจากแบรนด์ดังที่มีการประกาศนโยบายด้านคุณภาพและความยั่งยืนอย่างชัดเจนไม่ได้รับประกันถึงคุณภาพเสมอไป
– หากเปรียบเทียบสินค้าจีนที่มีมาตรฐานสากลรับรองกับท้องตลาด จะพบว่าไม่ได้แตกต่างจากราคาตลาดมาก ซึ่งผู้ผลิตไทยสามารถเข้าไปแข่งขันได้ในสินค้ากลุ่มนี้

‘ถูกและดี’ ไม่ได้มีเสมอไป ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทั้งพ่อค้าคนกลางและผู้บริโภคหลับตาลงข้างหนึ่งเสมอมา

สินค้าราคาถูกนั้นมักเป็นที่ต้องการของตลาดเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่อยู่ในรูปแบบของการหาเช้ากินค่ำมากกว่าการมีความสามารถในการลงทุนต่าง ๆ ทำให้กลุ่มประเทศและกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ที่ไม่ได้มีตัวเลือกในชีวิตมากนักต้องให้ความสำคัญกับการอยู่รอดก่อนคุณภาพชีวิตอื่นใด

ในขณะเดียวกันการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจจีนในฐานะโรงงานผลิตของโลก ซึ่งมีทั้งความพร้อมของวัตถุดิบ นโยบายส่งเสริมด้านภาษี กำลังในการผลิต รวมถึงวิธีคิดที่ผสมผสานระหว่างสังคมนิยมและทุนนิยมหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสินค้าตั้งแต่ระดับพรีเมียม เกรดอุตสาหกรรม ไปจนถึงสินค้าลอกเลียนแบบราคาถูกที่สมัยก่อนเราเรียกกันว่าสินค้า ‘จีนแดง’ ที่เด่นเรื่องราคาแต่คุณภาพน้ำตารื้นก็ยังคงไม่หายไปไหน

ประเทศไทยเองเรียกว่าได้รับผลกระทบจากการตีตลาดของสินค้าจีนอย่างรุนแรงเนื่องจากผลกระทบจาก Geopolitics และการอยู่ร่วมใน FTA ของประชาคมอาเซียน ซึ่งการเข้าถึงสินค้าจากจีนมีทั้งการซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายทางการ การซื้อผ่านพ่อค้าแม่ขายคนกลาง ไปจนถึงการซื้อผ่านแพลตฟอร์มยอดฮิตที่ส่งตรงฟรีถึงบ้าน ด้วยราคาที่ถูก ส่งสินค้าก็ไม่ได้ช้าเท่าสมัยก่อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินอยู่ของคนไทยที่มีรายได้เฉลี่ยไม่สูงมากเป็นอย่างดี

จีนผลิต ‘ถูกได้ถูกดี’ ทีเด็ดอยู่ที่การลดต้นทุน

ผลจากนโยบายการดึงดูดการลงทุนของประเทศจีนนั้นทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อองค์ความรู้ใหม่ ๆ ถูกถ่ายโอนเข้าประเทศ ประกอบกับพื้นฐานเดิมที่มีแรงงานและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้ Ecosystem การผลิตของจีนเกิดการเติบโตได้ในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี และกลายมาเป็นแนวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตโลกแม้กระทั่งผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้วก็ตาม

หากมองเผิน ๆ ก็จะพบว่าความสามารถในการผลิตของจีนจะเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับต้นทุนที่ลดลงจากระบบนิเวศรายล้อม แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่พยายามลดต้นทุนลงอีกด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือมาตรฐาน ซึ่งในบางกรณีอาจกลายเป็นการละเลยมาตรฐานด้วยการทำงานหรือมีกระบวนการที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างสารคดี American Factory ที่เคยเขียนถึงในบทความ ‘เมื่อมังกรต้องลงทุนในบ้านลุงแซม! สารพันปัญหาเรื่อง ‘คน’ จากสารคดี American Factory’ ที่มีการละเลยขั้นตอนความปลอดภัยในการทำงาน หรือในกรณีที่ทำให้คนเกิดความสับสนระหว่างมาตรฐาน CE ซึ่งเดิมเป็นมาตรฐานจากยุโรป (Conformité Européenne) ที่กลายมาเป็น CE (China Export) ซึ่งมีสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก แตกต่างแค่เว้นระยะเล็กน้อย ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดได้อย่างง่ายดาย

CE จาก EU และ CE จากประเทศจีน

แต่หนึ่งในกรณีที่มีความร้ายแรงที่สุดที่เป็นไปได้ อาจเป็นการลดต้นทุนโดยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่มีราคาถูกแต่ไม่มีการตรวจสอบรับประกันคุณภาพ ทำให้ค่าของสารเคมีที่เป็นอันตรายเกินกำหนดมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาวโดยไม่อาจรู้ตัวเลย เนื่องจากการทดสอบเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนสูงและต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกว่าผลกระทบจะแสดงตัวออกมาชัดเจนกลับต้องใช้เวลายาวนานจนไม่อาจระบุสาเหตุที่มาได้ด้วยซ้ำ ปัญหาเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากความรับผิดชอบและจรรยาบรรณของธุรกิจเป็นสำคัญ

‘ภัยเงียบ’ ผลกระทบถึงตาย จากการลดต้นทุนจีนที่แบรนด์ใหญ่เล็กอาจไม่เคยบอก

ก่อนจะไปกันต่อที่ตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้น อยากจะเน้นย้ำกันเสียก่อนว่าผลกระทบจากการลดต้นทุนโดยไม่ใส่ใจ Stakeholder ในมิติต่าง ๆ รวมถึงการละเลยในเรื่องมาตรฐานนั้น สร้างผลเสียกับธุรกิจในระยะยาว ลองพิจารณาดูครับว่า หากผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้นั้นสามารถส่งผลต่อสุขภาวะได้ในระยะยาว การเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าเท่าไร? คุณค่าของแบรนด์จะเป็นอย่างไร? และถ้าเป็นแรงงานในโรงงานหรือคนที่ต้องเดินไปมาในพื้นที่ผลิตหรือคลังสินค้า ความหนาแน่นของมลพิษเหล่านั้นจะเข้มข้นกว่าที่ผู้บริโภคสัมผัสกี่เท่า? ยิ่งภายใต้สภาวะสังคมสูงอายุที่ขาดแรงงานด้วยแล้ว การที่แรงงานป่วยหรือไม่อาจทำงานได้จะกลับกลายเป็นผลร้ายกับตัวธุรกิจเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานขนาดเล็กหรือธุรกิจครอบครัวที่ผลกระทบสามารถส่งผลต่อคนที่คุณรักได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่า ลดต้นทุนเฉพาะหน้าแต่เยียวยากันไปตลอดกาล

แน่นอนว่าความกังวลและประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอย ๆ แต่สิ่งที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างประเทศ ความเคร่งครัดในด้านกฎหมายข้อบังคับเพื่อควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยของผู้คน โดยสารเจ้าปัญหาตัวหลักที่พบเจอมักจะเป็นพทาเลต (Phthalate) ซึ่งนิยมใช้ในกระบวนการแปรรูปพลาสติก ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นนั้นนำไปสู่การเป็นมะเร็ง เบาหวาน IQ ต่ำ เป็นหมัน ฯลฯ ทำให้ต้องมีการควบคุมปริมาณกันอย่างเคร่งครัดเพราะสารเคมีที่อันตรายเหล่านี้สามารถพบเจอได้ทุกที่ ความน่ากลัวของภัยเงียบเหล่านี้นั้นไม่อาจตรวจพบได้ในทันที ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเหมือนกันการตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัวและอาจไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงได้ด้วยซ้ำ ซึ่งในวันนี้เราจะชวนคุณมาดูกรณีตัวอย่างของปัญหาบางส่วนที่ถูกตรวจพบและได้รับการเปิดเผยข้อมูลกันมาแล้วครับ

AliExpress กรณีตัวอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ส่งตรงภัยร้ายถึงมือผู้บริโภค

ข้อมูลจาก The Korea Times ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง AliExpress ที่นำเสนอข่าวว่า หน่วยงานภาครัฐของเกาหลีใต้ตรวจพบสินค้าสำหรับเด็กที่สั่งจากแพลตฟอร์มดัง มีสารก่อมะเร็งเกินค่าที่กำหนดมากถึง 56 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการสุ่มตรวจสินค้าสำหรับเด็กและบ้านเรือนกว่า 31 รายการ ในขณะที่เครื่องประดับอย่างต่างหูพบสารก่อมะเร็งทั้งแคดเมียมและตะกั่วที่มากกว่ามาตรฐานถึง 700 เท่า จากแพลตฟอร์มออนไลน์ AliExprees และ Temu ความน่ากังวลของการตรวจพบในครั้งนี้ คือ AliExpress นั้นเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมามีมูลค่าการนำเข้าที่มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงสัดส่วนของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอย่างน่าสะพรึงกลัว

ในทางกลับกันสินค้าที่นำเข้าโดยตรงจากจีนผ่านแพลตฟอร์มในไทยทั้งเจ้า S และ L ก็ไม่ได้แตกต่างจาก AliExpress มากนัก เนื่องจากเป็นการส่งตรงจากผู้ผลิตหรือคลังสินค้าในประเทศจีนซึ่งไม่อาจตรวจสอบใด ๆ ได้ แม้ว่าตัวแพลตฟอร์มจะมีการประกันสินค้าหรือคุณภาพบางส่วน แต่ในลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจตรวจพบและดำเนินการด้านความรับผิดชอบได้โดยง่าย ซึ่งในกรณีที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าผ่าน Shipping หรือสั่งสินค้าเข้ามาเป็นล็อตใหญ่ก็อาจจะตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงเช่นกันหากไม่มีการตรวจสอบที่เหมาะสม ในมุมของคนขายหรือผู้ค้าคนกลางนั้นผลกระทบสามารถเกิดขึ้นจากการจัดเก็บสินค้ากลุ่มนี้จำนวนมาก อาจได้รับการสัมผัสในปริมาณมาก และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

‘SHEIN’ ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่แบรนด์ดัง ที่อาจไม่ได้การันตีถึงความปลอดภัย

SHEIN (ชีอิน) เป็นแบรนด์แฟชันและไลฟ์สไตล์ที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเอง โดยมีการดำเนินการตามแนวคิดด้านความยั่งยืนของธุรกิจอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในสถานที่ทำงาน การประกาศ Roadmap ด้านความยั่งยืน เช่น การเป็น Carbon-Neutral Scope 2 ภายในปี 2030 ไปจนถึงการลดคาร์บอนในซัพพลายเชนและการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ความเชื่อมั่นที่เพียรสร้างมาพังทลายลงไปได้อย่างง่ายดายจากการตรวจพบสารพทาเลตเกินกำหนดจากการสุ่มตรวจสินค้า 8 รายการจาก SHEIN โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ เช่น รองเท้าเด็ก กระเป๋าหนัง และเข็มขัด จากการตรวจสอบกระเป๋า 4 ใบพบว่ามีฟอร์มาลดีไฮด์เกินกว่าที่กำหนด 1.2 เท่า พทาเลตเกินค่าที่กำหนด 153 เท่า ในขณะที่รองเท้าเด็กมีพทาเลตสูงกว่ามาตรฐานถึง 428 เท่า ส่งผลให้ EU และเกาหลีใต้จับตาดูอย่างเคร่งครัด ซึ่งเมื่อความผิดพลาดในการผลิตผสมกับชื่อเสียงในด้าน Fast Fashion ที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วทำให้ภาพจำของแบรนด์ยิ่งติดลบลงไปอีก

ความน่ากังวลใจในประเด็นของ SHEIN นั้นแตกต่างออกไปจากกรณีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง AliExpress ซึ่งมีหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับขายเพียงอย่างเดียว แต่ SHEIN นั้นเป็นผู้ผลิตเอง ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับสากลซึ่งสร้างความเข้าใจว่าต้องมี ‘มาตรฐาน’ ในการผลิตและตรวจสอบคุณภาพที่เป็นไปในระดับสากลเช่นเดียวกับภาพลักษณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทางกับสิ่งที่แบรนด์พยายามสื่อสารออกมา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจและการตั้งคำถามต่อตัวแบรนด์เอง และอาจนำไปสู่คำถามว่าในท้ายที่สุดแล้วแบรนด์จีนแท้ ๆ จะไว้ใจได้แค่ไหน?

หรือ ‘การผลิตจีน’ จะไว้ใจได้เฉพาะบริษัทที่แบรนด์แม่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่ ?

แน่นอนว่าความผิดพลาดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก ธุรกิจมีชื่อหรือเป็นโรงงานรับช่วงการผลิต แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นรวมถึงประเด็นน่าสังเกตบางประการ เช่น CE หรือแม้แต่เรื่องของมาตรฐานระยะทาง EV ที่จีนกับที่อื่น ๆ ใช้มีมาตรฐานต่างกัน โดยมากมักพบในสินค้าที่เป็นแบรนด์จีนแท้ทั้งโรงงานและการทำแบรนด์ซึ่งไม่นับแบรนด์นอกแผ่นดินใหญ่ เช่น แบรนด์จากไต้หวัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งคำถามว่า ‘ทำไมถึงใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้?’ 

หากไม่นับแบรนด์ระดับโลกจากจีนที่สามารถกำหนดมาตรฐานสากลเองได้แล้ว เมื่อต้องเปรียบเทียบแบรนด์จีนแท้กับแบรนด์จากชาติอื่น ๆ ที่เข้าไปทำการผลิตในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จากไทยเอง แบรนด์จากเยอรมนี แบรนด์จากยุโรป หรือแบรนด์จากสหรัฐอเมริกาต่างก็พบว่ามาตรฐานส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ดี มีไม่น้อยที่เรียกได้ว่าน่าประทับใจ แต่ในขณะที่แบรนด์จากจีนล้วน ๆ มักจะเจอปัญหาที่บ่อยกว่าและบางครั้งเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เจอในแบรนด์อื่น ๆ หากเปรียบเทียบให้ใกล้ตัวหน่อย เช่น สมาร์ตโฟนแบรนด์จีนกับแบรนด์เกาหลี ซึ่งภาพจำมักจะเป็นการอัดสเปคที่ดูทรงพลัง เกินราคา มาเต็ม แต่เรื่องคุณภาพรายละเอียดไว้ว่ากัน ในขณะที่แบรนด์เกาหลียังคงให้ความสำคัญกับการออกแบบประสบการณ์การใช้งานและคุณภาพให้สมดุล ทั้งยังใช้งานจริงได้อย่างราบรื่นมากกว่า 

แม้แต่ในกรณีของการร้องเรียน หรือปัญหาจากการผลิตที่เกิดขึ้น หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าในกรณีของประเทศฝั่งตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งฝั่งตะวันออกอย่างเกาหลี หรือญี่ปุ่น หากมีความผิดพลาดขึ้นมามักเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความเป็น Law Suit ที่เรียกว่ามีการดำเนินคดีกันจริงจัง มีข่าวแพร่สะพัด เช่น ข่าวลิขสิทธิ์สิทธิบัตรของ Samsung, กรณีการฟ้องร้องเรื่องความลับทางการค้าระหว่าง Rivian และ Tesla ไปจนถึงกรณีใกล้ตัวอย่าง Mazda ในประเทศไทยทั้ง CX-5 และ Mazda 2 แต่พอเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากประเทศจีนกลับมีข่าวสารและความคืบหน้าให้ติดตามน้อยมาก ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแล้วแบรนด์จากจีนแท้ ๆ จะมีความน่าเชื่อถือ ความน่าไว้ใจได้จริงขนาดไหน 

ในประเด็นที่เกิดขึ้นผู้บริโภคเองอาจไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้ได้มากสักเท่าไร หรืออาจจะไม่ได้ใส่ใจมากเพราะเป็นสินค้าราคาไม่แพง ผู้ผลิตไทยเองก็ต้องประสบกับปัญหาเจอสินค้าเหล่านี้มาโจมตีตลาดทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านรอบ ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งค้าขายที่สำคัญของประเทศไทย หากผู้ประกอบการไทยลงไปแข่งในสนามของราคาแน่นอนว่าคงต้องแพ้ไปอย่างราบคาบ แต่สามารถให้ความสำคัญกับมาตรฐาน หรือรักษาคุณค่าของสินค้าให้โดดเด่นชัดเจนได้ การแข่งขันก็สามารถทำได้ไม่แตกต่างจากแบรนด์ฝั่งตะวันตกที่มีราคาสูงแต่ยังคงมีความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐาน = โอกาส คว้าชัย ของผู้ประกอบการไทย

บางคนอาจบอกว่าบทความนี้ตื่นตูม หรือมีอคติกับสินค้าจากประเทศจีน ก็ต้องขอออกตัวก่อนว่าความต้องการของบทความนี้ คือ การกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยในการใช้สินค้า/บริการสำหรับผู้บริโภคทุกคน ในขณะเดียวกันก็ต้องการชี้ช่องให้ผู้ประกอบการตั้งคำถามและมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการแข่งขันที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในสภาวะปัจจุบัน

‘ของดี’ อย่างไรก็ขายได้ ไม่เกี่ยงว่าผลิตที่ไหน

ถ้าเรามองให้ชัดเจนกันขึ้นไปอีกสักนิดหนึ่ง ในกรณีของสินค้าจากจีนที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ส่วนมากแล้วก็ไม่ได้มีราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดสักเท่าไร เรียกว่าเป็นราคามาตรฐานตลาดไปจนถึงพรีเมียมก็ไม่ผิดนัก ซึ่งตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจ ได้แก่

  1. กีตาร์ที่ผลิตในจีน Blueridge จากเครือ Saga Musical Instrument ที่มีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ สามารถจัดจำหน่ายได้ในช่วงราคาตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับพรีเมียม เรียกได้ว่า มีราคาจำหน่ายหน้าร้านไม่แพ้แบรนด์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Martin และ Taylor โดย Blueridge มีราคาเริ่มต้นที่ 20,900 บาทไปจนถึง 325,000 บาท
  2. สมาร์ตโฟนแบรนด์ Apple อย่าง iPhone ที่ผลิตในจีนก็มีช่วงราคาในตลาดตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงพรีเมียม เริ่มต้นที่รุ่น iPhone SE 17,900 บาท ไปจนถึง iPhone 15 Pro Max 48,900 บาท
  3. กรณีของผู้ผลิตยานยนต์อย่าง Volvo จากสวีเดน ที่ประกาศตัวว่าเป็นบริษัทผลิตยานยนต์รายแรกที่สามารถควบคุมการดำเนินการทั้งหมดในประเทศจีนได้อย่างเต็มรูปแบบ แม้ไม่ได้เป็นบริษัทจีนก็ตาม ในขณะที่ราคาขายเรียกได้ว่าเกาะอยู่ในกลุ่มกลาง ๆ ซึ่งยานยนต์ในตลาดเอเชียส่วนใหญ่ผลิตที่จีน โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 1.59 ล้านบาท ในรุ่น EX30 ไปจนถึงรุ่น XC90 Recharge ที่สนนราคา 4.09 ล้านบาท

กรณีเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจำนวนมากในตลาดที่ทำให้เห็นว่าการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ถ้าดีจริง มีจุดขายที่ชัดเจน อย่างไรเสียผู้บริโภคก็ให้การตอบรับอย่างแน่นอนไม่ว่าจะผลิตจากที่ไหน และจะเห็นได้ว่าเรื่องราคานั้นจะไม่ได้โฟกัสไปที่ Price War แต่มุ่งเน้นไปที่ความคุ้มค่าที่เป็น ‘มาตรฐาน’ ซึ่งประกอบไปด้วย Reliability ในการใช้งานและคุณภาพในมิติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

ผู้ผลิตไทยต้องก้าวข้ามสงครามราคา มุ่งหน้าสู่มาตรฐานและภาพจำของผู้บริโภค

คำถามที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นใจ คือ พอขายของแพงแล้วคนจะซื้อน้อยลงหรือไม่ซื้อของเลยใช่หรือไม่? คำตอบที่มีอาจไม่ง่ายดายเหมือนซ้ายกับขวา แต่จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่ามีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร ทำอย่างไรให้คนกลับมาซื้อซ้ำ ทำอย่างไรให้บอกกันปากต่อปาก 

จากกรณีที่เกิดขึ้นของทั้ง SHEIN และ AliExpress เป็นตัวอย่างที่ผู้บริโภคจะต้องติดตามและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ในขณะเดียวกันประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ยังเรียกได้ว่าเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตไทยย้อนกลับมามองตัวเองและเปรียบเทียบกับสถานการณ์การผลิตของจีนที่ทะลักเข้ามาในปัจจุบันว่าจะตัดสินใจรับมืออย่างไรดี แน่นอนว่าโอกาสในการแข่งขันของไทยที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตมาอย่างยาวนานยังคงมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ค้นพบอยู่ การนำมาตรฐานสากลมาปรับใช้นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายในราคาที่ดีขึ้นแล้ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปนเปื้อน ความไม่สมบูรณ์ของชิ้นส่วน หรือผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคยังถูกควบคุมและจำกัดลงได้อย่างมากอีกด้วย


อ้างอิง:

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924