ประเทศไทยยุค 4.0 เป็นช่วงเวลาที่หลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น ตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี เฟื่องฟูจนอาจต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทีเดียว อาจเนื่องจากคนยุค 4.0 ไม่ถนัดการอ่านหนังสือด้วยตนเอง หรือในยุคที่ผู้บริหารจำเป็นต้องมี Networking หรือเนื่องจากผู้จัดมีการตลาดที่ดี… จากความหลากหลายของบรรดาหลักสูตร สามารถสรุปโดยย่อได้ ดังนี้
- เป็นหลักสูตรจำเป็น ที่ต้องเรียนรู้หากจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจนั้นๆ หรือ เตรียมตัวเพื่อการใดการหนึ่ง
- เป็นหลักสูตรระดับประเทศ (หลักสูตร 5 ดาว) ใครที่จะเป็นผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องผ่านหลักสูตรเหล่านี้
- เป็นหลักสูตรเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรตนเอง อันเนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ ธุรกิจเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม มีโจทย์มากมาย
- จัดตามๆ กัน ทั้งเพื่อหารายได้และเพื่อให้มีกิจกรรม
- หลักสูตรที่มุ่งเน้นให้ความรู้แก่ผู้สนใจเป็นหลัก อาทิ หลักสูตรที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมตั้งใจจัดให้สมาชิกและผู้สนใจให้รู้จริงด้านพลังงานทดแทน โดยเอารางวัล ‘องค์กรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น ประจำปี 2548’ เป็นหลักประกัน
หลักสูตรพลังงานสำหรับผู้บริหาร (Executive Energy Program : EEP) มีหลักการและวัตถุประสงค์ชัดเจนด้านการให้ความรู้ และสร้างเครือข่ายพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Outcome) ไปสู่การพัฒนาด้านพลังงานของประเทศให้มั่นคง ยั่งยืน เนื่องจากพลังงานเป็นทั้งธุรกิจและความมั่นคงของประเทศ เป็นสาธารณูปโภค เป็นการลงทุน และส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง สภาอุตสาหกรรมฯ มีความพร้อมในการจัดอบรมหลักสูตรนี้ เนื่องจากสมาชิกส่วนหนึ่งได้มีธุรกิจด้านพลังงานและพลังงานทดแทนอยู่แล้ว
จุดแข็งของสภาอุตสาหกรรมฯ ก็คือ สามารถเชิญบุคคลระดับนโยบายและนักธุรกิจอุตสาหกรรมระดับสูงของประเทศ มาร่วมเป็นวิทยากร EEP เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพียง 3 เดือน มีการอบรมในห้องเรียน 12 ครั้ง นอกจากนั้น เป็นการดูงานทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันจัดอบรมเป็นรุ่นที่ 3 มีการรับผู้เข้าฝึกอบรมรุ่นละ 72 คน เป็นภาครัฐ 20% และเอกชน 80% และเพื่อให้เห็นภาพเชิงลึกของหลักสูตร จึงได้นำความเห็นจากตัวแทนของผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตร และจากตัวแทนรุ่นปัจจุบันถึงเหตุผลการเข้ามาฝึกอบรมในหลักสูตรพลังงานสำหรับผู้บริหารของ ส.อ.ท. ในครั้งนี้
สำหรับ EEP รุ่นที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการอบรมหลักสูตรฯ ผู้เขียนได้สุ่มถามความคิดเห็นจำนวน 5 ท่าน มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
ขอเริ่มจาก ดร.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและมั่นใจว่าพลังงานทดแทนของประเทศไทยใน 5 ปี ข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น การมีเพื่อนคู่คิดในเรื่องเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกก็น่าจะดีกว่าคิดคนเดียว
ท่านที่สอง คุณเพ็ญสิริ ณ นครพนม เพื่อนๆ คุ้นในชื่อพิ้งกี้มากกว่า เธอเป็นผู้จัดการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัทน้ำมันระดับโลกอย่างเชลล์แห่งประเทศไทยจากรั้วจามจุรีสู่ Aston University ประเทศอังกฤษ เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับหลายบริษัทในหลายประเทศ ซึ่งมากด้วยวิสัยทัศน์ด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาพลังงานทดแทน เธอจึงอยากเห็นความสมดุลของพลังงาน ทั้งด้านของฟอสซิล และพลังงานทดแทน หลักสูตร EEP อาจเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่คุ้มค่า ได้ทั้งความรู้และเพื่อนร่วมธุรกิจ
ท่านที่สามที่จะขอแนะนำ เธอมาจากฝ่ายพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ผอ.สิริมนต์ โกมุทานนท์ การนิคมแห่งประเทศไทย หรือ ที่เราคุ้นกับชื่อย่อ กนอ. พันธกิจหนึ่งของการนิคมฯ ก็คือ ผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ 4.0 ในรูปแบบของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ท่านผอ.สนใจด้านพลังงานทดแทน และทิศทางของพลังงานโลกในอนาคต จึงอยากทราบว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้ามีการลงทุนด้านพลังงานทดแทน แต่สิ่งที่มองเห็นได้ชัดจากหลักสูตรนี้ก็คือ เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ในอนาคตโลกจะมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นและอาจลดหรือไม่เพิ่มพลังงานที่มาจากฟอสซิล เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไว้
ท่านที่สี่ ดร.หนุ่มจากค่าย IRPC ชื่อเล่นว่า เล็ก แต่ตำแหน่งใหญ่ระดับผู้จัดการส่วน ดร.ปรีดา บุญศิลป์ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ท่านเน้นการทำงานเชิงกลยุทธ์และช่วยงานสังคมมากมาย ตั้งแต่ประธานมูลนิธิมดตะวันตกไปจนถึงเลขาธิการสมาคมนักศึกษาฯ ตั้งใจเข้า EEP มาเพื่อเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นที่ยอมรับในโลกของความเปลี่ยนแปลง ดร. เล็กเน้นการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมว่า มีความจำเป็นต่อทุกองค์กร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการยอมรับของชุมชนองค์กรถึงจะยั่งยืน
ท่านที่ห้า คุณพินิจ พัวพันธ์ ผู้บริหารหนุ่มจากค่ายมะลิกรุ๊ป ด้วยความสงสัยว่าหากติดโซลาร์บนหลังคาโรงงานจะคืนทุนไหม จึงตัดสินใจเข้าเรียนหลักสูตร EEP ไม่เพียงแต่จะได้คำตอบที่คาใจ แต่ยังได้เพื่อนใหม่ๆ นอกวงการรวมทั้งเพื่อนจากภาครัฐอีกด้วย ในฐานะกรรมการของกลุ่มบริษัทเอกชนและของรัฐวิสาหกิจได้มองเห็นความสำคัญของนวัตกรรมที่เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ เช่น Bitcoin หรือ Uber และเชื่อว่าการพัฒนากลไกพลังงานสะอาดจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการเป็นการพัฒนาสู่ความมั่นคงยั่งยืน
ความเห็นจากตัวแทน EEP รุ่นที่ 1
คุณเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล
กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
อีเมล: [email protected]
หลักสูตร EEP เป็นหลักสูตรที่เหมาะกับผู้ที่สนใจในธุรกิจพลังงานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเนื้อหาในหลักสูตร EEP ได้นำวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีเทคนิคการถ่ายทอดที่น่าสนใจ รวมถึงเนื้อหาที่ทันสมัยในทุกมิติ โดยผู้เข้าอบรมจะได้ข้อมูลและข่าวสาร รวมทั้งเครือข่ายทางธุรกิจ อีกทั้ง หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่หลักสูตร ดังนั้น หลักสูตร EEP จึงเป็นหลักสูตรที่ผู้ต้องการความรู้ด้านพลังงานจะพลาดไม่ได้
สิ่งที่ได้จากการอบรมหลักสูตรนี้ คือ ผมในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เราเป็นผู้นำโรงไฟฟ้าชีวมวลในเขตภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันเรามีโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งสิ้น 10 โรง เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 10 MW ทั้งหมด 9 โรงไฟฟ้า และเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) 1 โรง ขนาดกำลังการผลิต 23 MW เรามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าชีวมวลอย่างยั่งยืน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราจึงเลือกใช้เชื้อเพลิงจากวัสดุเหลือใช้ทางธรรมชาติ อาทิ ปาล์ม ไม้ยางพารา กะลามะพร้าว แกลบ เปลือกไม้ รากไม้ ฯลฯ ทุกๆ ที่ที่เราตั้งโรงไฟฟ้าจะยังประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้ เป็นการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น และสร้างความเจริญสู่ชุมชนจนได้ชื่อว่าเป็น “โรงไฟฟ้าเพื่อชุมชน”
ความเห็นจากตัวแทน EEP รุ่นที่2
คุณธนินกร อินทร์งาม
วิศวกรชำนาญการพิเศษ
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
EEP เป็นหลักสูตรที่รวมทั้งผู้สนใจ และผู้ที่อยู่ในวงการพลังงานมาเรียนจริง ๆ ผมได้เห็นมุมมองของภาคเอกชนว่าเขาคิดอะไร ทำอะไร เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐอย่างผมได้มาเรียน เพราะนอกจากจะได้ความรู้เรื่องพลังงาน นอกเหนือจากที่เรียนแล้ว ยังได้รู้จักผู้ประกอบการ และได้พูดคุยกับภาคเอกชนถึงแนวคิดของภาครัฐในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่หลายคนมักมองว่า ภาครัฐออกกฎระเบียบ แล้วทำให้ขั้นตอนการทำงานของเอกชนไม่คล่องตัว
ในส่วนของเนื้อหาหลักสูตร ผมได้ทราบเรื่องพลังงานทั้งฟอสซิล พลังงานทดแทน และด้านอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทำให้เห็นภาพกว้างด้านพลังงานมากขึ้น นอกเหนือจากความรู้ที่มีที่ดูแลเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม วิทยากรที่มาบรรยายนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญและชำนาญในแต่ละสาขาของแต่ละท่าน หากท่านวิทยากรได้ฉายภาพรวมทั้งอดีต และปัจจุบันขึ้นมาให้เห็นภาพสำหรับผู้ที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจพลังงานมือใหม่ และมองอนาคตในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าให้ด้วยว่า ในอนาคตต่อไปจากนี้ ธุรกิจพลังงานในมุมมองของแต่ละท่านจะเป็นอย่างไร หรือ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่พลิกโฉม (Disruptive Technologies) ด้านพลังงานที่น่าจะเกิดขึ้นอะไรบ้าง มาเล่าให้ฟังหรือ การจัดระดมความเห็น แนวทางการพัฒนาพลังงานไทย ใน EEP ก็น่าจะเป็นเรื่องดีครับ เพราะมีแต่ผู้ที่มีศักยภาพ ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มาเรียน ผมว่าน่าจะมีอะไรดีๆ ที่นำเสนอภาครัฐได้ครับ
หลักสูตรพลังงานสำหรับผู้บริหาร (EEP) อาจเป็นหลักสูตรค่อนข้างใหม่ของภาคเอกชนที่มุ่งเน้นการเติมเต็มในเรื่องพลังงานให้กับผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ตระหนักถึงพันธะและหน้าที่ที่ต้องมีต่อประเทศไทย เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและพลังงานไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนและการปกครองแบบใด
EXECUTIVE SUMMARY
Executive Energy Program (EEP) has the distinctive principles and objectives in giving knowledge and building up the network between government and private sectors to achieve sustainable energy development outcome since energy is considered as the country’s business, economic, infrastructure, investment, political effects and security. The Institute of Industrial Energy, Federation of Thai Industries opens this training course since some of its members are or interested in energy and renewable energy business. In addition, EEP is a short course that lasts for 3 months; divided into 12 classroom training and field trip in both domestically and internationally. Currently, the course has been continually arranged for 3 Classes, which each class shall take 72 participants. The ratio is 20% from the government sector and private sector by 80%.