Saturday, November 23Modern Manufacturing
×

ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังตลาดคาด FED ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย 

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้( 17 – 21 ก.ค. 66) มีแนวโน้มทรงตัว หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ใกล้ยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย โดยคาด FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป 

นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังตัวเลขการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน มิ.ย. ปรับลดลง ขณะที่ EIA ปรับลดคาดาการณ์การผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในเม็กซิโก ซึ่งกระทบกำลังผลิตราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากการปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีลง หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ขณะที่ FGE คาดอุปทานน้ำมันดิจากไนจีเรีย, อิหร่าน, เวเนซุเอลาและเม็กซิโกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

Ceracode ink หมึกเซรามิกทนความร้อนเพื่อการผลิตชิ้นงานโลหะ | FactoryNews ep.65 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้สิ้นสุด หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มิ.ย. 66  ปรับลดลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 3.0% โดยล่าสุด FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักสำหรับโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 5.50-5.75% ในช่วงสิ้นปี 2566 จากระดับ 32.4% สู่ระดับ 21.0% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้

รายงานของ Kpler บ่งชี้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเลของรัสเซียในเดือน มิ.ย. 66 ลดลง 0.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัสเซียประกาศลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 66

อุปทานในภูมิภาคอเมริกามีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังบริษัท Pemex เผยว่าผลกระทบจากเหตุระเบิดที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ Cantarell และ Ku-Maloob-Zaap ซึ่งมีกำลังผลิตที่ระดับ 0.17 และ 0.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นราว 5% ของกำลังผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโก โดยคาดว่าแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบจะกลับดำเนินการตามปกติในช่วงต้นเดือน ส.ค.

รายงาน EIA (เดือน ก.ค.) ปรับลดคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลง 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ในปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 0.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 12.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้าน Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 680 แท่น

สำนักงานสถิตแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และลดจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.2% ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะ ภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจส่งผลกระทบความต้องการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ขณะที่ตลาดจับตาการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน อันได้แก่ จีดีพี ไตรมาสที่ 2 และดัชนียอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 66

รายงาน FGE (เดือน ก.ค.) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้เติบโตที่ระดับ 2.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่ระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเผชิญความไม่แน่นอน โดยคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของจีนจะเติบโตที่ระดับต่ำกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 4 และลดลงจากไตรมาสที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ในรายงานเดียวกัน FGE ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบโลกขึ้น 0.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตของนอร์เวย์และบราซิลสูงกว่าคาดการณ์ราว 0.13 และ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ FGE ยังคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบของไนจีเรีย, อิหร่าน, เวเนซุเอลาและเม็กซิโกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี  

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 ก.ค. 66)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.0% ส่งผลให้ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้จะสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 458.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5 ล้านบาร์เรล

READ MORE

Notice: Undefined index: popup_cookie_abzql in /home/mmthaixaulinbx/webapps/mmthailand/wp-content/plugins/cardoza-facebook-like-box/cardoza_facebook_like_box.php on line 924