Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

GULF รับรู้ Core Profit ไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 4,152 ล้านบาท

GULF รับรู้ Core Profit ไตรมาส 1/2567 จำนวน 4,152 ล้านบาท เติบโต 13% YoY พร้อมมุ่งหน้าเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อต่อยอดอนาคตธุรกิจ Data center, Cloud และ AI

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 โดยมีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 32,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จาก 26,994 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) อยู่ที่ 4,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,668 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ มีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 และ 2 (กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์) ไปเมื่อเดือนมีนาคมและตุลาคม 2566 อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 (กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์) ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ GULF รับรู้กำไรจากการดำเนินงานเต็มไตรมาสของ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 และเริ่มรับรู้ผลกำไรจาก HKP หน่วยที่ 1 ในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากกลุ่ม GJP ในไตรมาส 1/2567 จำนวน 542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือจาก 469 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 1/2566 เป็น 351 บาท/ล้านบีทียู

ในไตรมาสนี้ ถึงแม้โรงไฟฟ้า GNS ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม GJP มีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Inspection) ในระหว่างไตรมาส 1/2567 นี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP มีผลการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่ลดลงถูกชดเชยจากโรงไฟฟ้าในกลุ่มที่หยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (C-Inspection) นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมานจำนวน 193 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาส 1/2566 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและน้ำจืดของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ในประเทศเยอรมนี จำนวน 235 ล้านบาทในไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 10.5 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/2566 เป็น 11.0 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้ อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ภายใต้ GULF1 ได้ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 มีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 113 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกชดเชยจากส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul จากความเร็วลมเฉลี่ยที่ลดลงจาก 5.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1/2566 เป็น 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 1 ปีนี้ ประกอบกับค่า Ft เฉลี่ยของโครงการในไตรมาสนี้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566

ในส่วนของธุรกิจก๊าซนั้น ในไตรมาส 1/2567 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTT NGD จำนวน 211 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากผลขาดทุนจำนวน 177 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาสูงขึ้นจาก 65.5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 1/2566 เป็น 72.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสนี้ ซึ่งราคาขายส่วนใหญ่ของโครงการ PTT NGD จะอิงกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF บันทึกรายได้ค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเลของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 1,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ค่าก่อสร้างดังกล่าว เติบโตขึ้นตามความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการ ซึ่งโครงการนี้ มีกำหนดถมทะเลแล้วเสร็จภายในปี 2567 หลังจากนั้น กลุ่มบริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ต่อไป

ในไตรมาส 1/2567 นี้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 1,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329 ล้านบาท หรือ 26% จาก 1,247 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 โดยสาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของ AIS ที่ดีขึ้นจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เน้นขายแพ็คเกจที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/2567 จำนวน 9,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับ 8,143 ล้านบาทในไตรมาส 1/2566 ในขณะที่กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3,499 ล้านบาท ลดลง 9% จาก 3,850 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566 โดยมีสาเหตุมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจาก 34.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 เป็น 36.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 GULF มีสินทรัพย์รวม 472,868 ล้านบาท หนี้สินรวม 324,563 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 148,306 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.70 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.69 เท่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ยังคงประมาณการการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 25-30% จากโครงการที่ทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้ ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 3 (662.5 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนด และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ HKP หน่วยที่ 1 (770 เมกะวัตต์) ก็ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนดเรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน สำหรับโครงการ GPD หน่วยที่ 4 (662.5 เมกะวัตต์) มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจก๊าซ HKH ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ถือหุ้น 49% ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันแล้วจำนวน 190,000 ตัน เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า HKP หน่วยที่ 1 อีกทั้งมีแผนจะนำเข้าเพิ่มเติมอีกประมาณ 450,000 ตัน ในช่วงที่เหลือของปีนี้”

นางสาวยุพาพิน กล่าวต่อว่า “ในปัจจุบัน GULF ให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานขยะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของบริษัทฯ ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Carbon Emissions) โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้นประมาณ 8,500 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น”

“นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ Data Center เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคองค์กรธุรกิจที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ Digital Transformation โดยการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ และการใช้งานด้าน Artificial Intelligence (AI) เป็นปัจจัยสนับสนุนให้องค์กรในประเทศและไฮเปอร์สเกลเลอร์ (Hyperscalers) ที่เข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทย มีความต้องการจัดเก็บและจัดการข้อมูลมากขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจ Data Center ของกลุ่มบริษัทมุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละประมาณ 24-25 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณ 50 เมกะวัตต์ โดยเฟสที่ 1 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประมาณเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในโลกดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วต่อไป

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924