คนไทย 4.0 คือ วลีที่เหมาะสมที่สุดในวันนี้ ไม่ว่าท่านจะยากดีมีจนเพียงใด อยู่บ้านนอกขอบชนบทหรือในเมืองกรุงชิดติดจอ ท่านก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านกำลังเวียนวนอยู่กับโลกเสมือน (Virtual) จนบางครั้งเข้าใจว่าเป็นโลกแห่งความเป็นจริง
ชีวมวลและพลังงานขยะ
พลังงานทดแทนไทยในยุค 4.0 ที่ต้องจับตามอง
สำหรับพลังงานที่กำลังกลายเป็นปัจจัยที่ 5 นั้น อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง จนเกิดสงครามแย่งชิงพลังงาน องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2583 หรืออีก 22 ปี ถ่านหินจะเข้ามามีบทบาทในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยมากถึง 50% อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ต่ำและยังมีสำรองอยู่มากทั่วโลก และอาเซียนจะมีการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า 22% สำหรับประเทศไทย หากมีการผลิตไฟฟ้าทดแทนฟอสซิลเข้าสู่ระบบได้จริงๆ 22% ของที่ใช้จริงได้ก็นับว่าเหมาะสม ส่วนเป้าหมายที่ตั้งกัน 30-40% นั้น นับตามกำลังการผลิตติดตั้ง (Install Capacity)
พลังงานทดแทน มีหลายๆ สำนักได้ออกมาศึกษาและจัดลำดับ (Ranking) ว่าเชื้อเพลิงใด น่าจะส่งเสริมมากที่สุดทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว หรือประเภทเชื้อเพลิงใดที่เป็นความจำเป็นเชิงนโยบาย อย่างเช่น พลังงานจากขยะ นอกจากนี้ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมก็ถือว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องบำบัด สรุปการ Ranking หรือการจัดลำดับความสำคัญโดยอาศัยปัจจัยอย่างน้อย 5 ปัจจัย คือ
- ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย
- ต้นทุนความสะดวกในการเชื่อมต่อสายส่ง
- ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม
- ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ รวมถึงการกระจายรายได้ชุมชน
- ความมั่นคงของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า
ผลปรากฏว่า 3 สำนัก ประกอบด้วย 1. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 2. คณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน (สนช.) 3. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านพลังงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ‘ชีวมวล และพลังงานขยะ’ คือ พลังงานทดแทนอันดับต้นๆ ที่เราควรส่งเสริมมากที่สุด ซึ่งคิดว่าทุกท่านรับได้ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่อยู่ในธุรกิจชีวมวลก็ตาม จึงขออธิบายเพิ่มเติมถึงความยิ่งใหญ่ของพลังงานชีวมวล ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย ทั้งคนรวย คนจน พลังงานชีวมวลเชิงพาณิชย์ประกอบด้วย
- โรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดหรือบางส่วน
- ไม้สับ (Wood Chip) และชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellets)
- การปลูกไม้โตเร็วเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
ถัดจากชีวมวลขอกล่าวถึงเชื้อเพลิงจากขยะ เนื่องจากขยะเป็นวาระแห่งชาติ ต้องแก้ไขโดยการลดขั้นตอนการขออนุญาตลง หน่วยงานใดที่ไม่สมควรเกี่ยวข้องก็ขอให้ออกกฎระเบียบยกเว้นไม่ให้อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาต แต่ไปเพิ่มบทบาทด้านการตรวจติดตามหลังจากเริ่มดำเนินการ แค่นี้พลังงานขยะก็จะ 4.0 ทันที
เมื่อท่านต้องตกบันไดพลอยโจนสู่ยุคคนไทย 4.0 คงหนีไม่พ้นเรื่องของ EV: Electric Vehicles หรือ ยานยนต์ไฟฟ้าที่เราเคยคาดการณ์ว่า ต้องรออีก 10 ปี แต่วันนี้ EV ยานยนต์ไฟฟ้ามาจอดหน้าบ้านท่านแล้ว แม้แต่รถตุ๊กตุ๊ก อีกไม่กี่วันก็จะไม่ได้ยินเสียงตุ๊กตุ๊กแล้ว เหลือเพียงรถสามล้อไฟฟ้ารักษ์สิ่งแวดล้อม และสิ่งที่มาพร้อมกับยานยนต์ไฟฟ้าก็คือ Energy Storage System: ESS เรียกง่ายๆ ว่าระบบกักเก็บพลังงาน ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ Power Bank ขนาดยักษ์ มีให้เลือกตั้งแต่เล็กๆ จนถึงขนาด 2 MWh ในราคาที่ถูกลงทุกวัน ESS ใช้ได้ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเรานอนหลับ นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้วยังเหมาะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน Micro Grid ทำให้พลังงานทดแทนมีความมั่นคงมากขึ้น งานหลักของ ESS วันนี้ก็คือ การใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับปัญหาในเชิงมหภาคก็คือ ประเทศไทยจะปรับโครงสร้างระบบพลังงานจากเดิมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกับยานยนต์มาเป็นไฟฟ้าในเวลาอันสั้นได้ทันหรือไม่ ทั้งระบบภาษี บุคลากร เป็นต้น
เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 กระทรวงพลังงานได้มีการปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปด้านพลังงาน ไว้ 6 ด้าน ดังนี้
- Free Market
- โครงสร้างการบริหารจัดการพลังงานที่ใช้กลไกตลาดนำ
- มีหลักเกณฑ์การอุดหนุนเท่าที่จำเป็น
- Stability & Inclusive Growth
- มุ่งมั่นเพื่อความมั่นคงทางพลังงานด้วยคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม
- ปรับปรุงการกำกับเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมของตลาดพลังงาน
- บริหารและกระจายความเสี่ยง
- Productive Growth
- ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
- สนับสนุนการใช้นวัตกรรม
- Partnership & Green Growth
- มีกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาพลังงานทางเลือก
- ส่งเสริมพลังงานชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิต
- Good Governance & Trust in Government
- ยกระดับธรรมาภิบาลในการจัดหาผลประโยชน์ด้านพลังงานของภาครัฐ
- โปร่งใส ตรวจสอบได้
- Big Data Analytics & Cyber Security
- บูรณาการฐานข้อมูลพลังงานและวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนในเชิงลึก
- กำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบบพลังงาน
- คนไทยได้รับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน
สำหรับพลังงานทดแทน นอกจากแผนในการส่งเสริมแล้วคงต้องมุ่งแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เช่น การแยกสายส่งให้เป็นองค์กรอิสระ ลดขั้นตอนการขออนุญาตผลิตพลังงาน และเพิ่มความเข้มข้นด้านการตรวจติดตามโครงการพลังงานทดแทนหลังจากมีการดำเนินงานแล้ว รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้เครื่องจักรใหม่และเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในระยะยาว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ประการสำคัญที่สุดของเป้าหมายการปฏิรูปพลังงานคงไม่พ้นให้มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่มีส่วนร่วมเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากเขาเหล่านั้นก็คือคนในยุค 4.0 เช่นกัน
… ติดตาม ทิศทางที่ 2 ของอนาคตพลังงานไทย “ESS: ENERGY STORAGE SYSTEM อนาคตที่เป็นปัจจุบัน“