ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากและประเทศไทยเองก็ไม่เป็นข้อยกเว้น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและความจำเป็นในการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่งในเวลานี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่สังคมที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน (Beyond Carbon Neutrality)
- วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทย TGO ร่วม KBank
- ปลดล็อกศักยภาพ Carbon Market ทำไมองค์กรมากมายถึงสนใจ ?
บทความนี้จะพาทุกท่านไปพบกับจุดแข็งและศักยภาพของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนที่มีส่วนช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียวเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม การพัฒนาดิจิทัลที่ล้ำสมัย ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง การเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล และนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนสีเขียว ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองของ คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในหัวข้อ “เตรียมความพร้อม Infrastructure ประเทศไทยเพื่อก้าวสู่สังคม Beyond Carbon Neutrality”
โดยคุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ได้ชี้แจงถึงบทบาทหน้าที่ที่ BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นั้นมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนและมอบสิทธิประโยชน์ทั้งด้าน TAX และ NON-TAX พร้อมให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจและเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างประเทศ และช่วยแก้ไขอุปสรรคในการลงทุนด้วย 3 เครื่องมือส่งเสริมการลงทุนอย่าง
- Tax Incentives
- การยกเว้นภาษีอากร เครื่องจักร วัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี
- Non-Tax Incentive
- การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและการนำเข้าบุคลากรต่างประเทศ และการอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมากหรือทั้งหมด
- Financial Incentives
- เงินสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านในอุตสาหกรรม
แนวโน้มสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า
การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการลดคาร์บอนและการแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด (Climate Change & Net Zero)
ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและนอกจากนั้น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทต่าง ๆ จึงต้องลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงอาจมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อเปลี่ยนกระบวนการสูงจึงทำให้นักลงทุนหน้าใหม่เกิดความลังเลในการลงทุนในโครงการ
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทาน (Geopolitics)
ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลกส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วและแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งส่งผลต่อการวางแผนการลงทุนและการเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
กติกาภาษีใหม่ของโลก (Global Minimum Tax)
การกำหนดกติกาภาษีใหม่ของโลก ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับแผนการลงทุนและเลือกแหล่งลงทุนที่เหมาะสมกับข้อกำหนดภาษีใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการขยายธุรกิจและการลงทุนในอนาคต
ทั่วโลกมีความตื่นตัวด้านนโยบายสีเขียวกันมากน้อยแค่ไหน ?
- European Green Deal
- สหภาพยุโรปได้ออกแผน “European Green Deal” ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับในปี 1990 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 มาตรการที่ใช้ประกอบด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการเก็บภาษีคาร์บอน (CBAM) ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
- จีน
- จีนได้บรรจุเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งตลาดซื้อขายโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ขึ้นเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม
- เกาหลีใต้
- เกาหลีใต้ได้ออกนโยบาย “Green New Deal” เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการลงทุนในนวัตกรรมสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายที่จะเข้าสู่สถานะ Carbon Neutrality ในปี 2050
- ญี่ปุ่น
- ญี่ปุ่นได้กำหนดนโยบาย “Green Growth Strategy” ที่มุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการใช้วัสดุหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น Carbon Neutrality ในปี 2050
- สิงคโปร์
- สิงคโปร์ได้กำหนด “Singapore Green Plan 2030” ซึ่งเป็นนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเป้าหมายใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง และเป็นศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวของเอเชีย
- สหรัฐอเมริกา
- สหรัฐอเมริกามีกฎหมาย “Inflation Reduction Act (IRA)” ซึ่งส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังพิจารณากฎหมาย “Clean Competition Act (CCA)” ที่จะจัดเก็บภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนเกินกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการผลิต
การดำเนินการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศต่าง ๆ ในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บทบาทของ BOI ในการส่งเสริมการลงทุนทั้ง 4 ภาคส่วน
ภาคพลังงาน
- การร่วมผลักดันกลไกจัดหาพลังงานสะอาด (Utility Green Tariff – UGT):
- UGT1: การให้บริการจัดหาไฟฟ้าพร้อมใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) จากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม
- UGT2: การให้บริการไฟฟ้าพร้อม REC โดยสามารถระบุแหล่งที่มาได้จากโรงไฟฟ้าใหม่หรือส่วนขยาย
- การส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด:
- การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และไฮโดรเจน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี
ภาคอุตสาหกรรม:
- การส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green Economy):
- ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และการรีไซเคิลวัสดุ
- การยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable Industry:
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้มาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล เช่น GAP, FSC, PEFCs, ISO 22000
ภาคชุมชน:
- การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและสังคม:
- สนับสนุนการลงทุนที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน เช่น การผลิตพลังงานหมุนเวียนจากขยะหรือวัสดุรีไซเคิล การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และการสร้างชุมชนสีเขียว
- สนับสนุนโครงการที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคการเกษตรและการจัดการป่า เช่น การสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการตัดต้นอ้อยหรืออัดใบอ้อยเพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงานชีวมวล
ภาคการขนส่ง:
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจร:
- สนับสนุนการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การผลิตรถยนต์ BEV, PHEV, HEV, FCEV การผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ การให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ การพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ EV
- มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า
การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อก้าวสู่สังคมที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอน (Beyond Carbon Neutrality) เป็นความมุ่งมั่นที่สำคัญของรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน และภาคการขนส่ง
นโยบายและมาตรการต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และกติกาภาษีใหม่ของโลก ซึ่งมีผลต่อการวางแผนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ การปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนที่ยั่งยืน
ในอนาคต การลงทุนในเทคโนโลยีและการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย การมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในพลังงานสะอาดจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่ปราศจากการปล่อยคาร์บอนและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากสไลด์นำเสนอของคุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ที่ช่วยยืนยันข้อมูลหลายอย่างภายในบทความนี้ หากทุกท่านสนใจอ่านสไลด์นำเสนอฉบับเต็มสามารถเข้าเว็บไซด์ RE100 และเลือกหัวข้อของคุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ได้เลยครับ
อ้างอิง : RE100