หนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้นั้น คือ การผลิตหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เป็นที่จับตามองของนักอุตสาหกรรมในการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นแนวหน้า
แต่สำหรับบริษัท OTC DAIHEN Asia Co., Ltd. ได้เล็งเห็นถึงการเติบโตของตลาดหุ่นยนต์นี้ก่อนที่กระแสจะมาถึง จึงได้เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับงานเชื่อมโลหะมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัท OTC DAIHEN Asia Co., Ltd. เป็นผู้นำในการผลิตเครื่องเชื่อมอาร์ก และหุ่นยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องด้วยการสั่งสมประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 98 ปี และการเข้ามาก่อตั้งบริษัทในประเทศไทยเป็นเวลา 28 ปี นำไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์เชื่อมโลหะที่มีประสิทธิภาพสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้เป็นอย่างดี
มาก่อนเทรนด์งานยากและอันตราย ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคน
คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระ ประธานบริษัท OTC DAIHEN Asia จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทว่า เริ่มต้นธุรกิจโดยการเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงขนาดใหญ่ (Transformer) โดยหม้อแปลงที่ทางบริษัทฯ ผลิตจะมีรูปแบบ และเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้สำหรับเครื่องเชื่อม หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ จึงเริ่มพัฒนามาเป็นธุรกิจหม้อแปลงสำหรับการเชื่อมโดยเฉพาะ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาสู่ธุรกิจด้านหุ่นยนต์
การที่ OTC DAIHEN Asia มีแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับงานเชื่อมเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมให้ใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานคน ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้เจอวิกฤตขาดแคลนแรงงาน นั่นเพราะเล็งเห็นว่างานเชื่อมเป็นงานยากและอันตราย การใช้หุ่นยนต์จะทำให้งานเชื่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดอัตราความเสี่ยงของทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย
“เนื่องจากเราโฟกัสและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องเชื่อมมาโดยตลอด ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่างานเชื่อมเป็นงานที่ทั้งยากและอันตราย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของพนักงาน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เราจึงต้องการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้พนักงานของเรา ตอนนั้นคิดกันว่า ถ้าทดแทนการทำงานส่วนนี้ด้วยหุ่นยนต์ได้จะดีมาก จึงพัฒนากันมาอย่างจริงจัง” คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระกล่าว
เมื่อคุณภาพสูงมาบรรจบกับความเร็ว OTC เครื่องเดียวครบ จบงานได้
ที่ผ่านมานั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากภาคอุตสาหกรรม คือ Welbee Series เครื่องเชื่อมที่พัฒนามาจากเครื่องเชื่อมรุ่น D-Series ซึ่งออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลายโดยเครื่องเชื่อมรุ่นที่ได้รับความนิยม นั่นคือ รุ่น WB-P500L คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระกล่าวว่า เทคโนโลยีและฟังก์ชั่นต่างๆ ถูกคิดค้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อม โดยเฉพาะความประณีตของแนวเชื่อมที่สวยงามมากขึ้น และการซึมลึกของเหล็กได้ตามต้องการ อีกทั้ง รุ่นนี้มีประสิทธิภาพสูงในการเชื่อมได้ต่อเนื่องถึง 100% และมีอัตราการสูญเสียลวดเชื่อมน้อยมาก ทำให้ผู้ใช้งานคลายความกังวลเรื่องสะเก็ดไฟ (Spatter) ระหว่างการเชื่อม
ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องเชื่อมในตระกูล Welbee Series มีฟังก์ชั่นที่ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการทำงานโดยดูค่าต่างๆ ผ่านกราฟในแอปพลิเคชันเพื่อวิเคราะห์แนวเชื่อมได้ รวมถึงมี Port USB สนับสนุนการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเครื่องเชื่อมแต่ละเครื่อง และครอบคลุมการสำรองข้อมูลจากเครื่องหนึ่งสู่เครื่องหนึ่งได้ นับได้ว่าเครื่องเชื่อมตระกูลนี้ เป็นเครื่องเชื่อมที่มีศักยภาพในการทำงานรอบด้าน ทนต่อความร้อนได้ดี และง่ายต่อการบำรุงรักษา
พร้อมกันนี้ OTC DAIHEN Asia ได้เปิดตัว Synchro Feed GMA Welding System โดยคุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระกล่าวถึงจุดเด่นของเครื่องนี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว ในงานเชื่อมที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูงถึง 200-300 A จะก่อให้เกิดสะเก็ดไฟ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะยิ่งมีสะเก็ดไฟเกิดขึ้นมากเท่าไร ยิ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ต้องรับมือมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านลวดเชื่อม ค่าแรงงานการเก็บงาน วัสดุที่ใช้เก็บงาน แต่ด้วยเทคโนโลยี GMA ของเครื่องนี้ จะช่วยลดการเกิดสะเก็ดไฟ ลดต้นทุนลวด และมีความแม่นยำในการเชื่อมสูง สามารถเชื่อมชิ้นงานความบางขนาด 0.6 mm. ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่เกิดความเสียหายใดๆ กับชิ้นงาน
อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์นี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องหมดไปกับลวดเชื่อมได้สูงถึง 90% รวมไปถึงช่วยประหยัดเงิน และเวลาในการว่าจ้างพนักงานในการขัดชิ้นงานให้เรียบหลังการเชื่อมได้อีกด้วย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ของเราตัวนี้จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และ ชิ้นส่วนยานยนต์ได้ตรงจุด โดยเฉพาะงานเชื่อม Door Sash และ Seat Parts รวมถึง Body ของยานยนต์
“เครื่องจักรรุ่นนี้เปิดตัวในตลาดเพียง 1 ปี แต่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยลูกค้าที่ใช้เครื่องจักรของเรารุ่นนี้ สามารถเพิ่มปริมาณงานเชื่อมได้เป็น 2 เท่า ในส่วนด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลของบริษัทนั้น จะดำเนินการโดยตัวแทนจำหน่ายของบริษัทในประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทฯ จะฝึกอบรมให้ตัวแทนจำหน่ายมีความรู้ ความเข้าใจในการบำรุงรักษาเครื่องจักร ตอบสนองการให้การบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ” คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระ กล่าวถึงเสียงตอบรับจากลูกค้า
ปั้นแอปฯ คุมหุ่นยนต์เชื่อม ตอบ 4.0 เต็มรูปแบบ
“แม้หุ่นยนต์ของ OTC จะไม่ได้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างสมบูรณ์แบบแต่ OTC ไม่เคยหยุดพัฒนา ในปัจจุบันหุ่นยนต์ของเราสามารถเรียนรู้การทำงานต่างๆ โดยการเรียนรู้ท่าทางการทำงานของมนุษย์ (Motion Teaching) ทำให้หุ่นยนต์ของบริษัทฯ สามารถตอบสนองการทำงานที่ละเอียดอ่อนได้เป็นอย่างดี รวมถึงการทำงานผ่านระบบอัตโนมัติด้วยเช่นกัน”
“ทั้งนี้ หุ่นยนต์ของเราที่มีอยู่ในบริษัทกว่า 200 รุ่น ทุกตัวสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้หมด ช่วยให้พนักงานสามารถตรวจสอบการทำงานของหุ่นยนต์แต่ละตัวได้แบบเรียลไทม์ เช่น การตรวจสอบกำลังการผลิตของหุ่นยนต์แต่ละตัว เป็นต้น” คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระกล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต OTC DAIHEN Asia มีแผนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ในการควบคุมหุ่นยนต์ของเราในลำดับต่อไป ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความประสงค์ให้บริษัทของเราผลิตหุ่นยนต์ขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่าส่วนประกอบหลัก เช่น มอเตอร์ และเกียร์ทดรอบยังคงมีการผลิตในประเทศญี่ปุ่น จึงต้องมีการนำเข้ามา หากมีบริษัทผู้ผลิตส่วนประกอบดังกล่าวในประเทศไทย เราอาจเริ่มต้นผลิตหุ่นยนต์ขึ้นในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตมอเตอร์ และเกียร์ทดรอบในประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 – 5 ปี ในการที่จะผลิตมอเตอร์ให้ได้มาตรฐานสำหรับใช้ในการผลิตหุ่นยนต์ได้
พัฒนาต่อเนื่องและดูแลหลังการขายกลยุทธ์กุมหัวใจลูกค้า
แม้อุตสาหกรรมไทยในปีที่ผ่านมาถูกมองว่าซบเซา แต่บริษัท OTC DAIHEN Asia กลับมีตัวเลขอัตราการเติบโตจากปีก่อนคิดเป็น 10% โดยกลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และจักรยานยนต์
คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่บริษัทและสินค้าของบริษัทได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นจากลูกค้าว่า ประการแรก เราเป็นบริษัทที่มีฐานมาจากผู้ผลิตเครื่องเชื่อม ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญด้านงานเชื่อมเป็นอย่างดี จึงทราบถึงความต้องการของลูกค้า และสามารถผลิตเครื่องจักรที่เหมาะสมกับงานเชื่อม ประการที่สอง คือ การให้บริการด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรของบริษัทฯ ในประเทศไทยนั้น มีความรวดเร็ว มีทีมช่างที่มีประสบการณ์และความชำนาญประจำอยู่ที่ตัวแทนจำหน่ายทุกราย โดยทีมช่างสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรของลูกค้าได้ภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งช่วยลดเวลาในการสูญเสียให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
“ทั้งนี้ หากเครื่องจักรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่และไม่มีอะไหล่สำรองเหลืออยู่ในสต็อก บริษัทฯ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการสั่งอะไหล่ชิ้นดังกล่าว เพื่อเปลี่ยนให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเรามีชิ้นส่วนหลักๆ อยู่แล้วในคลังสินค้า และนอกจากนี้ เรายังมีหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ อยู่ในโชว์รูม หากในกรณีฉุกเฉิน เราสามารถนำหุ่นตัวโชว์เปลี่ยนทดแทนให้กับลูกค้าชั่วคราวได้อย่างทันท่วงที” คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระกล่าวถึงความสำคัญในการซ่อมบำรุงและหาอะไหล่ทดแทนอย่างรวดเร็ว
เตรียมปล่อยของในงานเมทัลเล็กซ์ D-Arc เชื่อมชิ้นงานหนาไร้รอยต่อ
คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมในอีก 4-5 ปีข้างหน้าว่า สถานการณ์ตลาดจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เนื่องจากยอดขายในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้รถไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบนั้น อาจยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากเกิดการเปลี่ยนถ่ายจริง กลุ่มผู้ผลิตท่อไอเสียรถยนต์ จะได้รับผลกระทบเป็นรายแรกๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจนี้ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่กระทบกับบริษัทมากเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายการผลิต และประกอบรถยนต์ก็ยังต้องอาศัยงานเชื่อมเป็นหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คุณฟูมิโยชิ คาวาฮาระได้กล่าวทิ้งท้ายถึงงาน Metalex 2017 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-25 พฤศจิกายนนี้ ที่ไบเทค บางนา ว่า ทาง OTC DAIHEN Asia จะนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ในการเชื่อมในชื่อ D-Arc ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เจ้าแรก เจ้าเดียว ที่จะช่วยให้การเชื่อมสามารถทำได้แม้ว่าวัสดุจะมีความหนามากกว่า 19 มิลลิเมตร โดยทั่วไปงานเชื่อมวัสดุที่มีความหนามากๆ ขนาดนี้ อาจต้องมีรอยต่อเชื่อมมากถึง 5 – 6 จุด แต่เทคโนโลยีนี้จะใช้การเชื่อมเพียงแค่ครั้งเดียว ทั้งนี้ บริษัทฯ จะสาธิตงานเชื่อมด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ด้วยหุ่นยนต์ โดยเทคโนโลยีนี้ไม่เคยมีบริษัทใดเคยนำเสนอมาก่อน
แม้ว่าโฉมหน้าของอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งด้วยวิกฤตขาดแคลนแรงงาน และเทรนด์ความต้องการงานละเอียดของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์กำลังมีแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องจับตามองและตามให้ทัน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นรายได้หลักและความเข้มแข็งให้แก่ประเทศมาโดยตลอด ก็ยังคงเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจไทยไปอีกนาน ซึ่ง ‘งานเชื่อม’ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะกำหนดได้ว่า เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันกับโลกได้หรือไม่